คุยกับทูต เอกตอร์ กอนเด อัลเมย์ดา การปฏิวัติคิวบา : วิทยาศาสตร์และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในยุคโควิด-19 (จบ)

 

คุยกับทูต เอกตอร์ กอนเด อัลเมย์ดา

การปฏิวัติคิวบา

: วิทยาศาสตร์และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในยุคโควิด-19 (จบ)

 

“ผมมีโอกาสมาเยือนเมืองไทยเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ.2012 เป็นเวลาสองสัปดาห์เพื่อเข้าร่วมการประชุมพหุภาคี คือพิธีสารมอนทรีออลว่าด้วยสารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน (อนุสัญญาเวียนนาว่าด้วยการป้องกันชั้นโอโซน) ที่คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (UNESCAP) กรุงเทพฯ”

นายเอกตอร์ กอนเด อัลเมย์ดา (His Excellency Héctor Conde Almeida) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐคิวบาประจำประเทศไทย

นายเอกตอร์ กอนเด อัลเมย์ดา (His Excellency Héctor Conde Almeida) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐคิวบาประจำประเทศไทย เล่าถึงการเยือนไทยและความประทับใจ

“ครั้งที่สองได้กลับมาพร้อมด้วยภรรยาและลูกสาว เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2017 ในฐานะเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐคิวบาประจำราชอาณาจักรไทย โดยมีเขตอาณาครอบคลุมสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา”

ท่านทูตกับครอบครัว

“เราชอบประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอันยาวนานของราชอาณาจักรไทย ความขยันขันแข็งและความเป็นมิตรของคนไทย และแน่นอนที่สุดคือ อาหารไทย”

“ประเทศไทยมีสภาพภูมิอากาศที่คล้ายกับสภาพแวดล้อมเขตร้อนของคิวบา ไทยมีระบบนิเวศและแนวชายหาดที่สวยงามซึ่งก็มีความคล้ายคลึงกับประเทศแถบทะเลแคริบเบียนหลายประการ ด้วยเหตุนี้ การที่ได้มาประจำประเทศไทย ครอบครัวของเราจึงรู้สึกเหมือนอยู่ที่บ้าน”

ท่านทูตกับครอบครัว

คิวบาเป็นประเทศแรกในภูมิภาคแคริบเบียนที่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศไทยเมื่อปี ค.ศ.1958 จึงต้องการดึงดูดให้นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนในประเทศทั้งในกลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตรและการบริการท่องเที่ยว

คิวบาได้ให้ความสนใจในการขยายความร่วมมือทางวิชาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในสาขาที่แต่ละฝ่ายมีความเชี่ยวชาญ

เช่น สาขาสาธารณสุข การแพทย์และเภสัชกรรมของคิวบาและไทย ทางสาขาการท่องเที่ยวและการเกษตร

ภาพ เช เกวารา และรถคลาสสิกในคิวบาเครดิตภาพ – Vintage Industrial Style-

มาถึงเรื่องมาตรการคว่ำบาตรทางการเงินและการค้าของสหรัฐต่อคิวบา

การคว่ำบาตรระหว่างประเทศเป็นการตัดสินใจทางการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามทางการทูตของประเทศ องค์กรพหุภาคี หรือระดับภูมิภาค ต่อรัฐหรือองค์กร ทั้งเพื่อปกป้องผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของชาติ หรือเพื่อปกป้องกฎหมายระหว่างประเทศ และป้องกันภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ

การตัดสินใจเหล่านี้ส่วนใหญ่รวมถึงการกำหนดเป้าหมายชั่วคราวเกี่ยวกับเป้าหมายของข้อจำกัด ทางเศรษฐกิจ การค้า การทูต วัฒนธรรม หรืออื่นๆ (มาตรการคว่ำบาตร) ซึ่งจะถูกยกเลิกเมื่อข้อกังวลด้านความปลอดภัยที่เป็นแรงจูงใจไม่มีผลบังคับใช้อีกต่อไป หรือเมื่อไม่มีภัยคุกคามใหม่เกิดขึ้น

ตามบทที่ 7 ของกฎบัตรสหประชาชาติ มีเพียงคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเท่านั้นที่ได้รับมอบอำนาจจากประชาคมระหว่างประเทศให้ใช้มาตรการคว่ำบาตร (มาตรา 41) ที่รัฐสมาชิกสหประชาชาติทั้งหมดต้องปฏิบัติตาม (มาตรา 2.2) พวกเขาทำหน้าที่ตามแนวทางสันติวิธีที่ทรงพลังที่สุดของประชาคมระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ หรือเพื่อยุติปัญหาดังกล่าว การคว่ำบาตรไม่รวมถึงการใช้กำลังทางทหาร

