สังคมไทย ‘สมัยเควียบ’ ในเรื่องอ่านเล่นของ ‘ศรีอสุนี’/บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ

 

สังคมไทย ‘สมัยเควียบ’

ในเรื่องอ่านเล่นของ ‘ศรีอสุนี’

 

‘ศรีอสุนี’ เป็นนามปากกาซึ่งนักอ่านปัจจุบันอาจมิค่อยมักคุ้น คงไม่ได้รับการเอ่ยถึงเทียบเท่ากุหลาบ สายประดิษฐ์ ผู้ใช้นามปากกา ‘ศรีบูรพา’ ทั้งๆ ที่ทั้งสองคนคือนักประพันธ์ร่วมยุคสมัยกัน เริ่มสร้างสรรค์ผลงานตีพิมพ์เผยแพร่ช่วงปลายทศวรรษ 2460 และต้นทศวรรษ 2470 เฉกเช่นเดียวกัน

วรรณกรรมของ ‘ศรีอสุนี’ ยังไม่ปรากฏการนำมาจัดพิมพ์ใหม่ ดูดั่งเป็นสิ่งหาอ่านได้ยาก และตัวนักเขียนก็ค่อยๆ เลือนหายไปตามกาลเวลาปลิดปลิว

ผมเองปรารถนาจะแนะนำให้คุณผู้อ่านทดลองทำความรู้จักเรื่องอ่านเล่นของ ‘ศรีอสุนี’ โดยเฉพาะชิ้นงานที่ตั้งชื่อสะดุดตาสะดุดใจว่า “สมัยเควียบ” ตีพิมพ์เผยแพร่ใน สมานมิตรบรรเทอง ปีที่ 1 เล่ม 13 วันที่ 15 มกราคม พระพุทธศักราช 2469 (ถ้านับเทียบศักราชแบบปัจจุบันจะตรงกับ 15 มกราคม พ.ศ.2470) หน้า 99-103 เห็นชื่อนิตยสารที่ลงตีพิมพ์

ชวนให้ระลึกถึงงาน “สมานมิตรบรรเทอง” ที่เคยจัดขึ้นโดยสำนักพิมพ์มติชนเมื่อหลายปีก่อน

“สมัยเควียบ” น่าสนใจมากตรงที่ดำเนินเรื่องแบบใช้บทสนทนาของตัวละคร อันเป็นการพูดคำไทยปนคำฝรั่งไปตลอดตั้งแต่ต้นจนจบ กระทั่งสรรพนามแทนตนเองก็ “ไอ” กับ “ยู” ดังบทเปิดฉากแรกว่า

“เป็นเพราะยู, ไม่ยังงั้นลูกไอจะท้องโตขึ้นได้ยังไง?” ยายแฉ่งต่อว่าทิดพลุ้ยผู้เป็นสามี ในเมื่อบุตร์ของตนได้เกิดมีท้องขึ้นแล้วสามเดือนแต่หาพ่อไม่ได้

ครั้นผู้อ่านทราบแล้วว่าลูกสาวของทิดพลุ้ยและยายแฉ่งตั้งครรภ์และหาไม่คนรับผิดชอบเป็นพ่อเด็ก ผู้ประพันธ์ก็เปิดเผยความเป็นมาของการเกิดกรณีนี้ผ่านบทสนทนาต่างๆ

“จะมาโทษไอยังไงได้, ก็ยูอยากเสือกชวนไอไปบางกอกทำไมเล่า?” ทิดพลุ้ยซึ่งไม่เคยมีเสียงทะเลาะเบาะแว้งกับยายแฉ่งเลย นอกจากคราวนี้เป็นครั้งแรก ที่พี่แกไม่ยอมจำนนยายแฉ่ง

