เบื้องหลัง ‘คลับเฮาส์โทนี่’ ส่องก้าวย่าง ‘บ้านชินวัตร’ เช็กอาการ ‘บิ๊กตู่-พลังประชารัฐ’/เปลี่ยนผ่าน

เปลี่ยนผ่าน

ปรัชญา นงนุช

 

เบื้องหลัง ‘คลับเฮาส์โทนี่’

ส่องก้าวย่าง ‘บ้านชินวัตร’

เช็กอาการ ‘บิ๊กตู่-พลังประชารัฐ’

 

ผ่านมา 6 เดือน ท่ามกลางสถานการณ์ที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกฯ และ รมว.กลาโหม ต้องกรำศึกโควิดระบาดระลอกที่ 2-3 พร้อมกับการบริหารจัดการวัคซีนที่ทุกอย่างดูเป็น “จังหวะซิตคอม” อยู่ตลอด แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะทำการ “รวบอำนาจ” มาบริหารจัดการแบบ “ซิงเกิล คอมมานด์” แล้วก็ตาม

ทำให้เกิดปัญหาเรื่อง “ความเชื่อมั่น” ขึ้นมา กลายเป็น “วิกฤตศรัทธา” ทั้งต่อตัวผู้นำและรัฐบาล

ในสถานการณ์เช่นนี้ ย่อมมีผู้เห็น “จังหวะ-โอกาส” นั่นก็คือพี่น้องตระกูลชินวัตรอย่าง “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” ในฐานะอดีตนายกฯ ที่พยายามออกมาแสดง “ความเป็นผู้นำ” ในยามวิกฤต

ว่ากันว่าผู้อยู่เบื้องหลังให้ “ทักษิณ” (และ “ยิ่งลักษณ์”) ออกมาแสดงบทบาท คือ “กลุ่มแคร์” ซึ่งล้วนเป็นอดีตขุนพลตั้งแต่ยุคพรรคไทยรักไทย อาทิ “หมอมิ้ง-นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช” และ “หมอเลี้ยบ-นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี” เป็นต้น โดยใช้ช่องทาง “คลับเฮาส์” เป็นหลัก

การออกมาสื่อสารกับสาธารณชนแต่ละครั้งของทักษิณ จะผ่านการพิจารณาประเด็นอย่างถี่ถ้วน แต่ด้วยความเป็น “คนกล้าได้กล้าเสีย” ของอดีตนายกฯ เขาจึงไม่หวั่นต่อคำถามสดๆ ที่จะต้องเจอ

ในครั้งแรกที่ทักษิณเข้าร่วมคลับเฮาส์ในนาม “โทนี่ วู้ดซัม” ได้สร้างความฮือฮาอย่างมาก แม้ในครั้งแรก อดีตนายกฯ จะเจอคำถามที่หลากหลาย มีคำตอบที่ทำให้คนฟัง “ถูกใจ-ผิดหวัง” แตกต่างกันไป

โดยเฉพาะคำถามเรื่องการออกมาเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่และข้อเรียกร้องของคณะราษฎร 2563 ที่ทักษิณมีท่าทีชัดเจนว่าจะ “ไม่ทะลุเพดาน”

ทำให้ต่อมาในระยะหลังมีการคุมประเด็นการสนทนามากขึ้น เพื่อขับเน้นให้ทักษิณได้ฉายวิสัยทัศน์และความเป็นผู้นำตามเป้าหมายของทีมงาน

 

ในฐานะที่ทักษิณเป็น “นักการตลาด” เขาได้ออกมาปลุกฝัน “ยุคไทยรักไทย” อีกครั้ง เพื่อชี้ให้เห็นว่าพรรคเพื่อไทยคือทางออกของประเทศยามวิกฤต

ประกอบกับ “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” เคยเป็นอดีตนายกฯ จึงมี “ผลงาน-ความสำเร็จ” เมื่อครั้งอดีต มานำเสนอ ซึ่งเป็นจุดที่ได้เปรียบกว่า “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า ที่ยังไม่มีโอกาสได้พิสูจน์ฝีมือการทำงานในการเป็นผู้นำรัฐบาล

ดังนั้น นอกจากจะออกมาวาดลวดลายเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้อยู่เหนือรัฐบาลชุดปัจจุบันแล้ว “โทนี่” และ “ธนาธร” ซึ่งเป็นสองขุนพลต่างเจเนอเรชั่นในฝั่งประชาธิปไตย ยังอาจ “ขบเหลี่ยม” กันเอง ในการบุกตลาดโซเชียลมีเดีย

