อินโดจีนสังวาส : ภารกิจคนยาก-ปั้นฝันประฬาล่สู้/อัญเจียแขฺมร์ อภิญญา ตะวันออก

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์

อภิญญา ตะวันออก

 

อินโดจีนสังวาส

: ภารกิจคนยาก-ปั้นฝันประฬาล่สู้

 

ปั่นป่วนไปกับความซึมลึกในอารมณ์ที่ทีมชาติไทยพ่ายตกรอบคัดเลือกฟุตบอลโลก จนสมองของฉันวนเวียนแต่เรื่องกีฬาและความเป็นชาติ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอดีตอินโดจีน

วินาทีนั้น บุณ จันท์ มุล(*) ก็เวียนมาสู่มโนนึก ขณะที่นักเขียนหัวก้าวหน้าก่อนยุค ’70 ของกัมพูชาคนนี้ยังมีสภาพเป็นแค่นักโทษ ไต่เต้าเป็นนักมวยอย่างบังเอิญ และจากนั้น สังเวียนแห่งศักดิ์ศรีและการเอาตัวรอดภายใต้สังคมชนชาวคุกที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของยุคอินโดจีน นับแต่วันแรกที่เขาถูกจำคุกจากพนมเปญถึงไซ่ง่อนและเกาะตรอลาจซึ่งห่างชายฝั่งราวสี่ชั่วโมงทางเรือ

ที่เกาะตรอลาจนี่เอง บุณ จันท์ มุล ได้ผูกชีวิตไว้กับชะตากรรมที่เขาลิขิตมันขึ้นเอง โดยเฉพาะการที่เขาตัดสินใจสู่สังเวียนกำปั้นกับนักมวยเวียดนาม

ความมันส์จึงบังเกิดในคุกแดนอินโดจีนที่ใหญ่ที่สุดเวลานั้น

จาก บุณ จันท์ มุล นักโทษที่ถูกส่งตัวไปทำงานหนักในหลายแดน กระทั่งวันหนึ่งอย่างบังเอิญ เขาได้ ขึ้นชกกับ บา ซวง เตรือง อดีตนักมวยชื่อดังของไซ่ง่อนที่กลายมาเป็นหมาล่าเนื้อและนักโทษในวัยสี่สิบปี ขณะนั้น บุณ จันท์ มุล เพิ่งจะมีอายุได้ยี่สิบเศษ และสามารถเอาชนะบา ซวง เตรือง ได้

แต่คุกตรอลาจไม่ได้มีแต่บา ซวง เตรือง เท่านั้น

ในบรรดานักชกนักโทษที่นั่น ไม่มีใครอีกเลยที่จะโค่นยี บา ดุง หรือฉายา อาเบ ลงได้ โดยเฉพาะนักมวยเขมรคนแล้วคนเล่า และ 7 ปีมาแล้วที่พ่ายแพ้แก่อาเบ

อาเบมีสไตล์เป็นนักมวยคล่องแคล่วว่องไวและมีไหวพริบเหนือคู่ต่อสู้ เขามีรูปร่างสันทัดแบบมะขามข้อเดียว เตี้ยกว่าบุณ จันท์ มุล นิดหน่อย อาจจะไม่ยากที่บุณ จันท์ มุล จะเอาชนะบา ซวง เตรือง ได้ใน 3 ยก แต่สำหรับอาเบแล้ว “มันคือชีวิตของเราที่ที่นี่!” บุณ จันท์ มุล เอาศักดิ์ศรี ชาติพันธุ์มาปลุกขวัญตัวเอง แม้จะอยู่ในชุดนักโทษ และลูกไล่ให้ลูกพี่เวียดนามและนายใหญ่ฝรั่งเศสมาแสนนาน แต่ในแดนโทษแห่งนี้ ยังมีโอกาสที่จะกู้ศักดิ์ศรีด้วยวิธีประฬาล่!

ถูกแล้ว การต่อยมวยเท่านั้นที่จะเอาชนะคนพวกนี้ได้!

