วัฒนธรรม เป็นเรื่องของมนุษย์เท่านั้นหรือ/มิตรสหายเล่มหนึ่ง นิ้วกลม

นิ้วกลมfacebook.com/Roundfinger.BOOK

มิตรสหายเล่มหนึ่ง

นิ้วกลม

[email protected]

 

วัฒนธรรม

เป็นเรื่องของมนุษย์เท่านั้นหรือ

 

เส้นแบ่งที่ขีดขึ้นแล้วทำให้เห็น ‘ความเหนือชั้น’ ของเผ่าพันธุ์มนุษย์ก็คือเส้นแบ่งระหว่าง ‘วัฒนธรรม’ กับ ‘ธรรมชาติ’

ในความหมายว่าวัฒนธรรมคือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น

ส่วนธรรมชาติคือสิ่งที่เป็นไปเช่นนั้น มีอยู่มาแต่เดิมและดำเนินไปโดยมนุษย์มิได้เข้าไปดัดแปลง เมื่อยึดมนุษย์เป็นเกณฑ์

เราจึงเป็นสิ่งมีชีวิตประเภทเดียวที่สามารถ ‘สร้าง’ วัฒนธรรมขึ้นมาได้

ในความหมายดั้งเดิม คำว่า ‘วัฒนธรรม’ หมายถึงคุณลักษณะที่มีแต่ในชนชั้นสูงในยุโรปเท่านั้น ต่อมามันเริ่มถูกเกลี่ยให้กลายเป็นเรื่องของทุกหมู่เหล่า มีวัฒนธรรมไพร่ คนชายขอบ วัยรุ่น คนไร้บ้าน เพศหลากหลาย และวัฒนธรรมอื่นอีกมากมายนับไม่ถ้วน

ภาพลักษณ์ของตัวมันเองก็เปลี่ยนไป มิใช่ ‘ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม’ แบบเดิมเท่านั้น แต่ขยายความกว้างขวางไปถึงวัฒนธรรมต่างๆ ที่วิพากษ์วิจารณ์ ต่อรอง ต่อต้าน ช่วงชิงความหมายกันได้

เดี๋ยวนี้เราเข้าใจกันแล้วว่ามีวัฒนธรรมกลุ่มย่อยมากมายเต็มไปหมด

เพียงเข้าไปในยูทูบก็จะได้ฟังเพลงยอดนิยมของกลุ่มคนหลากหลาย

มีวัฒนธรรมกลุ่มนักซิ่งมอเตอร์ไซค์ วัฒนธรรมกลุ่มโอตาคุ วัฒนธรรมคอกาแฟ วัฒนธรรมสายหนังอินดี้ ฯลฯ ไล่ไม่หวาดไม่ไหว

ซึ่งมิได้มีวัฒนธรรมแม่แบบที่ทุกคนจะต้องปฏิบัติตามเพื่อความดีงามเพียงแบบเดียวอีกต่อไปแล้ว

ดูเหมือนอคติที่ใช้ ‘วัฒนธรรมอันดีงาม’ จากคนสูงส่งกว่ามาตัดสินคนอื่นจะถูกปลดล็อกไปเรียบร้อย

กระนั้นก็ยังเกิดการตั้งคำถามตามมาว่า นิยามวัฒนธรรมที่ใช้กันอยู่นั้นเป็นการมองโดยใช้ ‘มนุษย์’ เป็นศูนย์กลางจนเกินไปหรือเปล่า

เพราะความหมายที่ใช้กันอยู่ทำราวกับว่ามีเพียงมนุษย์เท่านั้นที่มีวัฒนธรรม สัตว์หรือสิ่งอื่นๆ ไม่มีวัฒนธรรมแบบที่มนุษย์มี

กลายเป็นว่ามนุษย์คือผู้สูงส่งกว่า

ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะเราเป็นผู้กำหนดเองว่ามีแต่สิ่งมีชีวิตผู้ชาญฉลาดที่สร้างภาษา เข้าใจสัญลักษณ์ และมีสังคมสลับซับซ้อนเท่านั้นที่จะสร้างระบบวิธีคิด ระบบคุณค่า ความเชื่อ และแบบแผนการปฏิบัติจนกลายเป็นวัฒนธรรม

