โควิด -19 กับวิถีชนบทไทยที่เปลี่ยนไป/กาแฟดำ สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

 

โควิด -19

กับวิถีชนบทไทยที่เปลี่ยนไป

 

ผมลงพื้นที่พูดคุยกับชุมชนต่างจังหวัดในช่วงหลังนี้เห็นได้ชัดว่ามีความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญหลายด้าน

ยิ่งเมื่อเจอกับวิกฤตโควิด-19 ก็ยิ่งเห็นการปรับตัวของคนในชนบทอย่างคึกคัก

คนในเมืองหลวงอาจไม่ได้สังเกต แต่พอได้นั่งสนทนากับผู้นำชุมชนและชาวบ้านในจังหวัดต่างๆ ก็เห็นได้ชัดเจนว่ามีทั้งปัญหาดั้งเดิมที่ยังแก้ไม่ได้ทั้งหมด

และมีความหวังของคนรุ่นใหม่ที่กลับจากเมืองเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่มีเทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียช่วยส่งเสริมในหลายๆ มิติ

พอดีได้อ่านพบบทความหัวข้อ “แรงงานอีสานคืนถิ่น… ปรับตัวอย่างไรในวิกฤตโควิด-19” ในนิตยสาร “พระสยาม” (BOT Magazine) ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ไปสำรวจความเป็นอยู่ของชนบทในช่วงนี้

ได้ข้อมูลและมุมมองที่คนไทยทุกภาคส่วนควรจะให้ความสนใจเพื่อนำไปสู่การช่วยกันปรับแต่งตั้งแต่ระดับนโยบายสูงสุดของประเทศไปถึงคนรุ่นใหม่ที่กำลังแสวงหาทางออกเพื่ออนาคตของตนเอง

บทสำรวจนี้ย้อนความว่าแรงงานอีสานกว่า 3 ล้านคน 1 ต้องยอมจากบ้านเกิดไปหางานทำในเมืองใหญ่

แยกเป็นส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในภาคกลาง 2.8 ล้านคน (กรุงเทพฯ 1.2 ล้านคน)

ขณะที่แรงงานอีสานที่อยู่ในภาคเหนือและภาคใต้มีเพียง 1.3 แสนคน และ 0.9 แสนคนตามลำดับ

แม้จะมีโอกาสทางอาชีพและรายได้สูงกว่าแต่ยังคงมีเงินออมไม่มากนัก

เพราะการใช้ชีวิตในเมืองมีค่าครองชีพที่ค่อนข้างสูงและยังต้องส่งเงินอีกส่วนหนึ่งกลับบ้านเกิด เพื่อเลี้ยงดูและให้ครอบครัวเอาไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

พอโควิด-19 มาเยือนก็ทำให้แรงงานอีสานต้องคืนถิ่น

เพราะหลายธุรกิจจำเป็นต้องปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงาน

บางบริษัทที่พยายามประคับประคองธุรกิจอาจต้องลดต้นทุนด้วยการให้พนักงานพักงานอย่างไม่มีกำหนด

โดยเฉพาะในภาคท่องเที่ยวและภาคการผลิตที่มีการปิดโรงงานชั่วคราว

ธุรกิจเหล่านี้พึ่งพาแรงงานอีสานเป็นจำนวนมาก

จากข้อมูลของกรมควบคุมโรคติดต่อรายงานว่า มีแรงงานอีสานประมาณ 8 แสนคน 2 เดินทางกลับภูมิลำเนา ซึ่งคาดว่าส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ตกงาน และตัดสินใจคืนถิ่นเพื่อไปตั้งหลักที่บ้านเกิด

เมื่อกลับไปแล้วแรงงานกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ได้ปรับตัวไปประกอบอาชีพใหม่ เพื่อหารายได้ระหว่างที่รอสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย

แต่แรงงานคืนถิ่นบางส่วนปรับตัวได้ยาก และกลายเป็นผู้ว่างงาน

 

เกษตรกรรมเป็นอาชีพที่แรงงานอีสานคืนถิ่น 2 ใน 3 เลือกทำเนื่องจากมีที่ดิน และครอบครัวเป็นเกษตรกรเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

สะท้อนจากหลายพื้นที่ของภาคอีสานที่มีการขุดสระเพื่อรองรับการทำการเกษตรเพิ่มขึ้น

มีการสั่งซื้อวัสดุรวมถึงเครื่องจักรกลทางการเกษตรมาใช้มากขึ้น

ขณะที่แรงงานที่ไม่มีที่ดินทางการเกษตรเป็นทุนเดิมต้องปรับตัวมากกว่า

จากการลงพื้นที่พูดคุยกับตัวแทนแรงงานคืนถิ่นของทีมงานจากธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่าแรงงานกลุ่มนี้มีความพยายามในการปรับตัว 3 รูปแบบ คือ

(1) นำเงินเก็บบางส่วนมาลงทุนซื้อรถกระบะหรือนำรถกระบะเก่าที่มีไปต่อเติมเป็นรถรับขนของ แม้กระทั่งเป็น “รถพุ่มพวง”

(2) ขับมอเตอร์ไซค์ส่งอาหาร และ

(3) เปิดร้านขายของขนาดเล็ก แผงลอย หรือขายของออนไลน์แบบไม่มีหน้าร้าน

แม้จะยังสร้างรายได้ให้ได้ไม่มากนัก แต่ก็เพียงพอให้เลี้ยงชีพ และผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปได้บ้าง