ความชาตินิยมได้พุ่งโพรงเข้ามาเวลานั้น จนแทบเรียกว่า “ความบ้าคลั่ง” ทั้งในหมู่นักโทษเวียดนามและเขมร สำหรับ “ศึกวันธงชัยในศักดิ์ศรี” ที่จะมีขึ้นในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ.1944 ที่ทุกคนรอคอย

15 ธันวาคม ค.ศ.1943 นักมวยทุกรุ่นมาวัดนวม ชั่งน้ำหนัก บุณ จันท์ มุล ไต่เต้าเอาชนะมาแล้ว 5 ไฟต์ คราวนี้เขาขอพิสูจน์เป็น “อัน บา” พี่ใหญ่แห่งวงการพนันเกาะตรอลาจที่ยกให้อาเบเป็นต่อ 2 ต่อ 1

“ว่าแต่แกจะชนะมันมั้ยวะ?” เพื่อนนักโทษรุมถามบุณ จันท์ มุล หากเอาชนะได้ การกู้หน้าศักดิ์ศรีและร่ำรวยเงินทองสักครั้ง สำหรับนักโทษที่นี่ เงินเท่านั้นที่จะต่อลมหายใจพวกเขาได้ หากมันต้องใช้มันในยามยาก ทั้งใช้ซื้อปัจจัยและแรงงาน

“ฟังนะ ข้อมูลคือ ยี บา ดุง มันเป็นมวยบุก หมัดขวาเพชฌฆาต ปราดเปรียวว่องไว ตอนมันชกที่ไซ่ง่อน หนังสือพิมพ์ยกให้มันคือสุดยอดนักมวย” นายติสตูกระซิบสั่ง “แกต้องระวังอย่าให้พลาด!”

เหวย เหวย จัญไรโยกแล้วไง เมื่อผู้คุมนักโทษกลายเป็นโปรโมเตอร์ และแอบแทงมวยรองฝ่ายเขมรแนเวียดนาม!

นี่คือสังเวียนแห่งการฟาดฟัน พื้นที่สนามฟุตบอลที่จุคนได้ 3,000 ที่นั่งถูกดัดแปลงเป็นสนามมวย มีการขายตั๋วราคา 4 และ 2 เรียล และเปิดขายหมดทันทีทุกที่นั่ง

เกาะตรอลาจคงนอกจากกีฬาหมัดมวยแล้ว “ฟุตบอล” ก็เป็นที่นิยมเช่นกัน เพียงแต่ไม่สามารถยกระดับเป็นธุรกิจ ที่ไม่ต่างจากมหกรรมกีฬาของนักโทษที่ยิ่งใหญ่ของอินโดจีนเวลานั้น

ด้วยเหตุนี้ราว 10 สัปดาห์ที่นักมวยทั้งหมด รวมทั้งซวง เตรือง, ยี บา ดุง และบุณ จันท์ มุล ต่างพากันแยกย้ายไปซุ่มซ้อม เพื่อกลับมาโชว์ผลงานดังที่ทุกคนรอคอย

แต่ขณะที่ซวง เตรือง กับอาเบ มีเพียงกระสอบทรายกับเชือกกระโดดเพื่อออกกำลังฟิตร่างกายภายในคุกซึ่งอยู่ในเมืองที่แออัดไปด้วยนักโทษและประตูกำแพง

อีกฟากหนึ่ง บุณ จันท์ มุล ในฐานะกาโปรัลหรือหัวหน้าคอมมูนสวนจัมกาขนาด 80 ไร่ที่ชื่อว่า “ดิ๊กยุก” ซึ่งมีชายหาดยาว 2 กิโลเมตร ซึ่งทุกเช้า บุณ จันท์ มุล จะออกวิ่งที่นั่นพร้อมด้วยถังน้ำหรือยางรถยนต์ที่ถ่วงเอวไว้ ที่นี่ยังอุดมสมบูรณ์พืชผักที่นักโทษเพาะปลูกและสัตว์ป่า ที่ช่วยให้เขาทำตารางฝึกซ้อมอย่างเข้มงวด

ก่อนหน้านั้น เพียง 3 สัปดาห์แรกที่มาถึง บุณ จันท์ มุล ล้มป่วยด้วยกรุนจันมาลาเรีย เนื่องจากสภาพภูมิอากาศของดิ๊กยุกที่ชุกชุมไปด้วยไข้ป่า ไม่มีมุ้งหมอนและยารักษาโรค จนเกือบไม่รอดเสียแล้ว ทว่าโชคดีที่อัน บา ฮอ เพื่อนนักโทษชาวเวียดมินห์และเป็นปฏิวัติชน ช่วยต้มสมุนไพรจึงรอดมาได้