แน่นอนว่าการที่ทักษิณปรับลุคเป็น “พี่โทนี่” ก็เพื่อสร้างความเป็นกันเอง อันสะท้อนว่าเขาและทีมงานมองเห็น “ฐานเสียงของตัวเอง” ในกลุ่มคนรุ่นใหม่

หลังออกคลับเฮาส์มาหลายครั้ง ทำให้คนรุ่นใหม่ได้มองเห็น “วิสัยทัศน์ผู้นำ” ของทักษิณ ที่สร้างความฮือฮาได้มากพอสมควร โดยเฉพาะเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับ “ผู้นำทางการเมือง” ในยุค “หลังทักษิณ”

เนื่องจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีอายุ 18-30 ปี ยังมีอายุน้อยมากในช่วง “รัฐบาลทักษิณ” พวกเขาจึงมีภาพจำเกี่ยวกับอดีตนายกฯ ที่ค่อนข้างเลือนราง

การปรากฏเสียงและภาพของ “โทนี่ วู้ดซัม” จึงเป็นการ “ฟื้นความจำ-ผลิตซ้ำผลงาน” ยุคไทยรักไทย ทั้งในหมู่คนทั่วไปและคนรุ่นใหม่ จนถือเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว

การเจาะตลาดคนรุ่นใหม่ของพรรคเพื่อไทยเริ่มมาตั้งแต่ต้นปี 2564 ผ่านโครงการ “The Change Maker” ที่ฉายภาพให้เห็น “คนรุ่นใหม่” ที่พรรคเพื่อไทยต้องการ

โดยฝั่งพรรคเพื่อไทยหวังเจาะคนรุ่นใหม่ที่สนใจเรื่องนวัตกรรม เศรษฐกิจ นโยบาย และมีอุดมการณ์ทางการเมืองไม่สุดโต่งมากนัก แตกต่างจากฝั่งขั้วอนาคตใหม่-คณะก้าวหน้าซึ่งมุ่งเน้นไปในกลุ่มคนหนุ่ม-สาวที่สนใจการเมืองระดับโครงสร้าง และการเมืองแนววิพากษ์

 

จึงไม่แปลกที่กระบวนท่าในคลับเฮาส์ของทักษิณ จะผสมผสานเรื่องเศรษฐกิจและการเมืองแบบ “ไม่ทะลุเพดาน” แม้จะเจอถามเรื่องการเมืองไม่น้อย แต่อดีตนายกฯ ก็เลือกตอบคำถามในสไตล์ “ปิงปองการเมือง”

เช่น ล่าสุด เมื่อถูกถามถึงเรื่องรัฐประหาร ในวาระครบรอบ 7 ปี คสช.ยึดอำนาจ “โทนี่” ก็โยนก้อนอิฐไปยังผู้มีอำนาจยุคปัจจุบันว่า “ต้องไปถามอดีต ผบ.ทบ. (พล.อ.ประยุทธ์) ว่า ตอนที่ตัดสินใจทำรัฐประหาร 7 ปีที่แล้ว สถานการณ์ตอนทำรัฐประหาร กับตอนนี้ สถานการณ์ไหนน่าทำรัฐประหารมากกว่ากัน? ไม่ก็ถามลุงป้อม”

ก่อนจะวิเคราะห์ต่อว่า “ปัญหา คือถ้าเป็นระบอบประชาธิปไตย ศรัทธาประชาชนไม่มีแล้ว ต้องให้ประชาชนตัดสินใจ ท่านไม่ได้มาด้วยวิถีประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญแบบนี้สร้างความแข็งแกร่งให้เก้าอี้นายกฯ แต่สร้างความอ่อนแอให้ประเทศ ต้องถามว่า ตู่เบื่อยัง ถ้าไม่เบื่อเขาก็อยู่ได้”

ในครั้งนั้นยังถือเป็นหนแรกๆ ที่ยิ่งลักษณ์ได้ออกคลับเฮาส์พร้อมพี่ชาย และร่วมสนทนาสั้นๆ ว่า

“7 ปีแล้ว ทุกครั้งที่มีรัฐประหาร ตั้งแต่ครั้งแรกจนครั้งนี้ ก็ไม่มีอะไรที่ดีให้ประเทศ เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง ประเทศสูญเสียไปเยอะ เศรษฐกิจก็แก้ไม่ได้ อนาคตก็วางไม่ได้ เพราะขาดความต่อเนื่อง ยิ่งเจอปัญหาซ้ำเติมเรื่องโควิด เราจะอยู่ได้อย่างไร?

