‘ความจริง’ ในความจริงบนโลกออนไลน์ เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19/บทความพิเศษ ไซเบอร์ วอชเมน

บทความพิเศษ

ไซเบอร์ วอชเมน

 

‘ความจริง’ ในความจริงบนโลกออนไลน์

เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “วัคซีน” คือทางออกจากภาวะวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 และโจทย์สำคัญเกี่ยวกับวัคซีนคือ วัคซีนที่มีประสิทธิภาพและการบริหารกระจายวัคซีน จะทำอย่างไรให้ประชาชนได้รับอย่างทั่วถึงที่สุดและป้องกันดีที่สุด

เพื่อเพิ่มโอกาสที่ประเทศจะได้หลุดพ้นและฟื้นตัวจากวิกฤตโรคระบาด

อย่างไรก็ตาม เรื่องวัคซีน ในกรณีไทยเป็นที่ถกเถียงหนักบนโลกโซเชียล

เพราะสิ่งที่เรียกว่า “ดีที่สุด” “คุ้มค่าที่สุด” ยังนำเสนอออกมาไม่เหมือนกัน ไม่ว่าด้วยแง่ข้อถกเถียงทางวิทยาศาสตร์และความเป็นการเมือง ว่าข้อมูลที่นำเสนอชิ้นไหนมีความจริงมากที่สุด?

 

เรื่องของวัคซีนโควิด ถูกเผยแพร่ลงในวารสารทางวิชาการ ซึ่งในยุคดิจิตอล เราสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้และเรียนรู้ได้ ยิ่งคนที่อยู่กับเทคโนโลยีดิจิตอลอย่างคนเจนวายหรือยุคมิลเลเนียม ต้องเจอแหล่งความรู้หลากหลาย ก็นำไปสู่การพัฒนาทักษะวิเคราะห์และตั้งคำถามเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่เป็นข้อเท็จจริงให้ได้มากที่สุด

ทว่าบนโลกออนไลน์นั้น มีผู้ใช้งานที่มีความแตกต่างทั้งการเข้าถึง การรับข้อมูลที่ถูกจริตความคิด-ความเชื่อของตัวเอง นำไปสู่การตีความที่ไม่เหมือนกัน หลายประเทศต่างเจอแบบนี้ เช่นเดียวกับไทย

โดยไทยมีวัคซีนเพียง 2 ยี่ห้อที่ใช้งานอยู่ ได้แก่ แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca หรือเรียกสั้นๆ ว่า AZ) ของอังกฤษ กับโคโรนาแวคของซิโนแวค ไบโอเทคจากจีน โดยตัวแรก ไทยได้รับเทคโนโลยีและมีบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์เป็นผู้ผลิต

ในตอนแรกรัฐบาลไทยมั่นใจว่า AZ เป็นวัคซีนที่ดีโดยไม่พูดถึงยี่ห้ออื่น ถึงขั้นเรียก AZ เป็นม้าเต็งและมั่นใจว่าจะสามารถผลิตให้คนไทยได้ตามแผน

อย่างไรก็ตาม ข่าวคราวความคืบหน้าของ AZ ที่ผลิตโดยสยามไบโอไซเอนซ์กลับมีน้อย

ตรงกันข้าม มีข่าวถึงผลข้างเคียงของ AZ โดยเฉพาะภาวะลิ่มเลือดอุดตันในต่างประเทศ

รายล่าสุดที่เกิดขึ้นถึงขั้นเสียชีวิตคือ ลิซ่า ชอว์ ผู้ประกาศข่าวของบีบีซีวัย 44 หลังได้รับวัคซีน AZ เข็มแรกก่อนทรมานกับอาการลิ่มเลือดอุดตันหลายวันจนเสียชีวิต ซึ่ง จนท.กำลังสืบสวนการตายของลิซ่าเกิดจากวัคซีน AZ หรือไม่

และยังพบผลข้างเคียงคล้ายกันในบางประเทศ เช่นเดียวกับวัคซีนของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ซี่งใช้เทคโนโลยี adenovirus แบบเดียวกับ AZ แม้นักวิจัยชี้ว่าโอกาสเกิดจะมีเพียง 1 ในล้าน

แต่บางประเทศที่เห็นค่าของชีวิตพลเมืองเหนือกว่าสิ่งใด ก็ประกาศระงับการฉีดวัคซีน AZ อย่างในเดนมาร์กและนอร์เวย์

