ผี พราหมณ์ พุทธ : เสื้อผ้าอาภรณ์กับศาสนา (2) / คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

 

เสื้อผ้าอาภรณ์กับศาสนา (2)

 

ในเมื่อเสื้อผ้าอาภรณ์มิได้เป็นเพียงเครื่องกันร้อนหนาวและปกปิดกายตามหน้าที่เดิมของมัน แต่กลายเป็นเรื่องของความงามและชนชั้น

ชีวิตของนักบวชจึงต้องเข้ามาคิดพิจารณาเกี่ยวกับเสื้อผ้าอาภรณ์เสียใหม่

เพราะนักบวชพยายามที่จะหลุดออกไปจากกรอบเกณฑ์ค่านิยมของชาวบ้าน

ทั้งนี้ ผมมุ่งหมายถึงนักบวชประเภทสละโลก (ascetic) นะครับ

ส่วนนักบวชประเภทศาสนบริกร (priest) การนุ่งห่มมักแสดงให้เห็นถึงความสง่า เพื่อสะท้อนความรุ่งเรืองของพระเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์

เช่น ชุดในพิธีการมิสซาของบาดหลวงคริสต์ศาสนา (ที่เขียนบาดหลวงนี้เป็นมติปราชญ์ ท่านว่ามาจาก padre ที่แปลว่าคุณพ่อ จึงควรสะกดด้วย ด)

นอกจากแสดงความสง่ารุ่งเรืองของพระเป็นเจ้าแล้ว ยังแสดงสถานภาพบุคคลศักดิ์สิทธิ์หรือหัวหน้าของชุมชนไปด้วยในตัว

นักบวชประเภทสละโลกนั้น นอกจากจะนุ่งห่มที่แสดงให้เห็นความมักน้อย ความยากจนและความหม่นหมองแล้ว บางครั้งนักบวชก็ต้องแสดงถึงการสละละ โดยการนุ่งห่มให้น้อยที่สุด

การนุ่งน้อยห่มน้อยของนักบวชมีอยู่ทั่วไปในศาสนาต่างๆ แม้แต่ในคริสต์ศาสนายุคต้นก็มีนักพรตหรือพวกฤษี (hermit) นุ่งห่มน้อย ออกไปบำเพ็ญพรตอยู่ในทะเลทราย หรือนักพรตคณะฟรานซิสกันยุคแรกที่นุ่งผ้าหยาบๆ พอหุ้มกายเท่านั้น

ในอินเดีย พราหมณ์มักแต่งกายอย่างสวยสง่า เพื่อแสดงถึงสถานะอันสูงส่งและความบริสุทธิ์ของตน เสื้อผ้าเนื้อหยาบสีโทนดำหรือน้ำเงินไม่นุ่งห่มเลยทีเดียว เพราะเป็นสีของวรรณะต่ำและแสดงถึงมลทิน การไม่นุ่งห่มดีๆ ถูกมองว่าเป็นเรื่องของคนที่ไม่มีประเพณี เป็นพวกอนารยะ

ดังตำนานที่พราหมณ์เหยียดคนพื้นเมืองที่นุ่งผ้าน้อยชิ้นว่าเป็นพวกไม่มีความเจริญทางวัฒนธรรม

 

ส่วนนักบวชประเภทสละโลกในอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นสันยาสีของฮินดู พระในพุทธศาสนาหรือนักบวชเชน ต่างก็นุ่งห่มน้อยชิ้นและใช้ผ้าหยาบๆ เช่น เปลือกไม้หรือวัสดุธรรมชาติอื่นๆ พุทธศาสนาถึงกับให้ไปชักเอาผ้าที่เขาทิ้งแล้วหรือผ้าจากศพมาปะเพื่อใช้ เรียกบังสุกุลจีวร ต่อภายหลังจึงอนุญาตจีวรที่เขาตัดเย็บไว้ให้

นักบวชฮินดูแต่เดิมและพวกไชนะบางนิกายมักเปลือยกาย ในคัมภีร์ปรมหังสะ ปริวรัชกะอุปนิษัท (อุปนิษัทของปรมหงส์ (นักบวช) ผู้ท่องไปอย่างสูงสุด) ซึ่งเป็นอุปนิษัทในยุคกลางและเน้นเรื่องการออกบวชกล่าวว่า “ผู้ทรงไว้ซึ่งรูปตอนแรกเกิด นั่นแหละ สันยาสี” (ชาตรูปธรศฺจเรตฺ, เอษะ สนฺยาสะ)”

แม้ในปัจจุบันการเปลือยกายในที่สาธารณะผิดกฎหมาย แต่นักบวชทั้งฮินดูและไชนะบางนิกายก็ยังเปลือยกายอยู่ ท่านเหล่านี้โดยมากก็นิยมซ่อนเร้นตนตามเถื่อนถ้ำหรืออาราม นอกนั้นเลิกเปลือยกายและใส่จีวรกันแล้ว

