วิกฤตินิเวศ เมื่อภูมิอากาศแปรปรวน (29)/วิกฤติศตวรรษที่21 อนุช อาภาภิรม

วิกฤติศตวรรษที่21

อนุช อาภาภิรม

 

วิกฤตินิเวศ

เมื่อภูมิอากาศแปรปรวน (29)

 

ความปกติใหม่ของภูมิอากาศ

 

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากการกระทำของมนุษย์ เป็นสิ่งที่ง่ายแต่ก็ซับซ้อน เริ่มจากมนุษย์ได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศมากผิดปกติ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้น ช่วยเก็บกักความร้อนจากแสงอาทิตย์ ทำให้อุณหภูมิโลกร้อนขึ้น

แต่ในอีกด้านหนึ่ง กิจกรรมของมนุษย์ในยุคอุตสาหกรรมก็ได้ส่งละอองลอยสู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้นด้วย

ละอองลอยเหล่านี้ส่วนหนึ่งทำหน้าที่สะท้อนแสงอาทิตย์ออกไป ทำให้โลกเย็นลง ดังนั้น ในท่ามกลางการเตือนของนักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งถึงภัยโลกร้อนจากก๊าซเรือนกระจก ในช่วงเวลาหนึ่งก็มีนักอุตุนิยมวิทยาจำนวนไม่น้อยที่เห็นว่าโลกกำลังถูกคุกคามด้วยภาวะโลกเย็น

กระแสแนวคิดเรื่องโลกเย็นก่อตัวตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง และขึ้นกระแสสูงในทศวรรษ 1970 มีบทความที่โด่งดังชื่อ “โลกที่เย็นลง” เขียนโดยปีเตอร์ กวิน บรรณาธิการวิทยาศาสตร์ของนิตยสารนิวส์วีกของสหรัฐ เผยแพร่ในนิตยสารนี้ปี 1975 ความตอนหนึ่งว่า

“ข้อเท็จจริงใจกลางก็คือว่า หลังจากที่มีลมฟ้าอากาศที่ไม่รุนแรงมายาว นานราวสามในสี่ของศตวรรษ ดูเหมือนโลกกำลังเย็นลง นักอุตุนิยมวิทยายังไม่แน่ใจว่าสาเหตุและแนวโน้มโลกเย็นจะเป็นถึงขั้นไหน รวมทั้งผลกระทบต่อลมฟ้าอากาศในท้องถิ่นต่างๆ จะเป็นอย่างไร แต่พวกเขาได้เห็นพ้องกันประการหนึ่งว่า แนวโน้มนี้จะทำให้ผลิตภาพทางการเกษตรลดลงในตลอดศตวรรษนี้”

 

บทความนั้นได้กลายเป็นแหล่งอ้างอิงของบรรดาสื่อกระแสหลัก โดยเฉพาะสำนักข่าวฟอกซ์และนักการเมืองในพรรครีพับลิกันที่ไม่เชื่อเรื่องโลกร้อน ยาวนานกว่า 40 ปี ที่มีชื่อเสียงมากคือ โดนัลด์ ทรัมป์ (ตั้งแต่ก่อนเป็นประธานาธิบดี) เขากล่าวช่วงนั้นว่า “เรื่องเหลวไหลราคาแพงว่าด้วยโลกร้อนควรจะได้ยุติลงเสียที โลกกำลังเย็นลง”

(ดูบทความของ Doug Struck ชื่อ How the ‘global cooling’ story came to be ใน scientificamerican.com 10/04/2014)

เป็นที่สังเกตว่า ทุกวันนี้ยังมีนักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งที่ไม่เชื่อเรื่องโลกร้อน และใช้ประเด็นละอองลอยบดบังแสงอาทิตย์ทำให้โลกเย็นลงอยู่

นอกจากนี้ แนวคิดวิศวกรรมดาวเคราะห์โลก (Geoengineering) เพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งแพร่อยู่ลึกๆ มีเทคนิคสำคัญอย่างหนึ่งอยู่ที่การบังแสงหรือลดความร้อนแรงจากดวงอาทิตย์ที่ส่องมายังโลก

เช่น โครงการพ่นฝุ่นแคลเซียม คาร์บอเนตขึ้นในชั้นบรรยากาศสตราโทสเฟียร์ เลียนแบบเถ้าจากภูเขาไฟที่เกิดตามธรรมชาติ เพื่อลดทอนความร้อนแรงของแสงอาทิตย์ (บรรยากาศชั้นนี้มีความสูงระหว่าง 15-50 กิโลเมตร) และมีก๊าซโอโซนที่ช่วยดูดซับรังสีอัลตราไวโอเล็ตของดวงอาทิตย์อยู่ด้วย)

