นัยภาพถ่ายและภาพวาด : ศิลปะกับอำนาจที่ถูกควบคุมโดยผู้ชาย/บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

ชาคริต แก้วทันคำ

 

นัยภาพถ่ายและภาพวาด

: ศิลปะกับอำนาจที่ถูกควบคุมโดยผู้ชาย

 

“หทัยชนกกำลังหลับสนิท ชายหนุ่มยังไม่อยากรีบปลุกเธอให้ตื่น เขาอยากให้เธอได้นอนพักผ่อนอย่างสงบต่อไป และนั่นอาจจะเป็นวิธีเดียวที่เขาจะสามารถปลอบโยนเธอได้” (น.166)

ข้อความข้างต้น เป็นตอนจบแบบปลายเปิดของเรื่องสั้นนี้ ที่เจษฎาคล้ายสรุปเรื่องราวทั้งหมดของตัวละครผู้เล่าเรื่อง ซึ่งมีชีวิตเจ็บปวดและโดดเดี่ยวกับความรักรอการเยียวยา

การที่สิงห์ “ไม่อยากรีบปลุกเธอให้ตื่น เขาอยากให้เธอได้นอนหลับพักผ่อนอย่างสงบต่อไป” เป็นการนำเสนอมุมมองความสุขของผู้หญิงที่เป็นอิสระ ปราศจากความกำหนัดจากเพศชาย โดยไม่มีใครอยู่ภายใต้การควบคุมหรือเป็นฝ่ายถูกกระทำ

หลังจากหทัยชนกกินยานอนหลับ เธอจึงไม่รู้สึกตัวเมื่อจะกลายเป็นแบบนู้ดให้สิงห์ถ่ายภาพบนเตียงนอน มันเป็นธรรมชาติที่แสดงความงามของเรือนร่างผ่านกาลเวลาและเรื่องราว เป็นศิลปะที่เกิดจากการจ้องมองแบบถ้ำมอง

ทั้งนี้ ภาพวาดนู้ดในวัยสาวฝีมือกฤตที่แขวนติดผนัง กับภาพที่สิงห์กำลังถ่ายผ่านเลนส์กล้อง สื่อแนวคิดมายาคติความงาม ที่หทัยชนกถูกครอบงำและกดขี่ตามอุดมการณ์ชายเป็นใหญ่ สะท้อนความงามของเรือนร่างผู้หญิงต่างวัยที่สิงห์มองสลับไปมา ซึ่งถูกประกอบสร้างโดยใช้ศิลปะมารองรับ

เพื่อตอบสนองความต้องการและผลประโยชน์ของผู้ชาย

บทความนี้จะศึกษาเรื่องสั้น “นอนเปลือยกาย” ของเจษฎา กลิ่นยอ นักเขียนหนุ่มชาวกรุงเทพฯ จบการศึกษาด้านศิลปะการถ่ายภาพ จากวิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์

ผลงานเรื่องดังกล่าวตีพิมพ์ในรวมเรื่องสั้น “เมืองเริงร่ำ” นิตยสารราหูอมจันทร์ vol.21 มกราคม-มิถุนายน 2562

โดยจะวิเคราะห์ 2 ประเด็นคือ ศิลปะภาพวาดกับอำนาจการจ้องมองที่ถูกควบคุมโดยผู้ชาย และศิลปะภาพถ่าย : ทำไมต้องนอนเปลือยกาย?

เรื่องสั้นนี้ใช้สรรพนามบุรุษที่ 3 เป็นผู้เล่าเรื่องแบบผู้รู้ แสดงความคิดเห็นต่ออดีตและปัจจุบันของหทัยชนก หลังจากสูญเสียพ่อไปด้วยโรคหัวใจตอนอายุยี่สิบ ก่อนหน้าเธอมีความรักกับกฤต นักศึกษาศิลปะ เธอยอมมอบความบริสุทธิ์ให้เขา มันเริ่มต้นจากนางแบบนู้ดและไปจบที่เตียง

