หลังเลนส์ในดงลึก : ‘ในฤดูฝน’ / ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
กวางป่า - หนองน้ำในช่วงฤดูฝน น้ำมากพอให้ฝูงกวางลงมาแช่ดับความร้อนอบอ้าวช่วงบ่าย พวกมันระวังตัวมากขึ้น เมื่อมีหมาไนผ่านมา

 

‘ในฤดูฝน’

 

สภาพอากาศในป่า จะพูดว่าเอาแน่นอนไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ ก็ดูจะใกล้เคียงความเป็นจริง

ช่วงกลางคืนหนาวจัด เช้ามืดพบกับหมอกหนา สายๆ แดดจัดจ้า การออกไปทำงานในสภาพอากาศแบบนั้น หากไม่เตรียมอุปกรณ์กันฝนติดเป้ไปด้วย อาจพบกับปัญหาในตอนบ่ายเพราะสายฝนกระหน่ำหนัก

ตอนหัวค่ำ ฟ้าแลบแปลบๆ เป็นทางยาว ลมพัดแรง เราขึงผ้ายางเตรียมป้องกันสายฝน แต่กลายเป็นค่ำคืนที่พบกับท้องฟ้าใส แสงจันทร์สว่างนวล หรือดาวระยิบ

แม้แต่ในฤดูฝน ในเดือนซึ่งปีที่ผ่านมาฝนตกหนักต่อเนื่อง ปีนี้กลับแห้งแล้ง ฝนทิ้งช่วงนานๆ

เส้นทางในป่าไม่เละเทะ ต้นไม้ล้มขวางไม่กี่ต้น ระดับน้ำในลำห้วยสายหลัก ซึ่งเปรียบเสมือนด่านกั้น ที่เราต้องเคารพว่า จะได้รับอนุญาตให้นำรถข้ามไปอีกฝั่งได้หรือไม่ ก็มีระดับน้ำไม่สูงนัก รถสามารถข้ามไป-มาได้สะดวก ไม่มีใครกังวลเรื่องเส้นทาง ถึงจะมีความจำเป็นต้องเดินทางกลางคืน

หลังจากบ่นๆ เรื่องฝนไม่ตกในฤดูฝน แถมสภาพอากาศร้อนอบอ้าวยิ่งกว่าในฤดูแล้งสักพัก

บ่ายๆ วันหนึ่ง ต้นเดือนมิถุนายน สายฝนชุดใหญ่ก็เดินทางมาถึง…

 

ตั้งแต่บ่ายจนค่ำ กระทั่งดึกไปถึงรุ่งเช้า ยิ่งหนักขึ้นในตอนสายๆ

ฝนตกหนักต่อเนื่องยาวนาน ระดับน้ำในลำห้วยเล็กหลังครัวสถานีวิจัย ไหลแรงน่าวิตกว่าจะเอ่อล้น ความรุนแรงของสายน้ำอาจกวาดครัวเล็กๆ นั่นไป

เส้นทางถูกน้ำเซาะขาดเป็นช่วงๆ

ไม่ต้องนึกถึงลำห้วยสายหลักที่เป็นคล้ายด่าน ฝนตกเช่นนี้คงข้ามไม่ได้นานนับสัปดาห์

ในที่สุด สายฝนก็มาเยือนผืนป่าด้านตะวันตกแบบจริงจัง ฤดูกาลเป็นเช่นนี้ตลอดมา

สำหรับสัตว์ป่า การมาของสายฝน บอกให้รู้ว่า อีกไม่นานสายลมหนาวกับความแห้งแล้งจะมาถึง

 

รถกระบะขะมุกขะมอม เดิมเป็นสีขาว เคลื่อนออกจากโรงจอดรถ วิ่งช้าๆ ฝ่าสายฝนมาตามทาง ผู้ชายหลายคนในชุดกางเกงขาสั้น เสื้อยืดมอมๆ โดยสารอยู่บนกระบะ พร้อมอุปกรณ์อย่างจอบ, เสียม และมีด

