‘เลื่อนเปิดเทอม’ ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ลองดูทฤษฎีใหม่ Classrooms Without Walls/บทความพิเศษ จักรกฤษณ์ สิริริน

บทความพิเศษ

จักรกฤษณ์ สิริริน

 

‘เลื่อนเปิดเทอม’

ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน

ลองดูทฤษฎีใหม่ Classrooms Without Walls

 

ผมพยายามเสนอแนวทางแก้ปัญหาการบริหารจัดการสถานศึกษาในยุค COVID-19 ที่ตอนนี้เข้ามากลางปี 2021 แล้ว สถานการณ์ COVID ก็ยังไม่ดีขึ้น

ใน “มติชนสุดสัปดาห์” แห่งนี้ ผมเสนอบทความ “จาก Cabin Fever ถึง Temporary Home School ทางออกกระทรวงศึกษาธิการ ยุค COVID ปิดโรงเรียน”

เนื้อหาพูดถึงแนวคิดใหม่ในการทำ “Home School แบบชั่วคราว” ที่ทำไปทำมา Home School กำลังจะกลายเป็น “แบบกึ่งถาวร” เพราะ COVID ยังไม่ไปไหน

Temporary Home School คือการผสมผสานรูปแบบ Home School ดั้งเดิม เข้ากับการนำระบบ IT มาปรับใช้ เพื่อเติมเต็มช่องว่างของการจัดการศึกษา

อีกแนวคิดหนึ่งซึ่งตีคู่กันมากับ Temporary Home School ในยุค COVID-19 ก็คือ Hybrid Home School หรือการผสมผสานระหว่าง Home School กับ “โรงเรียน”

Dr. Michael McShane ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทางการศึกษาของสหรัฐอเมริกา ชี้ว่า Hybrid Home School จะมาเติมเต็มช่องว่าง และถมจุดอ่อนของ Home School

“ข้อด้อยของการทำ Home School ในปัจจุบันก็คือ แม้พ่อ-แม่จำนวนมากอยากทำ Home School แต่ก็ไม่มีเวลามากพอ เนื่องจากพ่อ-แม่ยุคใหม่ส่วนใหญ่ต้องทำงานนอกบ้าน”

“แม้จะคุ้นเคยกับ Work from Home แต่เชื่อว่า หลายคนไม่ค่อยมั่นใจในความรู้ของตน ว่าจะสามารถสอนหนังสือให้กับลูกเองได้” Dr. Michael McShane กระชุ่น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ปัญหาโลกแตก” ที่กลัวกันว่า “เด็ก Home School จะเข้าสังคมไม่เป็น” เพราะพวกเขา “เรียนจากที่บ้าน” พวกเขา “ไม่ได้ไปเจอเพื่อนที่โรงเรียน”

Hybrid Home School กำหนดให้ใน 1 สัปดาห์ เด็กจะไปโรงเรียนไม่เกิน 3 วัน อีก 2 วันคือการเรียนกับผู้ปกครองที่บ้าน และอีก 2 วันไปทัศนศึกษาตามแหล่งเรียนรู้ต่างๆ

หัวใจสำคัญของ Hybrid Home School ก็คือ “การจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสาน” หรือ Blended Learning ที่เป็นแนวคิดใหม่ในการบริหารการศึกษา

ไม่ว่าจะระหว่างห้องเรียนแบบ Lecture-Based Learning กับการเรียนการสอนผ่านระบบ Online-Based Learning หรือระหว่าง Homeschool กับ School ล้วนๆ

“ข้อดีของ Hybrid Home School ก็คือ พ่อ-แม่สามารถเฉลี่ยเวลาอยู่กับลูกได้ดีขึ้น โดยโรงเรียนจะจัดผู้เชี่ยวชาญให้สอนเสริมในรายวิชาที่พ่อ-แม่ไม่ถนัด” Dr. Michael McShane สำทับ