เขาวาดภาพนู้ดตัวเธอนอนในท่าเดียวกับรูป Nu Couche ของอเมดีโอ โมดิลยานี ภาพเปลือยกายนั่งบนเก้าอี้ในบ้านร้าง สองมือถูกพันธนาการด้วยโซ่ตรวนและภาพวาดตอนเธอหลับ

หลังกฤตมอบรูปดังกล่าวให้ เธอแอบเอาไปไว้ในห้องนอน เมื่อพ่อเลี้ยงเข้ามาเห็นรูปหลัง เขาข่มขืนเธอจนตั้งท้อง

หทัยชนกเล่าให้กฤตฟัง เขาไม่ยอมรับเป็นพ่อเด็ก บอกเลิก เธอต้องไปทำแท้งเถื่อน มดลูกเน่าและถูกตัดทิ้ง

หทัยชนกตัดสินใจนำภาพนู้ดไปแขวนไว้บนผนังร้านหนังสือ “คนึงบุ๊ค” ชายหนุ่มชื่อสิงห์เดินเข้ามาเห็น วันหนึ่งเขาเอ่ยถามเธอว่าจะเป็นนางแบบนู้ดให้เขาถ่ายภาพได้หรือไม่ เขา “อยากถ่ายทอดกาลเวลาจากเรือนร่าง” เธอในวัยห้าสิบสามปี

จากนั้นเธอก็นัดให้สิงห์มาที่อพาร์ตเมนต์ชานเมือง เขามาพร้อมอุปกรณ์และดอกกุหลาบพลาสติกสีแดง เธอโน้มน้าวให้เขาค้างคืน ดื่มเหล้า เต้นรำ แต่สิงห์ปฏิเสธการร่วมรัก เธอจึงคร่ำรวญอย่างปวดร้าวเพราะอยากถูกรักอีกสักครั้ง

หทัยชนกมองสิงห์นอนหลับ เธอคิดว่าสิงห์เป็นลูก ก่อนฤทธิ์ยานอนหลับจะทำงาน สิงห์ตื่นเช้าลุกขึ้นมาถ่ายภาพนู้ดในขณะที่หทัยชนกหลับสนิท

ความน่าสนใจของเรื่องสั้นนี้ นอกจากเจษฎาจะใช้สรรพนามบุรุษที่ 3 เป็นผู้เล่าเรื่องแบบผู้รู้แล้ว เขายังจำกัดมุมมองการนำเสนอโดยเน้นการเล่าเรื่องผ่านความคิดและการกระทำของตัวละคร

ส่วนใหญ่ผู้เล่าเรื่องจะให้มุมมองและความคิดของทหัยชนก มีส่วนน้อยที่เป็นความคิดของสิงห์

 

ศิลปะภาพวาด

กับอำนาจการจ้องมอง

ที่ถูกควบคุมโดยผู้ชาย

เรื่องราวรักแรกของหทัยชนกเริ่มจากเธอเป็นนางแบบนู้ดให้กฤต เขาวาดภาพเธอนอนท่าเดียวกับรูป Nu Couche ของอเมดีโอ โมดิลยานี และมักให้เธอนอนท่าเดียวกับหญิงสาวในรูปหลังร่วมรัก

นอกจากเจษฎาจะใช้สัมพันธบท นำงานศิลปะมากล่าวซ้ำในงานเขียนเพื่อเปรียบเทียบ ยังสื่อให้เห็นว่า การขอให้เธอนอนท่าเดียวกับหญิงสาวในรูปหลังร่วมรัก เป็นการเลียนแบบที่กฤตเป็นผู้จ้องมอง เห็นหทัยชนกเป็นวัตถุทางเพศ

ทั้งนี้ การขอให้เธอนอนในท่านั้น ยังเป็นอำนาจของผู้ชายที่ใช้ควบคุม กำกับและจ้องมอง สอดคล้องกับความเห็นของจิรัฏฐ์ เฉลิมแสนยากร (2562 : 168) ว่า “โลกของการเรียนศิลปะถูกกำกับโดยผู้ชาย มากไปกว่านั้นการกำกับควบคุมไวยากรณ์ทางศิลปะยังถูกตีกรอบและจำกัดให้อยู่ในการควบคุมของผู้ชายจนกลายเป็นสถาบัน”

