เครื่องเคียงข้างจอ : เมื่อดู๋ สัญญา กลายมาเป็นแขก / วัชระ แวววุฒินันท์

วัชระ แวววุฒินันท์

 

เมื่อดู๋ สัญญา กลายมาเป็นแขก

 

ในรายการ “เจาะใจ” ที่ออกอากาศไปเมื่อวันเสาร์ที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมา เป็นหนึ่งในตอนพิเศษที่เจาะใจมีอายุครบ 30 ปี

รายการวันนั้น ดู๋ สัญญา ขยับตัวมานั่งที่เก้าอี้แขกรับเชิญ เพราะวันนี้เขาจะเป็นผู้ตอบ ไม่ใช่ผู้ถาม

ทีมงานได้เชิญ “ต๊ะ-นารากร ติยายน” มาทำหน้าที่พิธีกร เพื่อพูดคุยกับสัญญา

นารากรเคยเป็นพิธีกรเจาะใจมาก่อน จับคู่กับสัญญา ในวันที่ดำรง พุฒตาล โบกมืออำลาจอไป หลังทำงานคู่กับดู๋มา 10 ปีเต็ม

แล้วรายการก็ได้พิธีกรหญิงไฟแรง ชื่อดังในตอนนั้นมานั่งคุยกับแขกร่วมกับขาเก่าอย่างดู๋ สัญญา

นารากรทำรายการอยู่ 5 ปี ก่อนจะลุกออกไปสู่เวทีอื่นๆ ในช่องต่างๆ ต่อไป

 

วันนี้นารากรกลับมาเยือนเวทีเจาะใจอีกครั้ง ในโอกาสครบ 30 ปี

ตอนที่ทีมงานแจ้งว่าจะให้ต๊ะมาสัมภาษณ์ดู๋ สัญญา โดยให้เตรียมคำถามเอง ต๊ะตื่นเต้นมาก และวันที่มาบันทึกเทป ต๊ะก็ชูสมุดโน้ตที่จดคำถามมาร่วมร้อยข้อให้ดู

“ว่างๆ ก็คิดตลอดว่าจะถามอะไรพี่ดู๋ดี มีเต็มหัวไปหมด จดไปจดมาเกือบเต็มเล่ม”

สุดท้ายต๊ะก็ได้ใช้คำถามในรายการแค่สิบกว่าข้อ และนี่คือส่วนหนึ่งของคำถามเหล่านั้น

 

“อะไรที่หล่อหลอมให้คุณสัญญาเป็นคนอย่างนี้”

“รายการเจาะใจอยู่มาจน 30 ปี คิดว่าการที่รายการหนึ่งอยู่มาได้นานขนาดนี้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงมากมายของวงการโทรทัศน์ เป็นเพราะอะไร”

สัญญาในฐานะพิธีกรที่อยู่คู่กับรายการมาโดยตลอดให้ความเห็นว่า

“อยู่ที่ความอดทน เพราะรายการต้องเผชิญกับบททดสอบแบบต่างๆ จนถึงตอนนี้ที่วงการโทรทัศน์เปลี่ยนไปมาก คนดูน้อยลง ขายโฆษณาได้น้อยลง แต่การที่คนทำรายการยังทำอยู่ มาจากความคิดที่ว่า รายการยังมีประโยชน์กับคนดูอยู่ไหม แล้วในฐานะคนทำรายการยังอยากทำอยู่ไหม ซึ่งถ้ายังมีประโยชน์อยู่ ยังอยากทำอยู่ ก็คงเป็นคำตอบแล้ว”

การที่สัญญาตอบฉาดฉานเช่นนี้ ก็ด้วยความรู้สึกที่ตนเองเคยเป็นเจ้าของบริษัทผลิตรายการโทรทัศน์ มีรายการเป็นของตัวเอง ขายโฆษณาเอง ต่อสู้กับธุรกิจเองมาก่อน ซึ่งหลังจากทำมาหลายปีก็ถึงวันที่บริษัทปิดตัวลง

ในเรื่องนี้ สอดคล้องกับที่นารากรได้ถามคำถามหนึ่งกับสัญญาว่า

“เวลาที่พี่ต้องตัดสินใจเรื่องใหญ่ๆ สำคัญๆ พี่มีวิธีคิดอย่างไร”

