จาก ‘ตึกไม้’ ถึง ‘สนามฟุตบอลไม้’ สู่ ‘ดาวเทียมไม้’ สูงสุดคืนสู่สามัญ/บทความพิเศษ จักรกฤษณ์ สิริริน

บทความพิเศษ

จักรกฤษณ์ สิริริน

 

จาก ‘ตึกไม้’ ถึง ‘สนามฟุตบอลไม้’

สู่ ‘ดาวเทียมไม้’ สูงสุดคืนสู่สามัญ

 

ช่วงที่ราคาวัสดุก่อสร้างอย่าง “ไม้” มีราคาแพง (มาก) จากปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์ไม่ตัดไม้ทำลายป่า หรือกฎหมายป่าสงวนที่เข้มงวด

ทำให้อุปสงค์กับอุปทานการอุปโภคบริโภคสินค้า “ไม้” ไม่สมดุลกัน คือมีความต้องการสินค้ามาก แต่มี “ไม้” มาตอบสนองน้อย “ไม้” จึงมีราคาแพง (มาก)

ทำให้ดูเหมือนมีแค่คนมีกะตังค์เท่านั้น ถึงจะมีปัญญาเอา “ไม้” มาสร้างบ้าน หรือเฟอร์นิเจอร์บิวด์อินครบชุด

ซึ่ง “ไม้” ในทีนี้หมายถึงหมายท่อนใหญ่ กระดานใหญ่

อย่างไรก็ดี ในระยะหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในต่างประเทศ มีการเกิดขึ้นของอุตสาหกรรมการผลิต “ไม้เชิงพาณิชย์” ให้เป็นสินค้าประเภทหนึ่งในหมวดวัสดุก่อสร้าง

“ไม้” ในยุคหลังราคาจึงไม่แพง (มาก) เท่ากับห้วงเวลาก่อนหน้านี้ ทำให้หลายคนเริ่มนำ “ไม้” มาสร้างสรรค์เป็นสิ่งก่อสร้างต่างๆ นานา มากมายอย่างคาดไม่ถึง

The Tree ถือเป็นอาคาร “ไม้” หลังแรก ที่ทำสถิติเป็น “ตึกไม้ที่สูงที่สุดในโลก” ด้วยความสูง 14 ชั้น ได้รับการออกแบบโดย Per Reigstad สถาปนิกชื่อดังของ Norway

เพื่อลด Carbon Footprint และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากวัสดุก่อสร้าง และ “ไม้” มีคุณสมบัติช่วยดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศได้ดีอีกด้วย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแข่งกันสร้าง “ตึกไม้ที่สูงที่สุดในโลก” มากขึ้นเรื่อยๆ เป็นไปก็เพื่อพิสูจน์ว่า “ไม้” เป็นวัสดุที่สามารถนำไปใช้ในงานก่อสร้างขนาดใหญ่ในเมืองได้

“ตึกไม้” จึงเป็นนวัตกรรมด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม เป็นวิทยากรขั้นสูงที่นำ “ไม้” ไปเป็นวัสดุก่อสร้างอาคารสูงทั้งหลัง โดยส่วนใหญ่เป็นประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย

ก่อนที่ชาติยุโรปอื่นๆ จะดำเนินรอยตามสแกนดิเนเวีย และถ่ายทอดเทคโนโลยีการออกแบบและก่อสร้าง “ตึกไม้” ไปไกลถึงออสเตรเลีย และข้ามฟากไปสู่สหรัฐอเมริกา

จาก The Tree ค่อยๆ เริ่มมีการทำลายสถิติ “ตึกไม้ที่สูงที่สุดในโลก” ตามมาเรื่อยๆ เริ่มจาก Suurstoffi BF1 ประเทศ Czech ความสูง 15 ชั้น เกทับ The Tree 1 ชั้น

ตามมาติดๆ กับ Mj?st?rnet ประเทศ Norway ความสูง 18 ชั้น เกทับด้วย Kulturhus ประเทศ Sweden ความสูง 19 ชั้น Hoho ประเทศ Austria ความสูง 24 ชั้น