เมื่อพ่อเลี้ยงเข้าไปเห็นภาพวาดนู้ดของหทัยชนกในห้องนอน เขาผละเข้าหาและข่มขืนเธอ “ร่านมากใช่มั้ย กูจะเป็นคนสอนมึงเอง” (น.156)

สะท้อนว่าผู้ชายมองผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ การที่พ่อเลี้ยงจ้องมองภาพนู้ดแล้วมีอารมณ์พลุ่งพล่าน มีนัยของความหื่นกระหายแฝงอยู่ เพราะภาพวาดนู้ดได้กระตุ้นความปรารถนาจนพ่อเลี้ยงไม่อาจควบคุมปฏิกิริยาทางร่างกายและคำพูดได้

ดังนั้น ทั้งกฤตและพ่อเลี้ยงจึงเป็นผู้จ้องมองภาพวาดนู้ดเพื่อสนองกามารมณ์ เห็นผู้หญิงเป็นเหยื่อของความกำหนัด

 

ศิลปะกับภาพถ่าย

: ทำไมต้องนอนเปลือยกาย?

“เขาเห็นเธอกำลังหลับสนิท นอนเปลือยกายอยู่บนที่นอนอย่างสงบ โดยมีฉากหลังเป็นภาพวาดนู้ดตัวเธอเองที่เลียนแบบมาจากภาพวาด Nu Couche ของอเมดีโอ โมดิลยานี อีกที เขาเฝ้ามองเธอในอดีตกับปัจจุบันในเวลาเดียวกัน จากรูปภาพมาที่เตียงนอน จากเตียงนอนกลับไปที่รูปภาพสลับไปมา และหลงใหลเคลิบเคลิ้มไปกับความงามในชั่วขณะนั้น ความงามที่เธอแสดงออกมาอย่างไม่ทันรู้ตัว เป็นความงามที่สถิตอยู่ในตัวของผู้หญิงทุกคนบนโลกใบนี้” (น.166)

ข้อความข้างต้น เป็นมุมมองของสิงห์ที่ถูกจำกัดการเล่าเรื่องหรืออาจเรียกว่าเขาเป็นตัวละคร-ผู้นิทัศน์ นำไปสู่การตีความได้ว่า สิงห์กลายเป็นผู้จ้องมองแบบถ้ำมอง

เมื่อเขามองสองภาพสลับไปมา สะท้อนว่าผู้ชายล้วนมองผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ และยังเป็นการเปรียบเทียบรูปลักษณ์ความงามจากความเปลือยเปล่าในวัยสาวและสูงวัย

แต่สิงห์มีมุมมองที่ “หลงใหลเคลิบเคลิ้มไปกับความงาม…” อธิบายได้ว่าความงามของเรือนร่างทำให้ผู้หญิงกลายเป็นวัตถุแห่งการจ้องมอง และ “ความงามที่สถิตอยู่ในตัวผู้หญิงทุกคนบนโลกใบนี้”

เป็นการมองศิลปะอย่างมีศิลปะที่สอดคล้องกับธรรมชาติของชีวิต สะท้อนมายาคติความงามในการให้ความหมายและคุณค่าแก่ผู้หญิง

นอกจากนี้ หทัยชนกไม่ได้เป็นวัตถุที่ถูกจ้องมองโดยตัวละครหรือผู้เล่าเรื่องเท่านั้น แต่ยังเป็นวัตถุแห่งการจ้องมองของผู้อ่านเรื่องสั้นนี้ซ้อนทับอยู่ด้วย

ผู้อ่านจึงอยู่ในสถานะไม่ต่างจากผู้ถ้ำมองเช่นกัน

 

ทั้งนี้ เจษฎายังตอกย้ำอีกว่า ควรมีคนเห็นคุณค่าของเธอผ่านเรือนร่างและความงาม แม้จะส่งผลให้เธอต้องปวดร้าวกับอดีตรักแรก การถูกพ่อเลี้ยงข่มขืน ทำแท้งและถูกตัดมดลูก ถูกสิงห์ปฏิเสธร่วมรัก ที่สำคัญเจษฎายังต้องการให้ผู้อ่านเป็นคนดูภาพวาดภาพหนึ่ง แต่จะเห็นอะไรหรือไม่ ผู้อ่านและคนดูต้องถอยออกมามองในระยะที่เหมาะสม ดังนี้