รถแล่นมาถึงหน้าโรงครัว ผมอยู่ที่นั่น

“ไปดูทางครับ ฝนหนักอย่างนี้ต้องทำร่องให้น้ำไหล ไม่อย่างนั้นทางพังแน่ๆ” เสียงใครสักคนตะโกนบอก

ผมกระโดดขึ้นกระบะร่วมไปกับพวกเขา

ถึงเนินชันที่ยาวร่วมสามกิโลเมตร ฝนชะทางลื่นไถล ทางขาดเป็นช่วงๆ เราใช้จอบขุดทำร่องให้น้ำไหล ขนหินเล็กๆ กันเป็นเขื่อนไม่ให้น้ำไหลเข้าทาง

“กันไว้ก่อนแบบนี้ดีกว่ารอให้ฝนหยุดแล้วค่อยมาซ่อมครับ”

ชายอาวุโสทำงานในป่ามาแล้วกว่า 30 ปี พูดกับผม

30 ปีก่อน ผมพบกับเขาครั้งแรก เขานำผมไปพบกระทิงฝูงหนึ่ง

นั่นเป็นภาพกระทิงภาพแรกของผม

ผมพบกับเขาอีกครั้งในวัยใกล้เกษียน ทุกคนเรียกเขาว่าลุงอ๊อด

 

ผมจำได้ว่า วันนั้น ฝนตกหนักตั้งแต่เราเริ่มเดินออกจากหน่วยพิทักษ์ป่า จุดหมายมีระยะทางราว 6 กิโลเมตร ผมเดินตามหลังไปตามด่านเล็กๆ ที่ค่อนข้างรก ผ่านป่าเต็งรัง สู่ป่าเบญจพรรณ เส้นทางลาดลงหุบ จนถึงลำห้วย เสียงสายน้ำไหลดังสนั่น

“น้ำกำลังมาเลย เราจะข้ามได้ไหมนี่” อ๊อดมีสีหน้ากังวล

“ปกติห้วยนี้น้ำแค่เข่าลุยข้ามสบาย”

หลังลังเลสักพัก อ๊อดตัดสินใจ “ผมจะข้ามไปก่อน เอาเชือกมัดต้นไม้ฝั่งโน้น คุณเกาะเชือกข้ามไปนะ ระวังกระเป๋ากล้องด้วยล่ะ”

ผมพยักหน้า ปลดเป้กล้องลงจากไหล่

อ๊อดผูกเชือกกับต้นไม้ฝั่งนี้ ค่อยๆ หย่อนตัวลงน้ำ สายน้ำแรง เขาโผตัวไปเกาะต้นตะไคร้น้ำและโผไปเกาะอีกกอ ถึงกลางลำห้วย ก็โผไปเกาะอีกกอ ก่อนลุยน้ำที่ลึกท่วมหน้าอกจนถึงฝั่ง

เขาผูกเชือกกับต้นไม้ โบกมือให้ผมตามไป ก้าวเท้าลงมาแล้ว ผมรู้ว่าสายน้ำแรงกว่าที่สายตาเห็น แบกเป้ไว้บนไหล่ มือจับเชือกแน่น ค่อยขยับไป ใจกังวลกับเป้ กล้องบนไหล่จะร่วงลงน้ำ

“ระวังข้างล่างหินลื่น” อ๊อดตะโกนแข่งเสียงน้ำ

หวังว่าถุงพลาสติกที่ใส่ไว้ข้างในอีกชั้นจะช่วยบรรเทาหากพลาด

เชือกช่วยได้มาก การออกแรงเดินต้านสายน้ำ ทำให้ผมต้องพักอยู่ที่กอตะไคร้น้ำพักใหญ่

อ๊อดช่วยรับเป้เมื่อผมถึงฝั่ง “เอาใจช่วยแทบแย่” เขาพูดยิ้มๆ

สายฝนเบาลงตอนเราใกล้ถึงโป่งจุดหมาย

อ๊อดเดินไปข้างหน้า หยุดและกลับมาบอกผม

“กระทิง”

 

ผมใจเต้นแรงตอนเตรียมกล้อง

ช่วงเวลาที่ผมเริ่มทำงานนั้น กระทิงไม่ใช่สัตว์หาง่ายพบเจอได้เสมอเหมือนอย่างทุกวันนี้