แล้วสัญญาก็อรรถาธิบายว่า

“เวลาคิดจะทำอะไร จะคิด 2 แบบ คือ มองในแง่ดีว่าทำแล้วดียังไง จะสำเร็จยังไง ได้อะไร และก็จะเตรียมตัวในแง่ร้ายด้วย คือ ถ้าสิ่งที่เราตัดสินใจมันไม่เป็นอย่างที่คิด เราจะเสียอะไรบ้าง ยอมรับมันได้แค่ไหน เราจะยอมเสียไปได้ถึงขนาดไหน เมื่อคิดได้อย่างนี้อะไรจะเกิดขึ้นก็ยอมรับมันได้ ทั้งดีและไม่ดี แต่เราต้องรู้สึกดีก่อน เราถึงจะทำนะ”

“เหมือนตอนที่เลิกบริษัทตัวเอง” แล้วสัญญาก็อธิบายให้ฟังตามข้างต้น และเขาก็สำทับว่า “ตอนที่เลิกบริษัท ไม่รู้สึกเสียใจเลย ธรรมดามาก คือ เราเข้าใจมัน เพราะไม่มีอะไรเป็นของเรา”

“จะว่าไปแล้ว การที่ไม่ได้เป็นเจ้าของบริษัท มีภาระโน่นนี่ แล้วพอทิ้งตรงนั้นไปได้ มาเป็นพิธีกรรับจ้างอย่างเดียว ก็รู้สึกได้เลยว่าความรับผิดชอบน้อยลง ภาระบนบ่ามันหายไปเลย”

ซึ่งใครที่รู้จักดู๋ จะเข้าใจในสิ่งที่เขาพูดได้ดี เพราะเขาเป็นคนชัดเจนว่าเขาทำอะไรอยู่ ต้องการอะไร หากอะไรที่ยังคลุมเครือเขาก็จะไม่ยอมทำ จนกว่าจะได้คำตอบที่ชัดเจนเสียก่อน

เมื่อชัดเจนแล้ว ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้น ก็เข้าใจ และยอมรับได้

ซึ่งเมื่อย้อนไปถึงเรื่องการตัดสินใจทำอะไรหรือไม่ทำอะไร เขาให้ความเห็นว่า อย่าไปคาดหวังกับสิ่งที่เราตัดสินใจทำมากเกินไป อย่าคิดว่าตัวเองยิ่งใหญ่ ล้มไม่ได้ อ่อนแอไม่ได้ อย่าเครียดกับมันมาก สิ่งที่เราตัดสินใจทำถ้ามันจะล้มเหลว มันก็จะผ่านไป มาแล้วก็ไป ในโลกนี้มีอะไรเกิดขึ้นมากมาย เรื่องของเราไม่ใช่เรื่องใหญ่เลย

 

จากเรื่องที่มาจากตัวตนข้างในของสัญญา นารากรก็เปิดคำถามที่เป็นวงกว้างในระดับสังคมมากขึ้น

“ทำไมเวลาที่มีเหตุการณ์อะไร แล้วมีคนออกมาแสดงความคิดเห็นกัน ไม่เคยเห็นคุณสัญญาออกความคิดเห็นอะไรบ้างเลย”

สัญญาตอบว่าเวลาที่เขาคิดจะแสดงความคิดเห็นในเรื่องอะไรนั้น เขาจะดูสองเรื่อง

“หนึ่ง เรามีความรู้มากพอที่จะพูดเรื่องนั้นไหม”

“สอง ถ้าเราพูดออกไปแล้วมีประโยชน์กับใครไหม มีใครฟังไหม”

ถ้าไม่มีสองอย่างนี้ก็จะไม่พูดดีกว่า และสัญญาก็ย้อนถามนารากรว่า เวลาที่คนเราออกความเห็นอะไรไป จะมีอยู่สองอย่างที่เกิดตามมา คือ

“หนึ่ง มีคนเห็นด้วย กับสอง มีคนด่า แล้วต๊ะคิดว่าอันไหนมากกว่ากัน”

