ตะวันตก-ตะวันออก/มิตรสหายเล่มหนึ่ง นิ้วกลม

นิ้วกลมfacebook.com/Roundfinger.BOOK

มิตรสหายเล่มหนึ่ง

นิ้วกลม

[email protected]

 

ตะวันตก-ตะวันออก

 

คุณสังเกตเห็นอะไรมากกว่ากัน?

วัว หรือ พื้นหลัง?

คำตอบอาจขึ้นอยู่กับว่าคุณเติบโตขึ้นมาในส่วนใดของโลก ตะวันตกหรือตะวันออก

นี่อาจเป็นข้อพิสูจน์ว่าเรามองโลกคนละแบบ และเห็นโลกใบเดียวกันแตกต่างกันไปทั้งที่มองไปในทิศทางเดียวกัน มุมเดียวกัน ก็ยังมองคนละสิ่ง ให้ความสำคัญคนละอย่าง

หนังสือ The Geography of Thought โดยริชาร์ด นิสเบตต์ พูดถึงงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าวิธีคิดของเราได้รับอิทธิพลและหล่อหลอมจากวัฒนธรรม

ภาพวัวที่เห็นอยู่นี้ถูกใช้ทดลองตรวจจับการเคลื่อนไหวของดวงตามนุษย์ ซึ่งพบว่าผู้เข้าร่วมการทดลองชาวเอเชียตะวันออกจะมอง ‘พื้นหลัง’ นานกว่า ส่วนชาวตะวันตกจะมอง ‘วัตถุด้านหน้า’ นานกว่า

บทความของชารอน เบกลีย์ ในนิตยสารนิวส์วีกเกี่ยวกับการวิจัยทางประสาทวิทยาระบุผลกระทบที่วัฒนธรรมมีต่อผู้คนไว้ว่า “เมื่อได้ดูภาพความยุ่งเหยิงวุ่นวาย คนอเมริกันเชื้อสายเอเชียจะใช้งานสมองคนละส่วนกับคนอเมริกันที่ไม่มีเชื้อสายเอเชีย

กลุ่มที่มีเชื้อสายเอเชียใช้งานสมองส่วนประมวลผลแบบองค์รวม (ภาพ+พื้นหลัง) มากกว่า ขณะที่กลุ่มไม่มีเชื้อสายเอเชียจะใช้สมองส่วนที่จดจำและแยกแยะวัตถุมากกว่า

ประเด็นอยู่ที่สภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดู ไม่ใช่ชาติพันธุ์

วัฒนธรรมเอเชียให้ความสำคัญกับการอยู่รวมกันเป็นกลุ่มจึงเรียนรู้ที่จะให้ความสำคัญกับสิ่งรอบตัวมากกว่า ขณะที่สังคมตะวันตกเน้นที่ปัจเจกบุคคลจึงสนใจวัตถุที่เป็นจุดสนใจมากกว่า

เป็นไปได้ว่า เมื่อเทียบกันแล้ว พวกเรา (ชาวเอเชีย) อาจใช้เวลามอง ‘วัว’ น้อยกว่าเพื่อนชาวอเมริกัน แล้วแบ่งเวลาไปมองพื้นหลัง

ซึ่งที่จริงผมยังสนใจมากขึ้นไปอีกว่า วัยรุ่นกับคุณปู่คุณย่าของพวกเขาใช้เวลามอง ‘วัว’ ต่างกันไหม

ความแตกต่างระหว่างตะวันตก-ตะวันออกเป็นเรื่องมองเห็นชัดเจนและช่วยกระตุกเรื่องอคติที่ยึดมั่นในแว่นของตัวเองได้ดี

อาจารย์นพพร สุวรรณพานิช ก็เคยเขียนไว้เป็นเล่มในหนังสือ ‘ตะวันตก-ตะวันออก’ ซึ่งมีบทหนึ่งอธิบายความต่างระหว่างญี่ปุ่นกับโลกตะวันตกอย่างสนุกสนาน

โดยเล่าว่า จริยธรรมแบบญี่ปุ่นคือการศึกษาอัตวิสัยร่วมกันและระหว่างกัน คือให้ความสำคัญกับ ‘ความสัมพันธ์’ และการอยู่ร่วมเป็นชุมชน

ขณะที่ในตะวันตกการศึกษาจริยธรรมเป็นการศึกษาที่ปัจเจกหรือการตัดสินใจส่วนตัว ดี-ชั่วจบที่ตัวเรา