“โน! โน!! ยูอย่าพูด ไอไม่อยากฟัง” ยายแฉ่งขึ้นเสียงแหว “ยูนั่นแหละตัวสำคัญเทียวรู้ไหม? ลูกอายุ ๑๖ปีเท่านั้นล่ะ บ๊ะ! กลัวลูกจะไม่ทันสมัยบ้างล่ะ จะหูป่าตาเถื่อนบ้างล่ะ ฯลฯ อุตส่าห์ชวนไอไปบางกอก ชิ, ชิ, พอเห็นสาวๆ เมืองเอาไว้ผมอ๊อบ, ผมซิงเติ้ล, ผมอีวีเติ้ล อ๊อบ, เข้าล่ะบ๊ะ! รำพึงไม่ได้หยุดซีน่า, พอกลับมาถึงบ้านยูก็ให้ไอตัดผมซิงเติ้ลให้ลูกเทียวล่ะ ก็เรื่องมันเป็นยังงี้นี่ยูจะมาโทษไอยังไงได้”

“โน! โน!! ไอไม่อยากฟัง” ทิดพลุ้ยกล่าวพร้อมกับโบกมือพลางขึ้นเสียงต่อไปว่า “จะมาโทษไอคนเดียวมันไม่ถูกหรอกนายู ผ่าวะ! ก็อ้ายภาษาอังกิดอังแกดใครเป็นคนเริ่มริ, ฮึ? ยูไม่ใช่เหละ ชะๆ อยากจะให้ลูกสาวเป็นภาษาอังกิด ไปถึงเมืองหลวงละเตือนตะหงิดๆ เทียวจะให้ซื้อตำนานหัดเจรจาพาษาอังกิดมาฝากลูก แล้วมันท้องโตขึ้นยังงี้ยูจะมาโทษไอคนเดียวน่ะมันไม่ได้หรอกยู และอีกอย่างหนึ่งรองเท้าส้นสูงยูก็ซื้อให้มัน ตำราหัดเล่นแบ่ดมินตั่นยูก็เป็นคนซื้อ ไอเห็นแต่วาวันหนึ่งๆ เอากาบมะพร้าวนั่งทำลูกแบ่ดมินตั่นกันไปเหอะ กาบหมากหลังบ้านละล่วงแทบไม่ทันซีน่า โดนแม่ลูกหัวสมัยเอามาตัดทำไม้ตีแบ่ดมินตั่นเสียหมดเทียว”

จะประจักษ์ได้ว่า ‘ศรีอสุนี’ หยิบยกกิจกรรมนานาที่แสดงถึงความทันสมัยแบบชาวตะวันตกยุคทศวรรษ 2460 มาเสียดเย้ย ทั้งการทำทรงผมบ๊อบ ทรงผมซิงเกิล การใช้ภาษาอังกฤษ และการเล่นแบดมินตัน (แต่ให้ตัวละครชาวบ้านเรียกผิดเพราะพูดไม่ถนัด กลายเป็นอ๊อบ, ซิงเติ้ล, ภาษาอังกิดอังแกด และแบ่ดมินตั่น)

พร้อมบ่งชี้ความแตกต่างระหว่างวิถีสังคมกรุงเทพฯ ที่รับอิทธิพลฝรั่งกับวิถีดั้งเดิมของสังคมชนบท

สอดคล้องตามค่านิยมของคนไทยยุคนั้นที่พยายามมองว่าความทันสมัยกำลังทำลายคุณธรรมจริยธรรมให้เสื่อมทราม และก่อเกิดปัญหาสารพัน เช่น การที่ผู้หญิงหันมาเล่นแบดมินตัน ก็มีคำกล่าวล้อเลียนทำนอง “ได้ผัวเพราะเล่นแบดมินตัน”

ทั้งสองตัวละครคงทุ่มเถียงกันมิหยุดหย่อน

“เย็ซ-เย็ซ, ไอมันเป็นคนหัวสมัย” ยายแฉ่งลอยหน้าตอบทิดพลุ้ยด้วยความแค้น “อ้ายยูนั่นแหละยิ่งร้ายกว่าไอตั้งล้านส่วน–”

“หยุด! นายู, ไอสั่งแล้วไม่ใช่รึว่า รักจะอยู่กินด้วยกันละก็อย่าพูดว่าล้าน วัทโธ่! ยู, ไอฉิวตะหงิดๆ แล้วล่ะรู้ไหม?

