On History : ศาสนาผีบนเขาโอลิมปุส / ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
ประติมากรรมรูปฮาเดสฉุดคร่าเพอร์เซโฟเน่ (The Rape of Proserpina) สร้างขึ้นเมื่อระหว่างปี ค.ศ.1621-1622 โดยจิอัน โลเรนโซ่ เบอร์นินิ (Gian Lorenzo Bernini) ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ Gelleria Borghese ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี (ภาพจาก : Wikipedia)

 

ศาสนาผีบนเขาโอลิมปุส

 

“ฮาเดส” (Hades) เป็นที่รู้จักกันในฐานะของมหาเทพผู้ปกครองนรก ตามปกรณ์ของพวกกรีก

แต่สำหรับชาวกรีกโบราณแล้ว คำว่าฮาเดสนอกจากจะหมายถึงตัวมหาเทพเองแล้ว ยังหมายถึงตัวขุมนรกได้อีกด้วยนะครับ

ชาวกรีกเชื่อว่าเมื่อคนเราตายไปแล้วต้องข้ามแม่น้ำสติกซ์ (styx) โดยมีคนพายเรือจ้างชื่อ เครอน (Charon) เป็นผู้นำส่ง

ชาวกรีกสมัยเก่าก่อนจึงต้องใส่เหรียญเงินให้กับศพ เพื่อให้ผู้ตายนำไปจ่ายค่าจ้างให้เครอน

และเมื่อจ่ายสตางค์ครบ เครอนจะพายเรือพาไปส่งที่ปากประตูทางเข้าของ “ฮาเดส” ที่มีสุนัขสามหัว เซอร์เบอรุส (Cerberus) เฝ้าอยู่ จากนั้นก็เข้าสู่โลกของฮาเดส

ในภาษากรีกโบราณ “ฮาเดส” แปลว่า “ที่ไม่เคยพบเห็น” แสดงว่าโลกของคนตายสำหรับชาวกรีกก็คือโลกที่คนเป็นไม่เคยพบเห็นมาก่อน แต่นรกฮาเดสของกรีกที่ฟังเผินๆ อาจนึกถึงสถานที่คล้ายกับทัณฑสถาน เหมือนนรกในวัฒนธรรมอื่นๆ กลับมีสถานที่ชวนรื่นรมย์อยู่ด้วย

เพราะในฮาเดสมีทุ่งอีลีเซียม (Elysium/ Elysian field) ซึ่งเป็นสถานที่พักผ่อนอันเป็นนิรันดร์ของวีรบุรุษผู้กล้า

หน้าตาของทุ่งอีลีเซียมก็คล้ายกับอุทยานอันสุขสงบ และโดยนัยยะแล้ว “อุทยาน” หรือ “สวน” ก็คือ “สวรรค์” ดีๆ นั่นเอง

 

คําว่า “paradise” ที่แปลว่า “สวรรค์” ในภาษาอังกฤษ มีรากศัพท์มาจากคำกรีกที่ยืมคำเปอร์เซียมาอีกทอดหนึ่ง โดยอาจจะสังเกตได้ว่า ชาวมุสลิม (ซึ่งอยู่ในขอบข่ายวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกับพวกเปอร์เซีย) เมื่อสิ้นชีวิตวิญญาณจะเดินทางไปสู่สถานที่ที่เรียกว่า painidaiza แปลว่า สถานที่ปิดล้อมด้วยกำแพง

กรีกรับมาใช้พูดว่า paradeisos แต่แปลว่า park คือสวน ศัพท์คำนี้เป็นรากให้กับคำว่า paradis ในภาษาฝรั่งเศส และ paradise ในภาษาอังกฤษปัจจุบัน

จึงไม่น่าประหลาดใจอะไรเลยที่คำว่าอีลีเซียม จะเป็นที่มาของชื่อถนนที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกสายหนึ่งคือถนนฌอง เอลิเซส์ ในนครปารีส

ความเชื่อเรื่องทุ่งอีลีเซียมแสดงให้เห็นถึงเรื่องราวที่เก่าแก่มากทีเดียว เพราะผู้ที่ปกครองทุ่งแห่งนี้คือเทพเจ้าโครนัส (Cronus) เทพเจ้าแห่งกาลเวลาผู้เป็นบิดาของมหาเทพทั้งสามคือ ซุส (Zeus) โพไซดอน (Poseidon) และฮาเดส ตามความเชื่อกรีก

ตามตำนานโครนัสเป็นผู้นำของคณะเทพไททัน ผู้ปกครองสวรรค์คือเขาโอลิมปัสมาแต่เดิม จนกระทั่งพวกลูกๆ ของพระองค์ที่นำโดยมหาเทพซุส ได้พากันจับคณะเทพไททันไปขังไว้แล้วสถาปนาตนขึ้นเป็นใหญ่แทน