โครงการนี้เป็นของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดสนับสนุนโดยมหาเศรษฐีบิลล์ เกตส์ ดำเนินการมาหลายปี จนมีกำหนดจะส่งบอลลูนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ บริเวณขั้วโลกเหนือในเดือนมิถุนายน 2021 แต่ถูกคัดค้านจากนักสิ่งแวดล้อม นักวิทยาศาสตร์ และชนพื้นเมือง จนกระทั่งองค์การอวกาศของสวีเดนที่ทำหน้าที่ปล่อยบอลลูน ประกาศระงับ ปฏิบัติการ (ดูบทรายงานของ Nickie Louise ชื่อ Sweden cancelled Bill Gates’ controversial climate geoengineering project (SCoPEx) aiming to block the sun to stop global warming ใน techstartup.com 03/04/2021)

กระแสโลกเย็นมีข้อดีสำคัญได้แก่ การทำให้เห็นว่า ภูมิอากาศและลมฟ้าอากาศเป็นระบบซับซ้อนที่มีกระบวนการปรับตัวเองเป็นต่างๆ บางแห่งร้อน บางที่เย็น บางแห่งแล้ง บางที่น้ำท่วม เป็นต้น ส่วนข้อเสียสำคัญคือการทำให้เกิดการคลายใจหรือดูเบาปัญหาโลกร้อน ว่าสามารถแก้ไขได้โดยไม่ยาก

เมื่อเวลาผ่านไป ข้อเท็จจริงได้ปรากฏชัดขึ้นเรื่อยว่า โลกกำลังร้อนขึ้นและเร็วมาก ผู้เขียนบทความเรื่องโลกเย็น ในปี 2014 ได้เขียนบทความใหม่ ปฏิเสธใจความสำคัญเดิม และไม่ต้องการใครมาอ้างอิงอีก

(ดูบทความของ Peter Gwynne ชื่อ My 1975 ‘cooling world’ story doesn’t make today climate scientists wrong ใน insidescience.org 21/05/2014)

 

กลับมาสู่ภาวะโลกร้อน เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2021 ระดับความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ วัดจากสถานีตรวจวัดสภาพอากาศฮาวายสูงถึง 421.35 ส่วนต่อล้านส่วน สูงสุดในรอบ 14 ล้านปีที่ผ่านมา

ความจริงปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นนั้นก็ไม่ได้มากอะไร เพราะสัดส่วนของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศมีเพียงร้อยละ 0.04 เท่านั้นเอง (เกือบทั้งหมดเป็นก๊าซไนโตรเจนและออกซิเจน) จนต้องใช้สัดส่วนการวัดระดับเป็นหนึ่งส่วนต่อล้านส่วน

แต่ถึงปริมาณน้อยก็มีผลกระทบสูง เพราะเป็นก๊าซเรือนกระจก ทำหน้าที่เหมือนเป็นผ้าห่มใหญ่คลุมโลกไว้ให้ร้อนระอุ เข้าลักษณะ “ผลกระทบผีเสี้อขยับปีก” กิจกรรมของมนุษย์ตัวน้อยๆ จึงสามารถเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกได้

เมื่อก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้มข้นขึ้น ก็ส่งผลกระทบโดยตรงที่เห็นได้ชัดคือทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น จากนี้องค์ประกอบของลมฟ้าอากาศและภูมิอากาศโลกทั้งหลายก็ได้ปรับตัวเองเป็นต่างๆ ที่สังเกตเห็นคือการมีลมฟ้าอากาศสุดขั้ว เป็นโกลาหลจนทำนายไม่ได้ แต่ความโกลาหลนี้ก็จะค่อยๆ จัดระเบียบตัวเองเป็น “ความปกติทางภูมิอากาศ” (Climate Normal) ที่ต่างจากเดิมขึ้นเป็นความปกติใหม่

ในที่นี้จะยกตัวอย่างผลการศึกษาของสหรัฐ

 

ทุกๆ สิบปีองค์การบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐ (NOAA ขึ้นอยู่กับกระทรวงพาณิชย์) จะเผยแพร่รายงานความปกติทางภูมิอากาศปกติสหรัฐ (U.S. Climate Normals) ในด้านอุณหภูมิ ปริมาณฝน และสภาพทางอุตุนิยมวิทยาอื่นของทุกรัฐ เมืองและพื้นที่ต่างๆ โดยคำนวณจากข้อมูลสถานีตรวจวัดสภาพอากาศทั่วประเทศ