ดังนั้น “ปัญหาโลกแตก” ที่กลัวกันว่า “เด็ก Home School จะเข้าสังคมไม่เป็น” ก็คงจะหมดไป เพราะพวกเขา “ได้ไปโรงเรียน” เพื่อ “ร่วมกิจกรรมกับเพื่อนๆ อย่างน้อย 3 วัน”

 

ไม่ว่าจะเป็น Temporary Home School หรือ Hybrid Home School ต่างก็เป็นมาตรการใหม่ที่เกิดขึ้นมาเพื่อรองรับการสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19

โดยทั้ง Temporary Home School และทั้ง Hybrid Home School ถือเป็นส่วนหนึ่งในแนวคิด-ทฤษฎีใหม่ในการบริหารการศึกษา นั่นคือ Classrooms Without Walls

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากที่กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดให้มีการ “เลื่อนเปิดเทอม” ในปีนี้ ที่ “เลื่อนมาแล้ว 2 ครั้ง” จาก 17 พฤษภาคม เป็น 1 มิถุนายน และจาก 1 มิถุนายน เป็น 14 มิถุนายน

เสียงบ่นมากมายจากพ่อแม่-ผู้ปกครองตามมาทันที อาทิ 1.จ่ายค่าเทอมแล้วไม่เปิดเทอม 2.จ่ายค่าเทอมแล้วแต่ผู้ปกครองต้องรับบทครูที่บ้าน 3.ค่าเทอมไม่ลด-ไม่มีส่วนลด

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 4.เรียนออนไลน์ ค่าเน็ต-ค่าไฟ-ค่าแอร์บ้านพุ่ง ยิ่ง “เลื่อนเปิดเทอม” หรือ “เปิดเทอมทิพย์” แบบนี้ เสียงบ่นจากพ่อแม่-ผู้ปกครองก็จะยิ่งดังกระหึ่ม

แม้ผมจะเข้าใจสภาพปัญหา และข้อจำกัดมากมายที่กระทรวงศึกษาธิการกำลังเผชิญอยู่ แต่ผมคิดว่า การ “เลื่อนเปิดเทอม” ไปเรื่อยๆ ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนนะครับ

 

หากย้อนกลับไปพิจารณาแนวคิด Temporary Home School และ Hybrid Home School ข้างต้น ที่ถือเป็นส่วนหนึ่งในทฤษฎีที่น่าสนใจนั่นคือ Classrooms Without Walls

Classrooms Without Walls ผมให้ความหมายว่าเป็น “โรงเรียนที่ไม่มีห้อง” แปลว่า การเรียนรู้นั้น ไม่ควรถูกจำกัดอยู่แค่ใน “ตำรา” หรือใน “ห้องเรียน” แต่เพียงอย่างเดียว

Classrooms Without Walls เป็นการขยายขอบเขตการเรียนรู้ จากสภาพแวดล้อมแบบ “ห้องเรียน” ไปสู่สภาพแวดล้อมใหม่ที่กว้างใหญ่กว่าเดิม นั่นก็คือการเรียน “นอกห้องเรียน”

สลายสภาพแวดล้อมการเรียนรู้แบบกายภาพ (Physical Learning Environment) หรือแบบ “ห้องเรียนดั้งเดิม” ซึ่งถือว่าเป็น “การจัดการเรียนการสอนแบบศตวรรษที่ 20”

มาสู่การจัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้แบบเสมือนจริง (Virtual Learning Environment) ตรงตามแนวคิดใหม่ใน “การจัดการเรียนการสอนแบบศตวรรษที่ 21”

 

Classrooms Without Walls เป็น “การเรียนรู้ร่วมกัน” แบบ “ไม่มีห้องเรียน” ดังนั้น จึงไม่เกิดความแออัด ลดการแพร่เชื้อโรค COVID-19 หรือเชื้อโรคอื่นๆ ในอนาคต