จึงมีคนตั้งคำถามว่า คิดแบบนั้นเป็นการถือดีเกินไปหรือไม่

มันทำให้เราละเลยและไม่เคารพต่อสิ่งอื่นๆ ที่อาจเป็นส่วนสำคัญต่อการสร้างวัฒนธรรมไปหรือเปล่า

ผมได้อ่านความรู้อัพเดตมุมมองทางมานุษยวิทยาที่มีต่อวัฒนธรรมจากบทความของคุณหมอโกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ในหนังสือ ‘อยู่ดี กินดี มีสุข มิติทางสังคมและวัฒนธรรมของสุขภาพ’ ซึ่งเปิดมุมมองที่มีต่อวัฒนธรรมจนต้องลองทบทวนใหม่

บทความนี้ชี้ว่า นักมานุษยวิทยาจำนวนหนึ่งสะกิดว่าเราควรก้าวพ้นไปจากการมองที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลางด้วยการสร้างนิยามวัฒนธรรมที่ไม่สงวนไว้สำหรับมนุษย์เท่านั้น เพราะอันที่จริงแล้วมนุษย์กับสรรพสัตว์และสรรพสิ่งล้วนแล้วแต่เป็นเหตุปัจจัยผสมผสานกันอยู่ในกระบวนการสร้างสังคมและผลิตวัฒนธรรมขึ้นมา ถ้าไม่มีสิ่งอื่นเราก็ไม่สามารถสร้างวัฒนธรรมขึ้นมาได้

วัฒนธรรมจึงไม่ใช่สิ่งผูกขาดของมนุษย์

และสิ่งอื่นหรือชีวิตอื่นก็ไม่ได้อยู่นิ่งๆ เฉยๆ รอให้มนุษย์มาเป็นฝ่ายกระทำเท่านั้น พวกมันเองก็กระทำกลับไปกลับมากับมนุษย์อยู่ตลอดเวลา

งานศึกษาของดอนนา ฮาราเวย์ ชื่อ ‘When Species Meet’ ตั้งคำถามว่าเมื่อชีวิตต่างสายพันธุ์มาพบกัน มันก่อรูปความสัมพันธ์ที่อิงอาศัยกันและกันอย่างไร

ก่อนหน้านี้ สัตว์ถูกมองภายใต้กรอบคิดแบบขั้วตรงข้ามกับมนุษย์ พวกเราคือมนุษย์-พวกมันคือสัตว์ แยกขาดจากกันคนละขั้ว ทำให้เรามองว่าสัตว์เหมือน ‘วัตถุ’ ตามธรรมชาติ ไร้ความหมายเชิงสังคมและวัฒนธรรม ไร้ความเชื่อมโยงกับเรา เป็นเพียงผู้ถูกกระทำเท่านั้น

ขณะที่ฮาราเวย์มองว่า ไม่ว่าสิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตก็ตามที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์อาจมีส่วนในการ ‘เปลี่ยนแปลงกันและกัน’ (ไม่ใช่มนุษย์เป็นฝ่ายกระทำเท่านั้น แต่มนุษย์เองก็ถูกเปลี่ยนเพราะสิ่งเหล่านั้นด้วย) และยัง ‘สร้างกันและกัน’ ขึ้นมาอย่างน้อยก็บางส่วน

ตัวอย่างชวนคิดคือเรื่องสุนัขบ้าน

หากมองแบบขั้วตรงข้าม มนุษย์นี่แหละเป็นผู้เลือกเลี้ยงหมาป่าจนมันเชื่องกลายเป็นหมาบ้าน แล้วมันก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือตอบสนองวัตถุประสงค์ต่างๆ ของมนุษย์ เช่น เฝ้าบ้าน ล่าสัตว์ หมาป่าจึงเป็นตัวแทนของธรรมชาติที่ถูกคัดสรรโดยมนุษย์และถูกทำให้เชื่องเพื่อมารับใช้คน

