ซอฟต์โลนทิพย์ เอสเอ็มอีเข้าไม่ถึง วัดใจรัฐบาลพาธุรกิจรอดวิกฤตโควิด/เศรษฐกิจ

เศรษฐกิจ

 

ซอฟต์โลนทิพย์

เอสเอ็มอีเข้าไม่ถึง

วัดใจรัฐบาลพาธุรกิจรอดวิกฤตโควิด

นับแต่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ล่วงเลยมากว่า 1 ปีแล้ว ตอนนี้สถานการณ์ทั่วโลกยังเอาแน่นอนไม่ได้ การแพร่ระบาดระลอกใหม่ยังมีอยู่เรื่อยๆ แต่ประเทศใดที่มีการฉีดวัคซีนไปแล้ว ผู้คนเริ่มออกมาใช้ชีวิตกันปกติ เศรษฐกิจก็เริ่มฟื้นตัว

ภาคส่วนสำคัญที่สุดของการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ก็คือ “ภาครัฐ” นั่นเอง!

ช่วงที่โควิดยังอาละวาด รัฐบาลหลายประเทศออกมาตรการช่วยเหลือให้กับประชาชน และภาคธุรกิจอย่างมหาศาล เพื่อรักษาสภาพการจ้างงานให้เป็นปกติมากที่สุด อีกทั้งเป็นการโอบอุ้มธุรกิจไม่ให้เลิกกิจการไปเสียก่อน

สำหรับประเทศไทย ภาคส่วนธุรกิจเอสเอ็มอี คิดเป็นสัดส่วนของจีดีพี 35.3% มีมูลค่ากว่า 6 ล้านล้านบาท เมื่อติดเชื้อโควิด โดยเฉพาะธุรกิจภาคบริการอาการโคม่ากว่าใคร ทั้งการห้ามเดินทางของต่างชาติ ห้ามนั่งรับประทานอาหารที่ร้าน ห้ามกิจกรรมรวมตัวหมู่มาก ล้วนส่งผลกระทบต่อธุรกิจบริการเต็มๆ จึงไม่แปลกที่จะเห็นภาพเลิกจ้างแรงงานจำนวนมาก การปิดกิจการ เพราะความช่วยเหลือจากรัฐบาลเข้าไม่ถึง

เรียกได้ว่า “แก้ปัญหาไม่ตรงจุด”

 

การออกมาตรการช่วยเหลือสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวม 2 รอบแล้ว ด้วยวิธีการตราพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) รอบแรกเรียกกันเข้าใจง่ายว่า “ซอฟต์โลน” กำหนดวงเงินสินเชื่อไว้ 5 แสนล้านบาท แต่อนุมัติจริงแค่ 1.38 แสนล้านบาท หลายฝ่ายมองว่าประสบความล้มเหลว

ส่วนรอบสอง ในชื่อ “สินเชื่อฟื้นฟู-พักทรัพย์พักหนี้” วงเงินสินเชื่อ 3.5 แสนล้านบาท ล่าสุดสินเชื่อฟื้นฟูอนุมัติไปได้ 2 หมื่นล้านบาท ขณะที่พักทรัพย์พักหนี้ มีมูลค่าทรัพย์สินที่ได้รับโอน 909.68 ล้านบาท มีผู้ยื่นขอรับความช่วยเหลือแค่ 4 รายเท่านั้น!

โดยเฉพาะฟากธุรกิจเอสเอ็มอีบ่นกันระนาว อยากเข้าถึงสินเชื่อ แต่หลังได้พูดคุยกับสถาบันการเงินก็ยังไม่ปล่อยกู้ให้ เพราะติด “กฎเหล็ก” หลักๆ คือ

1. ผลการดำเนินงานของกิจการต้องไม่ขาดทุน ซึ่งขัดแย้งสภาพเป็นจริงที่เกิดโควิดธุรกิจเดือดร้อนไปทั่ว

2. ต้องมีหลักประกันค้ำ แม้ว่าจะมี บสย.เข้ามาช่วยแล้ว แต่ยังติดเรื่องการขาดทุนของกิจการ

3. ไม่มีสถานะหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL)

ซึ่งตัวเลขล่าสุดธุรกิจเอสเอ็มอีที่เป็น NPL อยู่ที่ 7.1% สูงกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ที่ NPL อยู่ที่ 2.5%

จึงมีเสียงเรียกร้องจากกลุ่มเอสเอ็มอี ขอให้ยกเว้น “กฎเหล็ก”

 

ธุรกิจเอสเอ็มอีเห็นพ้องกันว่าสินเชื่อฟื้นฟูดูจะไปไม่รอด ถ้างั้นขอทางเลือกใหม่ “สินเชื่อแฟคตอริ่ง” มาช่วยเสริมสภาพคล่องของกิจการแล้วกัน ด้วยการให้สถาบันทางการเงินรับซื้อหนี้การค้าเป็นสินเชื่อระยะสั้นที่สามารถเปลี่ยนบิล หรือเอกสารทางการค้า เช่น ใบสั่งซื้อ ใบแจ้งหนี้ค้างชำระ ใบวางบิล หรือใบตรวจรับพัสดุ ที่มีอยู่ในมือ ให้เป็นเงินสดเพื่อใช้หมุนเวียน โดยไม่จำเป็นต้องมีหลักประกันในการขอสินเชื่อ จะติดเครดิตบูโร ติด NPL ก็ขอสินเชื่อได้ โดยแค่กิจการยังเปิดดำเนินการอยู่