มุมหนึ่งที่น่าสนใจคือ แม้ญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลทางความคิดจากจีนไปไม่น้อย แต่ญี่ปุ่นก็ไม่มีนักคิด เช่น เหลาจื่อ ขงจื่อ เม่งจื่อ หรืออีกหลายจื่อ

ไม่มีปราชญ์อย่างโสกราติส เพลโต อริสโตเติล หรือนักคิดดังๆ ของฝรั่งซึ่งมีมาโดยตลอด

อาจารย์นพพรอธิบายว่า เพราะญี่ปุ่นมองทุกอย่างตามความเป็นจริง มองอย่างราบรื่น

ผมอ่านแล้วคิดตาม เป็นไปได้ไหมว่าด้วยภูมิประเทศที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่ประสบภัยธรรมชาติอย่างแผ่นดินไหวและสึนามิอยู่เนืองๆ ทำให้ชนชาตินี้ยอมรับสิ่งต่างๆ ตามธรรมชาติและวิพากษ์วิจารณ์น้อยกว่าสังคมผลิตนักคิดทั้งหลาย

ส่วนเรื่องการให้ความสำคัญกับชุมชนมากกว่าตนเองนั้นเป็นสิ่งโดดเด่นของญี่ปุ่นที่ทุกคนทราบกันดี ปัจเจกชนมีความรับผิดชอบต่อสวรรค์และชุมชนที่ตนอาศัยอยู่ ต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างดีให้ลุล่วงตามที่ได้รับมอบหมาย

หนังสือเกี่ยวกับญี่ปุ่นมากมายหลายเล่มอธิบายว่าคนญี่ปุ่นคิดถึงสังคมก่อนตัวเอง เราจึงเห็นท่าทีสุภาพอ่อนน้อม ยิ้มแย้ม พูดจาดี รวมถึงการให้บริการอันน่าประทับใจจากชาวญี่ปุ่นเป็นเรื่องปกติ

มีคำสำคัญสองคำในภาษญี่ปุ่น ได้แก่ ‘กิริ’ คือคุณธรรมในการปฎิบัติหน้าที่อย่างรับผิดชอบให้ลุล่วง ส่วน ‘นินโจ’ คืออารมณ์ส่วนตัว กิริและนินโจมักขัดแย้งกันอยู่เนืองๆ เช่น ถ้าต้องเลือกระหว่างชาติกับครอบครัวจะเลือกอะไร ถ้าต้องเลือกระหว่างคนรักกับการทรยศเจ้านายจะเลือกอะไร

‘กิริ’ จึงเป็นพลังทางสังคมที่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม

ซามูไรจึงสามารถคว้านท้องตัวเองทำฮาราคีรีเมื่อกระทำผิดหรือทำกิจไม่สำเร็จก็เพราะปฏิบัติตามจริยธรรมเช่นนี้ หรือกองบินกามิกาเซ่ที่พุ่งเข้าชนเครื่องบินฝ่ายตรงข้ามในสงครามโลกครั้งที่สองก็นับเอา ‘กิริ’ ใหญ่กว่า ‘นินโจ’ ของตัวเองเช่นกัน

บางคนจึงอธิบายว่าเมื่อนักเรียนญี่ปุ่นสอบไม่ติดมหาวิทยาลัยที่วาดฝันแล้วฆ่าตัวตาย หรือพนักงานผิดหวังเรื่องงานแล้วฆ่าตัวตายก็เพราะให้คุณค่ากับการปฏิบัติหน้าที่ให้สำเร็จลุล่วงแล้วทำไม่สำเร็จ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยหนึ่ง

 

เรื่องมุมมองที่ให้ความสำคัญกับ ‘พื้นหลัง’ มากกว่า ‘วัตถุ’ หรือ ‘บุคคล’ ในภาพก็สามารถนำมาอธิบายภาพวาดจีนโบราณซึ่งแตกต่างไปจากภาพวาดฝั่งตะวันตกราวกับมาจากคนละดาว

เพราะภาพจีนนั้นให้ความสำคัญกับทิวทัศน์อย่างมาก ภูเขา ต้นไม้ สายธาร ท้องฟ้า ถ้าจะมีมนุษย์ก็เป็นเพียงส่วนประกอบเล็กๆ ของภาพเท่านั้น

ขณะที่ชาวตะวันตกนิยมวาดภาพเหมือนของบุคคลสำคัญต่างๆ มากมายเต็มไปหมด ไม่ใช่แค่รูปภาพ แต่ยังมีรูปปั้นรูปแกะสลักอีกเพียบ

อาจารย์นพพร สุวรรณพานิช เล่าว่า ศิลปินจีนแท้ไม่สนใจแสงและเงา หากภาพมีเงาจะเห็นว่าไม่งามและอาจนำเคราะห์ร้ายมาให้ผู้วาด

