มาตรฐาน มืออาชีพ หรือ พิธีกรรม/บทความพิเศษ สมชัย ศรีสุทธิยากร

สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

 

มาตรฐาน มืออาชีพ หรือ พิธีกรรม

 

ความแตกต่างระหว่างประเทศที่มีผู้ปกครองเป็นนักบริหารมืออาชีพ (Professional) หรือเพียงแค่สนใจพิธีกรรม (Ritual) อยู่ที่ผลลัพธ์ของการดำเนินการ

ยิ่งในสถานการณ์วิกฤตของประเทศ เช่นกรณีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กับวิธีการผู้นำแต่ละประเทศใช้ในการดำเนินการแก้ไข ยิ่งเห็นความชัดเจนว่า ใครคือมืออาชีพ

 

ใครคือผู้สนใจเพียงแค่งานทางพิธีกรรม

อะไรคือความเป็นมืออาชีพในการบริหาร

ความเป็นมืออาชีพ มาจากประสบการณ์การบริหารที่ผ่านทั้งเรื่องราวความสำเร็จและความล้มเหลว หล่อหลอมเป็นประสบการณ์ที่นำไปสู่การตัดสินใจที่ดีและรู้ว่าต้องทำอย่างไรจึงจะเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน

มืออาชีพนั้น จะยึดถือความเป็นมาตรฐาน (Standardization) ในการทำงาน และแสวงหาการปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้นโดยอาศัยประสบการณ์การทำงานที่เป็นเลิศ (Best Practices) จากคนหรือหน่วยงานอื่นๆ ตลอดจนการหาวิธีการวัดเทียบ (Benchmarking) กับหน่วยงานที่ประสบความสำเร็จสูงกว่าแล้วพยายามพัฒนาตนเองให้เท่าเทียมกับเขา

มืออาชีพจึงไม่ติดยึดกับระเบียบปฏิบัติ หรือแบบแผนดั้งเดิมที่เคยทำมาก่อนแม้ว่าสิ่งนั้นจะนำไปสู่ความสำเร็จแต่หากมีสิ่งใหม่ที่ดีกว่าก็พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง ควบคู่ไปกับการทำงานที่โปร่งใส (Transparency) ที่ยึดหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) ที่เปิดเผยพร้อมให้ข้อมูลที่ตรงไปตรงมากับประชาชนและพร้อมรับการตรวจสอบ

ด้วยประสบการณ์ ความรอบรู้ การใฝ่ใจในการติดตามสถานการณ์และตัวอย่างของความสำเร็จรอบด้าน ผู้ที่เป็นนักบริหารมืออาชีพจึงมีสิ่งที่เรียกว่า วิสัยทัศน์ (Vision) หรือการมองสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รู้จักการคาดการณ์พยากรณ์ (Forecasting) และนำไปสู่การเตรียมการวางแผนในการจัดการอย่างเป็นระบบ

ทำให้สถานการณ์ที่หนักกลายเป็นเบา ความเสียหายเกิดขึ้นน้อยและนำไปสู่การฟื้นตัวที่รวดเร็วในยามที่เกิดวิกฤต

 

ตัวอย่างของความเป็นมืออาชีพ

ในการจัดการสถานการณ์โรคระบาด

สิงคโปร์เป็นประเทศในเอเชียที่มีความสำเร็จในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยขณะนี้มีคนที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้ว ร้อยละ 38.99 (ข้อมูลเผยแพร่ล่าสุด 31 พฤษภาคม 2564) มีค่าเฉลี่ยผู้ติดเชื้อรายวันในรอบเจ็ดวันอยู่ที่ 25 คน มีผู้ติดเชื้อสะสมรวม 62,176 ราย เสียชีวิตสะสม 33 ราย (ข้อมูลถึง 5 มิถุนายน 2564)

