สงครามที่ไม่จบ! อิสราเอล vs ปาเลสไตน์+ฮามาส/ยุทธบทความ สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ

สุรชาติ บำรุงสุข

 

สงครามที่ไม่จบ!

อิสราเอล vs ปาเลสไตน์+ฮามาส

 

“นี่ไม่ใช่เพียงสงครามครั้งใหม่ระหว่างอิสราเอลกับฮามาสเท่านั้น แต่สิ่งที่เกิดเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้จุดประกายไฟของทุกแกนความขัดแย้งอันยาวนาน ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ให้เกิดขึ้นอีกครั้ง”

Natan Sachs

Brooking Institute (May 2015)

 

หนึ่งในข่าวสำคัญในเวทีโลกวันนี้นอกจากเรื่องการประท้วงต่อต้านรัฐประหารในเมียนมาแล้ว คงเป็นเรื่องของความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ในพื้นที่ของกาซา ซึ่งเริ่มขึ้นในวันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา และทำให้หลายฝ่ายมีความกังวลอย่างมากว่าความขัดแย้งในกาซาครั้งนี้จะหวนกลับมาเป็นสงครามใหญ่อีกครั้งในตะวันออกกลางหรือไม่

เพราะนอกจากจะเห็นถึงการใช้กำลังทางทหารระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสแล้ว

ปัญหาความรุนแรงอีกส่วนคือ ความขัดแย้งในระดับชุมชนระหว่างชาวอิสราเอลกับชาวปาเลสไตน์

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเช่นนี้ทำให้ชีวิตของชาวปาเลสไตน์ในกาซ่าซึ่งประสบความยากลำบากอยู่แล้ว จะยิ่งถูกซ้ำเติมจากความรุนแรง

ขณะเดียวกันก็ยังคงมีการระบาดของโควิด-19 เกิดขึ้นในพื้นที่ ความหวังที่สำคัญจึงได้แก่ การหยุดยิงระหว่างคู่ขัดแย้งจะทำให้ประชาชนชาวปาเลสไตน์ปลอดภัยจากการใช้กำลังของกองทัพอิสราเอล และกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติ

ทั้งยังทำให้ประชาชนอิสราเอลไม่ตกเป็นเป้าหมายการโจมตีด้วย

 

ปัญหาและความหวัง!

หากย้อนกลับไปพิจารณาสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เราอาจต้องยอมรับว่าต้นรากของวิกฤตเป็นผลจาก “ช่องว่างทางการทูต” (diplomatic vacuum) ที่ “กระบวนการสันติภาพออสโล” (The Oslo Peace Process) ที่เริ่มต้นในปี 1993 มีความเชื่องช้าอย่างมาก จนไม่สามารถดำเนินไปตามความคาดหวังได้จริง

และช่องว่างนี้กลายเป็นโอกาสอย่างดีให้นักการเมืองบางส่วนทั้งที่อยู่ในและอยู่นอกภูมิภาคแทรกตัวเข้ามา เพื่อผลตอบแทนในระยะสั้น

ขณะเดียวกันก็เป็นช่องทางให้กลุ่มสุดโต่งได้แสดงบทบาท และยิ่งอิสราเอลขยายปฏิบัติการทางทหารมากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งกลายเป็นโอกาสให้ฮามาสขยายอิทธิพลมากขึ้นเท่านั้น

แต่เดิมนั้นเป็นความหวังอย่างมากว่ากระบวนการออสโลที่เกิดขึ้นครั้งแรกจากการลงนามที่กรุงวอชิงตันในปี 1993 (และลงนามครั้งที่ 2 ที่อียิปต์ในปี 1995) ระหว่างรัฐบาลอิสราเอลและองค์กรปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PLO) อันนำไปสู่การยอมรับ “สิทธิของชาวปาเลสไตน์ในการกำหนดใจตนเอง”

ซึ่งมีนัยเท่ากับฝ่ายปาเลสไตน์ยอมรับต่อการดำรงอยู่ของรัฐอิสราเอล และอิสราเอลก็ยอมรับต่อการดำรงอยู่ของรัฐปาเลสไตน์