กระนั้น นักบวชฮินดูยังมีเครื่องแต่งกายชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจ คือผ้าเตี่ยวที่เรียกว่า “เกาปีนะ” เป็นผ้าสามเหลี่ยม มีชายสำหรับผูกที่เอว ดูคล้ายกางเกงในจีสตริง

 

ผมไปอ่านเว็บบอร์ดหลายที่ คนรุ่นใหม่เขามีคำถามว่า พระในพุทธศาสนาใส่กางเกงในได้ไหม ทำไมถึงไม่ใส่กางเกงใน มีบัญญัติอะไรหรือไม่

ส่วนมากผู้ที่มาตอบก็ตอบออกไปสองแนวครับ แนวแรกคือบอกว่าถึงไม่ได้บัญญัติห้ามก็ไม่ควรใส่ ยิ่งดีด้วยจะได้ทำให้พระนั้นสำรวมระวังเป็นพิเศษ ซึ่งผมคิดว่าอันนี้เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ค่อยขึ้น เพราะเหมือนไม่ได้ตอบคำถาม

อีกแนวหนึ่งมักตอบว่า ก็ในสมัยพุทธกาลยังไม่มีกางเกงในใช้ จึงไม่ได้บัญญัติห้ามไว้ ซึ่งอันนี้ผมคิดว่าเป็นคำตอบที่ไม่น่าใช่อีก เพราะอินเดียมี “เกาปีนะ” ซึ่งคือกางเกงในแบบหนึ่งนั่นแหละ ใส่กันมาตั้งแต่โบราณตั้งแต่สมัยพระเวท แสดงว่ามีมาก่อนพุทธกาลแล้ว

เกาปีนะแต่เดิมไม่ได้สวมใส่กันเฉพาะนักบวช แต่พวกที่นิยมใส่คือนักมวยปล้ำของอินเดีย (อขาฒา) ใช้ใส่ในเวลาฝึกและแข่งขัน รวมทั้งพวกพรหมจารี (นักเรียนที่ถือพรหมจรรย์) จะต้องสวมเกาปีนะซึ่งแบ่งตามวรรณะเป็นสามสี พวกพราหมณ์ใส่เหลืองอมแดง กษัตริย์ใส่แดงและแพศย์ใส่เหลือง เพราะก่อนจะเป็นพรหมจารีเด็กชายอินเดียก็แก้ผ้าเหมือนเด็กในเขตร้อนทั่วๆ ไปนั่นแหละครับ

การเริ่มใส่เกาปีนะเมื่อเข้าเริ่มเรียนจึงเป็นสัญลักษณ์ของการควบคุมเรื่องเพศ

 

อันที่จริงแล้ว ใครๆ ก็ใส่เกาปีนะได้ แต่เกาปีนะกลายเป็นเครื่องแบบสำคัญของนักบวชฮินดู เพราะมันเป็นเสื้อผ้าน้อยชิ้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ คือแค่พอปกปิดเครื่องเพศเท่านั้น เป็นสมบัติที่นักบวชครอบครองน้อยที่สุด บริขารของนักบวชฮินดูจึงมีเพียงเกาปีนะ บาตร และไม้เท้า

พูดให้ง่าย เหมือนพวกเราเอากางเกงในมาเป็นเครื่องนุ่งห่มชิ้นเดียวนั่นแหละครับ

รูปเคารพของเทพเจ้าบางองค์เช่นพระไภรวะ บางครั้งก็สวมเกาปีนะเพราะแสดงความเป็นนักบวชเร่ร่อน รูปพระขันทกุมารที่ภูเขาปาลาณิ (ปาลาณิอัณทวาร์) เป็นรูปพรหมจารีจึงสวมแค่เกาปีนะเช่นกัน

เกาปีนะเป็นที่เคารพยกย่องมากในหมู่นักบวช มีมนต์ยามต้องสวมใส่ ซึ่งเชิญเทพระดับพระตรีมูรติทั้งสามมาสถิตในส่วนต่างๆ ของเกาปีนะนั้น เว้นแต่คฤหัสถ์ผู้เสพกามที่ไม่ต้องใช้มนต์ยามสวมใส่

อาทิ ศังกราจารย์ นักบวชและนักปรัชญาคนสำคัญที่สุดของฮินดูถึงกับแต่งบทประพันธ์ชื่อ “เกาปีนะปัญจกัม” หรือบทสรรเสริญเกาปีนะห้าบท เนื้อความกล่าวถึงความประเสริฐของชีวิตนักบวชผู้มีโชคที่ได้สวมใส่เกาปีนะ เป็นต้นว่า

“นั่งใต้ร่มไม้เป็นเพิงพัก อาหารตักใส่ใบไม้สบายหนอ เสื้อผ้าจะดีชั่วห่อตัวพอ ผู้มีโชคขอสวมใส่แต่เกาปีน”

“ท่องจรไปในป่าแห่งเวทานตะ สมถะอาหารทานทุกสิ่ง แต่ละก้าวใจไร้ทุกข์สนุกจริง โชคดียิ่งมีแก่ผู้สวมเกาปีน”

