คุยกับทูตอิสราเอล เมเอียร์ ชโลโม เราต้องคุยกันเรื่องกลุ่มก่อการร้ายฮามาส

 

คุยกับทูตอิสราเอล เมเอียร์ ชโลโม

เราต้องคุยกันเรื่องกลุ่มก่อการร้ายฮามาส

 

หลังจากเผชิญหน้าต่อเนื่องเป็นเวลา 11 วัน กองทัพอิสราเอลและกองกำลังติดอาวุธปาเลสไตน์กลุ่มฮามาสในฉนวนกาซาได้ตกลงหยุดยิงกันอย่างเป็นทางการ เมื่อเวลา 02.00 น. ของวันที่ 21 พฤษภาคม ตามเวลาท้องถิ่น โดยมีรัฐบาลอียิปต์เป็นตัวกลางช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยและส่งผู้สังเกตการณ์จับตาการหยุดยิง

“ขณะนี้เมื่อมีการประกาศหยุดยิง และฮามาสได้หยุดยิงจรวดเข้ามายังอิสราเอลแล้ว หลายคนถามผมว่า ทำไมฮามาสถึงตัดสินใจโจมตีอิสราเอลอย่างกะทันหัน และทำไมต้องเป็นเวลานี้”

“ดังนั้น เราคงต้องมาคุยกันด้วยเรื่องของฮามาส”

ดร.เมเอียร์ ชโลโม (Dr. Meir Shlomo) เอกอัครราชทูตรัฐอิสราเอลประจำประเทศไทย ให้คำตอบ

ดร.เมเอียร์ ชโลโม (Dr. Meir Shlomo) เอกอัครราชทูตรัฐอิสราเอลประจำประเทศไทย

“ฮามาสเป็นองค์กรก่อการร้าย นี่ไม่ใช่คำพูดของผมแต่เพียงผู้เดียว แต่สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น แคนาดา อีกหลายประเทศ ขึ้นบัญชีให้กลุ่มฮามาสเป็นกลุ่มก่อการร้าย และนี่คือข้อเท็จจริง”

“เช่นเดียวกับการกระทำของกลุ่มรัฐอิสลาม ที่รู้จักกันในนามกลุ่มไอซิส กล่าวคือ เมื่อปี ค.ศ.2007 กลุ่มก่อการร้ายฮามาสใช้กำลังยึดอำนาจในฉนวนกาซา กวาดล้างและสังหารเจ้าหน้าที่ของเขตปกครองตนเองปาเลสไตน์ไปหลายสิบคน ส่วนใหญ่ด้วยการโยนลงมาจากหลังคาตึก (ไม่มีผู้นำคนใดขององค์การบริหารปาเลสไตน์กล้าย่างเท้าเข้าไปในกาซานับตั้งแต่ปี ค.ศ.2007)”

“ฮามาสมีวิธีดำเนินการเช่นเดียวกับกลุ่มไอซิส นั่นคือ ฮามาสจับประชาชนเป็นตัวประกัน ในกรณีนี้ก็คือชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา โดยดำเนินตามรอยเดียวกันกับกลุ่มไอซิส นั่นคือ ไม่ลำบากใจเลยที่จะใช้ประชาชนเป็นโล่มนุษย์”

“ฮามาสก็เหมือนกับกลุ่มไอซิส ที่มีอุดมการณ์สุดโต่ง ซึ่งมีการเขียนไว้อย่างละเอียดในธรรมนูญของฮามาส (สามารถหาได้จากคำว่า “Hamas Covenant” ในกูเกิล) ว่าการแก้ไขความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ก็คือ ต้องทำลายล้างคู่ต่อสู้ให้สิ้นซากเท่านั้น ในกรณีของฮามาส หมายถึงการทำลายล้างประเทศอิสราเอล”

“ในอดีต ฮามาสได้ระเบิดบ้านเรือน โรงแรม ภัตตาคาร สถานบันเทิง และเป้าหมายพลเรือนอื่นๆ ในอิสราเอล ด้วยการใช้อาวุธที่มีศักยภาพในการทำลายล้างสูง นั่นคือ ระเบิดพลีชีพ”

“เมื่อฮามาสเริ่มตระหนักว่า ไม่สามารถใช้วิธีระเบิดพลีชีพได้อีกต่อไปในอิสราเอล เพราะเราป้องกันได้ด้วยการปิดพรมแดน จึงเปลี่ยนแนวทางมาเป็นการยิงจรวดเข้ามายังเมืองต่างๆ ของอิสราเอล โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสังหารประชาชนชาวอิสราเอล ไม่ว่าจะเป็นผู้ชาย ผู้หญิงหรือเด็ก ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้”