แต่ปัญหาทั้งหมดไม่ได้จบลงด้วยกระบวนการนี้ หากมีปัญหาสำคัญหลายประการถูกทิ้งค้างไว้ และกระบวนการเองก็ดำเนินไปอย่างเชื่องช้า จนนำไปสู่ความล้มเหลวของแคมป์เดวิดในปี 2000 และเกิดการลุกขึ้นสู้อย่างรุนแรงครั้งที่ 2 ของชาวปาเลสไตน์ในปีเดียวกัน (หรือที่เรียกว่า “The Second Intifada”) [การลุกขึ้นสู้ของชาวปาเลสไตน์ครั้งแรกเกิดในช่วงปี 1987-1993 และเป็นจุดที่ทำให้เกิดการก่อตั้งกลุ่มฮามาส]

และในปี 2002 อิสราเอลก็หวนกลับไปยึดพื้นที่ที่เคยส่งมอบให้กับคณะผู้บริหารปาเลสไตน์ (PA)

การลุกขึ้นสู้ในครั้งที่สองนี้ถูกถือว่ายุติลงในปี 2005 แต่ก็ทิ้งบาดแผลของความขัดแย้งไว้อย่างมาก และในความรู้สึกของชาวปาเลสไตน์แล้ว พวกเขาไม่ได้ยอมรับกระบวนการออสโล จนนักวิชาการอเมริกันเชื้อสายอาหรับอย่างซาอิด (Edward Said) เรียกสิ่งนี้ว่าเป็น “สนธิสัญญาแวร์ซายส์ของปาเลสไตน์” (The Palestinian Versailles)

ดังนั้น แม้กระบวนการออสโลอาจจะดูเป็นความหวังในเวทีระหว่างประเทศ แต่ก็ไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างที่คาด และความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ยังคงดำเนินต่อไป

อีกทั้งอิสราเอลยังคงขยายพื้นที่ในการตั้งชุมชนของชาวยิวในดินแดนปาเลสไตน์ไม่หยุดยั้ง

 

ผู้นำใหม่ที่ทำเนียบขาว

สถานการณ์ในปัจจุบันน่าจะมีความยุ่งยากมากขึ้น หากผู้นำสหรัฐอเมริกายังคงเป็นประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมักแสดงออกด้วยการไม่สนับสนุนกระบวนการสันติภาพ โดยเฉพาะทำเนียบขาวในยุคดังกล่าวมีท่าทีในแบบสนับสนุนรัฐบาลอิสราเอลอย่างเต็มที่ จนปิดโอกาสที่สหรัฐจะทำหน้าที่ในการเป็น “ตัวช่วย” เพื่อคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลาง และบทบาทในยุคทรัมป์เท่ากับเป็นสัญญาณโดยตรงว่า สหรัฐทิ้งกระบวนการออสโลแล้ว

การเปลี่ยนตัวผู้นำที่ทำเนียบขาวจึงเป็นโอกาสของการปรับนโยบายของสหรัฐในยุคหลังทรัมป์ ดังนั้น คงต้องถือว่าเป็นความท้าทายอย่างยิ่งต่อประธานาธิบดีโจ ไบเดน ว่าสหรัฐจะเข้ามามีบทบาทอย่างไรในการช่วยลดทอนความรุนแรงที่เกิดขึ้น

อีกทั้งเขาจะจัดการกับมรดกการเมืองที่ประธานาธิบดีทรัมป์ทิ้งไว้ในลักษณะของการสนับสนุนอิสราเอลอย่างสุดขั้ว

จนในขณะนั้นทำให้หลายฝ่ายมองว่า โอกาสที่สหรัฐจะเข้ามาทำหน้าที่เป็น “คนกลาง” ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ได้ยุติไปแล้ว

ดังนั้น เมื่อความรุนแรงเกิดขึ้นในครั้งนี้ จึงเป็นความท้าทายโดยตรงต่อทำเนียบขาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำอย่างไรที่ประธานาธิบดีไบเดนจะสามารถรื้อฟื้นบทบาทของสหรัฐให้กลับมาสู่ความน่าเชื่อถือในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้เพียงใด

อีกทั้งในภาวะเช่นนี้ สมาชิกพรรคเดโมแครตหลายคนมีแนวโน้มมากขึ้นที่อยากเห็นบทบาทใหม่ของสหรัฐในภูมิภาคตะวันออกกลางที่จะลดความสนับสนุนอิสราเอลลง