อย่างไรก็ตาม หากการคว่ำบาตรไม่นำไปสู่การยุติความขัดแย้งทางการทูต การใช้กำลังสามารถได้รับการอนุมัติจากคณะมนตรีความมั่นคงแยกต่างหากภายใต้มาตรา 42

คิวบา ดินแดนแห่งรถคลาสสิกที่มีชีวิต เครดิตภาพ – Vintage Industrial Style–

การคว่ำบาตรของสหประชาชาติจึงไม่ควรสับสนกับการคว่ำบาตรฝ่ายเดียวที่กำหนดโดยแต่ละประเทศเพื่อเพิ่มผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ของตน โดยทั่วไปมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นการบีบบังคับทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง มาตรการที่ใช้ภายใต้การคว่ำบาตรฝ่ายเดียวอาจมีตั้งแต่ความพยายามทางการทูตที่บีบบังคับการทำสงครามเศรษฐกิจหรือการเริ่มต้นสู่สงคราม

การคว่ำบาตรได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกโดยสหประชาชาติ จากการที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจะออกมาตรการลงโทษแก่ประเทศที่ฝ่าฝืนกฎบัตรของสหประชาชาติ หรือฝ่าฝืนมติสำคัญของสหประชาชาติในการพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสันติภาพและมนุษยธรรม ซึ่งสหประชาชาติได้ใช้มาตรการนี้โดยลำดับมา

นับตั้งแต่นั้น สหรัฐและอังกฤษซึ่งถือตนว่าเป็นมหาอำนาจ เป็นผู้คุมกฎของโลก หรือที่เรียกว่าเป็นตำรวจโลกดังที่เรียกขานกันทุกวันนี้ เป็นประเทศที่เสนอญัตติให้คว่ำบาตรประเทศต่างๆ มากที่สุด

เกิดสภาพบังคับให้ประเทศที่ถูกคว่ำบาตรจำเป็นต้องยินยอมปฏิบัติตามข้อเรียกร้องส่วนตัวของประเทศที่ร่วมมือกันคว่ำบาตร ตลอดระยะเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่สองมาถึงบัดนี้

สภาปัตยกรรมในคิวบา เครดิตภาพ – Vintage Industrial Style—
สถาปัตยกรรมในคิวบา -ภาพ iStock

“การปิดล้อมทางเศรษฐกิจ การค้าและการเงินต่อคิวบา โดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เป็นเวลาเกือบหกทศวรรษ ถือเป็นการคว่ำบาตรฝ่ายเดียวที่ไม่เป็นธรรม มีความรุนแรงและขยายออกไปมากที่สุดเท่าที่เคยมีมากับประเทศใดๆ เป็นเรื่องโด่งดังที่น่าเศร้า”

ท่านทูตเอกตอร์ อัลเมย์ดา ชี้แจงถึงการคว่ำบาตรที่ส่งผลกระทบต่อคิวบา

“การปิดล้อมคิวบาของสหรัฐถือเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับการพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจทั้งหมดของคิวบา เป็นการยับยั้งและเป็นอันตรายต่อการดำเนินการตามแผนแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และการดำเนินการตามวาระสหประชาชาติ ปี ค.ศ.2030 รวมทั้งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ประการ อันเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าและการเงินของคิวบา”

“การปิดล้อมทางเศรษฐกิจของสหรัฐต่อคิวบาในช่วง 6 ทศวรรษได้สร้างความเสียหายเชิงปริมาณให้แก่คิวบากว่า 1,098,008,000,000 เหรียญสหรัฐ”

“เฉพาะในปี ค.ศ.2020 เป็นการกระทำฝ่ายเดียวและนอกเขตอำนาจโดยสหรัฐ 55 กรณีเพื่อเพิ่มการปิดล้อมคิวบา ในจำนวนนี้มี 40 กรณีที่สหรัฐใช้ในบริบทของการระบาดของโรคโควิด-19”

อุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับป้องกันและควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่จีนมอบให้คิวบา ภาพ-Joaquin Hernandez Xinhua

มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐที่บังคับใช้กับคิวบาส่งผลให้อุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับป้องกันและควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่จีนมอบให้เมื่อเมษายน ปี ค.ศ.2020 ไม่สามารถไปถึงคิวบาได้ตามกำหนด

โดยมิเกล ดิอัซ กาเนล (Miguel Díaz-Canel) ประธานาธิบดีคิวบา ชี้ว่า “มาตรการคว่ำบาตรดังกล่าวของสหรัฐเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนชาวคิวบา

“ตั้งแต่ปี ค.ศ.1992 ข้อมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ 28 ข้อได้รับการรับรองอย่างท่วมท้นโดยประชาคมระหว่างประเทศภายใต้กรอบของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเพื่อยุติการปฏิบัติที่ผิดกฎหมายนี้โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ องค์กรต่างๆ เช่น สหภาพแอฟริกา (AU), ขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (NAM), ประชาคมและตลาดร่วมแคริบเบียน (CARICOM), ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC), กลุ่ม 77 และจีน เช่นเดียวกับผู้แทนระดับสูง 34 คนกล่าวต่อต้านการปิดล้อมในระหว่างการอภิปรายทั่วไปของการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติสมัยที่ 75”

“การปิดล้อมดังกล่าวถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวคิวบาครั้งใหญ่อย่างโจ่งแจ้งเป็นระบบและเข้าข่ายเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ตามอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและลงโทษความผิดอาญาฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ 1948 (Convention on the Prevention and Punishment of the Crime of Genocide of 1948) เป็นการละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศ และถือเป็นอุปสรรคต่อความร่วมมือระหว่างประเทศ นโยบายการรุกรานทางเศรษฐกิจนี้ ยืนยันจุดมุ่งหมายของรัฐบาลสหรัฐ ในการทำลายระบบเศรษฐกิจการเมืองและสังคมที่ชาวคิวบาเลือกอย่างเสรี”

“แม้จะได้รับผลกระทบด้านลบจากสงครามเศรษฐกิจโดยสหรัฐอย่างดุเดือดมาในระยะเวลา 60 ปี แต่คิวบาก็พยายามปกป้องและสร้างชาติอันมีอำนาจอธิปไตย มีเอกราชตามระบอบสังคมนิยม โดยเป็นชาติที่มั่งคั่งและยั่งยืนตลอดมา ไม่มีอะไรที่จะทำให้ชาวคิวบาอ่อนข้อได้ในความพยายามนั้น”

นายเอกตอร์ กอนเด อัลเมย์ดา (His Excellency Héctor Conde Almeida) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐคิวบาประจำประเทศไทย

ประวัติ

นายเอกตอร์ กอนเด อัลเมย์ดา

เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐคิวบาประจำประเทศไทย

เกิด : 1 พฤษภาคม ค.ศ.1963

สถานที่เกิด : กรุงฮาวานา สาธารณรัฐคิวบา

สัญชาติ : คิวบา

ความสามารถทางภาษา : สเปน อังกฤษ รัสเซีย

สถานภาพ : สมรสกับนาง Thelma Alina Picans Esnard และมีลูกสาวหนึ่งคน

งานอดิเรก : ดนตรี กีฬา อ่านหนังสือ ท่องเที่ยวกับครอบครัว

การศึกษา

1982-1987 : ปริญญาโทด้านกฎหมายระหว่างประเทศ, State University “S. M. Kirov” ณ เมืองบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน

1991-1993 : ประกาศนียบัตร ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) การฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางการบริหาร และการดำเนินการตามโครงการฝึกอบรมทางวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่องของ IAEA

1995-1996 : ปริญญาโทด้านกฎหมายของสหภาพยุโรป, Carlos III University, กรุงมาดริด ประเทศสเปน

1998 : อนุปริญญาด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม, Dresden University of Technology เมืองเดรสเดิน ประเทศเยอรมนี

2004 : อนุปริญญาด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม, Global Environmental Center (GEC) และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA)

2012 : หลักสูตร UNEP เรื่องข้อตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อม, Ninth University of Eastern Finland – เกรนาดา, 19-31 สิงหาคม

ประสบการณ์

1987-1995 : เจ้าหน้าที่ความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักเลขาธิการบริหารด้านกิจการนิวเคลียร์ สาธารณรัฐคิวบา

1995-2005 : เจ้าหน้าที่ความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคนิคระหว่างประเทศ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม (CITMA) สาธารณรัฐคิวบา

2005-2006 : รองผู้อำนวยการ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม (CITMA) สาธารณรัฐคิวบา

ธันวาคม 2006-ธันวาคม 2011 : เลขานุการเอก หัวหน้าสำนักงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐคิวบา ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน

มกราคม 2012-สิงหาคม 2016 : รองอธิบดี กรมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม (CITMA) สาธารณรัฐคิวบา

กุมภาพันธ์ 2017 : เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐคิวบาประจำราชอาณาจักรไทย เขตอาณาครอบคลุมสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา