ผลัดกันเป็นครูเป็นนักเรียน กรณีนิสิตนิติฯ ส่อง ‘หญิง’ | ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

เคยอ่านโคลงโลกนิติบทนี้บ้างไหมครับ

ช่างหม้อตีหม้อใช่ ตีฉาน แฉกนา

ตีแต่งเอางามงาน เมื่อค้า

ดุจศิษย์กับอาจารย์ ตีสั่ง สอนแฮ

ตีใช่ตีเสือกหน้า สู่ห้องแห่งอบาย

ผมนึกถึงโคลงบทนี้ขึ้นมาในใจเมื่อต้องพบกับเหตุการณ์ที่เป็นข่าวสารสาธารณะอยู่ในเวลาที่เขียนบทความเรื่องนี้

ข่าวที่ว่าเกิดขึ้นใกล้ตัวผมเหลือเกิน เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งเป็นแหล่งเรียนหนังสือและที่ทำงานของผมมาแต่อ้อนแต่ออก แม้จนทุกวันนี้ผมก็ยังทำงานในฐานะเป็นอาจารย์พิเศษอยู่ในโรงเรียนกฎหมายแห่งนี้

เมื่อเกิดข่าวใหญ่ขึ้นผมจึงรู้สึกว่าตัวเองอยู่ใกล้ชิดกับเหตุการณ์และมีส่วนได้เสียพอสมควร

ข่าวอะไรหรือครับ

 

ว่าแต่โดยย่อก็คือ ต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมามีนักเรียนชายที่สอบคัดเลือกเข้าศึกษาในคณะนิติศาสตร์ได้จำนวนหนึ่งราวสี่ห้าคน ได้ไปเที่ยวสอดส่องดูกลุ่ม LINE ของว่าที่นิสิตต่างคณะ แล้วเลือกเฟ้นเฉพาะรูปภาพของว่าที่นิสิตหญิงมาเผยแพร่ในกลุ่ม LINE เฉพาะของนักเรียนชายผู้เป็นว่าที่นิสิตคณะนิติศาสตร์

พร้อมทั้งเขียนวิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะที่เป็นการคุกคามทางเพศ

เวลานี้กำลังเป็นประเด็นร้อนในสื่อโซเชียลต่างๆ ผมยังเดาไม่ออกเหมือนกันว่าเรื่องราวจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร เพราะมีแง่มุมที่เกี่ยวข้องหลากหลาย

ตั้งแต่เรื่องในทางคดีความ เรื่อยไปจนถึงประเด็นว่าคณะนิติศาสตร์จะรับนักเรียนชายจำนวนสี่ห้าคนนี้เข้ามาเป็นนิสิตของคณะหรือไม่

ประเด็นเหล่านี้กำลังอภิปรายกันอย่างเมามันในหลายวง และตามความเป็นจริงแล้วคณะนิติศาสตร์จะตัดสินใจอย่างไรด้วยเหตุผลอะไร วันนี้ก็ยังไม่มีใครทราบแน่

แต่ไม่ว่าคณะจะตัดสินใจอย่างไร ผมเชื่อใจว่าต้องผ่านการไตร่ตรองใคร่ครวญมาเป็นอย่างดีแล้ว

และผมจะเคารพการตัดสินใจเช่นว่านั้นในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของประชาคม

 

อย่างไรก็ดี ในระหว่างที่เรื่องยังไม่ออกหัวออกก้อยว่าอย่างไร ในฐานะคนแก่ผมก็จะพูดพล่ามไปตามเพลง ไม่ได้ชี้นำว่าใครต้องทำอะไรหรือไม่ควรทำอะไร นึกเสียว่าดูตลกหน้าม่านไปก่อนที่ละครจริงจะลงโรงก็แล้วกันครับ

เรื่องแบบนี้เป็นขยะที่อยู่ใต้พรมของเมืองไทยมาช้านาน วัฒนธรรมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ มีบทบาทนำเหนือผู้หญิงมาแต่กาลก่อน

ค่านิยมที่ถ่ายทอดสั่งสมกันมาว่าผู้ชายต้องห้าว มึงมาพาโวย ผู้ชายถือไพ่เหนือกว่าผู้หญิง การวิพากษ์วิจารณ์สรีระของผู้หญิงในแวดวงผู้ชายด้วยกันเป็นเรื่องที่ยอมรับได้และยกย่องว่ามีฝีมือ เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไป

แต่ต้องไม่ลืมว่าโลกเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก

ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์หรือคุณค่าของความเป็นคนมีอยู่เสมอกันในมนุษย์ทุกรูปทุกนาม

ต่อให้เป็นคนยากจนเข็ญใจหรือมหาศาลเศรษฐี เป็นคนที่มีรูปร่างหน้าตาอย่างไรก็ตาม มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดหรือไม่ก็ตาม เป็นผู้ชายเป็นผู้หญิงหรือเพศทางเลือกทุกคนก็เป็นมนุษย์หนึ่งคนเท่ากัน

ผมรู้แก่ใจดีว่าข้อความในย่อหน้าที่เพิ่งเขียนจบไปเมื่อกี้นี้เป็นโลกแห่งอุดมคติ

ในความเป็นจริงแล้วเรายังได้ยินเรื่องของการเลือกปฏิบัติเกิดขึ้นอยู่เสมอ

ลองนึกถึงข่าวที่ชาวเอเชียในประเทศสหรัฐอเมริกาถูกทำร้ายด้วยความรู้สึกเหยียดหยามว่าเป็นคนผิวเหลือง เรื่องของคนต่างชั้นวรรณะในประเทศอินเดีย เรื่องคนผิวดำถูกตำรวจผิวขาวเลือกปฏิบัติในอเมริกา

หรือแม้แต่ในเมืองไทยของเราสภาพปัญหาก็ยังมีความรุนแรงอยู่ ดังตัวอย่างสดๆ ร้อนๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้นอย่างที่เราว่ามาแล้วข้างต้น

 

คดีอาชญากรรมสำคัญประเภทหนึ่งที่มีสถิติคดีสูง และอยู่ในความสนใจของคนจำนวนมาก คือ ความผิดเกี่ยวกับเพศ คดีเหล่านี้ผู้กระทำผิดส่วนมากเป็นชาย ขณะที่ผู้เสียหายเป็นหญิง

ถ้าไปศึกษากันให้ถี่ถ้วนแล้วผมคิดว่าเราอาจจะได้พบข้อเท็จจริงว่าผู้กระทำความผิดจำนวนไม่น้อยมีความคุ้นเคยกับค่านิยมที่ชายเป็นใหญ่ หญิงเป็นรอง และมุมมองอย่างนี้เองเป็นปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่การกระทำความผิดในที่สุด

ตั้งแต่เป็นเด็กเล็กจนเป็นผู้ใหญ่ ครอบครัวหลายครอบครัวไม่มีความคุ้นเคยกับค่านิยมที่ว่ามนุษย์มีความเท่าเทียมกัน

ขณะที่แม่ทำงานงกๆ พ่อก็กินเหล้าหัวราน้ำ มีปากเสียงกันทีไร พ่อก็เลี้ยงเมียด้วยลำแข้งให้ลูกเห็นอยู่เป็นประจำ

มาถึงโรงเรียน เด็กนักเรียนวัยรุ่นไปแอบดูเด็กนักเรียนหญิงทำกิจส่วนตัวในห้องน้ำ คุณครูก็ไม่อยากให้เรื่องอื้อฉาว รีบปิดสำนวนให้จบเสียโดยเร็วแล้วไม่มีการพูดถึงเรื่องชนิดนี้อีกต่อไป

การหยิบยกเรื่องความเท่าเทียมกันของมนุษย์มาพูดกันให้เห็นชัดแล้วนำไปสู่ภาคปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม จึงมีความหมายมากสำหรับสังคมยุคใหม่ เพราะถ้าทำดังที่ว่านี้ได้สำเร็จแล้ว มนุษย์ทุกคนไม่ว่าชายว่าหญิง จะสามารถมีบทบาทและเป็นพลังขับเคลื่อนสังคมให้ก้าวเดินไปเต็มศักยภาพ

เดินไปพร้อมๆ แบบเท่าเทียมกัน ไม่ใช่ถูลู่ถูกังกันไป

 

สําหรับเรื่องที่เกิดขึ้นเราลองมาคิดแบบพลิกวิกฤตเป็นโอกาสบ้างไหมครับ

ถ้าวันหนึ่งเด็กนักเรียนชายคนไหนก็แล้วแต่ที่เคยมีทัศนคติว่า เป็นความชอบธรรมที่จะวิพากษ์วิจารณ์เนื้อตัวร่างกายของเพื่อนทั้งชายทั้งหญิงได้ในเชิงคุกคามทางเพศหรือละเมิดสิทธิส่วนตัว ไม่ว่าในวงที่เปิดกว้างหรือปิดลับ ในสื่อออนไลน์หรือในวงสนทนาใดๆ ได้เข้ามาเป็นลูกศิษย์ของผม