รายงานฉบับล่าสุดได้เผยแพร่เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2021 แสดงค่าปกติระหว่าง 1991-2020 รวมเป็น 30 ปี ซึ่งถือว่ายาวนานพอที่จะเรียกว่าเป็นภูมิอากาศ ไม่ได้ผันแปรไปสุดขั้วแบบลมฟ้าอากาศได้ในรายวัน เดือน และปี

สำหรับรายงาน 10 ปีก่อนหน้านั้นอยู่ระหว่างปี 1981-2010 องค์การเอ็นโอเอเอได้คำนวณย้อนหลังไปถึงความปกติทางภูมิอากาศครั้งแรก ระหว่างปี 1901-1930 (องค์การนี้ก่อตั้งปี 1970) ถ้าหากเรานำภาพใหญ่ทั้ง 10 นี้ มาเรียงต่อกันก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศของสหรัฐได้ชัดว่า มีอุณหภูมิสูงขึ้น และมีฝนตกมากขึ้น

โดยเฉพาะใน 4 ภาพท้าย คือระหว่างปี 1961-1990, 1971-2000, 1981-2010 และ 1991-2020 เป็นช่วงที่สหรัฐมีฝนตกหนักที่สุด เมื่อเทียบกับศตวรรษที่ 20

ภาวะปกติทางภูมิอากาศของสหรัฐทั้งประเทศ ช่วง 1991-2020 มีอุณหภูมิอยู่ที่ 53.3 องศาฟาเรนไฮต์ (11.8 เซลเซียส) สูงขึ้น 1 องศาฟาเรนไฮต์เมื่อเทียบกับ 20 ปีก่อน พบว่าพื้นที่มากกว่าร้อยละ 90 ในสหรัฐ มีอุณหภูมิสูงขึ้น จากระหว่างปี 1981 ถึง 2010 เมืองที่มีอุณหภูมิพุ่งขึ้นสูงสุดได้แก่ ชาร์ลอตส์วิลล์ รัฐเวอร์จิเนีย เมืองที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นมาก เช่น ชิคาโก (รัฐอิลลินอยส์) และแอชวิลล์ (นอร์ธแคโรไลนา) อุณหภูมิเพิ่มขึ้นถึง 1.5 องศาฟาเรนไฮต์ ช่วงสิบปีที่ผ่านมา ที่ยกเว้นคือ เมืองฟาร์โก ในรัฐนอร์ธดาโกตา อุณหภูมิปกติลดลงเล็กน้อย

ในด้านปริมาณน้ำฝน โดยทั่วไปมีฝนมากขึ้น เช่น เมืองแอชวิลล์ปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 9 กรุง นิวยอร์กร้อยละ 6 เมืองซีแอตเติลร้อยละ 5 แต่ก็มีบางแห่งที่ฝนแล้ง เช่น เมืองฟินิกซ์ (รัฐแอริโซนา) ปริมาณฝนลดลงถึงร้อยละ 10 อยู่ที่ 7.2 นิ้ว (18.2 เซนติเมตร)

ปริมาณฝนในลอสแองเจลิสลดลงร้อยละ 4.6 ในเวลา 10 ปี

 

ข้อมูลสถิติตามรายงานดังกล่าวมีประโยชน์ในการพิจารณาตัดสินว่า ภูมิอากาศพื้นที่หนึ่งเวลาหนึ่ง กับลมฟ้าอากาศในพื้นที่หนึ่งในเวลาขณะนั้นเป็นอย่างใด

ซึ่งสามารถนำไปใช้ทางธุรกิจ ความมั่นคง สังคมและวิชาการได้ แต่มีนักอุตุนิยมวิทยาบางคนวิจารณ์ว่า ควรใช้ฐานที่เป็นอันเดียวกัน ได้แก่ระหว่างปี 1951 และ 1980 ที่นาซาใช้อยู่

ส่วนบางคนเห็นว่าภูมิอากาศสหรัฐระหว่างปี 1991-2020 มีความผิดปกติมากจนไม่อาจเรียกว่าเป็นความปกติได้

(ดูข่าวเผยแพร่ของ NOAA ชื่อ The new U.S. Climate Normals are here. What do they tell us about climate change? ใน noaa.gov 04/05/2021 และรายงานข่าวของ Seth Borenstein ชื่อ American’s new Normal : A degree hotter than two decades ago ใน apnews.com 04/05/2020)

ตอนต่อไปจะกล่าวถึงลมวนขั้วโลกเหนือและไฟป่าในที่ต่างๆ