การศึกษา/5 ปีร่าง พ.ร.บ.การศึกษาชาติ สะท้อนความจริงใจรัฐบาล

การศึกษา

5 ปีร่าง พ.ร.บ.การศึกษาชาติ

สะท้อนความจริงใจรัฐบาล

ดูท่าจะไม่จบง่ายๆ แม้จะผ่านมานานกว่า 5 ปี แต่ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ซึ่งเป็นเหมือนยุทธศาสตร์ด้านการศึกษากลับยังไม่คลอดออกมาง่ายๆ ทั้งที่เป็นกฎหมายสำคัญของประเทศ…

หลังถูกคัดออกจากสารบบการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาเมื่อกลางปี 2563 เหตุเพราะเป็นร่างกฎหมายที่ไม่มีการเสนอความเห็นเข้ามาตามเวลาที่กำหนด จึงถูกส่งกลับให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รวบรวมความคิดเห็นใหม่

ก่อนวนกลับสู่กระบวนการเดิม!!

ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไฟเขียวแก้ไข 3 ประเด็นร้อนซึ่งเครือข่ายและองค์กรครูออกมาคัดค้านทั้งการกำหนดให้วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง การกำหนดตำแหน่งหัวหน้าสถานศึกษา แทนผู้บริหารสถานศึกษา และเปลี่ยนชื่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเป็นใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู โดยให้ปรับกลับมาใช้คำเรียกตามเดิม

หวังสยบเสียงค้าน ที่ส่อเค้าว่าจะลุกลาม แต่ปัญหาไม่ได้จบเพียงเท่านั้น ยังมีประเด็นเชื่อมโยงที่มีปัญหาอีกหลายมาตรา…

 

นายสมบัติ นพรัก คณบดีวิทยาลัยการศึกษา มหาวิทยาลัยพะเยา ประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) มองว่า แม้ ครม.จะอนุมัติให้ปรับแก้ 3 ประเด็นดังกล่าวแล้ว แต่ก็ยังมีปัญหา เพราะต้องดูความเชื่อมโยงกับมาตราอื่นด้วย อาทิ เมื่อแก้เป็นผู้บริหารสถานศึกษาแล้วจะให้มีใบอนุญาตฯ หรือไม่ หรือกรณีให้ครูมีใบอนุญาตฯ แต่คุรุสภาไม่มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดมาตรฐานคุณวุฒิ แล้วจะเป็นผู้ออกใบอนุญาตฯ ได้อย่างไร

เมื่อศึกษารายละเอียดแล้วพบว่าร่างกฎหมายฉบับนี้มีปัญหาหลายประการ ทั้งลดความสำคัญของการจัดการศึกษาของภาครัฐ ไม่กำหนดการศึกษาภาคบังคับให้ชัดเจน ลดความสำคัญขององค์หลักในการจัดการศึกษา การควบคุมคุณภาพการศึกษา การกำกับคุณภาพการศึกษา เช่น หน่วยงานรับผิดชอบระดับสำนักงาน หน่วยงานบริหารงานบุคลากร (ก.ค.ศ.) และคุรุสภา เป็นต้น

“กฎหมายการศึกษาฉบับนี้ยังเอื้อผลประโยชน์ให้ภาคเอกชนทั้งทางตรงและทางอ้อมอยู่ในหลายมาตรา อาทิ มาตรา 12 รัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องจัดการศึกษาให้ผู้เรียนโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายรวม 18 ปี ขณะที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ บัญญัติไว้ในมาตรา 54 รัฐต้องดําเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย จึงเท่ากับว่า พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติขัดกับรัฐธรรมนูญในด้านการจัดการศึกษาโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย โดยกำหนดมากกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด 6 ปี”

“มาตรา 11(4) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่จัดการศึกษา เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมอบหมายให้เอกชนเข้าบริหารจัดการหรือดำเนินการ โดยใช้ทรัพยากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ได้ และมาตรา 11(5) รัฐมีหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน ช่วยเหลือและอุดหนุนการจัดการศึกษา โดยรัฐจะมอบหมายให้เอกชนเข้าบริหารจัดการหรือดําเนินการโดยใช้ทรัพยากรของรัฐก็ได้ คำถามคือ ทำไมถึงออกกฎหมายให้ ‘องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และรัฐ’ จะมอบหมายให้เอกชนเข้าบริหารจัดการหรือดําเนินการโดยใช้ทรัพยากรของรัฐก็ได้นั้น เป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนหรือไม่ และแบบนี้ถือเป็นการออกกฎหมายให้เกิดการทุจริตเชิงนโยบายหรือไม่” นายสมบัติกล่าว