สิงคโปร์เป็นประเทศที่สามารถนำวัคซีนสำคัญ 2 ตัว คือ Pfizer และ Moderna เข้ามาฉีดให้แก่ประชาชนได้อย่างรวดเร็ว โดยมีกระบวนการในการขึ้นทะเบียนยาในประเทศได้ภายใน 3 วัน

ในกรณีของวัคซีนจาก Pfizer นั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาให้ความเห็นชอบขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2563 ประเทศสิงคโปร์มีการขึ้นทะเบียนได้ต่อเนื่องทันทีในวันที่ 14 ธันวาคม 2563 และวัคซีนชุดแรกก็สามารถขนส่งถึงสิงคโปร์ได้ในสัปดาห์ถัดไป คือวันที่ 21 ธันวาคม 2563

วัคซีนเข็มแรกที่คนสิงคโปร์เริ่มฉีดจึงมีขึ้นในวันที่ 30 ธันวาคม 2563 ตามมาด้วยวัคซีนของ Moderna ซึ่งสิงคโปร์ขึ้นทะเบียนยาเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2564 และส่งวัคซีนชุดแรกถึงประเทศเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2564 ชี้ให้เห็นว่าทุกอย่างเป็นไปอย่างกระชับรวดเร็วโดยมีระบบการรณรงค์ฉีดวัคซีนให้แก่คนสิงคโปร์และชาวต่างประเทศที่อยู่อาศัยในสิงคโปร์เป็นเวลานานทุกคน

ประชาชนทั่วไปสามารถลงทะเบียนและเลือกฉีดวัคซีนได้ว่าจะเป็น Pfizer หรือ Moderna ตามศูนย์ฉีดวัคซีน โรงพยาบาล โพลีคลินิก หรือตามคลินิกต่างๆ ที่แจ้งความประสงค์ไว้

ผลของการดำเนินการดังกล่าว ทำให้สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูงที่สุดในเอเชีย และมีอัตราการติดเชื้อรายวันที่ต่ำมากและพร้อมที่จะเป็นประเทศที่เข้าสู่ภาวะปกติเร็วกว่าประเทศอื่นๆ

 

ความแตกต่างในประเทศที่เน้นพิธีกรรม

ประเทศไทยอาจเป็นตัวอย่างที่ดีของการให้ความสำคัญต่อพิธีกรรมต่างๆ เช่น การจัดการแถลงข่าวที่ดูใหญ่ตัว การเปิดตัวโครงการที่ต้องมีนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีเป็นประธานแล้วประกอบด้วยการติดตามของข้าราชการระดับสูงและสื่อมวลชนต่างๆ จำนวนมาก การเน้นถึงความสำเร็จในอนาคตที่ขาดแผนการจัดการรองรับที่ดี

แต่การจัดการที่เป็นอยู่ในปัจจุบันกลับขาดการดำเนินการที่เป็นระบบสร้างความสับสนให้แก่ประชาชนในประเทศ

การเริ่มต้นที่ล่าช้า การวางแผนจัดหาที่ให้ความสำคัญแก่วัคซีนหลักในอนาคตโดยไม่ให้ความสำคัญต่อวัคซีนที่สามารถเป็นทางเลือกอื่นๆ

กระบวนการขึ้นทะเบียนยาที่ล่าช้าที่ระบุว่าต้องใช้เวลามาตรฐานที่ 30 วัน หรือแม้สามารถขึ้นทะเบียนยาได้แล้วแต่ก็ยังไม่มีวี่แววใดๆ ที่ประชาชนที่ได้รับวัคซีนที่ผ่านการขึ้นทะเบียนตัวอื่นๆ แม้ว่าจะยินดีเป็นผู้รับผิดชอบในการจ่ายเองก็ตาม