Classrooms Without Walls ถือเป็นการจุดประกายความคิดใหม่ สลายแนวคิดเดิมเกี่ยวกับการคงสภาพ “ห้องเรียน” หรือ “โรงเรียน” ที่ไม่ตอบโจทย์โรคระบาดอย่าง COVID

เปลี่ยนกระบวนทัศน์ มุมมองที่มีต่อ “โรงเรียน” และ “ห้องเรียน” แบบเก่า เลิกยึดติดกับ “สถานที่” หรือ “พื้นที่” ในการจัดการเรียนรู้ เด็กไม่ต้องมารวมตัวกัน ลดอัตราแพร่เชื้อ

เพราะสถานการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้นครั้งนี้ คงไม่จบแค่ COVID-19 เพราะ Virus จะกลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ หลายคนมองว่าสภาวะโลกร้อน จะทำให้มีโรคระบาดใหม่ๆ ตามมาอีก

 

ลองดูมาตรการของกระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบันจำนวน 5 รูปแบบ หรือ 5 On อันประกอบไปด้วย 1.On-Air 2.Online 3.On-Demand 4.On-Hand และ 5.On-Site

จะเห็นได้ว่ามี On-Site เพียงมาตรการเดียวที่ให้ “เรียนในห้องเรียน” ที่เหลือ On-Air, Online, On-Demand และ On-Hand ตรงกับแนวคิด Classrooms Without Walls

Classrooms Without Walls สามารถคัดสรรผู้เชี่ยวชาญตัวจริงในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ มาจัดทำ Course สอนแบบ Online นักเรียนย่อมได้ประโยชน์อย่างเต็มที่

แก้ปัญหาไม่มีครูในสาขาที่ขาดแคลน นักเรียนทั่วประเทศได้เรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะอยู่เตรียมฯ อยู่สาธิตฯ อยู่ปอเนาะ อยู่โรงเรียนคริสต์ หรืออยู่หลังเขา

ลดงบประมาณของกระทรวงศึกษาฯ เพราะเกิดการแบ่งปันทรัพยากรร่วมกันทั่วประเทศ ใช้มาตรฐานหลักสูตรเดียวกัน สื่อคุณภาพเดียวกัน จัดกิจกรรมการเรียนรู้เหมือนกัน

Classrooms Without Walls จะทำให้นักเรียนสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้ทุกสถานที่-ทุกเวลา-ทุกรูปแบบ เปิดโอกาสให้นักเรียนสามารถบูรณาการความรู้ และเรียนรู้ได้อย่างอิสระ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักเรียนสามารถศึกษาหาความรู้ได้ทั้ง “เชิงลึก” ตามความสนใจของแต่ละคน และเรียนรู้ “เชิงกว้าง” ผ่านเครื่องมือสมัยใหม่ นั่นคือนวัตกรรมการศึกษา

Classrooms Without Walls ช่วยกระตุ้นให้เกิด “การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง” หรือ Lifelong Learning และ “การเรียนรู้ตลอดชีวิต” หรือ Lifelong Education อย่างแท้จริง

การ “เลื่อนเปิดเทอม” ไปเรื่อยๆ ถามว่า จะเปิดโรงเรียนเต็มที่ได้เมื่อใด และเปิดแบบไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อคำถามที่ว่า “บทบาทโรงเรียนในอนาคตคืออะไรกันแน่?”

เพราะทุกวันนี้ นับวันเด็กยิ่งน้อยลงเรื่อยๆ ต่อไปโรงเรียนจะสอนใคร เมื่อเด็กน้อยลง จำเป็นต้องเหลือครูกี่คน และผู้บริหารโรงเรียน หรือผู้บริหารเขต ยังจำเป็นอยู่ไหม?

Classrooms Without Walls จึงน่าสนใจในยุค Self-Directed Learning ที่เน้นการเรียนรู้ด้วยตนเองในศตวรรษที่ 21 และไม่ควรบริหารสถานศึกษาแบบศตวรรษที่ 20!