ตรงจุดนี้ ใบ้ว่าตัวละครทิดพลุ้ยน่าจะหัวล้าน

 

อีกกิจกรรมที่ได้รับความนิยมอย่างยิ่งช่วงปลายทศวรรษ 2460 คือ การเล่นสเก๊ต (ซึ่งเกือบร้อยปีต่อมาใน พ.ศ.2564 เมืองไทยก็กลับมามีกระแสการเล่นสเก๊ตบอร์ด (Skateboard)) แต่ในอดีตเป็นการเล่นโรลเลอร์สเก๊ต (Roller skate)

ย้อนไปช่วงปี พ.ศ.2469-2470 ณ ย่านบางลำพู ถึงกับมี ‘ลานสะเก๊ต’ แห่งแรกๆ สำหรับการออกกำลังกาย หรือ ‘แอ็กเซอร์ไซ’ เพื่อบำรุงสุขภาพ พบประกาศโฆษณาดาษดื่นบนหน้าหนังสือพิมพ์ เช่น ศรีกรุง เป็นต้น

จึงไม่แปลกที่ใน “สมัยเควียบ” จะพาดพิงไว้ด้วย แต่เรียกเพี้ยนเป็น ‘ตาเกิ๊ด’

“ฉิวก็ฉิวไปลาซี!” ยายแฉ่งกระแทกหางเสียง “ก็รึไอพูดไม่จริงเล่า, หนอย-ไปเที่ยวโฮเต็ลรมณีมาหน่อยเดียวล่ะ เสือกไปซื้อตาเกิ๊ดอ้ายเกือกชะนิดลูกล้อมาให้ลูก”

“อุวะ! ก็ไอซื้อแล้วมันฉิบหายเงินกระเป๋ายูเมื่อไหร่เล่า?”

“ถูกละซีไม่ฉิบหาย” ยายแฉ่งลากสุรเสียง “ทุ่งนา ๑ แปลงเสือกเอาไปทำลานตาเกิ๊ดเล่นเสียนี่ มิหนำไอยังต้องช่วยทำด้วยแทบตาย”

“ยายโข่ง, เขาเล่นออกแอ็กเซอร์ไซรู้ไหมล่ะ?”

“แอ็กเซอร์ไซซี, ผ้าซิ่นขาดยังงั้น, ปากแตกยังงั้น, โถ-อย่าพูดเลยยู่ ไอรำคราญ กายังงั้นจะไปเล่นแข่งขันเมืองหลวง คงงามหน้ากลับมาละ จะไปเล่นให้มันเสียกาลันเดอร์เปล่าๆ”

 

ท้องไม่มีพ่อ แม้จะไม่ใช่เรื่องประหลาดเกินไปในสังคมไทย แต่ที่ทิดพลุ้ยมองว่าเลวร้ายและวิตกกังวลจนโยนความผิดให้ฝ่ายเมีย เพราะ

“ยูนั่นและมันตัวสำคัญเทียว, มีอย่างรึลูกอายุ ๑๖ ปีเท่านั้นและมีท้อง โบราณท่านว่าไว้ละไม่ผิดหรอกน่า ‘ดูนางให้ดูแม่’ นี่ลงสัญชาติแม่มันไม่ดี-ลูกมันก็ไม่ดี” ข้างยายแฉ่งโต้เถียง “ก็เพราะยูไม่ใช่รึให้ถือธรรมเนียมฝาหรั่ง ต่อหน้าลูกนึกจะจูบก็จูบ นึกจะกอดก็กอด ลูกมันจะไม่เอาอย่างยังไงเล่า เด็กอายุ ๑๕-๑๖ น่ะถ้ายูไม่ทำให้มันเห็น มันจะรู้จักหรือว่าผัวยังไงเมียยังไง”

หนทางสืบว่าใครเป็นพ่อเด็ก ควรสอบถามจากปากลูกสาว ทว่าปัญหาใช่จะลงเอยง่ายๆ

“ก็ยูอย่าไปดุด่ามันซี ถามมันดีๆ มันก็บอกเองแหละ”