“ระหว่างการระดมโจมตีด้วยจรวดและปืนครกอย่างไม่เจาะจงของฮามาส จรวดลูกหนึ่งได้คร่าชีวิตแรงงานไทยถึงสองคน และอีกแปดคนได้รับบาดเจ็บ และนั่นก็เป็นเพียงอีกตัวอย่างหนึ่งของการเข่นฆ่าอย่างไร้เหตุผลของฮามาส เป็นที่น่าสังเกตว่า ในขณะที่ประธานาธิบดีอิสราเอลได้สนทนาทางโทรศัพท์กับครอบครัวของเหยื่อผู้เสียชีวิตชาวไทย เพื่อเป็นการให้กำลังใจและเสนอความความช่วยเหลือด้านการเงิน”

“ฮามาสซึ่งเป็นผู้คร่าชีวิตชาวไทยทั้งสองคนกลับไม่มีคำพูดใดๆ ออกมา ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของกลุ่มผู้ก่อการร้ายที่เห็นว่าการสูญเสียดังกล่าวคือชัยชนะ”

“ในระหว่างการโจมตี 11 วันนั้น ฮามาสได้ยิงจรวดมายังเมืองต่างๆ ในอิสราเอลไม่ต่ำกว่า 4,300 ลูก (แต่ทว่าประมาณร้อยละ 20 ของการยิงจรวดเกิดความผิดพลาด ทำให้ระเบิดกลับตกลงในฉนวนกาซา เป็นเหตุให้เกิดการล้มตายเป็นจำนวนมากในหมู่ประชาชนชาวปาเลสไตน์)

“ลองใช้เวลาสั้นๆ มาตอบคำถามต่อไปนี้กันอย่างจริงใจ” ท่านทูตกล่าว

“ท่านผู้อ่านจะทำอย่างไร หากมีขบวนการก่อการร้ายกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโจมตีกรุงเทพฯ ด้วยจรวดสักหนึ่งหรือสองลูก…หรือ 4,300 ลูก ท่านอยากเห็นรัฐบาลของท่านนิ่งดูดายไม่ทำอะไรเลยเชียวหรือ ท่านจะแนะนำรัฐบาลของท่านไม่ให้ตอบโต้ไหม ไม่ต้องปกป้องท่านและครอบครัวของท่านจากการระดมยิงจรวดที่ทุกลูกมีเป้าหมายเจาะจงเพื่อสังหารท่านอย่างนั้นหรือ”

“นี่เป็นคำถามที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ช่วยบอกหน่อยเถิดว่า มีประเทศใดในโลกไหมที่จะไม่ตอบโต้ต่อการกระทำอันเลวร้ายโหดเหี้ยมเช่นนี้”

 

“อิสราเอลตอบกลับการระดมยิงอย่างไม่เจาะจงที่ว่านี้ ด้วยการโจมตีเฉพาะเป้าหมายทางทหารของฮามาส เราปฏิบัติการอย่างเป็นขั้นตอน เพื่อป้องกันการสูญเสียในหมู่พลเรือน เราไม่เพียงแต่ปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศเท่านั้น แต่เรายังทำมากไปกว่านั้นด้วย”

ดร.เมเอียร์ ชโลโม (Dr. Meir Shlomo) เอกอัครราชทูตรัฐอิสราเอลประจำประเทศไทย

“นั่นก็คือ ก่อนการโจมตีอาคารเป้าหมาย ที่มีการยืนยันแล้วว่าเป็นคลังอาวุธหรือเป็นเส้นทางลำเลียงทางการทหารของฮามาส กองทัพอิสราเอลจะติดต่อผู้ที่อยู่ในอาคารทั้งทางโทรศัพท์และการส่งข้อความ เพื่อเป็นการแจ้งเตือนและให้มั่นใจว่าพวกเขาจะมีเวลาอพยพออกมาได้ทันเวลา”

“ธรรมเนียมปฏิบัติที่เรียกว่า ‘เคาะหลังคา’ ดังกล่าวนี้ ไม่มีกองทัพใดในโลกยึดปฏิบัติกัน แต่ก็เป็นเรื่องน่าสลดใจที่ว่า แม้ว่าเราได้พยายามแล้วก็ตาม แต่ก็มีหลายครั้งที่ฮามาสกลับใช้พลเรือนผู้บริสุทธิ์เป็นโล่มนุษย์ ทำให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บเสียชีวิต”

