ดานิกา : รู้หรือไม่ ทำไมต้องพรมแดง?

คิดเหมือนกันไหม ว่าไม่ว่าจะงานไหน ถ้ามี “พรมแดง” ปูไว้ งานจะดูหรูหราขึ้นมาทันที

โดยพรมแดงที่ว่านี้ ถือเป็น “ทางเดิน” ที่เดินทางมาอย่างยาวนานกว่า 2,400 ปี และต้นกำเนิดของมันก็น่าตื่นตาตื่นใจไม่น้อย

ในสมัยปัจจุบันการใช้พรมแดง คือการแสดงถึงความมั่งคั่ง สวยงาม และความโด่งดัง ซึ่งต่างไปจากจุดเริ่มต้นอย่างสิ้นเชิง ส่วนว่าจะมีการพัฒนามาเป็นอย่างในปัจจุบันได้อย่างไร ทางเว็บไซต์ซีเอ็นเอ็น ได้เล่าเรื่องราวน่ารู้เรื่องนี้ให้เราได้ฟัง

 

ทั้งหมดเริ่มมานานนับตั้งแต่ “ยุคกรีก”

ว่ากันว่าบทละครกรีกของนักประพันธ์ เอสคีลุส (Aeschylus) พูดถึงพรมแดงเป็นครั้งแรกในเรื่อง “อกาเมมนอน” (Agamemnon) ที่มีตั้งแต่ 458 ปีก่อนคริสต์ศักราช

โดยตัวละครที่ชื่อ “พระนางคลีเทมเนสตรา” (Clytemnestra) ซึ่งเป็นพระมเหสีของกษัตริย์อกาเมมนอน เคยพูดถึง “พื้นที่เต็มไปด้วยสีแดงฉาน เป็นทางเดินไว้สำหรับกษัตริย์”

เอมี่ เฮนเดอร์สัน นักประวัติศาสตร์เกียรติคุณของ National Portrait Gallery วอชิงตัน อธิบายว่า “กษัตริย์อกาเมมนอนเดินทางออกไปสู้รบ และทิ้งให้ภรรยาของเขาอยู่บ้าน เขาออกไปเป็นระยะเวลานานมาก และทั้งคู่ก็ต่างมีชู้รักของตน ตอนที่กษัตริย์อกาเมมนอนกลับบ้านเมือง จึงพาคาสซานดร้า ชู้รักของเขากลับมาด้วย”

ในเรื่องนั้นระบุว่า ทั้งๆ ที่พระนางคลีเทมเนสตราเองก็นอกใจสามี แต่เธอก็ยังรู้สึกไม่ชอบใจอยู่ดี และยิ่งมีเรื่องเปราะบางอย่างการที่กษัตริย์อกาเมมนอนไปขอพรจากพระเจ้าให้เกิดลมที่จะทำให้เขาสามารถล่องเรือไปต่อได้ โดยการแลกกับลูกสาววัย 15 ปี ของทั้งคู่เป็นเครื่องสังเวยแด่พระเจ้า

พระนางคลีเทมเนสตรากล่าว “จงทำให้พื้นแผ่นดินที่เท้านั้นจะเหยียบย่ำและความยุติธรรมที่มืดบอดมาช้านาน กลายเป็นสีแดง บ้านจะนำพาเขาไปพบกับสิ่งที่เขาไม่เคยแสวงหา”

“แล้วเธอก็ใช้พรมสีแดงฉานหลอกล่อให้เขาเดินไปสู่ความตาย” เฮนเดอร์สันกล่าว

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเป็นพระนางคลีเทมเนสตราเอง ที่ลงมือฆ่ากษัตริย์อกาเมมนอน หรือว่าเป็นชู้รักของนางกันแน่ที่ฆ่าเขา นอกจากนี้ พระนางคลีเทมเนสตรายังฆ่านางคาสซานดร้าอีกด้วย

“มันไม่ใช่เรื่องราวที่สวยงามเท่าไหร่” เฮนเดอร์สันเสริม

 

วิวัฒนาการของพรมแดง

เฮนเดอร์สันเอ่ยถึงหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า เมื่อปี ค.ศ.1821 ขณะที่ เจมส์ มอนโร ประธานาธิบดีคนที่ 5 ของสหรัฐอเมริกา เดินทางไปยังงานพิธีงานหนึ่ง เขาได้ใช้พรมแดงตอนลงจากเรือในรัฐเซาธ์แคโรไลนา จึงเป็นที่เข้าใจว่า หลักๆ แล้ว พรมแดงนั้นมีความสัมพันธ์กับการเดินทางเป็นสำคัญ

ในเวลาต่อมาพรมแดงก็ถูกนำไปเชื่อมโยงกับรถไฟ “ในปี ค.ศ.1902 นิวยอร์กใช้พรมกำมะหยี่สีแดงเข้มในการปูทางเดินให้กับผู้โดยสารที่จะขึ้นรถไฟ”

