วิรัตน์ แสงทองคำ/ เอสซีจี กับสยามไบโอไซเอนซ์ (เอสบีเอส)

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

วิรัตน์ แสงทองคำ/viratts.WordPress.com

เอสซีจี กับสยามไบโอไซเอนซ์ (เอสบีเอส)

 

(1) บริบทและการปรับตัว

กว่าศตวรรษที่ผ่านมา มีเครือข่ายธุรกิจหนึ่งซึ่งเผชิญสถานการณ์สำคัญๆ จำต้องปรับตัวครั้งใหญ่หลายครั้งหลายครา

ใครจะว่าอย่างไรก็แล้วแต่ ขอตั้งสมมุติฐานสำคัญขึ้น ว่าด้วยเรื่องราวและบริบท สยามไบโอไซเอนซ์ (Siam Biosciences หรือ SBS) ด้วยความเชื่อมโยงกับเอสซีจีอย่างแยกไม่ออก ความสัมพันธ์อันแนบแน่นนั้น จะมีความสำคัญมากขึ้นๆ เป็นลำดับ

ขอขยายภาพให้ใหญ่ขึ้นกว่าที่เคยเสนอมาแล้วหลายครั้ง (5 ตอนในมติชนสุดสัปดาห์) ในฐานะ “ชิ้นส่วน” ประวัติศาสตร์กิจการอันทรงอิทธิพลกับสังคมไทยอย่างต่อเนื่องกว่าศตวรรษจนถึงปัจจุบัน

ยุคก่อตั้งบริษัทปูนซิเมนต์ไทย (หรือ “เครือซิเมนต์ไทย” ในเวลาต่อมา และ “เอสซีจี” ในปัจจุบัน) ท่ามกลางสถานการณ์สำคัญ-ภัยคุกคามยุคอาณานิคมต่อเนื่องกับวิกฤตการณ์จากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

จากกรณีสยามลงนามสัญญาเบาว์ริ่ง (2398) ระบบอาณานิคมเข้าครอบงำเศรษฐกิจทั่วทั้งภูมิภาคไม่เฉพาะราชอาณาจักรไทย อีกด้านหนึ่งระบบอาณานิคมสร้างโอกาสใหม่ๆ ด้วย กรณีสำคัญ โรงงานปูนซีเมนต์แห่งแรกในสยาม สามารถก่อตั้งขึ้น

จากจุดเปลี่ยนการพัฒนาระบบคมนาคม ขนส่ง และสื่อสาร โดยเฉพาะการขุดคลองสุเอซ (2412) สัมพันธ์กับการพัฒนาเรือกลไฟ (Steamboats) อาณานิคมจึงมีเส้นทางเดินเรือเข้าสู่โลกตะวันออก เพื่อสร้างอิทธิพลเหนือฝั่งตะวันออก เรือกลไฟไม่เพียงนำมาซึ่งอำนาจอาณานิคม หากเป็นระบบพื้นฐาน ก่อให้เกิดอุตสาหกรรมครั้งแรกในสยาม รวมทั้งผู้คนซึ่งมีความรู้สมัยใหม่ มีประสบการณ์ที่หาไม่ได้ในสยาม หลายคนเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจในภูมิภาค

บางคนเป็นบุคคลสำคัญในการบุกเบิกธุรกิจใหม่ๆ ในราชอาณาจักรไทย โดยเฉพาะมีส่วนร่วมในการก่อตั้งบริษัทปูนซิเมนต์ไทยด้วย

 

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

ช่วงปี 2475-2488 ปูนซิเมนต์ไทย เผชิญวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ที่สุดก็ว่าได้ ช่วงเวลาแห่งความผันแปรรอบด้าน ทั้งกินเวลายาวนานถึง 2 ทศวรรษ

การเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 มาถึง ตามมาด้วยการเปลี่ยนแปลงกลไกสำคัญการบริหารเศรษฐกิจประเทศ เมื่อกรมพระคลังข้างที่ เปลี่ยนเป็นสำนักงานพระคลังข้างที่ (2476) ภายใต้การกำกับของนายกรัฐมนตรีในระบอบการปกครองใหม่ จากนั้นมีการจัดตั้งสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ขึ้นแทนกรมพระคลังข้างที่ (2480) โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการ

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ มาถึงบริษัทปูนซิเมนต์ไทย เกิดขึ้นในช่วงปรีดี พนมยงค์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (2481-2484)