“คนด่า อ้อ ต๊ะได้คำตอบแล้ว” นารากรตอบยิ้มๆ

ส่วนคำถามที่ตรงกับความเป็นไปในโลกตอนนี้ ที่เหมือนว่าคนเรานิยมก่นด่า ตำหนิติเตียนกันได้ทุกเรื่อง นารากรถามสัญญาว่า

“ถ้ามีคนมาโพสต์ในโลกโซเชียลว่าสัญญายังงั้นยังงี้ พี่จะรับมือกับเรื่องนี้ยังไง”

สัญญาตอบว่า ก่อนอื่นยอมรับว่ารู้สึกกับสิ่งที่อ่าน แต่ก็จะหลีกเลี่ยง ไม่ไปตอบโต้ และพิจารณาในสิ่งที่เขาวิจารณ์อย่างเที่ยงธรรม โดยยกเอาอารมณ์ออกไป ไม่เข้าข้างตัวเอง

“ถ้ามันเป็นจริงตามที่เขากล่าวหาก็ขอโทษ และแก้ไขมันให้ดีขึ้น แต่ถ้ามันไม่จริง ก็ไม่ต้องไปสนใจมัน ไม่ต้องไปตอบโต้อะไร”

 

แล้วก็มาถึงคำถามที่คำตอบของสัญญาน่าจะโดนใจใครหลายๆ คน

“เหตุการณ์ตอนไหนในชีวิตที่เราได้เรียนรู้จากมันบ้าง”

สัญญาคิดสักครู่ก็ตอบว่า

“ครั้งหนึ่งที่ตัวเองเกิดอุบัติเหตุ กระดูกคอร้าวจนต้องใส่คอลลาร์ที่คอ นอนนิ่งๆ อยู่บนเตียง ไม่ได้ขยับไปไหน เพราะต้องให้กระดูกคอมันหายดีก่อน”

“ทุกวันนี้ เวลาที่เราจะออกไปวิ่งออกกำลังกายแล้วเราขี้เกียจ เราจะนึกย้อนไปถึงตอนนั้น ตอนที่ต้องนอนมองเพดานอยู่อย่างนั้นเป็นอาทิตย์ๆ แล้วก็คิดว่าอยากเดินจังเลย คิดว่าถ้าเราได้เดินคงมีความสุขมาก ทั้งๆ ที่แต่ก่อนเวลาเราเดิน เราวิ่งออกกำลัง เราจะเฉยๆ กับมัน แต่วันหนึ่งที่เราสูญเสียมันไป เราจะเห็นค่าของมัน”

“คนเราสำคัญที่จิต ตอนที่เราอยู่ตรงนี้ จิตมันก็จะคอยคิดว่าไม่ดีพอ แล้วมองขึ้นไปสูงๆ เพื่อจะตะกายขึ้นไป แต่ถ้าวันหนึ่งเราตกลงมาจากที่เราอยู่ เราจะรู้สึกว่าจุดที่เราเคยอยู่แบบธรรมดาๆ นั้นมันวิเศษมาก จากที่เคยนั่ง แล้วนั่งไม่ได้ การนั่งได้มันจะมีความสุขมาก”

“ทุกอย่างมันอยู่ที่ใจเราจะคิดจริงๆ”

 

และคำถามสุดท้ายของรายการวันนั้น นารากรถามว่า “เราจะได้เห็นสัญญา คุณากร ทำงานพิธีกรไปอีกนานแค่ไหน”

คำตอบของสัญญาคือ

“ตอบไม่ได้ คือ ที่เราทำงานอยู่นี้ ยอมรับว่าเพื่อเลี้ยงชีพ แต่อีกส่วนหนึ่งคือเรารู้สึกว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ทำให้เรามีคุณค่า หากวันหนึ่งข้างหน้าที่เรายังเห็นคุณค่าของงานที่เราทำ แม้จะไม่ได้ค่าตอบแทน เราก็ยินดีที่จะทำ”

สัญญา คุณากร ทำงานในวงการมาร่วม 30 ปีกว่าแล้ว ความเป็นเขา วิธีคิดของเขา และความสามารถของเขา เราเชื่อว่าเขาจะยังสามารถทำงานที่เขารักนี้ได้อีกนาน

และเราก็อยากเห็นอย่างนั้นจริงๆ