“เหตุผลที่จะปฏิวัติ ที่จะคืนความสุขให้ประชาชน ตอนนี้ความสุขของประชาชนอยู่ที่ไหน? เราเศร้าสำหรับประเทศ เราสองคนอดทนได้”

นอกจากนี้ ทักษิณยังแสดงทัศนะล้อไปกับ “กลุ่มไทยไม่ทนฯ” ที่เดินสายให้ “พรรคประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย” ถอนตัวออกจากการร่วมรัฐบาล โดยเขาได้กล่าวในคลับเฮาส์ตอนหนึ่ง หลัง นพ.สุรพงษ์ถามว่าจะเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเปลี่ยนผู้นำประเทศได้อย่างไร ว่า

“ต้องถามพรรคภูมิใจไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ว่าเหนื่อยหรือยัง? พอหรือยัง? ชาวบ้านก็ลำบากแบบนี้ คุณก็นั่งเป็นรัฐบาลที่ทำอะไรไม่ได้ ถ้าคุณถอนตัว รัฐบาลก็ไปไม่ได้

“ไม่ก็ถามนายกฯ ว่าเหนื่อยหรือยัง? จะโทษใครอีกไหม? เมื่อไหร่ท่านโทษตัวเอง? ก็กลับบ้านได้แล้ว มันก็มี 2 วิธี นายกฯ เบื่อก็ยุบสภาหรือลาออก ให้ประชาชนตัดสินใจ ถ้านายกฯ ไม่ยุบสภา พรรคร่วมจะออกไหม? ก็เป็นวิธีที่จะเปลี่ยนแปลงการเมือง เผื่อบ้านเมืองจะดีขึ้นมา”

สอดรับกับห้วงเวลาที่สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2565 วาระแรก ซึ่งทั้งพรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์ต่างอภิปรายชำแหละร่างงบประมาณฉบับนี้อย่างเข้มข้นดุจ “พญาราชสีห์” (แม้จะถูกจิกกัดภายหลังว่าลงมติเยี่ยง “หนู” ก็ตาม)

 

การออกมาเล่นการเมืองผ่านสื่อออนไลน์ของ “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ออกอาการไม่น้อย โดยเฉพาะเมื่อถูกนักข่าวจี้ถาม หลัง “โทนี่ วู้ดซัม” ประกาศในคลับเฮาส์ว่าจะสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยภายในเวลา 6 เดือน ซึ่งนายกฯ ตอบกลับว่า “หากทำได้ ก็ให้กลับมา”

นอกจากนี้ ในระหว่างการประชุมงบประมาณ “บิ๊กตู่” ยังชี้แจงเรื่องหนี้สาธารณะของประเทศ โดยระบุว่าที่จำนวนหนี้ดังกล่าวพุ่งขึ้นสูง เพราะส่วนหนึ่งต้องนำไปใช้จ่ายเรื่องโครงการ “จำนำข้าว”

ทำให้อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ต้องรีบชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กว่า ผู้นำรัฐบาลชุดปัจจุบันกำลังเบี่ยงประเด็นความผิดพลาด พร้อมเหน็บว่า “วันนี้ดิฉันไม่ได้บริหารประเทศมา 7 ปีแล้ว คุณประยุทธ์หัดโทษตัวบ้างเถอะค่ะ อย่าโทษแต่ดิฉันเลย ดิฉันฟังมา 7 ปีแล้ว สุภาพบุรุษชายชาติทหารเขาไม่ทำกันแบบนี้หรอกค่ะ”

อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทยยังมีปัญหาที่เป็น “ขยะใต้พรม” โดยเฉพาะการจัดคนลงสมัคร ส.ส.สมัยหน้า เพราะงานนี้ “ส.ส.สายคุณหญิงหน่อย สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” มีโอกาสสละเรือเพื่อไทยสูง

ขณะที่ในหลายจังหวัดมีแคนดิเดตผู้สมัครมากกว่าเก้าอี้ ส.ส. ทำให้เกิดการงัดข้อกันเองของ “ตระกูลการเมือง” ในแต่ละพื้นที่ เพราะทุกคนมองเห็นปัญหาของระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ทำให้พรรคเพื่อไทยไม่ได้เก้าอี้ ส.ส.บัญชีรายชื่อแม้แต่คนเดียว

อีกทั้งยังต้องเผชิญ “พลังดูด” จากเครือข่าย “3 ป.-พลังประชารัฐ” ที่เดินเครื่องตั้งพรรคการเมืองสำรองเอาไว้แล้ว โดยเฉพาะในพื้นที่ “ภาคเหนือ-ภาคอีสาน” ที่เลือกตั้งคราวหน้า “3 ป.” ไม่ยอมปล่อยทิ้งไปง่ายๆ

นี่จึงเป็นที่มาของกระแสข่าว ทักษิณเตรียมนำคนของ “บ้านชินวัตร” ลงสู่สนามการเมืองอีกคำรบ!