ทำไมเศรษฐกิจไทย จมอยู่ในความมืดยาวนาน!?/เทศมองไทย

เทศมองไทย

 

ทำไมเศรษฐกิจไทย

จมอยู่ในความมืดยาวนาน!?

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา องค์การการเงินระหว่างประเทศ อย่างกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลก (เวิร์ลด์แบงก์) เผยแพร่รายงานการประเมินและคาดการณ์สภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกออกมาไล่เลี่ยกัน

ภาพโดยรวมก็ใกล้เคียงกันอย่างยิ่ง

มีหลายประเทศ โดยเฉพาะชาติที่พัฒนาแล้ว เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างเร็วและแรง เร็วกว่าการฟื้นตัวจากภาวะวิกฤตหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา

แต่ก็ยังมีอีกมากประเทศที่ล้าหลัง ถูกทิ้งไว้ให้ฟื้นกลับคืนสู่สภาพเดิมอย่างเชื่องช้า เหงาหงอยและทุกข์ทรมาน

ในรายงานของไอเอ็มเอฟที่เผยแพร่ออกมาเมื่อ 3 มิถุนายน เป็นเรื่องของเมืองไทยโดยเฉพาะ เพราะเป็นการประเมินหลังจากเสร็จสิ้นการเดินทางเข้ามาหารือกับเจ้าหน้าที่ของทางการไทย

โดยไอเอ็มเอฟประเมินเอาไว้ว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวเพียงแค่ 2.6 เปอร์เซ็นต์ หลังจากที่เคยติดลบมากถึง 6.1 เปอร์เซ็นต์เมื่อปีที่แล้ว

กว่าจะฟื้นกลับคืนสู่สภาวะก่อนหน้าการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19 ได้ก็ต้องรอจนถึงปี 2022 ซึ่งเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวสูงถึง 5.6 เปอร์เซ็นต์

 

ถัดมาเมื่อ 8 มิถุนายน รายงาน “โกลบอล อีโคโนมิก พรอสเพกต์-จีอีพี” ของธนาคารโลกก็สะท้อนให้เห็นว่า ในขณะที่เขตเศรษฐกิจสำคัญๆ ของโลกอย่างจีน สหรัฐอเมริกา ขยายตัวปรู๊ดปร๊าด หลังการระดมฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้เร็วและทั่วถึง ชาติกำลังพัฒนาและเขตเศรษฐกิจใหม่อีกไม่น้อยกว่า 4 เปอร์เซ็นต์ ทำได้ดีที่สุดเพียงแค่โงหัวขึ้นจากสภาวะพังพาบอย่างช้าๆ เท่านั้นเอง

การฟื้นตัวโดยรวมของโลกเป็นแบบ “เคเชป” ชัดเจน แยกออกเป็น 2 ทาง พุ่งขึ้นกลุ่มหนึ่งและตกลงล้าหลังคนอื่นๆ อีกกลุ่มหนึ่ง

ในกรณีของไทย หลังจากติดลบ 6.1 เปอร์เซ็นต์เพราะโควิดในปีที่ผ่านมา ปีนี้กลับมาขยายตัวเพียงแค่ 2.2 เปอร์เซ็นต์ ก่อนฟื้นได้เต็มที่ในปีหน้าที่อัตราการขยายตัว 5.1 เปอร์เซ็นต์ ต่อด้วย 4.3 เปอร์เซ็นต์ในปี 2023

เทียบกับเพื่อนบ้านใกล้เคียงแล้ว เชื่องช้ามะงุมมะงาหราอยู่มาก เพราะในเวลาเดียวกัน อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ที่เผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดมากกว่าไทยด้วยซ้ำไป ยังขยายตัวในปีนี้สูงถึง 4.4 เปอร์เซ็นต์, 4.7 เปอร์เซ็นต์ และ 6 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ ไม่ต้องพูดถึงเวียดนามที่เศรษฐกิจขยายตัวได้มั่นคงที่สุดในกลุ่มอาเซียน ถึง 6.6 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้

คำถามคือ ทำไมเศรษฐกิจไทยถึงได้ล้าหลังแม้แต่กับเพื่อนบ้านในภูมิภาคเดียวกันถึงปานนั้น?

 

ที่น่าสนใจก็คือ วิลเลียม เพเสก นักข่าวนักเขียนระดับมือรางวัล ที่ตอนนี้มาเขียนคอลัมน์ประจำให้กับนิกเกอิ เอเชียน รีวิว พบเห็นสถานการณ์นี้เช่นกันและพยายามหาคำตอบไว้ในข้อเขียนเมื่อ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา ในหัวข้อว่า “การล่องลอยในความมืดทางเศรษฐกิจยาวนานของไทย” เพื่อให้ผู้อ่านได้พิจารณา

เนื่องจากเพเสกมองว่า ไทยกำลังอยู่บนเส้นทางของการฟื้นตัวล่าช้า ไม่ใช่ในปีหน้าอย่างที่ไอเอ็มเอฟและธนาคารโลกคาดการณ์ แต่อาจยาวนานไปจนถึงปี 2023 ด้วยซ้ำไป ไทยถึงจะฟื้นสู่ระดับก่อนการระบาด

ในทางหนึ่งนั้นเป็นเพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดไม่เป็นใจ เกิดการระบาดระลอก 3 ขึ้นหนักหน่วง รุนแรงกว่า 2 ครั้งก่อนหน้า แล้วก็ทำให้ยุทธศาสตร์ที่วางเอาไว้เพื่อนำประเทศกลับสู่ภาวะปกติ ตุปัดตุเป๋ไปเมื่อเผชิญหน้ากับ 3 ปัจจัยลบที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน ซึ่ง “จะส่งผลเสียหายระยะยาวต่อเศรษฐกิจของไทย” ไม่ว่าตัวเลขจีดีพีในปี 2023 จะเป็นอย่างไรก็ตามที

หนึ่งคือ ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเสียหายอย่างหนักในระดับ “พินาศ” ตามคำของเพเสก

สองก็คือ การบริโภคภายในกระท่อนกระแท่น

และสุดท้ายคือ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงเกินพิกัด

นี่คืออุปสรรคท้าทายที่ทำให้แม้แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยเองก็ไม่มีปัญญาจะรับมือเมื่อเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน เพราะวิกฤตโควิด

 

เพเสกเตือนเอาไว้ว่า ในสภาวะเช่นนี้ คนรวย ชนชั้นกลางระดับบน จะสั่งสมความมั่งคั่งได้มากขึ้น ในขณะที่ส่วนใหญ่ในสังคมจะจ่อมจมลงตามลำดับ

เขาบอกเอาไว้ว่า ไทยตกอยู่ในสภาพเยี่ยงนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ “ผู้นำ” ของประเทศ “ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา” ที่ “ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นมามีอำนาจ ให้คำสัญญาว่าจะเปลี่ยนแปลง แล้วก็เหลวทุกทีไป”

ไล่มาตั้งแต่ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2001 เรื่อยมาจนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในเวลานี้

ทิ้งท้ายเอาไว้แค่นี้ ยั่วให้ใครที่อยากอ่านความคิดเห็นเข้มข้น สามารถหาอ่านเอาได้จากต้นฉบับในนิกเกอิ เอเชียน รีวิว ฉบับที่ว่า

รับรองว่าสนุกกว่านี้หลายเท่าตัว!