ขณะที่เรื่องเล่าใหม่ซึ่งได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ คือ ฉากแรกของความสัมพันธ์เกิดขึ้นเมื่อหมาป่าฉวยโอกาสรุกเข้ามากินเศษซากอาหารแถวๆ ที่อยู่อาศัยของมนุษย์ จุดนั้นเองเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘ความสัมพันธ์’ ทำให้หมาป่าแยกออกเป็นสองสายพันธุ์เมื่อ 15,000-50,000 ปีก่อน

สายพันธุ์หนึ่งก็เป็นหมาป่าต่อไป อีกสายพันธุ์กลายมาเป็น ‘น้องหมา’ ที่คลอเคลียอยู่กับเราอย่างทุกวันนี้

แต่ไม่ใช่เราเท่านั้นที่เปลี่ยนหมา หมาก็เปลี่ยนเราไปด้วย!

ปฏิสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อหมาก็ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและวิถีชีวิตของมนุษย์ให้ต่างไปจากเดิมสิ้นเชิง มีการตั้งข้อสังเกตว่ามนุษย์อาจเรียนรู้การกำหนดอาณาเขตและการล่าสัตว์เป็นกลุ่มใหญ่จากการใช้ชีวิตร่วมกับหมานี่เอง

ขณะที่บางคนเสนอว่าการใช้ชีวิตร่วมกับสุนัขอาจเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้สายพันธุ์โฮโมเซเปียนส์มีข้อได้เปรียบกว่ามนุษย์สายพันธุ์อื่น จนเหลือรอดมาเพียงสายพันธุ์เดียว

หมากับคนจึงอาศัยกันและกันเพื่ออยู่รอดผ่านกาลเวลา ต่างก็ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของตนเข้าหากันและกัน และร่วมกันสร้างวัฒนธรรมในบางแง่มุมขึ้นมาด้วยกัน

ไม่ใช่คน ‘เลี้ยง’ สัตว์อยู่ฝ่ายเดียว

ทั้งสองสายพันธุ์ต่าง ‘domesticate’ กันและกัน

ได้ประโยชน์จากกัน เปลี่ยนแปลงกัน และสร้างกันและกันขึ้นมา

ทั้งสองจึงมิได้อยู่ตรงกันข้ามกันเป็นคนละขั้ว

 

เช่นนี้แล้ว เราจะยังถือว่าวัฒนธรรมมีแต่ในมนุษย์ได้อยู่จริงหรือ?

มุมมองใหม่เช่นนี้ทำให้ขั้วตรงข้ามระหว่างธรรมชาติ (nature) กับวัฒนธรรม (culture) อันตรธานหายไป พืช สัตว์ และวัตถุสิ่งของที่เคยถูกนับว่าเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม

จึงมีการใช้คำว่า ‘natureculture’ ที่เขียนติดกันซึ่งมีคนแปลไทยได้สละสลวยว่า ‘วัฒนธรรมชาติ’ เพื่อสะท้อนถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของทั้งสองสิ่งนี้

อาจารย์โกมาตรยังได้พูดถึงผลงานของฮีตเธอร์ แพกซ์สัน เรื่องชีวิตของเนยแข็ง (The Life of Cheese) ซึ่งศึกษาชีวิตชนชั้นกลางที่ออกจากเมืองไปใช้ชีวิตในชนบทชานเมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา โดยสร้างฟาร์มเลี้ยงวัวขึ้นมาเพื่อผลิตเนยแข็ง

ซึ่งนอกจากต้องดูแลวัวแล้วยังต้องดูแลชีวิตอีกหลายสายพันธุ์

ตั้งแต่เชื้อแบคทีเรียที่มากับขี้กวางซึ่งเข้ามากินหญ้าในแปลงที่ใช้เลี้ยงวัว

ต้องบำรุงรักษาสายพันธุ์ยีสต์ที่ใช้เป็นเชื้อในการทำเนยแข็งเพราะมันมีผลต่อนมวัว หากมียาปฏิชีวนะปนอยู่ในน้ำนมวัวจะทำให้จุลชีพที่จะหมักนมเป็นเนยแข็งเจริญเติบโตไม่เต็มที่

