‘วัคซีน’ เดิมพันราคาแพง ชี้ชะตาฟื้นประเทศ-ส่งออก สยามไบโอไซเอนซ์ส่ง ‘แอสตร้า’ 1.8 ล้านโดส ประคองเชื่อมั่นวันดีเดย์ ‘7 มิ.ย.’/บทความพิเศษ ศัลยา ประชาชาติ

บทความพิเศษ

ศัลยา ประชาชาติ

 

‘วัคซีน’ เดิมพันราคาแพง

ชี้ชะตาฟื้นประเทศ-ส่งออก

สยามไบโอไซเอนซ์ส่ง ‘แอสตร้า’ 1.8 ล้านโดส

ประคองเชื่อมั่นวันดีเดย์ ‘7 มิ.ย.’

 

แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศให้วัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็น “วาระแห่งชาติ” ที่จะต้องดำเนินการอย่างครบวงจร ทั้งการจัดหา การกระจาย ไปจนถึงการฉีดเพื่อเร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประเทศไทยก่อนสิ้นปี 2564 ด้วยการปูพรมฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั่วไปเริ่มตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายนนี้เป็นต้นไป

แต่ในทางปฏิบัติกลับยังมีกระแสความไม่เชื่อมั่นต่อวาระแห่งชาติดังกล่าว เนื่องจากมีสัญญาณหลายอย่างออกมาว่า การฉีดวัคซีนของประเทศไทยจะไม่เป็นไปตามแผนหรือถึงขั้นที่ว่า ไม่มีแผนการฉีดวัคซีนที่แน่นอน

สัญญาณที่ออกมาเริ่มมาตั้งแต่สัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤษภาคม เมื่อโรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนหลายแห่งออกมาประกาศขอเลื่อนการฉีดวัคซีน AstraZeneca ทั้งที่มีนัดหมายการฉีดเข็มแรกและเข็มที่สองออกไปอย่างไม่มีกำหนด โดยแจ้งว่า “ไม่มีวัคซีนเข้ามา”

ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่า รัฐบาลไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่นี้ได้ เมื่อประเทศไทยไม่พร้อมที่จะรับมือกับเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ B 1.1.7 ที่มีอัตราการติดเชื้อที่สูงกว่าไวรัสโควิดดังเดิม ส่งผลให้เกิดคลัสเตอร์ใหม่ๆ ทั้งในตลาดสด แคมป์คนงานก่อสร้าง สถานกักขังผู้ต้องโทษในเรือนจำต่างๆ และล่าสุดก็คือ การระบาดในโรงงานขนาดใหญ่ที่มีการใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก

ส่งผลให้การติดเชื้อภายในประเทศจากที่เคยอยู่ในระดับหลัก 10 หลัก 100 เพิ่มพรวดขึ้นเป็นหลักหลายพัน (วันที่ 31 พฤษภาคม ทำสถิติสูงสุดมีการติดเชื้อถึง 5,485 คน) ภายในเวลาไม่กี่วัน ต่อจากนั้นก็ตามมาด้วยจำนวนผู้เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 20-30 คนทุกวัน

กระทั่งถึงขณะนี้ เป็นที่ประจักษ์แน่นอนแล้วว่า รัฐบาลหมดหนทางที่จะควบคุมการแพร่ระบาดให้กลับมาเหลือหลักสิบเหมือนกับการระบาดรอบแรก กลายเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การฉีดวัคซีนไม่เป็นไปตามแผน เมื่อวัคซีนถูกแย่งไปฉีดให้กับคลัสเตอร์ใหม่ๆ ที่ไม่ได้เตรียมการกันมาก่อน

 

ในขณะที่ภาครัฐ ซึ่งเป็นผู้ทำสัญญาการจัดหาวัคซีนโควิด-19 โดยการจองล่วงหน้าระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กับ AstraZeneca บริษัทผลิตวัคซีนสัญชาติอังกฤษ-สวีเดนเพื่อซื้อวัคซีน AstraZeneca ภายใต้วงเงินรัฐบาลที่เตรียมจัดซื้อวัคซีนจำนวน 6,049,723,117 บาท ซึ่งวัคซีนจำนวนนี้ บริษัท AstraZneca ได้ทำ “สัญญารับจ้างผลิต” กับบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ให้ผลิตวัคซีนส่งมอบให้กับกระทรวงสาธารณสุขไทย ในฐานะที่จะเป็นวัคซีนหลักของประเทศเพียงตัวเดียว มีกำหนดส่งมอบระหว่างเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2564 จำนวน 26 ล้านโดส และเดือนกันยายน-ธันวาคม อีก 35 ล้านโดส รวมทั้งสิ้น 61 ล้านโดส

อย่างไรก็ตาม เริ่มมีแนวโน้มว่า จะไม่มาตามนัด

เฉพาะงวดการส่งมอบวัคซีนเดือนมิถุนายน ซึ่งจะเป็นเดือนแรกที่จะต้องปูพรมฉีดวัคซีนตามวาระแห่งชาติในวันที่ 7 มิถุนายน จากเดิมที่กำหนดไว้ในแผนว่า จะต้องมีวัคซีน AstraZeneca ส่งมอบจำนวน 6,000,000 โดสนั้น

ล่าสุดบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ร่วมกับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) พึ่งออกมาแถลงข่าวอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกว่า ได้เริ่ม “ทยอย” ส่งมอบวัคซีน AstraZeneca ล็อตแรกที่จะเริ่มฉีดในวันที่ 7 มิถุนายนนี้จำนวนแค่ 1.8 ล้านโดส แต่ไม่ได้บอกว่า ล็อตต่อๆ ไปจะส่งมอบเมื่อไหร่และจำนวนอีกกี่โดส

แปลว่า จำนวนส่งมอบวัคซีน AstraZeneca เดือนแรกจำนวน 6,000,000 โดสนั้น ยังไม่มีความแน่นอนและเกิดความเสี่ยงในการบริหารจัดการปูพรมฉีดวัคซีนในวันที่ 7 มิถุนายนนี้แน่นอน เพราะแม้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะยืนยันว่า การฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั่วประเทศ

“เป็นไปตามแผนที่นายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายให้กระทรวงสาธารณสุข” โดยในวันที่ 1 มิถุนายน ได้มีการกระจายวัคซีนออกไปแล้วจำนวน 1.1 ล้านโดส และจะทยอยหมุนวัคซีนออกมา (Rolling)

เฉพาะวัคซีนของ AstraZeneca นั้น “จะมีทั้งที่ผลิตในประเทศ (โดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์) หรืออาจนำเข้าจากต่างประเทศ ขึ้นอยู่กับ Supply Chain ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า” และขอให้กรมควบคุมโรคกลับไปตกลงกับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าในเรื่องของจำนวนวัคซีนที่จะต้องส่งมอบในแต่ละเดือนอีกครั้งหนึ่งด้วย

จนมีข่าวออกมาว่า รัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องสั่งซื้อวัคซีน Sinovac จากจีนเข้ามาเสริมเดือนละไม่ต่ำกว่า 3 ล้านโดสไปจนกระทั่งถึงสิ้นปี ส่งผลให้วัคซีน AstraZeneca อาจจะต้องถูกลดสถานะจาก “วัคซีนหลัก” ของประเทศกลายมาเป็นการใช้ทั้งวัคซีน AstraZeneca กับ Sinovac อย่างละครึ่งๆ แทน

 

อย่างไรก็ตาม “ความเสี่ยง” จากการขาดแคลนวัคซีนที่เกิดขึ้นจากกรณีข้างต้นได้ส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลไปทั่ว ในเมื่อปัจจุบันประเทศไทยพึ่งมีการฉีดวัคซีน ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2564 ไปได้แค่ 3,753,718 คน จากจำนวนประชากรกว่า 63 ล้านคน หรือประมาณ 4% ซึ่งจะต้องฉีดให้ครอบคลุมจำนวนประชากรกว่า 70% ของประเทศเพื่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ภูมิคุ้มกันหมู่” ภายในสิ้นปีนี้ โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ประเมินระดับความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 รอบ 3 ที่มีต่อเศรษฐกิจและธุรกิจถึง 91.67% กลัวว่า จะไม่มีวัคซีนโควิดตามแผนที่วางเอาไว้

โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้จัดทำสมมุติฐานการฉีดวัคซีนต้านโควิดที่จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งจะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงปี 2564-2565 ไว้ 3 กรณีคือ กรณีแรก หากสามารถจัดหาและกระจายวัคซีนได้ 100 ล้านโดสภายในปีนี้ คาดว่าจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในช่วงไตรมาสแรกปี 2565 ซึ่งจะส่งผลให้ GDP ปี 2564 มีโอกาสขยายตัวได้ 2% จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ราว 1.2 ล้านคน ส่วนในปี 2565 คาดว่า GDP จะขยายตัวได้ 4.7% จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 15 ล้านคน

ขณะที่กรณีที่สอง หากจัดหาและกระจายวัคซีนได้ 64.5 ล้านโดสภายในปีนี้ คาดว่าจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2565 ซึ่งจะส่งผลให้ GDP ปี 2564 มีโอกาสขยายตัวได้ 1.5% จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ราว 1 ล้านคน ส่วนในปี 2565 คาดว่า GDP จะขยายตัวได้ 2.8% จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 12 ล้านคน

ส่วนกรณีที่สาม หากจัดหาและกระจายวัคซีนได้ “น้อยกว่า” 64.5 ล้านโดสภายในปีนี้ คาดว่าจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2565 ซึ่งจะส่งผลให้ GDP ปี 2564 มีโอกาสขยายตัวได้ 1% จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ราว 800,000 คน ส่วนในปี 2565 คาดว่า GDP จะขยายตัวได้ 1.1% จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 8 ล้านคน

แน่นอนว่า กรณีที่สอง เป็นกรณีที่มีความคาดหวังสูงว่า ถ้ารัฐบาลสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนวัคซีนด้วยการบริหารจัดการหาวัคซีนไม่ว่าจะเป็น AstraZeneca หรือ Sinovac เข้ามาในเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม ได้ให้ใกล้เคียงกับตัวเลข 61 ล้านโดสแล้ว การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศก็มีความเป็นไปได้ว่าจะอยู่ที่ 1.5%

แต่เหตุการณ์เฉพาะหน้าในการจัดหาวัคซีนในเดือนมิถุนายนให้ได้มากกว่า 6 ล้านโดส (1.8 ล้านโดส สยามไบโอไซเอนซ์ ส่งมอบจากโรงงานในประเทศ-3 ล้านโดสซื้อจาก Sinovax และอีก 1.2-2.4 ล้านโดสที่แอสตร้าเซนเนก้าต้องจัดหามาจากต่างประเทศ) แบบ “หืดขึ้นคอ” ได้แสดงให้เห็นถึงความไม่แน่นอนในแผนการจัดหาวัคซีนอีกเดือนละ 10 ล้านโดสที่เหลือ

ขณะเดียวกัน ข้อกังวลอีกด้านหนึ่งท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่กำลังลุกลามเข้าไปในคลัสเตอร์โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร โรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โรงงานผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ โรงงานผลิตยา ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมแนวหน้าที่มีความ “จำเป็น” ต้องใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก ทั้งที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม และนอกนิคมอุตสาหกรรม ต่างก็ร้องขอ “วัคซีน” เข้ามาฉีดแรงงานในโรงงานไม่ต่ำกว่า 5 ล้านโดส

ทว่าก็ยังไม่มีคำตอบจากรัฐบาล ทั้งๆ ที่อุตสาหกรรมผลิตเพื่อส่งออกเหล่านี้จัดเป็นเครื่องยนต์เดียวที่ยังสามารถเดินหน้าหารายได้เข้าประเทศปีละไม่ต่ำกว่า 230,000 ล้านเหรียญในปีที่ผ่านมา

ถึงที่สุดแล้ว “วัคซีน” จึงกลายเป็นตัวแปรสำคัญ เป็นเดิมพันที่มีมูลค่าสูงลิบว่า จะช่วยให้ประเทศไทยเปิดประเทศ รวมถึงประคับประคองอุตสาหกรรมส่งออกต่อไปได้หรือไม่ในช่วงเวลาต่อจากนี้