ในอีกมุมหนึ่ง โควิด-19 ก็เปิดโอกาสให้แรงงานอีสานได้กลับมาใกล้ชิดกับครอบครัวอีกครั้ง

และยังช่วยลดต้นทุนในการครองชีพ

แรงงานคืนถิ่นยังได้นำเอาองค์ความรู้ ประสบการณ์ และความถนัดมาถ่ายทอดภายในชุมชน สะท้อนจากลูกหลานที่กลับมาต่อยอดธุรกิจของพ่อ-แม่

โดยยกระดับไปทำการค้าออนไลน์

หรือผันตัวจากการทำงานรับจ้างมาเป็นผู้ประกอบการเอง

ทำให้สามารถช่วยส่งเสริมการจ้างงานในพื้นที่ได้อีกทางหนึ่ง

อีกทั้งยังทำให้แรงงานอีสานมีทางเลือกในการประกอบอาชีพมากขึ้น

และไม่จำเป็นต้องจากครอบครัวเพื่อไปทำงานที่เมืองใหญ่เหมือนในอดีต

 

แต่แรงงานคืนถิ่นบางส่วนอาจยังคุ้นเคยกับการทำงานในเมืองใหญ่

เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกแรกปรับดีขึ้นต่อเนื่อง

และธุรกิจบางส่วนทยอยกลับมาเปิดดำเนินการมากขึ้นในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2563 ทำให้มีแรงงานอีสานคืนถิ่นบางส่วนตัดสินใจกลับเข้ามาทำงานในเมืองอีกครั้ง

ที่น่าสนใจมากคือรายงานจากทีมงานของแบงก์ชาติที่พบว่าผู้ประกอบการรายหนึ่งได้ข้อมูลว่า หลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 ปรับดีขึ้น

มีพนักงานเพียงครึ่งหนึ่งที่ประสงค์จะกลับมาทำงานที่เมืองใหญ่ เพราะที่เหลือต้องการใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวที่บ้านเกิด

จนกระทั่งในช่วงปลายปี 2563 พบการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ แม้ว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมน้อยกว่าการระบาดระลอกแรก แต่ก็เชื่อว่า มีผลกระทบต่อแรงงานทำให้ต้องเดินทางกลับบ้านเกิดอย่างปฏิเสธไม่ได้

ตัวเลขทางการที่ประเมิน ณ สิ้นปี 2563 พบว่า แรงงานอีสานคืนถิ่นมีอยู่ที่ประมาณ 4 แสนคน

ส่วนหนึ่งคาดว่าเป็นกลุ่มที่เพิ่งกลับไป ทำงานในเมืองใหญ่ได้ไม่นานและต้องกลับมาตั้งหลักที่บ้านเกิดอีกครั้ง เนื่องจากมีธุรกิจปิดกิจการเพิ่มเติม

 

ความเปลี่ยนแปลงด้านนี้แหละที่ผมพบด้วยตัวเองในการทำรายการ “ฟังเสียงประเทศไทย คำตอบอยู่ในหมู่บ้าน” ให้กับ ThaiPBS มาเป็นปีที่สี่

ก่อนจะเกิดโรคระบาดโควิด แนวโน้มของการ “กลับถิ่นเรา” ก็เริ่มจะมีให้เห็นบ้างแล้ว

เหตุเป็นเพราะคนรุ่นใหม่ที่มีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีและสัมผัสกับโอกาสที่เกิดขึ้นในโซเชียลมีเดียเริ่มจะมองเห็นโอกาสที่จะทำมาหากินผ่านช่องทางใหม่

หลายคนกลับไปทำการเกษตร แต่ใช้โอกาสใหม่ในการปรับตัว หาความรู้และทักษะใหม่ผ่าน YouTube ซึ่งเปิดโอกาสให้สามารถทำอะไรใหม่เพิ่มพูนความรู้ความสามารถของตน

อีกบางคนก็เรียนรู้วิธีการขายของผ่าน apps ต่างๆ ในมือถือ

หลายคนเริ่มใช้การไลฟ์สดผ่านทั้งเฟซบุ๊กและยูทูบหรือไอจีในการสร้างความประทับใจให้กับผู้บริโภคทั่วประเทศ

ยิ่งเมื่อมีระบบการสั่งจองผ่านโซเชียลมีเดีย มีระบบการจ่ายเงินผ่านมือถือ และยังมีบริการส่งของทั่วประเทศ ก็ทำให้คนชนบทที่เคยไปทำงานในเมืองกลับมาปักหลักปักฐานในบ้านเดิมได้อย่างมีความสุขและความภาคภูมิใจ

ผมเห็นสัญญาณของ “วิถีใหม่” ของคนชนบทที่นำร่องโดยคนรุ่นใหม่ที่เรียนรู้วิชาชีพและประสบการณ์จากคนรุ่นก่อน

แต่ยกระดับของการผลิต, การตลาดและการขนส่งด้วยการใช้ apps ต่างๆ ในมือถือ

กลายเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่สร้างพลังในชนบทอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ

สิ่งที่ทีมงานของแบงก์ชาติไปประสบพบเห็นเองในเรื่องนี้ยืนยันความเชื่อของผมว่าคนชนบทกำลังเพิ่มศักยภาพของตนเองด้วยการเรียนรู้ Reskill, Upskill และ New Skill อย่างน่าสนใจยิ่ง

เรื่องนี้ยังมีประเด็นคุยต่อสัปดาห์หน้าครับ