‘เชื่อฟัง’ กันจนเคยตัว/เมนูข้อมูล นายดาต้า

เมนูข้อมูล

นายดาต้า

 

‘เชื่อฟัง’ กันจนเคยตัว

 

คนไทยนั้นให้ความเชื่อฟังเป็นอย่างดีกับสิ่งที่รัฐบาลบอกเสมอ

ล่าสุดคือการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่แทบไม่ต้องรณรงค์อะไรเลย แค่บอกว่าฉีดแล้วดีกับชีวิต และได้ร่วมรับผิดชอบสังคมด้วยช่วยกันสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งจะเป็นผลต่อการแก้วิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ และสุขภาพของประชาชน แค่นั้นคนไทยส่วนใหญ่ หรือจะว่าไปแทบทุกคนต่างดิ้นรนที่จะไปลงทะเบียนเพื่อร่วมมือกับสิ่งที่รัฐบาลต้องการ

สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนพร้อม แต่กลับกลายเป็นว่าที่ไม่พร้อมคือรัฐบาลเอง

การบริหารจัดการวัคซีนเป็นปัญหาในทุกขั้นตอน เริ่มจากการสั่งซื้อ เพราะเริ่มต้นด้วยเจตนาจำกัดการสั่งซื้อไว้กับบางยี่ห้อ จึงเกิดการปฏิเสธการจัดซื้อผ่านหน่วยงานกลางขององค์การอนามัยโลก อย่าง “โคแวกซ์” ที่ประเทศต่างๆ ที่โลกใช้ เพราะอย่างน้อยรับประกันการได้วัคซีน

การไม่เปิดกว้างเรื่องการจัดซื้อ ทำให้หาวัคซีนมาได้ไม่ทันการระบาดที่เกิดขึ้นเร็ว

ได้วัคซีนมาน้อย ในสถานการณ์ที่ละเลยให้เกิดการระบาดรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ สถานการณ์วิกฤตจึงตามมา

การบริหารจัดการวัคซีนยิ่งสะเปะสะปะ

รัฐบาลรวบอำนาจการจัดซื้อ และการกระจายวัคซีนไว้ที่ศูนย์กลาง ขณะที่สั่งการให้แต่ละจังหวัดทำการสำรวจความต้องการวัคซีน ลงทะเบียน การบริหารการฉีด

คนมาลงทะเบียนกันมาก แต่วัคซีนที่ส่วนกลางส่งไปให้ไปพอ ซ้ำยังมีปัญหาแทรกซ้อน ในบางจังหวัดเกิดการระบาดรุนแรง มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องประเมินความหมายของคำว่า “กลุ่มเสี่ยง” กันใหม่ จากเดิมที่เริ่มฉีดให้กับ “คนอายุ 60 ปีขึ้นไปกับผู้ป่วย 7 โรคที่ภูมิต้านทานโควิดมีน้อย” ก่อน มาเป็นใช้พื้นที่ที่อยู่และที่ทำงานซึ่งล่อแหลมต่อการระบาดมาเป็นตัวกำหนดแทน หรือกำหนดเพิ่ม

การเปลี่ยนแปลงหน้างานโดยไม่แจ้งเหตุผลกันให้ชัด ในสถานการณ์ที่ทุกคนเชื่อว่าวัคซีนจะเป็นทางรอด ทำให้เกิดการตัดพ้อต่อว่า แสดงความไม่พอใจกันกว้างขวาง

รัฐบาลที่พยายามพลิกความคิดมาสั่งวัคซีนหลากหลายขึ้น เพื่อเพิ่มปริมาณ แต่ดูเหมือนจะช้าเกินไปกับอารมณ์ความรู้สึกที่กรุ่นอยู่กับความไม่พอใจมากขึ้นเรื่อยๆ

ผลที่ออกมาสำหรับรัฐบาลจึงเสียมากกว่าได้

 

สะท้อนจากการสำรวจของ “นิด้าโพล” ในประเด็นความพึงพอใจต่อการแก้ปัญหาโควิด-19 ของรัฐบาล โดยเปรียบเทียบความคิดของประชาชนระหว่างผลสำรวจเดือนกุมภาพันธ์กับเดือนพฤษภาคม

ที่ตอบว่า พอใจมาก ลดลงจากร้อยละ 27.60 เหลือร้อยละ 12.2., ที่ตอบว่าค่อนข้างพอใจ ลดลงจากร้อยละ 42.13 เหลือร้อยละ 33.31, ที่ตอบว่าไม่ค่อยพอใจ กลับเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 20.99 เป็นร้อยละ 30.40 เช่นเดียวกับที่ตอบลว่าไม่พอใจมาก จากร้อยละ 9.28 เป็นร้อยละ 22.56

ภาพสะท้อนจาก “นิด้าโพล” ดังกล่าวย่อมเห็นได้ชัดว่า ผลงานของรัฐบาลยิ่งทำยิ่งล้มเหลวในความรู้สึกของประชาชน

แม้จะยังมีคนจำนวนหนึ่งที่ยังเชียร์รัฐบาลอย่างหัวปักหัวปำ ไม่ว่ารัฐบาลจะล้มเหลวแค่ไหนก็ทนได้ ไม่เห็นเป็นเรื่องทนไม่ได้

ได้วัคซีนมาเมื่อไรก็ฉีดเมื่อนั้น ไม่เห็นจำเป็นต้องรีบร้อนอะไร เพราะวัคซีนที่ดีที่สุดคือวัคซีนที่มี ไม่จำเป็นต้องเลือกอะไร

คล้ายกับว่าเหตุผลของคนจำพวกนี้ทำให้รัฐบาลดูดีขึ้น

แต่หากมองในมุมกลับแล้วไม่ใช่เลย การยอมทุกอย่าง เห็นดีเห็นงามทุกเรื่องที่รัฐบาลทำ ยิ่งทำให้การแก้ปัญหาประเทศห่างไกลวิธีการที่ถูกต้องมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

ประชาชนที่ไม่มีปากมีเสียงกับความผิดพลาดของรัฐบาล

ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของความล้มเหลวในการบริหารจัดการประเทศ

ประชาชนที่มีทัศนะแบบนี้ ยิ่งมีมากเท่าไร สะท้อนโอกาสการพัฒนาประเทศให้เห็นว่าเป็นไปได้ยากมากขึ้นเท่านั้น

คนไทยส่วนใหญ่มีความเชื่อฟังและทำตามสิ่งที่รัฐบาลบอกเสมอ

แต่การทำให้รัฐบาลเคยตัวที่จะทำอะไรกับประชาชขนก็ได้ ย่อมไม่ใช่เรื่องดี