 

ในขณะที่วัคซีนอีกตัวที่ไทยใช้อย่าง Sinovac ที่รัฐบาลไทยและบุคคลที่สนับสนุนรัฐบาล กล่าวเชิงชื่นชมว่าเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม บรรดาทำเนียบวัคซีนโควิดที่ใช้กันอยู่ Sinovac มีประสิทธิภาพต่ำสุด และราคาต่อโดสแพงกว่าวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยี mRNA อย่างไฟเซอร์

รัฐบาลไทยและหน่วยงานรัฐต่างพูดเชิงสนับสนุนซิโนแวค แต่กลับพูดความจริงครึ่งเดียว โดยไม่กล่าวถึงระดับการสร้างแอนติบอดี้ในการกำจัดเชื้อไวรัส (ที่เรียกว่า Neutralizing Antibody) ประสิทธิภาพในแง่รัฐบาลไทย แท้จริงคือระดับการป้องกันอาการรุนแรงหรือยับยั้งการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล

และความพยายามสร้างชุดความจริงเพื่อสนับสนุนวัคซีนที่ใช้เป็นหลักในตอนนี้ (ซึ่งซิโนแวคมีความเกี่ยวข้องกับบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทย แม้ต่อมาจะมีการปฏิเสธความเกี่ยวข้องก็ตาม) ล่าสุดคือ วันที่ 1 มิถุนายน ที่องค์การอนามัยโลกรับรอง Sinovac ให้ใช้เป็นกรณีฉุกเฉิน

เพจไทยรู้สู้โควิด กลับแปลข้อมูลข่าวประสิทธิภาพไม่ตรงกับเอกสารของอนามัยโลก โดยเอกสารต้นฉบับระบุประสิทธิภาพป้องกันไว้ 51% แค่นั้น แต่ไทยกลับเขียนไว้ว่าป้องกันได้ 51-84% จนถูกชาวเน็ตวิพากษ์วิจารณ์ (ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “ด่า”) และรีบเปลี่ยนแปลงเนื้อหาโดยทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่กระนั้น 51% ถือว่ายังต่ำมากอยู่ดี

อีกทั้งข้อมูลวิจัยที่ออกมาตลอด ยังชี้ว่า ซิโนแวคไม่สามารถป้องกันโควิดกลายพันธุ์อย่างสายพันธุ์เบต้า (แอฟริกา) ได้ แม้แต่ AZ ม้าเต็งของไทย

 

นอกจากประสิทธิภาพที่สร้างความไม่เชื่อมั่นให้กับประชาชน มีรายงานถึงผลข้างเคียงจากคนที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค นับจากกรณีที่บุคลากรทางแพทย์ในชลบุรีและลำปาง โดยเฉพาะลำปางที่มีการระงับการฉีดชั่วคราว แต่หน่วยงานสาธารณสุขของรัฐกลับให้เดินหน้าฉีดต่อและชี้ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นว่าไม่เป็นความจริง

อย่างไรก็ตาม ความไม่จริงของผลข้างเคียง กลับไม่สามารถเปลี่ยนมุมมองของสาธารณชน เมื่อเกิดผลข้างเคียงหลายกรณีมากขึ้น แต่ก็มักถูกจัดว่า ไม่เกี่ยวกับวัคซีนซิโนแวค และระบุสาเหตุการเสียชีวิตไปเป็นอย่างอื่น เช่น หญิงวัย 24 ปีเสียชีวิตจากอาหารเสริม ชายอายุ 39 ปีตายเพราะเครียด ทำงานหนัก หรือกรณีที่อธิบายได้แย่สุดคือ หญิงวัย 32 ปี เสียชีวิตจากลิ่มเลือดในปอด เพราะใช้ยาคุม

ไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่เจอผลข้างเคียงอันเกี่ยวกับวัคซีนซิโนแวค ก่อนหน้านี้ เมื่อกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เออร์นี กุสุมา ซุกมาเดวี พยาบาลชาวอินโดนีเซียวัย 33 ปี เสียชีวิตลงเพียง 9 วันหลังรับวัคซีน