Ascent ประเทศ USA ความสูง 25 ชั้น เกทับ Hoho 1 ชั้น และล่าสุดกับอภิมหาอลังการงานสร้าง Atlassian ประเทศ Australia ความสูง 40 ชั้น “ตึกไม้ที่สูงที่สุดในโลก”

 

จาก “ตึกไม้ที่สูงที่สุดในโลก” ในแนวดิ่ง มาถึงเรื่องราวของการสร้างสรรค์สิ่งก่อสร้างที่ทำจาก “ไม้” ในแนวระนาบกันบ้าง กับ “สนามฟุตบอลไม้” ของ Forest Green Rovers

Forest Green Rovers คือสโมสรฟุตบอลเล็กๆ เล่นอยู่ในระดับ League Two หรือลีกดิวิชั่น 4 ตั้งอยู่ในเมือง Nailsworth เนลสเวิร์ธ แคว้น Gloucestershir ประเทศอังกฤษครับ

Forest Green Rovers มีชื่อเสียงจากการสร้าง “สนามฟุตบอลไม้แห่งแรกของโลก” ซึ่งเป็นผลงานการออกแบบชิ้นสุดท้ายของ Zaha Hadid (เธอเสียชีวิตปี ค.ศ.2016)

โครงสร้างของสนามออกแบบและก่อสร้างตามหลักวิศวกรรม วัสดุทั้งหมดทำจากไม้ที่เคลือบด้วยสารเคมีหน่วงไฟ จึงติดไฟยาก และลดการแพร่กระจายของเพลิงไหม้ได้ดี

สนามแห่งนี้ ถือเป็น “สนามฟุตบอลไม้แห่งแรกของโลก” จุแฟนบอล Forest Green Rovers ได้สูงสุด 5,000 คน สร้างขึ้นภายใต้ปรัชญาสนามฟุตบอลเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เพราะ Forest Green Rovers เชื่อว่า การใช้ “ไม้” ไม่ใช่เพียงเพราะ “ไม้” เป็นวัสดุธรรมชาติเท่านั้น หากแต่มันยังมีปริมาณคาร์บอนต่ำที่สุดในบรรดาวัสดุก่อสร้างทั้งมวล

ควบคู่ไปกับการสร้าง “สนามฟุตบอลไม้” สโมสร Forest Green Rovers ยังมีนโยบายปลูกหญ้าบนพื้นสนามฟุตบอลด้วยระบบฟาร์มออร์แกนิกส์ ปราศจากสารเคมี

ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ คือสาหร่ายสก๊อต มาบำรุงดิน และใช้น้ำฝนทั้งหมดรดหญ้าในสนาม ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ส่วนขั้นตอนการตัดหญ้า ก็ใช้หุ่นยนต์ตัดหญ้าพลังงานแสงอาทิตย์

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีการติดตั้งแผง Solar Cell บนหลังคาของอัฒจันทร์สนามทุกด้านของ Forest Green Rovers อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อผลิตไฟฟ้าไว้ใช้เองภายในสโมสร

ส่งผลให้ UN (United Nation) หรือ “สหประชาชาติ” ได้ร่วมกับ “สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ” หรือ FIFA (The F?d?ration Internationale de Football Association) ขนานนามให้สโมสร Forest Green Rovers ว่าเป็นสโมสรฟุตบอลที่ “เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” และ “รักษ์โลกมากที่สุด” หรือ World’s Greenest Football Club นั่นเอง

 

จาก “ตึกไม้” ถึง “สนามฟุตบอลไม้” สู่ “ดาวเทียมไม้” ถือเป็นการ “สูงสุดคืนสู่สามัญ” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ดาวเทียมไม้” ที่หลายคนไม่คาดคิดว่าจะเป็นไปได้!