ช่วงเวลาเพียง 5 ปี ก่อให้การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญสู่อีกยุค กิจการเคยครอบงำและบริหารโดยชาวเดนมาร์ก ไปสู่ยุคใหม่ ทั้งบริบทและบทบาทเชื่อมโยง พัฒนาการทางสังคมมากขึ้น

พร้อมๆ กัน คนไทยเข้าไปมีส่วนในการบริหารจัดการปูนซิเมนต์ไทยมากขึ้นตามลำดับ

เริ่มต้นเข้าสู่ธุรกิจแตกแขนงมาจากปูนซีเมนต์ เรียกว่า “ทำการค้าวัตถุสำเร็จรูปที่ทำจากปูนซีเมนต์หรือคอนกรีต” ไม่ว่าการผลิตสินค้าที่เรียกว่า Asbestos Cement เริ่มต้นจากกระเบื้องหลังคา (2481) และในปี 2495 เริ่มต้นผลิตสินค้าคอนกรีตอัดแรง (Reinforced concrete) ที่สำคัญมีบทบาทในการเริ่มต้นอุตสาหกรรมอุดมคติของผู้นำยุคนั้น ด้วยความร่วมมือกับรัฐบาลอย่างเต็มกำลัง

นั่นคือการบุกเบิกอุตสาหกรรมเหล็ก ขณะด้วยความร่วมมือกับรัฐ ผลพวงสงครามโลกครั้งที่สองจึงไม่ส่งผลรุนแรงถึงขั้นต้องปรับตัวและการปรับโครงสร้างใหญ่

 

ยุคสงครามเวียดนาม

หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ไม่นาน สังคมไทยได้เข้าสู่ช่วงความขัดแย้งทางการเมืองเป็นเวลานานพอควร (Power struggles) ได้สร้างความเฉื่อยเนือยต่อการพัฒนาสังคมไทย สุดท้ายคลี่คลายไป เมื่ออิทธิพลเหนือกว่าเข้ามาครอบงำ นั่นคือการมาของสหรัฐอเมริกา จากการเข้าร่วมสงครามเกาหลี สู่สงครามเวียดนาม

ปูนซิเมนต์ไทยปรับตัวสอดคล้องกับจังหวะเวลา จากพึ่งพิงเครือข่ายระบบอาณานิคมในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ไปสู่ความสัมพันธ์ใหม่กับสหรัฐ ตั้งแต่ช่วงต้นๆ สงครามเวียดนาม

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กับการสิ้นสุดระบบอาณานิคม อิทธิพลทางเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเริ่มต้นขึ้น มีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาคให้ขยายตัว จากการลงทุนสร้างระบบสาธารณูปโภค ธุรกิจอเมริกันขยายการลงทุนขนานใหญ่ เข้ามาในภูมิภาคและไทย

โดยเฉพาะดีลกู้เงินดอลลาร์สหรัฐครั้งแรก เป็นเหตุการณ์สำคัญสำหรับบริษัทปูนซิเมนต์ไทย ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อตามแผนการขยายตัวทางธุรกิจ จุดตั้งต้นการปรับโครงสร้างธุรกิจให้ทันสมัยตามแบบฉบับตะวันตก การสร้างทีมงานบริหารมืออาชีพอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเป็นโมเดลใหม่สังคมธุรกิจไทย เป็นพลัง เป็นโมเมนตัม ให้การขยายตัวทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง

สงครามเวียดนามได้จบลง อิทธิพลสหรัฐยังคงอยู่ โดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจ ขณะประเทศไทยมีพลังดึงดูดมากขึ้น ด้วยขบวนเครือข่ายธุรกิจญี่ปุ่นได้เข้ามา ความสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่างปูนซิเมนต์ไทย (ขณะนั้นเรียกว่าเครือซิเมนต์ไทยแล้ว) กับเครือข่ายธุรกิจญี่ปุ่นเป็นอีกฉากตอนสำคัญในยุคหลังสงครามเวียดนาม

โดยเฉพาะการเข้าสู่ธุรกิจใหม่ เริ่มต้นขยายตัวทางภูมิศาสตร์สู่ภูมิภาค ทั้งต่อเนื่องจากธุรกิจดั้งเดิม ไปจนถึงธุรกิจใหม่ซึ่งไม่มีประสบการณ์มาก่อนเลย