หรือที่บราซิลเมื่อปีที่แล้ว มีอาสาสมัครเสียชีวิตระหว่างการทดสอบ และผลการทดสอบที่บราซิลเมื่อมกราคมที่ผ่านมาก็น่าผิดหวัง เพราะประสิทธิภาพป้องกันได้เพียง 50.4% แม้จะมีการอ้างว่า ผลทดสอบที่ชิลีมีประสิทธิภาพถึง 67%

แต่กระนั้น ในภาวะที่ไทยมีปัญหาการจัดการวัคซีนที่ล่าช้ากว่ากำหนด ปริมาณวัคซีนจาก AZ ที่มาไม่มากและไม่ต่อเนื่อง แต่ Sinovac ไทยได้รับจนถึงตอนนี้ก็รวมแล้ว 9 ล้านโดส แต่ความเชื่อมั่นของสาธารณชนกลับให้ความวางใจกับวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยี mRNA อย่างไฟเซอร์กับโมเดอร์นามากที่สุด กลับเป็นวัคซีนที่ทางไทยจัดหามาน้อยสุดและล่าช้าสุด

ทั้งนี้ แค่เทียบไฟเซอร์ ประสิทธิภาพดีกว่าหลายเท่าและราคาต่อโดสถูกกว่าซิโนแวค

 

แม้ประชาชนส่วนใหญ่ต่างเรียกร้องและรอคอยวัคซีนไฟเซอร์กับโมเดอร์นา กลับปรากฏชุดข้อมูลถูกเผยแพร่บนโลกโซเชียลโดยเฉพาะส่งต่อกันในไลน์ ในแง่โจมตีวัคซีนแบบ mRNA ส่งผลเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมในร่างกายถึงขั้นเซลล์กลายพันธุ์เป็นมะเร็ง เหมือนมาดิสเครดิตในขณะที่ประชาชนไม่เชื่อมั่นวัคซีนซิโนแวค

และมีความเคลื่อนไหวที่เอาบรรดาคนบันเทิงหรือบุคคลมีชื่อเสียง เข้ารับวัคซีนซิโนแวคซึ่งบางคนเปิดเผยว่าได้รับการติดต่อให้รับวัคซีนในลักษณะประชาสัมพันธ์ ใช้คนดังเพื่อชักจูงประชาชนเข้ารับวัคซีนซิโนแวค

ปรากฏการณ์ลดทอนเสียงเรื่องวัคซีนโควิด นอกจากสงครามสื่อโซเชียลโดยหน่วยงานรัฐแล้ว ยังรวมถึงการใช้กฎหมายเอาผิดผู้ใช้โซเชียลว่าเผยแพร่ข่าวปลอมหรือบิดเบือนข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนโควิด หรือมีสื่อบางค่าย (ซึ่งไม่แน่ใจว่านับเป็นสื่อหรือไม่) เสนอข้อมูลแบบแผนผัง ถึงขบวนการ ‘ฉีด หวัง ล้ม’ ว่ามีการว่าจ้างคนบินไปสหรัฐเพื่อฉีดวัคซีนและด้อยค่าวัคซีนของไทย

หรือวาทกรรมที่เคยถูกนำเสนออย่าง “วัคซีนที่ดีที่สุด คือวัคซีนที่เรามีอยู่” ถูกโต้กลับด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์และข้อมูลวิจัยจนแทบไม่ได้ยินอีก

 

ถึงจะมีข้อมูลวิจัยยืนยัน แต่ภาวะการระบาดที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและเศรษฐกิจซึ่งนับวันรุนแรงมากขึ้น ไม่นับวิกฤตที่ตามมาหลังโควิดในอนาคต ได้บีบให้คนไทยส่วนใหญ่ต้องจำยอมฉีดวัคซีนที่รัฐบาลไทยจัดหา ทั้งๆ ที่ในใจต้องการวัคซีนทางเลือกที่ดีกว่า ปลอดภัยกว่าที่มีอยู่

แต่ถ้าต้องการวัคซีนที่ดีกว่า คนไทยก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อให้ได้มา ทั้งๆ ที่ต่างประเทศ วัคซีนประสิทธิภาพสูงถูกฉีดให้ประชาชนแบบฟรี แถมได้โปรโมชั่นจากการฉีด ฉีดที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องลงทะเบียนให้ยุ่งยาก

คนไทยจะยอมทนกับความเหลื่อมล้ำเช่นนี้ไปอีกนานเท่าไหร่?