“ในฐานะที่เป็นชาวอิสราเอล ผมเจ็บปวดต่อการสูญเสียทุกชีวิตของพลเรือน ไม่ว่าจะเป็นชาวอิสราเอลหรือชาวปาเลสไตน์ อิสราเอลกับฮามาสเปรียบเทียบกันไม่ได้ ความพยายามที่จะนำมาเปรียบเทียบกันนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง ทั้งด้วยสภาพความเป็นจริง กฎหมาย ศีลธรรม หรือสติปัญญา ผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างยิ่ง”

“เป้าหมายของฮามาสคือพลเรือน ส่วนเป้าหมายของอิสราเอลคือผู้ก่อการร้าย”

“ฮามาสกระทำทุกวิถีทางที่จะสังหารพลเรือนให้ได้มากขึ้น ในขณะที่อิสราเอลระมัดระวังอย่างที่สุดเพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียบาดเจ็บของพลเรือน”

“ฮามาสเห็นการตายของพลเรือนชาวอิสราเอลเป็นชัยชนะ แต่อิสราเอลเห็นว่าทุกชีวิตที่สูญเสียเป็นเรื่องเศร้าสลดใจ”

“ฮามาสใช้เด็กๆ เป็นเครื่องป้องกันจรวด ในทางตรงกันข้ามอิสราเอลใช้ ‘ไอรอน โดม’ ปกป้องลูกๆ ของเรา”

“แล้วทำไมฮามาสถึงโจมตีอิสราเอลในเวลานี้”

“เมื่อเดือนที่แล้ว ฮามาสไม่พอใจที่ประธานาธิบดีอับบาสประกาศเลื่อนการเลือกตั้งของปาเลสไตน์ออกไป หลังจากที่ไม่ได้มีการเลือกตั้งทั่วไปมาถึง 15 ปี ฮามาสจึงต้องหาวิธีอื่นเพื่อยึดอำนาจ”

“ดังนั้น แทนที่จะปฏิบัติตนเป็น ‘ผู้ปกป้อง’ ชาวปาเลสไตน์ ฮามาสกลับเป็นผู้เริ่มปลุกปั่นให้มีการใช้ความรุนแรงที่มัสยิดอัล อักซอ แล้วใช้เรื่องนี้เป็นข้ออ้างอย่างไร้เหตุผลในการระดมยิงจรวดจำนวนมากมายังอิสราเอล เพื่อพยายามแสดงให้เห็นว่า ฮามาสเป็นทางเลือกที่ดีกว่าองค์การบริหารปาเลสไตน์”

“จากเหตุการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้อิสราเอลต้องปกป้องพลเมืองและตอบโต้ปฏิบัติการรุกรานของกลุ่มก่อการร้ายฮามาส การสนับสนุนชาวปาเลสไตน์และความฝันที่จะมีประเทศนั้นเป็นเรื่องหนึ่ง ซึ่งก็แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงต่อการสนับสนุนฮามาส เพราะการสนับสนุนฮามาสนั้น มีแต่จะนำไปสู่ความสำเร็จของกลยุทธ์อันโหดเหี้ยม ที่ฮามาสระดมยิงจรวดมาโจมตีพลเรือนชาวอิสราเอล แต่กลับแอบหลบอยู่ข้างหลังพลเรือนชาวปาเลสไตน์ในกาซา”

“การสนับสนุนฮามาสนอกจากจะทำให้ผู้บริสุทธิ์ทั้งชาวอิสราเอลและชาวปาเลสไตน์ต้องบาดเจ็บล้มตายเพิ่มขึ้นแล้ว ยังเท่ากับไปเสริมกำลังกลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรงฮามาสให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันก็ทำให้รัฐบาลสายกลางของปาเลสไตน์อ่อนแอลง และทำลายโอกาสของการเจรจาเพื่อสันติภาพ หากท่านเลือกที่จะเลี่ยงการประณามฮามาส ก็จะส่งผลให้วงจรของความรุนแรงยังคงดำเนินอยู่ต่อไป ทั้งยังจะทำให้สูญเสียโอกาสที่จะสร้างสันติภาพอีกด้วย”

ดร.เมเอียร์ ชโลโม (Dr. Meir Shlomo) เอกอัครราชทูตรัฐอิสราเอลประจำประเทศไทย

“สุดท้ายนี้ ท่านทั้งหลาย โดยเฉพาะประชาชนที่อยู่ในฉนวนกาซา ควรหาคำตอบว่า ฮามาสได้อะไรจากการระดมยิงจรวดถึง 4,300 ลูกมาโจมตีอิสราเอล”

“เวลานี้ประชาชนที่อยู่ในฉนวนกาซาได้อะไรที่ดีกว่าเมื่อก่อนเหตุการณ์ 11 วันนี้ไหม”