“ถ้าหากเราถอยออกมาประมาณสี่ห้าก้าวอย่างผู้ที่ยืนชมงานศิลปะที่ดีพึงกระทำ และมองภาพตรงหน้าที่เกิดขึ้น เราคงอิ่มเอมไปกับความวิจิตร ในสุนทรียภาพแห่งชีวิตชั่วขณะนั้น แต่เราจำเป็นต้องถอยหลังออกไปไกลมากขนาดไหนเพื่อที่จะมองให้เห็นความเจ็บปวดและโดดเดี่ยว ความขมขื่นและเหงาเศร้าของชีวิตใดชีวิตหนึ่ง” (น.166)

แล้ว “ทำไมต้องนอนเปลือยกาย” คำตอบแรก หทัยชนกต้องนอนเปลือยกายเป็นนางแบบให้กับภาพวาดของกฤตและภาพถ่ายของสิงห์ คำตอบต่อมา การนอนเปลือยกายยังสื่อถึงการ “เปิดเผย” ต่อกฤตและเขาเลือกเห็นแต่ความงามของเรือนร่างยามเธอตื่นรู้ตัว ซึ่งหทัยชนกก็มองเห็นเขาเป็นผู้ควบคุม เธอกลายเป็นโรคนอนไม่หลับ ไม่อยากฝันร้าย เป็นทุกข์ เธอต้องตื่นเพื่อมองหารักแรกที่ไม่เคยลืม และตื่นเพื่อมองเห็นเขาผ่านงานเขียน

ส่วนการนอนเปลือยกายในมุมของสิงห์สื่อถึงการไม่ “ปกปิด” เขาไม่ได้เห็นเฉพาะความงามของเรือนร่างสลับไปมาระหว่างสองภาพที่แสดงความเหมือนจริงในภาพวาด และความสมจริงในภาพที่กำลังจะถ่าย

แต่เขาเห็นธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงที่สะท้อนออกมายามเธอหลับอย่างเป็นสุขโดยไม่รู้ตัว เปรียบกับดอกกุหลาบพลาสติกสีแดงที่แฝงนัยถึงความงามที่คงทน ไม่เหี่ยวเฉา แต่ไร้ชีวิตและวิญญาณ

 

เรื่องสั้น “นอนเปลือยกาย” ของเจษฎา กลิ่นยอ สะท้อนมุมมองการจ้องมองศิลปะภาพนู้ดให้เป็นศิลปะ เพื่อ “เปลือยเปล่าเนื้อแท้ของมันออกมาอย่างหมดรูป” ไม่ได้มองอย่างผิวเผินเพียงรูปลักษณ์เรือนร่างและความงามเท่านั้น แต่ควรพิจารณาองค์ประกอบอื่นๆ เช่น อารมณ์ความรู้สึกภายในใจของตัวละคร

ทั้งนี้ ความอืดเอื่อยในการเล่าเรื่องยังสื่อถึงความเหนื่อยหน่าย โดดเดี่ยว อ้างว้างในชีวิตของหทัยชนก ซึ่งเธอเฝ้ารอการปลอบโยนจากใครสักคน รวมทั้งมิติของน้ำหรือฝนที่เปรียบเทียบกับความลับและความโศกเศร้าเสียใจ

บรรณานุกรม

จิรัฏฐ์ เฉลิมแสนยากร. (2562). “ผุดเกิดมารำพัน” : แว่วเสียงสนทนาในนวนิยายผุดเกิดมาลาร่ำ. ใน วรรณกรรมดำดิ่ง. กรุงเทพฯ : กลุ่มพิมพ์, 151-174.

เจษฎา กลิ่นยอ. (2562). “นอนเปลือยกาย”. ใน เมืองเริงร่ำ ราหูอมจันทร์ vol.21. ปทุมธานี : นาคร,145-166.