แต่ด้วยความที่ส่วนใหญ่แล้วพรมแดงมักมีไว้สำหรับผู้โดยสารชั้นเฟิร์สต์คลาส ดังนั้น พรมแดงจึงกลายเป็นเหมือนตัวบ่งบอกฐานะทางสังคม

พรมแดงนี้จึง “เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้คนรู้สึกพิเศษ”

 

พรมแดงกับการประจักษ์
สู่สายตาผู้คนเป็นครั้งแรก

ฮอลลีวู้ดใช้พรมแดงเป็นครั้งแรกโดยการริเริ่มของ ซิด กราวแมน ผู้ทรงอิทธิพลทางภาพยนตร์การละคร เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 1922

กราวแมนจัดการแสดงหนังรอบปฐมทัศน์เป็นครั้งแรกของฮอลลีวู้ด ซึ่งหนังเรื่องนั้นก็คือ “โรบิน ฮู้ด” กราวแมนผู้เป็นเจ้าของโรงภาพยนตร์ Egyptian Theatre โรงหนังแห่งใหม่ในตอนนั้น คือผู้ที่สร้างความประทับใจด้วยการให้ ดั๊กลาส แฟร์แบงส์, วอลเลซ บีรี และนักแสดงคนอื่นๆ ได้เดินเฉิดฉายบนพรมแดง

และ “แนวคิดเกี่ยวกับความสวยงามได้กลายมาเป็นความสอดคล้องกับพรมแดงในทันที มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับพวกนักแสดงทั้งสิ้น และแน่นอนนั่นเป็นสิ่งที่ฮอลลีวู้ดชื่นชอบ” เฮนเดอร์สันกล่าว

จากนั้นในการแสดงปฐมทัศน์ก็ใช้พรมแดงเรื่อยมา ซึ่งถือการโปรโมตหนังบนท้องถนนไปในตัวและก็ได้ผลตอบรับดี ขณะที่ดาราฮอลลีวู้ดก็ได้รับการรับรองว่าเป็นคนเด่นคนดัง พรมแดงจึงเป็นสิ่งที่นำดารากับความมีชื่อเสียงมาเข้าไว้ด้วยกัน

ต่อมาปี ค.ศ.1961 สถาบันศิลปะภาพยนตร์และวิทยาการ ผู้จัดงานมอบรางวัลออสการ์ ก็นำพรมแดงเข้ามาใช้ในงาน

“ตอนนั้นทีวียังเป็นภาพขาวดำอยู่ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าการเห็นสีแดงในตอนแรกเริ่มนั้น ก็คือกระบวนการดำเนินงานที่เรานำพรมแดงมาใช้” เฮนเดอร์สันกล่าว

และในปี 1966 การมอบรางวัลออสการ์ก็ได้ออกอากาศแบบมีสีเป็นครั้งแรก

ผู้บริหารงานโฆษณาสมัยใหม่ และผู้บริหารย่านธุรกิจเมดิสัน อเวนิว คิดว่านี่เป็นไอเดียที่ดีที่พวกเขาจะมีพรมแดงเป็นของตัวเอง

ดังนั้น พรมแดงจึงแพร่ขยายออกไปและถูกนำไปใช้ในงานอื่นนอกเหนือจากเรื่องของการภาพยนตร์

 

การใช้พรมแดงยุคปัจจุบัน

ในปัจจุบันนี้ ตั้งแต่งาน Met Gala ยันงานเลี้ยงอาหารค่ำรัฐสภาในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. หรือกระทั่งอีเวนต์ตามโรงหนัง ต่างก็ใช้พรมแดงกันทั้งนั้น

พรมแดงจึงไม่ได้มีไว้แค่สำหรับดาราภาพยนตร์อีกต่อไป

ถ้าได้ลองดูภาพงานกาล่าเทศกาลหนังเมืองคานส์ จะเห็นได้ว่า ทั้งนักดนตรี นางแบบ มหาเศรษฐี หรือนักธุรกิจต่างก็เดินอยู่บนพรมแดงทั้งสิ้น

และในหลายๆ ครั้งคนพวกนี้ก็ได้รับความสนใจไม่แพ้นักแสดง

แม้จะมีความสวยงามดังฝันที่พรมแดงสื่อถึง แต่เจ้าพรมแดงนี้เองกลับมีจุดจบที่ไม่ค่อยดีนัก เพราะบริษัท Veolia เผยว่า ทางบริษัทมีสัญญาจ้างให้รีไซเคิลพรมแดงกว่า 80 ตันจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ทุกๆ ปี

พรมเหล่านั้นจะถูกส่งไปยังเมือง Carros ประเทศฝรั่งเศส และถูกเปลี่ยนให้เป็นผ้าชิ้นเล็กๆ สำหรับทำพรม และนำกลับไปใช้ซ้ำในงานบรรจุภัณฑ์หรือทำเป็นป้ายจราจร

ขณะที่พรมแดงจากงานออสการ์ถูกนำไปทำลายโดยไม่เปิดเผยวิธีการหลังจากคืนวันงาน