วัคซีนของ Johnson & Johnson ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตั้งแต่ 25 มีนาคม 2564 ของ Moderna ที่ขึ้นทะเบียนยาในประเทศแล้วเมื่อ 13 พฤษภาคม 2564 และล่าสุด Sinopharm ขึ้นทะเบียนยาเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2564 ถึงวันนี้ยังไม่มีท่าทีว่าใครจะนำเข้า ประชาชนจะได้ฉีดตัวดังกล่าวเมื่อไร

ส่วน AstraZeneca ซึ่งเป็นวัคซีนหลัก ก็ยังไม่สามารถระบุจำนวนและวันส่งที่แน่นอน โดยต้องรอการยืนยันเป็นวันๆ ไป หน่วยจัดฉีดต่างๆ จึงไม่สามารถวางแผนนัดหมายใดๆ ที่สร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนได้

และทำให้ Sinovac ที่ตั้งใจใช้เป็นวัคซีนฉุกเฉินชั่วคราว ปัจจุบันกลายเป็นวัคซีนหลักของคนไทยไปแล้ว

ข้อมูลสัญญาการจัดหาต่างๆ เป็นความลับที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ ทำให้ประชาชนไม่สามารถตรวจสอบความโปร่งใสของรัฐบาลในการดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาวัคซีน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจำนวนการส่งมอบ วันที่ส่งมอบ ราคาที่ซื้อ ตลอดจนค่าปรับหากไม่สามารถดำเนินการตามสัญญา

ทุกอย่างล้วนปกปิดและเป็นความลับที่แม้สมาชิกรัฐสภาจะขอดู ก็ยังให้ดูไม่ได้

กำหนดการต่างๆ จึงปรับเปลี่ยนได้ทุกวัน แม้ประชาชนที่กระตือรือร้นตั้งใจลงทะเบียนเพื่อขอฉีดวัคซีนยังคงต้องหวาดวิตกกับการเลื่อนนัดการฉีดเนื่องจากวัคซีนไม่มีหรือไม่มาตามกำหนด ในขณะที่หน่วยฉีดเองก็ไม่สามารถให้ความชัดเจนใดๆ แก่ประชาชนได้

แต่ในทุกครั้งของการแถลงข่าว การเปิดงาน กลับกลายเป็นมหกรรมที่ดูยิ่งใหญ่ตื่นตาตื่นใจของคนในประเทศ

ตัวเลขเป้าหมายการฉีดที่ตั้งไว้สวยหรู จึงเป็นเรื่องที่ผู้บริหารประเทศตั้งขึ้นมาให้รู้สึกว่าดี แต่ในทางปฏิบัติยังไม่มีตัวเลขหรือหลักฐานการทำงานที่ผ่านมาเป็นสิ่งยืนยันว่าจะไปถึงได้หรือไม่

พอถึงเวลา ก็อาจมีคำชี้แจงแก้ตัวต่างๆ นานา ถึงสาเหตุที่ไม่สามารถดำเนินการได้ โดยอ้างเหตุความขาดแคลน แย่งชิงวัคซีนกันทั่วโลกที่ส่งผลกระทบต่อการจัดหาวัคซีนของไทย

วันนี้ เราคงไม่สามารถหวังให้รัฐบาลที่มาจากฝ่ายการเมืองที่เน้นความมั่นคงต่อการอยู่ในอำนาจจนไม่ใส่ใจกับการจัดหานักบริหารที่มีความสามารถมาร่วมงานว่าจะเกิดการเปลี่ยนเป็นการบริหารแบบมืออาชีพได้ขึ้นในพริบตา แต่อย่างน้อย การลดความใส่ใจในงานพิธีกรรมและเพิ่มจริงจังให้ความสำคัญต่อการทำงานที่มีแผนการชัดเจน โปร่งใส เปิดเผยต่อประชาชน พร้อมฟังความคิดเห็นและปรับปรุงในขณะที่ยังมีเวลา ยังเป็นสิ่งที่ประชาชนยังหวังอยู่บ้างแม้จะเล็กน้อยก็ตาม

อย่าปล่อยให้ประชาชนไม่เหลือความหวังใดๆ