ยังไม่นับรวมอีกหลายมาตราที่สร้างความกังวลให้กับสังคม

เป็นเหตุผลที่ ส.ค.ศ.ท.ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เพื่อพิจารณาอย่าทำผิดกฎหมาย ด้วยการเสนอร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร…

 

ขณะที่นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) มองต่างมุมว่า ข้อเรียกร้องของกลุ่มคัดค้านไม่พูดถึงคุณภาพการศึกษา ทั้งๆ ที่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่เน้นเรื่องคุณภาพผู้เรียนและครู แบบที่ พ.ร.บ.การศึกษาฯ พ.ศ.2542 ไม่เคยพูดถึง เช่น มาตรา 8 กำหนดสมรรถนะเด็กตามช่วงวัยไว้ชัดเจน มาตรา 14 การจัดการศึกษาต้องอยู่บนพื้นฐานของ 12 ข้อ ที่เน้นเรื่องสถานศึกษาและครู และต้องมีมาตราการป้องกันมิให้หน่วยงานของรัฐสั่งการ หรือมอบหมายกิจกรรม หรือโครงการใดๆ ที่ทำให้ครูไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่หลักได้ หรือทำให้ผู้เรียนไม่มีเวลาพอในการเรียน

มาตรา 25 ความเป็นอิสระของสถานศึกษาของรัฐ ต้องให้เกิดผลอย่างน้อย 4 ด้าน และกำหนดแตกต่างกันได้สำหรับสถานศึกษาแต่ละระดับ หรือแต่ละขนาด ที่มีความพร้อมแตกต่างกัน มาตรา 27 และ 28 กำหนดเงินรายได้สถานศึกษาไม่ต้องส่งคลัง และสัดส่วนการใช้เงินสถานศึกษา ให้บุคลากรทั้งหมดของสถานศึกษาร่วมกันกำหนด มาตรา 34 ครูต้องมีคุณลักษณะทั่วไปอย่างไร 7 ข้อ และครูที่ใช้ตำแหน่งหน้าที่ทุจริต หรือให้ผู้เรียนกระทำการในทางเพศ ให้ถือว่าครูผู้นั้นประพฤติชั่วร้ายแรง แต่ใน พ.ร.บ.เดิม มาตรา 52 พูดเพียงการพัฒนาครู การผลิตครู บุคลากรการศึกษา ให้มีคุณภาพและมาตรฐาน แต่ไม่ได้กำหนดคุณลักษณะครูที่ชัดเจนแบบร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่

“ผมคิดว่าอยากจะเรียกชื่อผู้บริหารสถานศึกษา ก็เรียกไปเถอะ ในร่าง พ.ร.บ.ใช้หัวหน้าสถานศึกษาและเรียกชื่ออื่นได้ตามแต่จะออกกฎหมาย อยากเรียกครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง แล้วคิดว่าถ้าไม่ใช่วิชาชีพชั้นสูง เป็นการลดศักดิ์ศรีครู ก็ปล่อยให้เรียกไปเถอะ แต่ ศธ.ต้องเน้นความรับผิดชอบสูง ด้วยการออกประกาศ ข้อบังคับ ที่กำจัดครู ผู้บริหาร บุคลากรการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพ ไม่มีคุณธรรม ไม่มีจริยธรรม ทั้งทุจริต ชู้สาว เมา หรือทิ้งโรงเรียน ออกไปให้ได้อย่างรวดเร็ว ไม่ใช่อย่างปัจจุบันที่ทำได้ช้ามาก และบางแห่งยังช่วยเหลือปกปิด ดังนั้น จึงคิดว่าใครอยากจะเรียกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูแทนใบรับรองการประกอบวิชาชีพครูก็เรียกไป แต่ขอให้ครูไม่ต้องเป็นภาระต่อใบประกอบวิชาชีพทุก 5 ปี ก็ช่วยครูได้มาก ขออย่าทำลายหลักการของการออกแบบ พ.ร.บ.ใหม่ตามแนวคิด ข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ซึ่งไม่ใช่ร่างของรัฐบาล” นายเอกชัยกล่าว

จากนี้แม่งานหลักอย่างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) คงต้องเร่งระดมสมอง เคลียร์ปัญหากฎหมายการศึกษาฉบับนี้ให้ลงตัว เพื่อประโยชน์ของครู ผู้เรียนและบุคลากรทางการศึกษาอย่างแท้จริง

อย่าให้สุดท้ายกฎหมายฉบับนี้ต้องตกเป็นเครื่องมือ เอื้อประโยชน์ให้กับเหลือบไรการศึกษา อย่างที่หลายฝ่ายกังวล…

เพราะทั้งหมดจะสะท้อนความจริงใจ ปฏิรูปการศึกษา ของรัฐบาลนี้!!