จีนจึงให้ความสำคัญกับสัดส่วนมาแทนแสงเงา แถมยังนิยมสีสันที่จัดจ้าน

จนจอห์น รัสกิน ปราชญ์และนักวิพากษ์ศิลปะชาวอังกฤษเคยวิจารณ์ว่าศิลปะจีนนั้นคลั่งสีเกินเหตุ ทำให้เกือบวิปลาส บูดเบี้ยวผิดธรรมดา เพราะฝรั่งไม่ใช้สีแบบนี้

นี่ก็คือแว่นตาที่ต่างกัน

เมื่อสวมแว่นจากฝั่งหนึ่งมองอีกฝั่งย่อมเห็นว่าไม่งาม

ซึ่งเป็นไปได้ว่า-ไม่ดีและไม่จริงด้วย

ในช่วงศตวรรษที่ 19 ยุโรปเห็นว่าสถาปัตยกรรมจีนไม่มีอะไรน่าสนใจ แม้มีวัดเยอะแต่ก็หน้าตาคล้ายบ้านไปหมด ไม่มีความสง่างามแบบโบสถ์ฝรั่ง

ที่คนจีนไม่สร้างอะไรอลังการนักเพราะขุนนางจีนไม่ได้สืบทอดตำแหน่งให้ลูกหลานแบบฝรั่ง จีนจึงไม่สนใจสถาปัตยกรรมอลังการที่อยู่ไปชั่วฟ้าดินสลาย

นอกจากนั้น จีนก็ยังมีความปลอดภัยในทรัพย์สินมากกว่าในยุโรป จึงไม่สร้างปราสาทหินแข็งแกร่งแบบยุโรปในยุคกลาง

ในทางตรงกันข้าม จีนมีงานฝีมือที่ละเอียดลออ มีด กรรไกร ขวาน เลยไปถึงสินค้าขึ้นชื่ออย่างผ้าไหมแพร ผ้ายกดอก ผ้าแพร รวมถึงลายปักที่ยากจะหาใครเทียบเทียม

ยังมิต้องนับงานแกะสลักทั้งหลาย ทั้งงาช้าง มุก กระดองเต่า หยก และไม้แกะสลัก ซึ่งสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับชาวตะวันตกได้มาก

ซึ่งจะว่าไป ความสนใจสถาปนาสิ่งก่อสร้างให้ใหญ่โต สูงเสียดฟ้า และคงอยู่ชั่วนิรันดร์ก็อาจเป็นเรื่องเดียวกับที่คนตะวันตกสนใจ ‘วัว’ มากกว่าพื้นหลัง ส่วนคนตะวันออกสนใจ ‘พื้นหลัง’ มากกว่าวัวด้วยก็เป็นได้

เมื่อตะวันตกต้องการสร้างวัตถุขนาดใหญ่ให้ปรากฏเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาเพื่อเป็นจุดสนใจ เน้นไปที่ความคิดแบบแยกวัตถุจากพื้นหลังและส่วนอื่นๆ โดยรอบดังเช่นโบสถ์กอธิกที่สูงชะลูดสู่สวรรค์ซึ่งสะท้อนความคิดแบบเอกเทวนิยม (พระเจ้าองค์เดียว)

ขณะที่ตะวันออกมองสรรพสิ่งในเชิงหมุนเวียนและเป็นเหตุปัจจัยต่อเนื่องกันจึงไม่เน้นสร้างสถาปัตยกรรมที่สูงเด่นเป็นสง่า แถมยังให้คุณค่ากับความงามของการเสื่อมสลาย

ดังเช่นที่เห็นได้เวลาวัสดุธรรมชาติเก่าหมองไปตามกาล ที่ญี่ปุ่นเรียกขานความงามเช่นนี้ว่า ‘วะบิ ซะบิ’

หากสวมแว่นตะวันตกมาดูตะวันออกก็อาจมองว่าไม่งาม

หากสวมแว่นตะวันออกไปดูตะวันตกก็อาจมองว่าแปลกประหลาดได้เช่นกัน

ทว่าในโลกที่เชื่อมต่อกันรวดเร็วอย่างทุกวันนี้ สองฟากฝั่งที่เคยต่างกันราวคนละดาวก็อาจเขยิบเข้ามาใกล้และเข้าใจกันมากขึ้นกว่าเดิม

กระนั้น ผลวิจัยจากดวงตาและสมองตอนมองภาพวัวกับพื้นหลังก็ยังยืนยันว่าเรามองโลกคนละแบบ