จากนั้น การเทรนนิ่งสภาพร่างกาย อาศัยที่เคยไปดูชกมวยที่เขมรและจังหวัดพระตะบอง มี่ทั้งคู่ชกมวยเสียม (ไทย) ให้เปรียบเทียบสไตล์ บุณ จันท์ มุล กล่าวอย่างมั่นใจว่า “เรื่องศิลปะการต่อสู้แล้ว เขมรไม่แพ้ใคร!” และนับแต่วันแรกที่ลงนวม บุณ จันท์ มุล ก็เชื่อว่าจะสามารถชก 10 ยกได้สบายชนิดแรงไม่ตก

โดยเฉพาะการได้ชกกับยี บา ดุง ซึ่งเป็นคู่สุดท้ายและเป็นคู่เอกของรายการ

 

คํ่าคืนนั้น ทันที่ซุ้มตั๋วเปิดขายเวลา 18:30 น. ราวกับคุกแตก เก้าอี้ 3 พันที่นั่งถูกคนคลั่งมวยจับจองจนแน่นขนัดเต็มพื้นที่สนาม กระทั่ง 2 ทุ่มตรง การชกคู่แรกเริ่มขึ้น แน่นอน บุณ จันท์ มุล ผ่านเตรืองไม่ยากนัก และคู่สุดท้ายเวลา 22:00 น. พอกรรมการแสดงสัญญาณ “ชกได้!”

ทันที อาเบเสยกำปั้นเข้าใส่ บุณ จันท์ มุล ถอยฉากทันและตอบโต้ไปหนึ่งหมัด

จากนั้น พอหลบหมัดขวาของอาเบอีกครั้ง เขาสวนกลับด้วยกำปั้นขวา มันเข้าเป้าอย่างจัง อาเบคางสั่นเลยทีเดียว คราวนี้ บุณ จันท์ มุล ปล่อยหมัดซ้าย “ปัง!” อาเบถึงกับหงาย เสียงครางดัง “ฮือ” ดังขึ้นทั้งสนาม

ก่อนตามเป็นโห่ลั่นเชียร์บุณ จันท์ มุล ให้คว่ำอาเบ แต่เสียงระฆังยกแรกก็ช่วยไว้

ยกสอง คราวนี้บุณ จันท์ มุล เป็นฝ่ายบุกตะบันก่อน หมัดแรกกระแทกที่หน้า ตามด้วยขวาที่เดิม ยี บา ดุง ถอยกรูดจนติดเชือก เข้าทางมุล เขาตามไปรัวใส่อีก 4-5 หมัดจนอาเบทรุดเซ แต่ไม่ทัน หมัดซ้ายของมุลที่พุ่งมาเต็มแรง และจากนั้นอาเบหงายหลังและล้มลงจนกรรมการปราดเข้ามานับ

หนึ่ง-สอง-สาม-สี่-ห้า…อาเบยังนอนนิ่งลุกไม่ขึ้น

เหลือเชื่อ เกินคาด บุณ จันท์ มุล ชนะ! เป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ บุณ จันท์ มุล ถูกจดจำได้ไปทั่วเกาะตรอลาจ ด้วยสมญา “อัน บา มุล-จอมตะบัน!” “อัน บา มุล-หมัดพิฆาต!” และ “อัน บา มุล”

จากนั้น เช้าวันรุ่งขึ้น นักโทษบุณ จันท์ มุล ก็ได้ออกทัวร์เดินทางพบปะมิตรสหายไปตามแดนคุกต่างๆ ทั่วเกาะตรอลาจอย่างอิสระลำพัง โดยมีเครื่องหมายของนักรบคือ “ดาบซามูไร” เล่มเดียวที่เขาเหน็บไว้ข้างกาย ด้วยความเชื่อที่ว่าวันหนึ่งมันจะนำพาเขาไปสู่มาตุภูมิ

และแล้ว ในปลายปีนั้นเอง บุณ จันท์ มุล ก็ต้องประหลาดใจที่จู่ๆ “เรือรบญี่ปุ่น” ลำหนึ่งได้มาถึงเกาะตรอลาจพร้อมกับปฏิบัติการพิเศษภายใน 24 ชั่วโมงในการนำชาวเขมรกลับประเทศโดยสวัสดิภาพ

สิ้นสุดชีวิตโลดโผนของนักต่อสู้บุณ จันท์ มุล ณ เขตกักกันอันลี้ลับอินโดจีนที่เขาเคยตั้งสัตย์วาจาว่า จะกลับไปอีกครั้งเมื่อเขมรปลดแอกและชัยชนะต่อฝรั่งเศส

แต่วันนั้นก็ไม่เคยมาถึง

(*) ผลงาน “จริตขะแมร์” และ “คุกตรอลาจ : นักโทษการเมือง”