หลังเลนส์ในดงลึก : ‘ยอมรับ’ / ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
เสือดาว - เสือดาวกับเสือโคร่ง พวกมันใช้พื้นที่ร่วมกันได้ เพราะเหยื่อต่างกัน แต่หลายครั้งที่เสือดาวแอบเข้ามากินซากที่เสือโคร่งล่า บางครั้งการละเมิดนี้ต้องชดใช้ด้วยชีวิต

 

‘ยอมรับ’

 

…อยู่ในป่าที่มีระบบการสื่อสารทางวิทยุค่อนข้างครอบคลุมทั่วพื้นที่ มีสถานีแม่ข่ายซึ่งมีเจ้าหน้าที่ประจำ อย่างในป่าด้านตะวันตกนั้น ช่วยให้การทำงานของคนในป่าสะดวกขึ้น

รายงานแจ้งเหตุ ขอความช่วยเหลือ รวมทั้งข่าวสารต่างๆ และที่สำคัญ ในวันล็อตเตอรี่ออก การแจ้งข่าวนี้ เจ้าหน้าที่ประจำสถานีแม่ข่ายจะบอกอ้อมๆ เป็นที่รู้กัน

ราวๆ 7 โมงในตอนเช้า เมื่อเปิดสถานีแล้ว แม่ข่ายจะให้หน่วยต่างๆ แจ้งความชัดเจนของการรับสัญญาณ รายงานปริมาณน้ำฝน, อุณหภูมิ และกำลังพลในหน่วยว่าอยู่ครบไหม ใครลาบ้าง

สถานีแม่ข่ายซึ่งอยู่บนเขาสูง 1,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล จะแจ้งอุณหภูมิที่สถานีด้วย ที่นั่นไม่มีฤดูร้อน อุณหภูมิอยู่ที่ 10 กว่าองศาเซลเซียส และเหลือเลขตัวเดียวในช่วงฤดูหนาว

เจ้าหน้าที่ประจำที่นี่ต้องรักสันโดษ อยู่ลำพังในห้องแคบๆ ถูกห่อหุ้มด้วยความหนาวเย็น

 

เดือนมิถุนายน

ทุกหน่วยรายงานปริมาณน้ำฝนที่ค่อนข้างมากเหมือนๆ กัน เพราะเป็นช่วงเวลาที่ฤดูฝนอย่างจริงจังเดินทางมาถึงแล้ว

เช้านี้ เสียงรถยนต์ติดเครื่องตั้งแต่สถานีแม่ข่ายยังทดสอบสัญญาณไม่เสร็จ

ผู้ช่วยนักวิจัยรีบเร่งออกไปตรวจสอบซากกวางที่เสือโคร่งฆ่าไว้ ซากอยู่ไม่ไกลจากแนวเขตป่า นี่เป็นกวางตัวที่สองที่เสือตัวนี้ล่าได้ในรอบหนึ่งเดือน

นักวิจัยพบว่า มันเป็นเสือตัวผู้อาวุโส ที่ถูกเบียดออกมาจากพื้นที่เดิม มาอาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้ๆ แนวเขต ไม่ไกลจากพื้นที่ทำการเกษตรของคนนัก

นี่คือช่วงเวลายากลำบากช่วงที่สองในชีวิตของเสือ ช่วงแรกเป็นเวลาที่อายุครบสองปี มันต้องแยกจากแม่ ออกมาใช้ชีวิตลำพัง แสวงหาพื้นที่ของตัวเอง ไปอยู่ที่กันดาร รอเวลาให้เข้มแข็งและมีประสบการณ์เพียงพอ จึงจะสามารถเข้าไปยึดครองพื้นที่ดีๆ และเบียดเจ้าของถิ่นออกไป

ครองพื้นที่ กระทั่งวันหนึ่ง ก็จะมีเสือที่เข้มแข็งกว่ามาเบียดมันออกไป

ความลำบากช่วงแรก ไม่ง่าย แต่ดูเหมือนในช่วงที่สองจะยุ่งยากเสียยิ่งกว่า เพราะคราวนี้ต้องออกไปอยู่ในที่กันดาร พร้อมวัยอันโรยรา

นี่เป็นวิถีของเสือ เป็นวิถีซึ่งพวกมันยอมรับ…

 

ถึงเดือนมิถุนายนปีนั้น เป็นเวลากว่า 2 ปีแล้วที่นกเงือกหลายตัวถูกจับติดเครื่องส่งวิทยุ เพื่อศึกษาการใช้พื้นที่ของพวกมัน

การตรวจสอบสัญญาณที่ทำอย่างเข้มข้น ผ่อนคลายลง พลังงานในวิทยุหลายตัวเริ่มหมด เมื่อพลังงานหมด อีกไม่ช้าเชือกที่ผูกติดวิทยุก็จะขาด วิทยุหลุดจากตัวนก