“วัทโธ่-ยูนี่,” ทิดพลุ้ยถะลึ่งตา “ก็มันบอกกับไอแล้วว่า ผู้ชายที่ปีนหน้าต่างขึ้นไปนอนกับมันน่ะตั้ง ๓ คน แล้วมันจะไปรู้เหละว่าท้องกับคนไหน”

“เออ- จริงซียู” ยายแฉ่งเห็นพ้องด้วย “เอายังงี้ไม่ดีรึ, คือว่า-อ้า- เราเรียกเจ้าผู้ชาย ๓ คนนั่นมา แล้วให้มันจับไม้สั้นไม้ยาวกัน ถ้าใครได้ไม้สั้น เจ้าคนนั้นต้องรับว่าเป็นผัวเทียว”

ในที่สุด ทิดพลุ้ยและยายแฉ่งสรุปความเห็นว่า “ตกลงเรื่องราวที่ลูกเรามันชั่วช้าคราวนี้น่ะก็ไม่มีอื่น, นอกจากต่างคนต่างดำเนินเดินตาม ‘สมัยเควียบ’ เท่านั้น ทีนี้เลิกกันเสียทีเถอะนะยู อยากจะให้ลูกของเราเป็นหัวสมัย จนในที่สุดมีลูกสมัยเกิดขึ้นแน่ะไหมล่ะ”

ก่อนผู้ประพันธ์จะปิดฉากตอนท้าย

“แล้วทิดพลุ้ยกับยายแฉ่งก็ไปจัดการตั้งพิธีจับไม้สั้นไม้ยาวกันดังที่คิดเอาไว้”

 

ตอนอ่านงานเขียนชิ้นนี้หนแรกปลายทศวรรษ 2550 ผมยังไม่เข้าใจกระจ่างชัด “เควียบ” หมายถึงอะไร? และมีที่มาจากอะไรกันแน่? เพิ่งมาเจอภายหลังว่าต้นกำเนิดมาจากถ้อยคำที่ใช้กันในมหานครนิวยอร์ก

“เควียบ” ก็คือ “Queab” เป็นศัพท์สแลง แปลทำนองว่า คนที่ขี้เกียจเสเพล เอาดีไม่ได้ คนไม่เอาถ่าน พอกระทำอะไรก็เป็นตัวถ่วงคนอื่น

“สมัยเควียบ” จึงสะท้อนนัยยะการวิพากษ์วิจารณ์สังคมว่า เป็นยุคสมัยที่คนส่วนใหญ่ทำอะไรไม่ค่อยเข้าท่า สร้างแต่ปัญหา

น่าใคร่ครวญยิ่ง “เควียบ” แพร่กระจายมาสู่สังคมไทยช่วงทศวรรษ 2460 ได้อย่างไร? เท่าที่เคยอ่านงานเขียนบันเทิงคดียุคนั้นมาไม่น้อย ก็ไม่ค่อยพบเห็นการใช้คำนี้ เจอแค่ในงานเขียนของ ‘ศรีอสุนี’

ถ้าให้ผมคาดเดา บางทีอาจมาจากภาพยนตร์อเมริกันที่หลั่งไหลมาจัดฉายตามโรงภาพยนตร์ในกรุงเทพมหานคร แม้จะเป็น ‘หนังเงียบ’ แต่มิอาจปฏิเสธว่าสื่อสิ่งพิมพ์ภาพยนตร์ได้ทำหน้าที่นำเสนอและขยายองค์ความรู้เรื่องหนัง จนนักอ่านแทบจะเจรจาสนิทสนมแน่นแฟ้นกับดาราชาวอเมริกันผ่านหน้ากระดาษเลยทีเดียว

“สมัยเควียบ” ของ ‘ศรีอสุนี’ หาใช่เพียงเป็นวรรณกรรมชื่อแปลกๆ ที่สร้างสรรค์โดยนักเขียนซึ่งนักอ่านปัจจุบันไม่รู้จัก หากยังทำให้เราค้นพบร่องรอยว่า อะไรที่ถูกจัดให้เป็นความ “เควียบ” ในสังคมไทยเมื่อเกือบ 100 ปีก่อน