และต้องการให้สหรัฐเข้าไปมีบทบาทที่ไม่ใช่เพียงการยุติการสู้รบเท่านั้น แต่ยุติความขัดแย้งทั้งหมด

อีกทั้งการแต่งตั้ง Hardy Amr ให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าทีมนโยบายอิสราเอล-ปาเลสไตน์ของทำเนียบขาว และแต่งตั้ง Michael Ratney นักการทูตเก่าให้ดำรงตำแหน่งอุปทูตสหรัฐประจำอิสราเอล

จึงเป็นดังสัญญาณใหม่จากวอชิงตัน และขณะนี้รอการตัดสินใจของทำเนียบขาวว่าจะแต่งตั้งใครเป็นทูตประจำอิสราเอลคนใหม่

ซึ่งการแต่งตั้งตัวบุคคลเช่นนี้จะเป็นสัญญาณทางการทูตใหม่จากวอชิงตัน

ทำเนียบขาวในยุคของประธานาธิบดีไบเดนจึงพยายามหลีกเลี่ยงการใช้แนวทางแบบ “หวือหวา” เช่นในยุคทรัมป์

เช่น แม้ผู้นำสหรัฐจะออกมาส่งสัญญาณว่า สหรัฐสนับสนุน “สิทธิในการป้องกันตนเอง” ของอิสราเอล ที่ถูกวิจารณ์ว่าสหรัฐยังปกป้องอิสราเอลไม่ต่างจากเดิม แต่ทำเนียบขาวก็พยายามปรับทิศทางเชิงนโยบาย โดยรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐได้เปิดการติดต่อกับประธานาธิบดีอับบาสของปาเลสไตน์ด้วย

มิใช่จะใช้นโยบายแบบ “หนุนยิว-ทิ้งปาเลสไตน์” เช่นในยุคทรัมป์

แน่นอนว่าการแก้ไขปัญหาความรุนแรงระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะหากมองจากบริบททางประวัติศาสตร์ ความขัดแย้งระหว่างชุมชนชาวยิวกับชาวปาเลสไตน์และชาวอาหรับไม่ใช่เรื่องใหม่ หากแต่เป็นมรดกความขัดแย้งที่ถูกทิ้งค้างไว้กับภูมิภาคตะวันออกกลางมาอย่างยาวนาน จนกลายเป็นหนึ่งในโจทย์สำคัญของการเมืองโลกทุกยุคทุกสมัย

และต้องไม่ลืมว่าความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ได้ก่อให้เกิดการลุกขึ้นสู้ของชาวปาเลสไตน์มาแล้วถึงสองครั้ง และยังเกิดสงครามใหญ่ระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสในปี 2014 ด้วย

หลายฝ่ายจึงพยายามหาทางออกเพื่อให้เกิดการเจรจาหยุดยิง และปัญหานี้เป็นประเด็นหนึ่งที่ท้าทายทำเนียบขาวอย่างมากด้วย

 

สงครามและการหยุดยิง

ในทางการเมืองระหว่างประเทศเป็นที่รับรู้กันว่า กลุ่มฮามาสถูกขึ้นบัญชีเป็น “กลุ่มก่อการร้าย” ในขณะเดียวกันกลุ่มฮามาสมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนในการ “ปลดปล่อย” ปาเลสไตน์จากการยึดครองของอิสราเอล และต้องการสร้างรัฐอิสลามขึ้นในพื้นที่นี้

ในปัจจุบันกลุ่มนี้เป็นที่ยอมรับในหมู่ชาวปาเลสไตน์มากขึ้น ดังจะเห็นได้ว่าในการเลือกตั้งในปี 2006 ฮามาสเป็นเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาของชาวปาเลสไตน์ และชนะพรรค Fatah ที่ได้รับการสนับสนุนจาก PLO ด้วย

จนถือว่าพื้นที่กาซานั้นอยู่ภายใต้อิทธิพลของฮามาส (ไม่ใช่ของ PLO เช่นในอดีต) และมีความพยายามที่จะขยายอิทธิพลเข้าไปในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดนด้วย