ผมอยากเห็นอะไรบ้างครับ

ในทางวิชาการ โรงเรียนกฎหมายต้องให้ความรู้ในสรรพวิชาต่างๆ ที่เปิดตาเปิดใจนิสิต-นักศึกษาทุกคนของเราให้มองเห็นโลกกว้าง เติมเต็มความรู้ความเข้าใจในเรื่องสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การดูแลผู้ด้อยโอกาส การสร้างสังคมที่เป็นธรรม ฯลฯ

กิจกรรมนิสิตซึ่งเป็นเรื่องที่นิสิตช่วยกันคิดช่วยกันทำด้วยกำลังแรงของเขาเอง ต้องเป็นไปเพื่อส่งเสริมคุณค่าเช่นว่านั้น กิจกรรมรับน้องแบบโบราณดึกดำบรรพ์ ที่ต้องมีพิธีการหรือเรื่องราวพิเศษสำหรับนิสิตชายแยกต่างหากจากนิสิตหญิง

หรือแม้กระทั่งกิจกรรมการประกวดความสวยความงาม ต้องตอบคำถามตัวเองให้ได้ว่าเกิดประโยชน์อะไรที่แท้จริงและยั่งยืนบ้าง

น่ายินดีที่คณะกรรมการนิสิตคณะนิติศาสตร์มีความชัดเจนในค่านิยมเรื่องความเท่าเทียมกันของมนุษย์แบบสิ้นข้อสงสัยมานานแล้ว

 

ขณะที่หลายท่าน นึกว่าคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ไม่น่ารับนักเรียนชายที่เป็นข่าวจำนวนนี้เข้ามาเป็นนิสิตใหม่เลย

ผมกลับตั้งคำถามกับตัวเองว่า ถ้าทำเช่นว่านั้นแล้ว ใครได้อะไรใครเสียอะไรบ้างในระยะยาว

สมัยหนึ่งเมื่อผมรับราชการอยู่ในกระทรวงยุติธรรม ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมบ้านกาญจนาภิเษก ซึ่งเป็นหน่วยงานในกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน มีหน้าที่รับดูแลเด็กและเยาวชนที่มีคดีอาญาต่างๆ มาขัดเกลาให้ลูก-หลานของเราเหล่านั้นได้มองเห็นโลกในมุมที่เขาไม่เคยเห็นมาแต่ก่อน ให้เขาได้เรียน “วิชาชีวิต” ฝึกฝนวิธีคิดและให้เหตุผลกับตัวเอง เพื่อวันหนึ่งเขาจะได้มีความพร้อมและเดินกลับไปอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข

ในแง่มุมเล็กๆ สถาบันการศึกษาทั้งหลายก็ไม่แตกต่างจากบ้านกาญจนาภิเษกหรอกครับ เราต่างมีหน้าที่ต้องผลิตคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพให้กับสังคมไทย และถ้าจะว่าไปแล้ว เรายังโชคดีกว่าบ้านกาญจนาภิเษกตั้งมากมาย เพราะเด็กและเยาวชนที่อยู่กับเราอย่างไม่ได้มีปัญหาเป็นท้าวแสนปมถึงขนาดนั้น

วิธีขัดเกลาเด็กและเยาวชนที่เราเห็นว่ามีปัญหา ใช้ไม้เรียวอย่างเดียวไม่พอครับ ครูต้องทำหน้าที่เป็นช่างปั้นหม้อ ขัดเกลานักเรียนของเราด้วยเทคนิคและเครื่องมือนานาชนิด ใช้ความพยายามให้เต็มที่เพื่อให้ช่วงเวลาที่ลูกหลานทั้งชายและหญิงเข้ามาอยู่ในสำนักเรียนของเรา เขาได้เรียนรู้ทั้งวิชาการและวิชาชีวิต บนเงื่อนไขและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้

คนที่เรียนวิชาชีวิตนั้น ไม่ได้เรียนจบในวันรับปริญญาหรอกครับ เรียนกันไปเรื่อยจนกว่าจะหมดลมหายใจ

มาเรียนด้วยกันไหมครับ

ผลัดกันเป็นครูเป็นนักเรียน สนุกแน่นอน ฮา!