การศึกษา / ย้อนรอย…ปฏิบัติการทวงคืน ทับหลัง ‘หนองหงส์-เขาโล้น’ กลับไทย

การศึกษา

ย้อนรอย…ปฏิบัติการทวงคืน

ทับหลัง ‘หนองหงส์-เขาโล้น’ กลับไทย

 

นับเป็นข่าวดีๆ ที่เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ภายหลังสหรัฐอเมริกาได้ส่งคืนทับหลังปราสาทหนองหงส์ อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ และทับหลังปราสาทเขาโล้น จ.สระแก้ว กลับสู่มาตุภูมิ ซึ่งถูกขนส่งโดยสายการบินโคเรียนแอร์ เดินทางถึงไทยเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา

ภายหลังการ “ทวงคืน” ที่ยาวนานกว่า 5 ปี…

นายพนมบุตร จันทรโชติ รองอธิบดีกรมศิลปากร ได้เดินทางไปรับทับหลัง 2 รายการ จากคาร์โก้ สนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม และนำมายังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (พช.) พระนคร เพื่อจัดพิธีบวงสรวง ที่ศาลาสำราญมุขมาตย์ โดยมีนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เป็นประธาน

ก่อนหน้านี้ทางรัฐบาลสหรัฐได้มีพิธีส่งมอบทับหลังปราสาทหนองหงส์และทับหลังปราสาทเขาโล้นคืนให้ไทยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ตามเวลาในสหรัฐ โดยสำนักงานสืบสวนเพื่อความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐ หรือ Homeland Security Investigations (HSI) ได้ขนย้ายทับหลังจากสถานที่จัดเก็บของกลางมายังสถานที่จัดพิธีส่งมอบที่โครซิเออร์ ฟายน์ อาร์ต ในนครลอสแองเจลิส

โดย HSI ได้ทำพิธีส่งมอบทับหลังทั้ง 2 รายการคืนให้แก่ฝ่ายไทย ที่มีนายมนัสวี ศรีโสดาพล เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐเป็นประธานในพิธี นายมังกร ประทุมแก้ว กงสุลใหญ่ ณ นครลอสแองเจลิส เป็นผู้แทนไทยรับมอบ มีนายพิษณุ โสภณ กงสุลใหญ่ ณ นครชิคาโก และนายฟาบีโอ จินดา กงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์ก ร่วมเป็นสักขีพยาน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาไทยได้รับโบราณวัตถุกลับคืนสู่ประเทศแล้ว 10 ครั้ง รวม 759 รายการ…

เร็วๆ นี้จะมีโบราณวัตถุอีก 13 รายการ ประกอบด้วย พระพุทธรูปและรูปเคารพต่างๆ ที่กำลังจะกลับคืนสู่ประเทศไทย!!

 

อย่างไรก็ตาม ภายหลังพิธีบวงสรวงทับหลังปราสาทหนองหงส์และทับหลังปราสาทเขาโล้น กรมศิลปากรจะตรวจสอบโบราณวัตถุทั้ง 2 รายการ ก่อนนำไปจัดแสดงในนิทรรศการเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน

โดยได้เชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีรับมอบโบราณวัตถุอย่างเป็นทางการ พร้อมเปิดให้ชมนิทรรศการ “ทับหลังปราสาทหนองหงส์ และปราสาทเขาโล้น กลับคืนสู่ประเทศไทย” ให้ประชาชนเข้าชมเป็นเวลา 3 เดือน ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พช.พระนคร

ส่วนวิธีการเก็บรักษาทับหลังทั้ง 2 รายการ จะนำกลับไปคืนไว้ในพื้นที่ คือที่ปราสาทหนองหงส์ อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ และปราสาทเขาโล้น จ.สระแก้ว ตามที่ชาวบ้านเรียกร้อง เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้ลูก-หลาน หรือจะจัดเก็บไว้ใน พช.ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงนั้น ทางกรมศิลปากรและผู้เกี่ยวข้องคงต้องหารือร่วมกันอีกหลายยก

นายสมชัย กอชัยศิริกุล นายกเทศมนตรีตำบลโนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า ปราสาทหนองหงส์ ถือเป็นโบราณสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจคนในพื้นที่ ตนได้สอบถามอธิบดีกรมศิลปากร ว่าหากชาวโนนดินแดงจะนำทับหลังปราสาทหนองหงส์กลับไปประดับที่ปราสาท จะเป็นไปได้หรือไม่ ซึ่งอธิบดีบอกว่าเป็นไปได้ หากท้องถิ่นมีความพร้อม และรับถ่ายโอน

อย่างไรก็ตาม กระบวนการนำกลับไปในพื้นที่ จะมีภารกิจตามมา ทั้งด้านงบประมาณ การดูแลรักษาทับหลังไม่ให้สูญหายไปอีก รวมถึงการดูแลป้องกันความเสื่อมสภาพของโบราณวัตถุ

โดยนายกโนนดินแดงยืนยันว่าท้องถิ่นมีความพร้อมในการดูแลรักษาปราสาทหนองหงส์ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้ลูก-หลานชาวโนนดินแดง จากรุ่นสู่รุ่น และเป็นแหล่งท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้ท้องถิ่น ซึ่งชาวโนนดินแดงดีใจและตื่นตัวที่ได้โบราณวัตถุกลับคืนมา ผู้เฒ่าผู้แก่อยากได้องค์จริงกลับไป แต่หากได้ทับหลังจำลอง ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง

ถือว่าการติดตามทวงคืนตลอด 5 ปีที่ผ่านมา แม้ยาวนาน แต่ก็คุ้มค่า…

ขณะที่รัฐมนตรีว่าการ วธ.ชี้แจงในประเด็นการจัดเก็บทับหลังทั้ง 2 รายการว่า จะต้องศึกษาทางวิชาการว่าจะเก็บไว้ใน พช.ที่ใกล้กับปราสาททั้ง 2 แห่งมากที่สุด โดยกรมศิลปากรจะพิจารณาร่วมกับท้องถิ่นอย่างถี่ถ้วน

ทั้งนี้ การที่ทับหลังทั้ง 2 ชิ้นกลับคืนสู่ไทย ถือเป็นความภาคภูมิใจ เป็นร่องรอยของความเจริญรุ่งเรืองในอดีต ถือว่า 2 รายการนี้เป็นหนึ่งในขั้นตอนที่ดำเนินการแล้วเสร็จ และจะติดตามทวงคืนรายการอื่นต่อไป!!

 

สําหรับทับหลังปราสาทหนองหงส์และทับหลังปราสาทเขาโล้นถูกเก็บไว้ภายในพิพิธภัณฑ์ศิลปะในสหรัฐ ปรากฏเป็นข่าวครั้งแรกใน “มติชนออนไลน์” เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2559 กรณีทับหลังปราสาทหนองหงส์ ซึ่งนายทนงศักดิ์ หาญวงษ์ พบภาพถ่ายในเว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์ Asian Art Museum Chong-Moon Lee Center for Asian Art and Culture เมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐ

เมื่อพิจารณาจากรูปแบบและลวดลาย รวมถึงรายละเอียดต่างๆ พบว่าตรงกับทับหลังที่สูญหายไปจากปราสาทหนองหงส์

มีหลักฐานคือภาพถ่ายเก่าขาว-ดำ จากการสำรวจโดยนายมานิต วัลลิโภดม ระหว่าง พ.ศ.2503-2504 คาดว่าถูกนำออกนอกประเทศในช่วงเดียวกับทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์จากปราสาทพนมรุ้ง ช่วง พ.ศ.2508 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ คาดกันว่าทับหลังปราสาทหนองหงส์ และทับหลังปราสาทเขาโล้นได้สูญหายไปจากที่ตั้งในช่วงราว พ.ศ.2509-2511 แต่ไม่ปรากฏในรายงานหรือบันทึกเกี่ยวกับการสูญหาย กระทั่งทับหลัง 2 รายการนี้ไปปรากฏอยู่ในฐานข้อมูลโบราณวัตถุของพิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย เมืองซานฟรานซิสโก บริจาคโดยนาย Avery Brundage

ปฏิบัติการ “ทวงคืน” ทับหลังทั้ง 2 รายการ จึงเริ่มอย่างเป็นทางการ เมื่อกรมศิลปากรแจ้ง พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2560

คณะกรรมการจึงมอบหมายให้กรมศิลปากรจัดทำข้อมูลโบราณวัตถุทั้ง 2 รายการเพิ่มเติมจากที่นักวิชาการอิสระเคยนำเสนอไว้ โดยคณะทำงานได้ศึกษาเปรียบเทียบจากภาพถ่ายเก่า สภาพรอยชำรุดเสียหาย พบว่ามีตำหนิที่ตรงกัน ขนาดของทับหลังกับขนาดพื้นที่ติดตั้งเดิมที่ตัวปราสาท และรูปแบบศิลปกรรมของทับหลัง

เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลช่วยยืนยันว่าทับหลังทั้ง 2 รายการเป็นของไทย!!

 

กระทั่งวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561 กรมศิลปากรได้ส่งข้อมูลผ่านกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ถึงสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน และสถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแองเจลิส เป็นผู้ประสานกับ HSI โดยเจ้าหน้าที่เดวิด เคลเลอร์ ได้สืบสวนจากหลักฐานที่ฝ่ายไทยส่งไป และลงพื้นที่สืบสวนเก็บข้อมูลในพิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย พร้อมประสานงานขอหลักฐานเพิ่มเติม

กรมศิลปากรยังได้ส่งสำเนาใบอนุญาตการนำโบราณวัตถุออกนอกราชอาณาจักร ก่อนและหลังทับหลังทั้ง 2 รายการจะสูญหาย เพื่อเป็นหลักฐานว่าทางการไทยมีกฎหมายและมาตรการที่เคร่งครัดในการนำโบราณวัตถุออกนอกประเทศ

รวมทั้งสำเนาจดหมายที่นายธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ส่งถึงนาย Avery Brundage เพื่อทวงคืนโบราณวัตถุทับหลังจากปราสาทกู่สวนแตงเมื่อ พ.ศ.2510 เป็นหลักฐานว่า นาย Avery Brundage เคยมีประวัติรับซื้อโบราณวัตถุที่ถูกลักลอบออกจากไทยมาก่อน

ทำให้ทับหลังทั้ง 2 รายการถูกนำขึ้นพิจารณาในชั้นศาล…

ในที่สุดพิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชียยอมรับว่าเป็น “กรรมสิทธิ์” ของไทย และยอมส่งคืนแต่โดยดี!!