“เราอยู่ใต้ลม เข้าไปได้อีกหน่อย” เขาตบไหล่

ผมคลานช้าๆ เข้าไป ภาวนาไม่ให้ลมเปลี่ยนทิศทาง ลุกขึ้นนั่งชันเข่า อยู่ในระยะพอเหมาะ กับเลนส์เทเลโฟโต้ 400 มิลลิเมตร

กดชัตเตอร์ ภาพกระทิงภาพแรก ชัดอยู่ในช่องมอง

 

ผมถอยกลับมาถึงจุดที่อ๊อดนั่งคอยอยู่ ขอบคุณเขา ความตื่นเต้นยังไม่จาง ขณะเดินตามเขาไปตามด่านเงียบๆ

ท้องฟ้ากระจ่างใส “ฝนชุดสุดท้ายแล้วล่ะ” อ๊อดหันกลับมาพูดเบาๆ “คราวนี้ก็ถึงคิวฤดูหนาว” เขาพูด

ผมนึกถึงเมื่อเช้า หากไม่ตัดสินใจมาเพราะฝนตก รวมทั้งการตัดสินใจข้ามน้ำ คงไม่มีโอกาสพบกระทิง

ผมเงยหน้ามองท้องฟ้าใสๆ ฝนจะตกอีกไหม ผมไม่รู้หรอก

แต่ที่ผมเงยหน้ามองอยู่ตอนนี้ คือท้องฟ้าหลังฝนตกอันสดใส…

 

เราใช้เวลาซ่อมทางจนถึงบ่าย ฝนตกหนักอีกสองชั่วโมง เรากางผ้ายาง นั่งเบียด กลิ่นยาเส้นคละคลุ้ง เสียงพูดคุย หัวเราะ

ในขากลับ ผมทำหน้าที่ขับรถ อ๊อดนั่งข้างๆ เสียงเฮฮาบนกระบะ มีคนเล่าเรื่องตลก ทำให้เพื่อนๆ ฮาได้เสมอ

“อีกไม่นานก็หนาว” ผมหันมองอ๊อด

ถึงวันนี้ เราไม่ใช่เด็กหนุ่มๆ เช่นวันที่ลุยข้ามน้ำไปถ่ายรูปกระทิงกันแล้ว

 

อีกไม่นาน สายฝนจะจากไป สายลมหนาวจะเดินทางมาถึง ช่วงรอยต่อฤดูกาล ท้องฟ้าเปล่งสีสวย เมฆลอยพลิ้วราวกับเริงระบำ

ผมเฝ้าดูท้องฟ้าในช่วงรอยต่อฤดูกาลเสมอ ดูคล้ายกับว่า สายฝนอ้อยอิ่งไม่อยากจากไป ทั้งๆ ที่สายลมหนาวเดินทางมาถึง

ในที่สุด ท้องฟ้าก็แจ่มใส แหล่งอาหารของสัตว์ป่าที่ว่างเปล่า ในช่วงฤดูฝน มีสัตว์ป่าร่างกำยำเข้ามาเยือน

สำหรับสัตว์ป่า ความหมายของการจากไปของสายฝน สายลมหนาวมาถึง คือการเตรียมตัวเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งความแห้งแล้ง

 

สภาพอากาศในป่านั้นไม่แน่นอนหรอก หลายครั้งเราก็อยู่ท่ามกลางความร้อนอบอ้าว ทั้งที่เป็นเวลาของฤดูฝน และหลายครั้งก็หนาวสั่น ในเวลาที่เป็นเวลาแห่งสายฝน

อยู่ในป่า ชีวิตในป่าสอนให้รู้จักการปรับตัวไปตามฤดูกาล

สายฝนไม่ได้บอกให้รู้เพียงว่า หลังจากสายฝนเป็นเวลาของสายลมหนาว ความแห้งแล้งมาถึง

แต่บอกให้รู้ว่า เมื่ออยู่กับสิ่งที่ไม่แน่นอน ควบคุมไม่ได้ อยู่ “ในฤดูฝน” ท่ามกลางสายฝนที่หนักหนา

ควรจะทำเช่นไร…