“เป็นชัยชนะของฮามาสหรือ ที่สังหารพลเรือนชาวอิสราเอลไป 12 คน ที่มีเด็กๆ รวมอยู่ด้วย และที่สำคัญที่สุดคือ ฮามาสไม่มีแม้แต่จะเข้าใกล้โอกาสที่จะทำความฝัน ที่อยากเห็นอิสราเอลหายไปจากโลกนี้เป็นจริงไปได้”

“ถึงเวลาหรือยังที่บรรดาผู้สนับสนุนทั้งหลายของฮามาส รวมทั้งประชาชนชาวปาเลสไตน์ จะกระตุ้นให้ฮามาสหยุดสร้างอนาคตอันสิ้นหวัง ไร้ซึ่งเหตุผล และเป็นฝันร้ายที่ฮามาสจะมอบให้ประชาชนในกาซา เป็นการสร้างอนาคตที่มีแต่จะนำมาซึ่งความทุกข์ระทมทั้งต่อประชาชนในกาซาและอิสราเอล”

ท่านทูตเมเอียร์ ชโลโม ย้ำว่า

“เวลานี้นับเป็นโอกาสอันดี ที่ประชาคมโลกจะเลิกยอมรับกลยุทธ์ของฮามาส ที่ใช้ประชาชนมาเป็นโล่มนุษย์ และซ่อนอาวุธยุทโธปกรณ์ร้ายแรงไว้ตามโรงเรียน โรงพยาบาล และอาคารสูงๆ ในทางกลับกัน การแผ้วถางทางสู่สันติภาพจะกระทำได้ก็ด้วยการยื่นคำขาดให้ฉนวนกาซาเป็นเขตปลอดทหาร และยืนกรานให้ทางการกาซาทุ่มงบประมาณไปเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน แทนที่จะนำมาใช้เพื่อทำลายล้างประเทศอิสราเอล”

 

ประวัติ

ดร.เมเอียร์ ชโลโม (Dr. Meir Shlomo)

เกิด : ค.ศ.1954

สถานภาพการสมรส : สมรสกับนางบราคา ชโลโม (Mrs. Bracha Shlomo)

บุตร : 2 คน

ภาษาที่ใช้สื่อสาร : ฮีบรู อังกฤษ

 

การศึกษา

1983 : ปริญญาตรีสาขารัฐศาสตร์ จาก Tel Aviv University กรุงเทลอาวีฟ รัฐอิสราเอล

1987 : ปริญญาโทสาขาสื่อสารมวลชน The Hebrew University of Jerusalem รัฐอิสราเอล

2014 : ปริญญาเอกสาขาการทูตสาธารณะ จาก Universit? Paris 8 กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส

 

ประสบการณ์การทำงาน

1973-1976 : รับราชการทหาร

1984-1987 : รองหัวหน้าสำนักงานและโฆษกประจำสถานเอกอัครราชทูตรัฐอิสราเอลประจำสาธารณรัฐเอลซัลวาดอร์

1987-1989 : รองหัวหน้าสำนักงานและโฆษกประจำสถานเอกอัครราชทูตรัฐอิสราเอลประจำสาธารณรัฐเปรู

1989-1992 : หัวหน้าสำนักงานผู้ประสานด้านวิชาการ กระทรวงต่างประเทศรัฐอิสราเอล

1992-1995 : รองหัวหน้าสำนักงานและเจ้าหน้าที่ฝ่ายการทูตสาธารณะ สถานเอกอัครราชทูตรัฐอิสราเอลประจำราชอาณาจักรเดนมาร์ก

1995-1998 : รองหัวหน้าสำนักงาน สถานเอกอัครราชทูตรัฐอิสราเอลประจำสาธารณรัฐอินเดีย

1998-2002 : ผู้อำนวยการกองการทูตสาธารณะ กระทรวงต่างประเทศรัฐอิสราเอล

2002-2006 : กงสุลใหญ่ สถานกงสุลใหญ่รัฐอิสราเอลประจำนิวอิงแลนด์ สหรัฐอเมริกา

2007-2010 : ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์ กรมการทูตสาธารณะ กระทรวงต่างประเทศรัฐอิสราเอล

2010-2014 : กงสุลใหญ่ สถานกงสุลใหญ่รัฐอิสราเอลประจำนครฮูสตัน รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา

2014-2017 : อธิบดีกรมอเมริกาเหนือ กระทรวงต่างประเทศรัฐอิสราเอล

2017-ปัจจุบัน : เอกอัครราชทูตรัฐอิสราเอลประจำประเทศไทย