ก่อนหน้านี้ ธปท.ได้ทำระบบฐานข้อมูลกลาง (Central Web Service : CWS) สำหรับการให้บริการดิจิตอลแฟคตอริ่ง เพื่อทำหน้าที่เก็บข้อมูลในส่วนที่สำคัญของใบแจ้งหนี้ และช่วยตรวจสอบการขอสินเชื่อซ้ำซ้อน ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจแฟคตอริ่งในการพิจารณาให้สินเชื่อกับเอสเอ็มอี

แต่จนถึงตอนนี้ ธปท.ยังไม่มีนโยบาบสนับสนุนเรื่องอัตราดอกเบี้ยแฟคตอริ่งเพื่อช่วยเหลือในภาวการณ์ปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยยังอยู่ที่ 10-12% ต่อปี ขณะที่เอสเอ็มอีจ่ายไหวในอัตราดอกเบี้ย 0.5% ต่อปี

และแม้ว่าตอนนี้มีสมาคมนำร่องยื่นมือมาช่วยเหลือแล้ว อย่างสมาคมผู้ค้าปลีกไทยจัดทำดิจิตอล แฟคตอริ่ง แพลตฟอร์ม (Digital Factoring Platform) เพื่อให้ผู้ประกอบการค้ารายย่อย ธุรกิจเอสเอ็มอี หรือคู่ค้าพันธมิตรของห้างสรรพสินค้า ได้เข้าถึงสินเชื่อแฟคตอริ่งของสถาบันการเงินต่างๆ ได้ง่าย สะดวก รวดเร็วมากขึ้น

แต่เอสเอ็มอีที่ไม่ใช่คู่ค้าของห้างสรรพสินค้ายังคงลำบากอยู่เหมือนเดิม จึงอยากเห็นภาคธุรกิจอื่นๆ ยื่นมือมาช่วยเหลือแบบนี้บ้าง

 

ตัวอย่างการช่วยธุรกิจเอสเอ็มอีในต่างประเทศ อย่างญี่ปุ่น ถ้าธุรกิจเอสเอ็มอีใดที่รายได้หายไปมากกว่า 50% ในเดือนเดียวเทียบกับปีก่อนโควิด สามารถขอเงินชดเชยเยียวยาจากทางรัฐบาลได้วงเงินสูงสุด 2 ล้านเยน หรือราว 6 แสนบาท

หรือนิวซีแลนด์ ในช่วงที่จะมีประกาศล็อกดาวน์ ถ้าคาดการณ์ไปข้างหน้าว่ารายได้จะหดหายมากกว่า 40% สามารถที่จะขอเงินเยียวยาจากรัฐไปพยุงการจ้างงาน จ่ายเงินเดือนให้พนักงานในช่วงล็อกดาวน์

หากผ่านช่วงล็อกดาวน์ไปแล้วรายได้ไม่ได้หายไปมากอย่างที่คาด ค่อยนำเงินอุดหนุนบางส่วนกลับคืนให้รัฐบาล

เป็นลักษณะที่รัฐบาลช่วยหมุนเงินให้ โดยไม่ต้องมานั่งพิสูจน์ความลำบาก หรือรอให้ธุรกิจเอสเอ็มอีตายไปแล้วค่อยกู้ชีพ

ประเทศสหรัฐอเมริกา ถ้าธุรกิจร้านอาหาร หรือผับ บาร์ มีรายได้ที่หายไปจากโควิด ผู้ประกอบการสามารถขอเงินเยียวยาชดเชยรายได้จาก Restaurant Revitalization Fund หรือกองทุนช่วยเหลือร้านอาหาร

โดยวงเงินสูงสุดที่จะได้รับจากการเยียวยาคือ 10 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 300 ล้านบาทต่อธุรกิจ!

เป็นการช่วยเหลือตรงจุดของประเทศต่างๆ ขณะที่ของไทยมีตัวแทนผู้ประกอบการท่องเที่ยวเสนอตั้ง “กองทุนฟื้นฟูเพื่อการท่องเที่ยว” และ “กองทุนเปิดเมือง” ใช้เงินที่รัฐบาลกำลังจะกู้รอบใหม่ เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อของสถาบันการเงิน ได้เข้าถึงสินเชื่อให้ง่ายยิ่งขึ้น เหมือนกับกองทุนหมู่บ้าน ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในการให้สินเชื่อในระดับครัวเรือน ทั้งนี้ เป็นการช่วยให้ธุรกิจการท่องเที่ยวเตรียมกลับมาเปิดดำเนินกิจการเต็มรูปแบบอีกครั้ง เมื่อมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา

ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องกล้าตัดสินใจ เมื่อตัดสินใจจะสร้างหนี้ก้อนมหาศาล ก็ต้องทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามเป้าหมายของการก่อหนี้

นั่นคือทำให้ภาคธุรกิจไปต่อได้ เศรษฐกิจกลับมาเติบโตได้ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง