จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : ‘ดำ’ แล้ว ‘ขาว’ / ญาดา อารัมภีร

ญาดา อารัมภีร

 

 

‘ดำ’ แล้ว ‘ขาว’

 

‘กินหมาก ฟันดำ’ เป็นความนิยมยาวนานต่อเนื่องจากสมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ช่วงต้นๆ ของสมัยรัชกาลที่ 5 ความนิยมนี้ยังมีอยู่ทั่วไป

ดังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบรรยายถึงข้าหลวงในกระบวนแห่ไว้ใน “โคลงดั้นพระราชพิธีแห่โสกันต์” ว่าบางนางผิวดำมิดหมี เมื่อกินหมากก็ไม่ต่างกับตุ๊กแกตัวดำเขรอะๆ

“บางคนขาวผ่องพ้ยง                        พอแล บ้างเฮย

บ้างก็ดูเตมทน                               มืดตื้อ

กินหมากดงงตุกแก                       ดำเกรอะ กรังนา

เดอนโดดเดกดื้อดื้อ                         เงอะงง ฯ (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

ทั้งยังทรงเล่าถึงลีลาโป๊ไม่เปลือยของ ‘กระอั้วแทงควาย’ การละเล่นชนิดหนึ่งในพิธีหลวง เช่น โสกันต์ (โกนจุก) มีผู้เล่น 2 คน ชายเป็นผัว หญิงเป็นเมีย บางตำราว่ากระอั้วเป็นชาย ในที่นี้น่าจะเป็นหญิงที่ประแป้งเต็มหน้า มือกางร่มขณะเคี้ยวหมากไม่หยุดปาก จริตจะก้านแพรวพราวจน ‘นมพลัดกลิ้ง’ ออกมานอกผ้าแถบสีแดง

“นางกอั้วก้นนร่มเว้า                         เผอเรอ

แป้งเปรอะห่มแดงนม                       พลัดกลิ้ง

ค้ยวหมากผยำเผยอ                       ยาจุก ตุ่ยนา

ทำกตุกกติกกตุ้งติ้ง                          ผิดผัว ฯ”

วรรณคดีสมัยนี้บันทึกว่ากินหมากทั่วถึงทั้งชาย-หญิง ลิงก็ไม่เว้น รัชกาลที่ 5 ทรงเล่าถึง ‘สังขปัดวานร’ ไว้ในบทละครเรื่อง “วงศ์เทวราช” ว่าก่อนเข้าห้องนางบุษบง ก็โป๊ะเครื่องหอมเต็มอัตราศึก

“แป้งน้ำอบทาตนติดขนพัว                น้ำมันหอมละเลงหัวจนทั่วดี”

แต่งตัวเสร็จก็ให้บริวารไปจัดเตรียมของที่ต้องการ

“นางวอกออกไปลักหมากมาให้           เคี้ยวกับพลูไบ่ไบ่ประเดี๋ยวถ่ม

แล้วกินใหม่ตั้งใจว่าจะอม                  นึกชมตัวเดินดำเนินมา”

 

แม้แต่รัชกาลที่ 5 เองก็เสวยหมากเป็นประจำ ดังที่ทรงพรรณนาไว้ใน “บทเห่ชมไม้” ว่าเห็นต้นสลาลิง (ต้นหมากลิง) ก็นึกถึง ‘สลา’ หรือหมากที่นางผู้เป็นที่รักจัดเตรียมถวาย

“รักป่ามาชื่อพ้อง                            กับรักน้องนงค์พะงา

สลาลิงเล่ห์สลา                             น้องเจียนไว้ให้พี่ชาย” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

รัชกาลที่ 5 ทรงเริ่มงดเสวยพระศรี (หมาก) และขัดพระทนต์ดำให้ขาวสะอาดเมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก พ.ศ.2440 โดยเรือพระที่นั่งมหาจักรีเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศให้ได้รู้จักประเทศสยาม

นอกจากเพื่อนำความรู้ประสบการณ์ที่ทอดพระเนตรมาพัฒนาบ้านเมืองแล้ว ยังเพื่อปกปักรักษาเอกราชของชาติทางอ้อมให้รอดพ้นเงื้อมมือชาวตะวันตกที่มุ่งครอบครองภูมิภาคสุวรรณภูมิ

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมรวมทั้งภาพลักษณ์ของพระองค์เองและผู้ตามเสด็จเกิดขึ้นระหว่างการเดินทางนานแรมเดือน ดังที่ทรงเล่าไว้เป็นระยะๆ ในพระราชหัตถเลขา (จดหมายส่วนพระองค์) ที่ทรงมีถึงสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินขณะนั้น

พระราชหัตถเลขา ฉบับแรก วันพุธที่ 7 เมษายน พ.ศ.2440 มีข้อความว่า

“…ได้ลงมือเอาถ่านถูฟัน มันเค็มๆ คลื่นไส้ ต้องเอาทั้งดุ้นเข้าถูพอบางๆ ออกไปได้ แลเห็นขาวซีกเดียว อยู่ข้างจะเบื่อเต็มที พรุ่งนี้หมอรับจะจัดการ ลืมตัวจะเรียกหมากกินร่ำไป ตั้งแต่แม่เล็กไปแล้วได้กิน 2 คำเท่านั้น…”

(จะเห็นได้ว่า ร.5 ติดเสวยหมากที่ ‘แม่เล็ก’ หรือสมเด็จพระบรมราชินีนาถจัดถวาย พระองค์ทรงใช้ถ่านขัดถูพระทนต์ด้วยพระองค์เอง ไม่โปรดรสชาติถ่านแต่อย่างใด หมอที่จะขัดพระทนต์ถวายคือ หมอไรเตอร์ หรือพระยาประเสริฐศาสตร์ดำรง)

 

พระราชหัตถเลขา ฉบับที่ 2 วันพฤหัสบดีที่ 8 เมษายน พ.ศ.2440

“…พระการใหญ่ในเรื่องขัดฟันประดักประเดิดเต็มที วันนี้เกือบจะว่าถูยังค่ำ ฉันเห็นอัศจรรย์ที่หินปูนเข้าใจว่าน้อย พอขูดแล้วฟันเล็กลงเป็นกอง แม่เล็กทายถูกว่าหน้าคงไม่บ้านัก แต่ก็ขันพอใช้อยู่…” (วันนี้หมอไรเตอร์นอกจากขัดพระทนต์แล้ว ยังขูดหินปูนถวายด้วย ร.5 ทรงยอมรับการขัดและขูดหินปูนซึ่งกินเวลานานอย่างมีพระอารมณ์ขันต่อพระพักตร์ที่ดูแปลกตา)

พระราชหัตถเลขา ฉบับที่ 3 วันศุกร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ.2440

“…ยังอดหมากไม่ได้ วันนี้กิน 2 คำแล้ว เรื่องฟันประดักประเดิดเต็มที อ้ายแฉ่งบอกตำราให้เอาหมากแห้งเผาไฟถู ยังไม่ได้ลองดู หมอแกว่าฉันฟันขาวดูหนุ่มขึ้นเหมือนอายุสัก 30 ปี กรมสมมติแกก็ว่าเหมือนกัน…ฟันขาวดูมันเป็นเจ้าหนูขึ้นมาหน่อยๆได้จริง แต่ถ้าขาวที่บ้านเห็นจะเหยเก๋ ที่นี่มันขาวไปด้วยกันหมดดูไม่เป็นไร…”

(ข้อความข้างต้นบอกให้รู้ว่าการเลิกเสวยหมากมิใช่เรื่องง่าย ไม่อาจงดทันทีได้ เพียงแต่เสวยให้น้อยลง หรือนานๆ เสวยทีเพื่อมิให้ฟันกลับมาดำอีก นอกจากนี้ สีของฟันสัมพันธ์กับอายุเจ้าของฟันโดยตรง คนฟันขาวดูอ่อนเยาว์กว่าคนฟันดำ)

 

พระราชหัตถเลขา วันจันทร์ที่ 12 เมษายน พ.ศ.2440 มีข้อความว่า

“…กินเช้าแล้วช่างมาชำระฟัน เปนคนอเมริกัน มืออยู่ข้างจะหนักเต็มที ยาที่ใส่เปนอะไรฟังไม่เข้าใจ เหนเปนรสสารส้มกับกรด ไม่ยักหมด แต่เบื่อเต็มทีต้องหยุด แต่กระนั้นยังเปนคล้ายๆ นกกระจอกไปข้างหนึ่ง เรื่องกระสันหมากไม่ได้ลืมเสียเลย แต่วันนี้คำเดียวเท่านั้น…”

(บางครั้งการขัดพระทนต์ต้องทรงอดทนอย่างยิ่งต่อน้ำหนักมือและอุปกรณ์ที่ใช้ ส่งผลให้เกิดแผลอักเสบมุมพระโอษฐ์)

พระราชหัตถเลขาแต่ละฉบับสะท้อนถึงพระวิริยะอุตสาหะในการอดหมากและพระขันติในการขัดพระทนต์อย่างยิ่ง ด้วยทรงตระหนักว่าฟันที่ดำเพราะกินหมากมีผลต่อมุมมองของชาวตะวันตกที่มีต่อชาวสยามในแง่ความศิวิไลซ์โดยตรง ทรงขัดพระทนต์และงดเสวยหมากอย่างเต็มพระราชหฤทัย เนื่องจากทรงรู้เท่าทันท่าทีของประเทศมหาอำนาจ จึงไม่ทรงยอมให้ชาวตะวันตกใช้การกินหมากฟันดำของชาวสยามมาตัดสินว่าเราเป็นคนบ้านป่าเมืองเถื่อนห่างไกลความเจริญ เพื่อฉวยโอกาสเข้ายึดครองและใช้เป็นข้ออ้างว่ามาช่วยสร้างความรุ่งเรืองให้ การที่ทรงละธรรมเนียมนิยมเดิมเพื่อแสดงให้เห็นว่าสยามมิได้ด้อยกว่า แต่อยู่ในฐานะประเทศที่มี ‘เอกราช’ และ ‘อารยะ’ ทัดเทียมชาวตะวันตก

สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นจุดเริ่มต้นของฟันขาวที่ทวีความนิยมขึ้นในรัชกาลต่อๆ มา ปัจจุบันคนไทยฟันขาวทั่วบ้านทั่วเมือง จะขาวมากขาวน้อยขึ้นอยู่กับอายุการใช้งาน สภาพฟันและการรักษาความสะอาดของแต่ละคน

วันนี้คุณแปรงฟันหรือยัง?