 

เมื่อได้ทราบว่า ฮินดูเขาเคารพและยกย่องเกาปีนะถึงเพียงนี้ ผมจึงเข้าใจเอาเองว่า เหตุใดพุทธศาสนาจึงไม่ได้ให้นักบวชในพุทธศาสนาสวมเกาปีนะ เพราะจะไปเหมือนกับ “พาหิรลัทธิ” หรือลัทธิศาสนาภายนอกนั่นเอง

แม้ไม่ได้มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร แต่เมื่อพิจารณาจากท่าทีที่พุทธศาสนายุคต้นมีต่อเพื่อนๆ นักบวชในศาสนาอื่น ก็พอจะเห็นได้ว่า พุทธศาสนาต้องการสร้างเอกลักษณ์นักบวชของตนที่แตกต่างกับนักบวชกลุ่มอื่น โดยปฏิเสธสัญลักษณ์บางอย่างด้วย เช่น ปลงศีรษะหมด ไม่สวมรองเท้า ไม่สวมเกาปีนะ ฯลฯ

ที่จริงเรื่องนี้น่าสนใจครับ แม้แต่เรื่องระบบศีลธรรม เช่น สิกขาบทเรื่องห้ามสุราเมรัย ยังมีผู้ให้ความเห็นว่า เป็นการปฏิเสธระบบการให้ความสำคัญแก่ “น้ำโสม” ของพวกพราหมณ์ จนในภายหลังพราหมณ์ยังต้องมารับเอาข้อห้ามเรื่องสุราเมรัยจากพุทธศาสนาไว้ ทั้งที่แต่เดิมชอบมากๆ

 

ผมอยากเล่าเรื่องการได้มาของ “ไตรจีวร” ในพุทธศาสนาไว้สักนิดนึงปิดท้ายครับ เรื่องนี้ท่านอาจารย์ชาญณรงค์ บุญหนุน หัวหน้าภาควิชาของผมเคยเล่าให้ฟังด้วยความซาบซึ้งใจ

หลายท่านอาจทราบเรื่องพระพุทธะท่านให้พระอานนท์ออกแบบจีวรตามคันนาของชาวไพศาลี แต่การได้มาของไตรจีวรว่าทำไมต้องเป็นสามชิ้นอาจไม่ทราบ ซึ่งเรื่องนี้ช่วยให้เราเข้าใจมนุษยภาพของพระพุทธะได้ดียิ่งขึ้นครับ

พระวินัยปิฎกเล่มห้า หมวดจีวร เล่าว่า เมื่อเริ่มมีพระภิกษุมากขึ้นแล้ว การนุ่งห่มยังไม่ได้กำหนดไว้ พระท่านก็โพกหัวบ้าง นุ่งห่มรุ่มร่าม เอาจีวรมาเดียดเอวบ้าง เป็นที่ติเตียนของชาวบ้านว่าเหมือนพวกชอบสะสมจีวร พระพุทธะท่านจึงเอาเรื่องนี้ไปคิดอยู่เงียบๆ ว่าพระควรมีจีวรแค่ไหนที่เพียงพอต่อความจำเป็น

ท่านจึงไป “ทดลอง” นั่งลงกลางแจ้งช่วงค่ำ ในเดือนสามเดือนสี่ที่อากาศเย็นโดยนุ่งผ้าผืนเดียว ปรากฏว่าผ่านไปยามแรกก็หนาว จึงต้องใช้อีกผืนมาห่ม พอผ่านยามสองก็ปรากฏว่ายังหนาวอยู่ จึงเอาอีกผืนมาห่ม ห่มสามผืนก็ปรากฏว่าสามารถคุ้มกันความหนาวจนถึงอรุณได้

ท่านก็ตกลงใจว่า จะกำหนดให้พระในศาสนานี้นุ่งห่มสามผืนซึ่งเพียงพอต่อการทนความหนาวได้ทั้งคืน

ทั้งๆ ที่เป็นถึงพุทธะ มีสาวกมากแล้ว แทนที่จะกำหนดตั้งๆ ไปเลยว่าจะใช้อย่างไร หรือใช้ใครสักคนไปทดลองก็ได้ แต่ด้วยพระกรุณาธิคุณ ก็ทดลองเองคนเดียวเงียบๆ นั่งทนหนาวอยู่คืนหนึ่งเต็มๆ กลายเป็นไตรจีวรที่พระใช้สวมใส่กันจนปัจจุบัน

นี่เป็นมุมหนึ่งในความน่ารักของพระพุทธองค์ ที่เป็นห่วงเป็นใยผู้อื่น ไม่รบกวนผู้อื่น แต่ทนลำบากเอาเอง

ดังนั้น ผมอยากขอให้พระภิกษุเมื่อจะสวมใส่จีวรทุกครั้ง นึกถึงเรื่องนี้

ว่าไตรจีวรของเรานั้น นอกจากมาจากน้ำใจชาวบ้านแล้ว

ยังแลกมาด้วยความลำบากของพระพุทธะ