ทุ่งอีลีเซียมของโครนัสจึงเป็นร่องรอยให้เห็นถึง “สวรรค์” หรือโลกแห่งคนตาย ที่ดูเหมือนว่าจะแตกต่างไปจากกรณัมเรื่องฮาเดส และทัณฑสถานของพระองค์จะเกิดขึ้น (และก็ยิ่งน่าสนใจมากขึ้นเมื่อเทพแห่งกาลเวลาองค์นี้ มีเคียวไว้สำหรับคอยคร่า “ชีวิต” คนที่ถึงฆาต คือเป็นผู้ควบคุมความตาย) ในภายหลัง

 

แต่เอาเข้าจริงแล้ว การที่ตัวของ “ฮาเดส” หมายถึง “โลกของคนตาย” หรือ “นรก” เอง ก็แสดงให้เห็นถึงร่องรอยของความเชื่อที่เก่าแก่มากๆ ด้วยเช่นกัน เพราะในเทพปกรณ์ของพวกกรีกนั้น ยังมีคณะเทพอีกชุดหนึ่ง ที่เรียกกันในโลกภาษาอังกฤษว่า “คโธนิก” (chthonic)

คำว่า “chthonic” มาจากภาษากรีกโบราณว่า “khthón” ซึ่งเป็นหนึ่งในบรรดาคำศัพท์ที่พวกกรีกใช้เรียก “โลก” แต่โดยทั่วไปแล้วมักจะหมายถึงโลกบาดาล หรือพื้นที่ที่อยู่ใต้ดินลงไป มากกว่าที่จะหมายถึงชีวิตที่อยู่บนผิวดิน (ซึ่งมักจะแสดงเป็นบุคลาธิษฐานด้วยรูปพระแม่ไกอา [Gaia] ผู้เป็นพระแม่ธรณีของกรีก) หรืออาณาบริเวณใดๆ

และเมื่อถูกนำมาใช้ในโลกภาษาอังกฤษแล้ว คำว่า “คโธนิก” จึงหมายถึงกลุ่มเทพเจ้า หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาของพวกกรีกยุคคลาสสิคที่อาศัยอยู่ในโลกบาดาลนั่นเอง

นักวิชาการหลายท่านเชื่อกันว่าแนวคิดเรื่องกลุ่มเทพคโธนิกนั้น เป็นความคิดที่เก่าแก่ และมีมาก่อนความเชื่อเรื่องเทพเจ้ากรีกบนเขาโอลิมปุส (ซึ่งมักจะเรียกกันว่า กลุ่มเทพโอลิมเปีย [Olympia])

และถ้าจะว่ากันตามนิยามของนักประวัติศาสตร์ศิลปะชาวอเมริกันในยุคอาณานิคม ผู้เชี่ยวชาญเรื่องกรีกโบราณแล้วอย่างอาเธอร์ แฟร์แบงก์สฺ (Arthur Fairbanks) ในบทความเรื่อง “The Chthonic Gods of Greek Religion” (กลุ่มเทพคโธนิกในศาสนากรีก) ซึ่งเขียนขึ้นไว้เนิ่นนานตั้งแต่เมื่อ ค.ศ.1900 แล้วนั้น เหล่าเทพคโธนิก “ไม่ใช่เทพเจ้าของเหล่าวิญญาณ แต่เป็นเหล่าผู้ปกครองของบรรดาดวงวิญญาณต่างหาก”

แน่นอนว่า โทษฐานที่ “ฮาเดส” นั้นเป็นพี่น้องกับซุสและโพไซดอน จึงถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มเทพโอลิมเปีย แต่การที่ฮาเดสนั้นเป็นทั้งผู้ปกครองนรก และตัวของนรกเอง ก็ทำให้ภาพของเทพเจ้าของพวกกรีกองค์นี้ ซ้อนทับอยู่กับกลุ่มเทพคโธนิกด้วย แถมยังมีปรัมปราคติที่เกี่ยวกับฮาเดสบางเรื่องที่เป็นร่องรอยเกี่ยวกับเรื่องนี้เสียด้วยสิครับ

 

เรื่องของเรื่องก็คือ ฮาเดสมีชายาชื่อ “เพอร์เซโฟเน่” (Persephone) และไท้เธอก็ไม่ใช่เทพีไม่มีชาติตระกูลที่ไหน เพราะพ่อของเทพีนางคือซุส ผู้เป็นราชาแห่งทวยเทพ (ควบตำแหน่งพี่ชายแท้ๆ ของฮาเดส) ส่วนแม่คือเทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์และการเก็บเกี่ยวที่ชื่อดีมีเทอร์ (Demeter)