‘ชีวิตเนยแข็ง’ จึงนัวเนียอยู่กับชีวิตหลากหลายสายพันธุ์ ทั้งคน สัตว์ พืช และเชื้อโรค หากไม่เข้าใจสายสัมพันธ์ที่เกี่ยวโยงอย่างซับซ้อนภายในฟาร์ม เราก็ไม่อาจเข้าใจชีวิตของเนยแข็งได้ และถ้าไม่เข้าใจชีวิตของเนยแข็ง เราก็ไม่อาจเข้าใจชีวิตของคนทำฟาร์มโคนมเพื่อผลิตเนยแข็งได้ด้วย

เส้นแบ่งระหว่างมนุษย์กับสิ่งไม่ใช่มนุษย์จึงเลือนรางลงไปทุกที

 

นอกจากอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสุนัข บทความ ‘ดอนนา ฮาราเวย์ : วัฒนธรรมชาติกับคำถามว่าด้วยความเป็นมนุษย์’ ของภาคิน นิมมานนรวงศ์ ยังชวนคิดต่อไปอีกว่า มนุษย์ใช้งานแบคทีเรียบางชนิดเพื่อย่อยอาหารที่ลำพังแค่กระเพาะเราย่อยไม่ได้ ขณะเดียวกันแบคทีเรียบางชนิดก็ใช้ร่างกายมนุษย์เป็นสถานที่เพื่อดำรงชีพและสืบพันธุ์เพื่อรักษาสายพันธุ์ตัวเองไว้ ดังนั้น มนุษย์จึงไม่ได้เป็นมนุษย์ที่ดำรงอยู่อย่างอิสระจากสิ่งอื่นๆ โดยสมบูรณ์แบบ

มนุษย์จะถือกำเนิดและดำรงอยู่ไม่ได้หากไม่มีสายพันธุ์อื่น หรือไม่ดำรงอยู่กับสายพันธุ์อื่น

เส้นแบ่งระหว่างเรากับชีวิตอื่นอาจไม่เคยมีอยู่จริง

เส้นแบ่งระหว่างวัฒนธรรมกับธรรมชาติก็เช่นกัน

ด้วยมุมมองเช่นนี้ เราจึงมิได้ยิ่งใหญ่และเหนือกว่าอย่างที่คิดมาตลอด เราต่างเป็นมิตรสหายต่างสายพันธุ์ที่อิงอาศัยกัน ร่วมสร้าง ร่วมผลิต และมีผลต่อชีวิตของกันและกัน

 

หากมองไปที่หมากับคน สิ่งที่ทำให้เกิดการอยู่ร่วมกันได้มิใช่การควบคุมบังคับของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หากคือการสอดประสานกันและชักเย่อจนเจอจุดสมดุลของความสัมพันธ์ที่ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์

เป็นความเคารพต่อกันและกัน

มิใช่แข่งกันเพื่อเอาชนะ

เมื่อมองวัฒนธรรมและธรรมชาติในมุมใหม่ด้วยเรื่องเล่าแบบใหม่ คำถามก็คือ เราจะปฏิบัติต่อชีวิตอื่นและสิ่งอื่นให้ดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง ในเมื่อเส้นแบ่งระหว่างเรากับสรรพสิ่งถูกทลายลง และมันไม่เคยมีอยู่จริงแต่แรก

เป็นไปได้ไหมที่เราจะสร้างสัมพันธ์แบบใหม่กับสิ่งที่เราเคยขีดเส้นแบ่งว่ามันไม่ใช่ส่วนหนึ่งของมนุษย์อย่าง ‘ธรรมชาติ’ โดยเข้าใจว่าแท้จริงแล้วเรากับธรรมชาติคือสิ่งเดียวกัน

ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับสรรพสิ่งจะเป็นเช่นไร เมื่อมนุษย์มิได้เหนือกว่าสิ่งใดเลย

และไม่อาจอยู่ได้ด้วยซ้ำหากปราศจากสรรพสิ่ง