นักวิจัยซึ่งขึ้นไปตั้งสถานีรับ อยู่บนสันเขาสูงๆ เปลี่ยนมาเป็นการเฝ้าดูเหล่านกเงือกเลี้ยงดูลูก เก็บข้อมูลพืชและสัตว์ ที่พ่อนกนำมาให้แม่และลูกนกในโพรง

ฤดูฝนจริงจังมาถึงผืนป่า คือช่วงเวลาที่เหล่าลูกนกเงือกทยอยออกจากโพรง

 

ลูกนกเงือกอยู่กับพ่อ-แม่ในระยะเวลาหนึ่ง จนถึงเวลาที่พ่อ-แม่วางไข่อีกครั้ง พวกมันจะไปรวมตัวกันเป็นกลุ่มนกวัยรุ่น

ในช่วงปลายๆ ฤดูฝน พ่อ-แม่จะพาพวกมันไปรวมฝูงเป็นฝูงใหญ่ คล้ายจะพาไปแนะนำให้รู้จักกับนกตัวอื่นๆ

พ่อ-แม่มักกลับไปใช้โพรงเก่า หากโพรงไม่ชำรุดไปเสียก่อน ในสถานการณ์ที่ต้นไม้ใหญ่ที่มีโพรงอันเหมาะสม เหลือไม่มาก การถูกแย่งโพรงไปใช้ก็เป็นไปได้

โพรงที่นกเงือกใช้เกิดขึ้นเพราะไส้ในของต้นไม้ต้นนั้นไม่สมบูรณ์แล้ว เมื่อใช้หลายปี โพรงอาจชำรุด เช่น ทรุดต่ำลงเกินกว่าแม่จะรับอาหารจากพ่อนกได้ การป้อนอาหารของนกเงือกใช้วิธีปากต่อปาก

นอกจากโพรงทรุดต่ำ โพรงอาจรั่วน้ำฝนเข้าได้ บางทีปากโพรงลื่น พ่อนกเกาะไม่อยู่

ชีวิตพวกมันดำเนินมาเช่นนี้ เป็นวิถีที่พวกมันยอมรับ…

 

การวางแปลงในป่าเพื่อตรวจสอบความเป็นไปของต้นไม้ ซึ่งเป็นพืชอาหารนก สิ่งหนึ่งที่นักวิจัยพบ คือพืชอาหารมักขึ้นเป็นกลุ่มๆ จากที่นกขี้ลงมา เมล็ดพืชได้รับการบ่มเพาะ งอก และเติบโตขึ้นเป็นไม้ใหญ่ เป็นป่าทึบหนาแน่น

งานแพร่กระจายพันธุ์ของนกเงือกได้ผลดียิ่ง

ลูกนกออกจากโพรง งานหนักพ่อนกและแม่นกซึ่งต้องอุดอู้อยู่ในโพรงแคบๆ จบลงอีกครั้ง

พวกมันมีเวลารื่นเริงบ้าง การไปอยู่รวมฝูงในหุบหลายร้อยตัว ขณะบินเสียงปีกแหวกอากาศ ดังราวกับพายุ

ลูกๆ ใช้เวลานี้ฝึกฝนเรียนรู้วิถีการดำเนินชีวิต

 

นักวิจัยตั้งกล้องดักถ่ายไว้ที่ซากวัวแดง ภาพแสดงให้เห็นวิธีที่เสือกินไม่รีบร้อน มูมมาม มันค่อยๆ กัด มองรอบๆ อย่างระมัดระวัง

เมื่อซากเริ่มเน่า หมีควายแอบเข้ามาขอส่วนแบ่ง

เหยื่อที่สิ้นใจเพราะคมเขี้ยว เป็นเวลาที่งานเลี้ยงเริ่มต้น

 

ช่วงเวลาอันยากลำบากของเสือ ทั้งในช่วงแรกและช่วงที่สองนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างแน่นอน

แต่ดูเหมือนว่า ในช่วงเวลาอันเข้มแข็ง เบียดเจ้าของถิ่นออกไปได้ เข้ายึดอาณาเขตแทน นั่นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน ต้องเดินตรวจตราอาณาเขต เฝ้าระวัง อยู่กับความรู้สึกที่รู้ดีว่า วันหนึ่งเมื่ออ่อนล้าลง จะถูกเสือที่เข้มแข็งกว่าเบียดออกไป

เหมือนอย่างที่มันกระทำ

ต้องออกจากอาณาเขต ไม่ใช่เรื่องง่าย

และการแสวงหาอาณาเขตใหม่ ก็ดูจะยากไม่น้อย

พวกมันสอนผมอย่างหนึ่ง

บางสิ่งนั้น เราจำต้อง “ยอมรับ” แม้ว่าปฏิเสธ คือสิ่งที่อยากทำ

สำหรับสัตว์ป่า วิถีชีวิตพวกมันดำเนินมาเช่นนี้เนิ่นนานแล้ว…