เพอร์เซโฟเน่เป็นเทพีรูปงาม สารพัดเทพเลยมะรุมมะตุ้มรุมรักนางกัน และก็แน่นอนว่าหนึ่งในนั้นย่อมรวมถึงฮาเดสด้วย

ในที่สุดเมื่อฮาเดสอดรนทนไม่ไหวก็เลยฉุดนางลงไปอยู่ในโลกบาดาลคือนรกด้วยกัน จนทำให้นางกลายเป็นราชินีแห่งนรกไปในที่สุด

แต่เพอร์เซโฟเน่เป็นลูกสาวของเทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ ไท้เธอเองก็เลยเป็นเทพีที่มีหน้าที่เกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ไปด้วย พอไปอยู่ในนรก ความอุดมสมบูรณ์บนโลกก็หายไป ในฐานะพ่อ และราชาแห่งเทพเจ้าทั้งหลาย ซุสก็เลยต้องให้เฮอร์เมส (Hermes) ไปพานางกลับมา แต่นางก็กลับมาโลกตลอดไม่ได้อีก เพราะฮาเดสได้ให้นางกินเมล็ดทับทิมของนรกเอาไว้ จนทำให้นางกลายเป็นคนของโลกบาดาลไปแล้ว

ดังนั้น ในแต่ละปีไท้เธอนางนี้จึงกลับมายังโลกมนุษย์ได้เพียงช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น และเมื่อนางกลับมา โลกก็จะเต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ เป็นช่วงเวลาแห่งการผลิดอกออกผลของพืชพันธุ์ธัญญาหารต่างๆ ดังนั้น “เพอร์เซโฟเน่” จึงเป็นเทพีแห่งฤดูใบไม้ผลิไปด้วย

แน่นอนว่า เพอร์เซโฟเน่นั้นก็ถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่ของพวกเทพคโธนิกด้วย แต่ก็ยังน่าสนใจอยู่ดีนะครับว่า ทำไมเทพีแห่งฤดูใบไม้ผลิ และความอุดมสมบูรณ์ จึงต้องไปอยู่ในโลกใต้บาดาลอย่างนรกด้วย?

 

อันที่จริงแล้วแต่เดิม นรกหรือโลกของคนตายของพวกกรีกนั้นไม่ได้มีแต่ภาพที่โหดร้ายเพียงอย่างเดียว เป็นเพียงโลกอีกโลกหนึ่งที่อยู่ใต้พื้นดินลงไป เหมือนกับเป็นโลกบาดาลเท่านั้นเอง

และก็เป็นโลกนี้เอง ที่พวกเทพคโธนิก “ปกครองดวงวิญญาณ” ในฐานะผู้ปกครอง ไม่ใช่เทพเจ้า อย่างที่อาเธอร์ แฟร์แบงก์สฺ ได้อธิบายเอาไว้

เอาเข้าจริงแล้ว กลุ่มเทพเจ้าคโธนิกจึงมีฐานะไม่ต่างไปจาก “ผีบรรพชน” ที่นอกจากจะปกครองดวงวิญญาณของคนตายแล้ว ก็ยังให้คุณ ให้โทษ แก่คนเป็นๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่ได้ ถ้าไม่เซ่นให้ดี ไม่พลีให้ถูก

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรหรอกนะครับที่บุคลาธิษฐานของความอุดมสมบูรณ์และฤดูใบไม้ผลิอย่าง “เพอร์เซโฟเน่” นั้น จะต้องเป็นพลังที่มาจากโลกบาดาลที่เรียกว่า “ฮาเดส” เพราะฮาเดสนั้นควรที่จะถูกนับถือในฐานะของ “ศูนย์รวมพลังของผืนดิน” (chthonic power) ซึ่งสามารถดลบันดาลความอุดมสมบูรณ์ให้กับคนที่ยังมีชีวิตอยู่มาก่อน

และพลังงานที่ว่าก็เป็นพลังของบรรพชนที่เสียชีวิตไปแล้วนั่นเอง

กลุ่มเทพคโธนิกในศาสนาของพวกกรีกในยุคคลาสสิค จึงเป็นร่องรอยของศาสนาผีในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ของผู้คนในวัฒนธรรมกรีกเอง ที่มีมาก่อนหน้าความเชื่อเรื่องกลุ่มเทพเจ้าโอลิมเปีย โดยมีฮาเดส และเพอร์เซโฟเน่เป็นตัวอย่างสำคัญ