อย่างไรก็ตาม กลุ่มนี้เคยทำสงครามกับอิสราเอลมาแล้วหลายครั้ง โดยเฉพาะสงครามครั้งสำคัญในปี 2014 ซึ่งมีการใช้จรวดพิสัยไกลในการโจมตีเป้าหมายในอิสราเอล ไม่ว่าจะเป็นการโจมตีเยรูซาเลม เทลอาวีฟ และไฮฟา เป็นต้น

กลุ่มนี้มีจุดยืนชัดเจนที่ยอมรับการหยุดยิงกับอิสราเอล แต่มีเงื่อนไขว่า อิสราเอลจะต้องถอนทหารกลับสู่แนวเส้นเขตแดนเดิมของปี 1967 และให้สิทธิแก่ผู้อพยพชาวปาเลสไตน์กลับสู่ถิ่นฐานเดิม

อย่างไรก็ตาม กลุ่มฮามาสเป็นเหมือนขบวนการทางการเมืองโดยทั่วไป ที่แยกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ ปีกการทหาร และปีกสังคมหรือปีกการเมือง

ซึ่งปีกการทหารมักจะเป็นส่วนที่เปิดการโจมตีอิสราเอลหลายครั้ง เช่น การโจมตีด้วยจรวดทั้งพิสัยใกล้และพิสัยไกล การใช้ระเบิดฆ่าตัวตาย ซึ่งเริ่มขึ้นอย่างชัดเจนหลังปี 2001 โดยกลุ่มนี้อาศัยอิสราเอลเป็นเป้าหมายหลักของการโจมตีทางทหาร หรือโดยนัยคือ อิสราเอลมีสถานะเป็นเป้าหมายที่ชอบธรรมสำหรับให้ฮามาสก่อเหตุ

และในทางกลับกันอิสราเอลก็จะอาศัยการโจมตีของฮามาสเป็นข้ออ้างในการตอบโต้ทางทหาร หรืออาจกล่าวได้ว่าการก่อเหตุของฮามาสกลายเป็นความชอบธรรมสำหรับอิสราเอลในการโจมตีทางทหาร

แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ในทางการเมืองก็คือ กลุ่มนี้เป็นตัวแทนที่ชอบธรรมของชาวปาเลสไตน์ และฮามาสเองก็หวังเป็นอย่างยิ่งในการสร้างความยอมรับในหมู่ชาวปาเลสไตน์ให้มากขึ้น

ส่วนอิสราเอลเองก็ยอมรับที่จะให้ฮามาสเป็นรัฐบาลในกาซา แต่ไม่ต้องการให้ฮามาสขยายอิทธิพลเข้าไปในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งขยายเข้าไปสู่พื้นที่เยรูซาเลมตะวันออกที่อิสราเอลต้องการควบคุมไว้ทั้งหมด เพราะจะกระทบกับความมั่นคงของอิสราเอลโดยตรง

อิสราเอลเองก็กังวลกับการโจมตีทางทหารของกลุ่มฮามาส โดยเฉพาะการใช้จรวดพิสัยไกลที่สร้างความเสียหายให้เมืองหลักของอิสราเอล แม้จะสามารถป้องกันการโจมตีของจรวดได้ในหลายส่วนก็ตาม

ดังนั้น อิสราเอลจึงต้องการที่จะป้องปรามการโจมตีดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการสังหารผู้นำ (เท่าที่อิสราเอลจะค้นหาได้) การโจมตีอาคารสถานที่ต่างๆ ของกลุ่ม (ดังปรากฏภาพของการโจมตีทางอากาศต่ออาคารของกลุ่มในกาซา) สำหรับผู้นำอิสราเอลแล้ว ประธานาธิบดีเนทันยาฮูเองไม่ต้องการที่เข้าสู่การเลือกตั้งครั้งที่ 5 ของเขา โดยมีสงครามปาเลสไตน์เป็นชนักติดตัวไปด้วย

ในที่สุดการหยุดยิงก็บรรลุผลในวันที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมา และต่างฝ่ายต่างอ้างว่าตนเป็นผู้ชนะ แต่ข้อตกลงนี้ก็ไม่ชัดเจนว่าจะยุติความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ได้นานเพียงใด!