– จากการลงทุนในธุรกิจผลิตถุงบรรจุซีเมนต์ เข้าสู่ธุรกิจเยื่อและกระดาษ จากความพยายามเข้ากอบกู้กิจการที่มีปัญหา จนกลายเป็นธุรกิจบรรจุภัณฑ์รายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งในภูมิภาค

– จากความพยายามขยายจินตนาการอุตสาหกรรมเหล็กสู่อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยนต์ ในจังหวะรัฐให้การสนับสนุน แต่ในที่สุดไม่เป็นไปอย่างที่คิด

– การเข้าสู่ธุรกิจใหม่ กลายเป็นตำนานแห่งความสำเร็จ จากจุดเริ่มต้นการสำรวจปิโตรเลียมในทะเลครั้งแรกในประเทศไทยยุคสงครามเวียดนาม (2511) โดยบริษัทอเมริกัน (Chevron ขณะนี้ หรือ Unocal ในขณะนั้น) ใช้เวลา 5 ปีจึงได้ค้นพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ถึงเป็นยุค “โชติช่วงชัชวาล”

เครือซิเมนต์ไทยเป็นรายใหม่รายเดียว ไม่มีประสบการณ์หรือเกี่ยวข้องธุรกิจเคมีภัณฑ์มาก่อน ได้เข้าร่วมลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานอุตสาหกรรมพื้นฐานใหม่ของประเทศ ค่อยๆ ขยายกิจการและวงจรธุรกิจครอบคลุม จนกลายเป็นเครือข่ายธุรกิจเคมีภัณฑ์รายใหญ่ สำหรับเอสซีจี ธุรกิจเคมีภัณฑ์ มีบทบาทสำคัญที่สุดในเวลานี้

 

วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2540

วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งร้ายแรง เหตุการณ์สำคัญเผชิญหน้าเครือซิเมนต์ไทยด้วย

2 กรกฎาคม 2540 รัฐบาลประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ค่าเงินบาทอ่อนตัวอย่างทันทีทันใด เคยอยู่ในช่วงต่ำสุด 55 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ

เครือซิเมนต์ไทยได้รับผลกระทบรุนแรง หนี้สินเพิ่มขึ้นถึง 2 แสนล้านบาท และประสบการขาดทุนครั้งใหญ่มากกว่า 2 หมื่นล้านบาท (งบการเงินปี 2540) ไม่จ่ายเงินปันผลต่อผู้ถือหุ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เลยก็ว่าได้

ในที่สุด เครือซิเมนต์ไทยได้เดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญอีกครั้ง ในความพยายามคงธุรกิจหลักๆ ไว้ ไม่ว่าซีเมนต์ วัสดุก่อสร้าง บรรจุภัณฑ์ และโดยเฉพาะเคมีภัณฑ์ ขณะตัดสินใจครั้งใหญ่ลดขนาดธุรกิจอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยเฉพาะลดบทบาท (ทั้งปิดและขายกิจการ) ธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ ส่วนใหญ่เป็นกิจการร่วมทุนและอาศัยเทคโนโลยีและแบรนด์ญี่ปุ่น

การกอบกู้กิจการเป็นไปได้ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อมิติหนึ่งซึ่งสำคัญ ช่วงเปลี่ยนผ่านผู้บริหารจากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง

ที่น่าสนใจ ผู้บริหารรุ่นก่อนทยอยกันเกษียณ คือกลุ่มผู้บริหารที่มีความรู้และประสบการณ์อย่างโชกโชน 2 ทศวรรษก่อนหน้า พวกเขายังมีพลังมากมาย ไม่เพียงให้ช่วงเปลี่ยนผ่านการบริหารเอสซีจี (ชื่อที่เปลี่ยนใหม่ยุคผู้บริหารใหม่) เป็นไปอย่างต่อเนื่อง

ถือได้ว่าเป็นทีมอดีตผู้บริหารชุดเดียวในประวัติศาสตร์เอสซีจี อยู่ในตำแหน่งสำคัญดูแลยุทธศาสตร์ธุรกิจต่อไป เป็นมาแล้วกว่าทศวรรษ

ยุทธศาสตร์ใหม่ๆ กรณีหนึ่งซึ่งแตกต่างจากเดิมอย่างสิ้นเชิง คงเป็นการก่อตั้งสยามไบโอไซเอนซ์