โครงการ “ดาวเทียมไม้” เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย Kyoto กับบริษัท Sumitomo Forestry เป้าหมายหลัก คือการช่วยลดปริมาณ “ขยะ” ที่ลอยอยู่ในอวกาศ

โดย “ดาวเทียมไม้” ดวงนี้มีชื่อว่า LignoSat ในฐานะ “ดาวเทียมไม้ดวงแรกของโลก” ซึ่งทำหน้าที่เสมือน “กล่องเก็บอุปกรณ์” เพื่อป้องกันอุปกรณ์ดาวเทียมหลุดลอย

ศาสตราจารย์ ดร. Takao Doi อดีตนักบินอวกาศชาวญี่ปุ่น ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ด้านอวกาศแห่งมหาวิทยาลัย Kyoto หัวหน้าโครงการ “ดาวเทียมไม้” ครับ

ศาสตราจารย์ ดร. Takao Doi บอกว่า โดยปกติแล้ว ดาวเทียมทั่วๆ ไปมักจะขึ้นรูปโดยอะลูมิเนียม ขณะที่ LignoSat ของเราจะใช้ “ไม้” ในการขึ้นรูป “กล่องเก็บอุปกรณ์”

“ดาวเทียมไม้ LignoSat ของเรา แน่นอนว่า ต้องประกอบสร้างขึ้นจากไม้ เพราะ “ไม้” มีคุณสมบัติที่เหนือกว่าโลหะอื่นๆ ที่ไม่กั้นคลื่นอิเล็กทรอนิกส์หรือสนามแม่เหล็กของโลก”

จึงสามารถนำเอาอุปกรณ์ต่างๆ ใส่เอาไว้ข้างใน โดยที่ยังสามารถสื่อสารผ่านคลื่นอิเล็กทรอนิกส์หรือสนามแม่เหล็กของโลกได้เหมือนดาวเทียมอะลูมิเนียมทุกประการ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “กล่องไม้” จะช่วยห่อหุ้มอุปกรณ์ต่างๆ ของดาวเทียม ที่ส่วนใหญ่มักจะหลุดออกมาเป็น “ขยะอวกาศ” ศาสตราจารย์ ดร. Takao Doi กล่าว และว่า

ตามปกติแล้ว หากเป็นดาวเทียมอะลูมิเนียมทั่วไป เมื่อโคจรกลับเข้ามายังชั้นบรรยากาศของโลก มันจะถูกเผาไหม้ และปล่อยอนุภาคอะลูมินา หรืออะลูมินัมออกไซด์ออกมา

ซึ่งอนุภาคเหล่านี้จะคงอยู่ในชั้นบรรยากาศโลกไปอีกหลายปี ซึ่งจะส่งผลร้ายต่อสภาพแวดล้อมของโลกอย่างไม่ต้องสงสัย

ขณะที่ “ดาวเทียมไม้” LignoSat ไม่เป็นเช่นนั้น

เพราะ “ดาวเทียมไม้” LignoSat จะถูกเผาไหม้หมดไปเมื่อกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก ทำให้ไม่เกิดขยะหลงเหลืออยู่ในอวกาศ ศาสตราจารย์ ดร. Takao Doi สรุป

 

โครงการ “ดาวเทียมไม้” LignoSat ถือเป็นความพยายามในการช่วยลดปริมาณ “ขยะอวกาศ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ที่พบ “ขยะอวกาศ” จำนวนมาก

ส่งผลให้ “องค์การด้านอวกาศ” หลายแห่ง ริเริ่มโครงการ “เก็บขยะอวกาศ” ขึ้น ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า โครงการ “เก็บขยะอวกาศ” เป็นเพียงการตามแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

ต่างจากโครงการ “ดาวเทียมไม้” LignoSat ที่ศาสตราจารย์ ดร. Takao Doi ตั้งปณิธานว่า จะสร้างให้เกิดขึ้นเพื่อเป็นการลดการสร้างปัญหา “ขยะอวกาศ” ที่ต้นเหตุ

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัย Kyoto และบริษัท Sumitomo Forestry อยู่ในช่วงการพัฒนาเพื่อค้นหาชนิดของไม้ และสารเคลือบไม้ที่เหมาะสมกับภารกิจในห้วงอวกาศ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การคิดค้นนวัตกรรม “ไม้” ที่ทนทานต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างแปรปรวน และรุนแรงในอวกาศ ทั้งอุณหภูมิ รังสี และแสงอาทิตย์

โดยบริษัท Sumitomo Forestry และมหาวิทยาลัย Kyoto มีแผนส่ง “ดาวเทียมไม้” ขึ้นสู่วงโคจรปี ค.ศ.2023 พร้อมกับการสร้างสถานีอวกาศด้วยไม้ทั้งหมดอีกด้วยครับ