เสรีภาพการแสดงออกในยุคโซเชียลมีเดีย (จบ)/การเมืองวัฒนธรรม เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

เสรีภาพการแสดงออกในยุคโซเชียลมีเดีย (จบ)

 

คำให้สัมภาษณ์ของโมนิก กันโต-สแปร์แบร์ (Monique Canto-Sperber) นักปรัชญาหัวเสรีนิยมปีกซ้ายและผู้บริหารสถาบันวิชาการชาวฝรั่งเศสผู้เขียนงานเล่มล่าสุดเรื่อง Sauver la libert? d’expression หรือกอบกู้เสรีภาพในการแสดงออก (2021) ว่าด้วยความจำเป็นที่ต้องปรับแต่งหลักเกณฑ์เสรีภาพในการแสดงออกที่ถูกเสนอไว้ในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 19 เสียใหม่เพื่อรับมือกับแรงกดดันคุกคามเสรีภาพในยุคทุนนิยมดิจิตอลและโซเชียลมีเดียปัจจุบัน จากหนังสือพิมพ์ Le Monde ของฝรั่งเศสฉบับวันที่ 6 พฤษภาคมศกนี้ หน้า 28

จอห์น สจ๊วต มิลล์ & อเล็กซิส เดอ ต๊อกเกอวิลล์ นักปรัชญาเสรีนิยมชาวอังกฤษและฝรั่งเศสแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 19

ถาม : ทำไมคุณถึงพูดว่าบรรดาหลักการซึ่งสถาปนาเสรีภาพในการแสดงออกขึ้นมาไม่ได้ถูกปรับใช้อีกต่อไปแล้วคะ?

กันโต-สแปร์แบร์ : นักปรัชญาอังกฤษชื่อ จอห์น สจ๊วต มิลล์ (ค.ศ.1806-1873) ได้นิยามหลักเกณฑ์ของเสรีภาพในการแสดงออกไว้เมื่อกลางคริสต์ศตวรรษที่สิบเก้าค่ะ กล่าวคือ ตราบที่การโต้แย้งถกเถียงกันดำเนินไปอย่างเสรี มันสามารถนำพาไปสู่รูปแบบการกำกับตัวเองของการพูดได้อย่างเป็นไปเอง ไม่ว่าจะเป็นอสัตย์อธรรมเอย ถ้อยความที่เบี่ยงเบนเฉไฉเอย หรือการพูดจางี่เง่าบ้าบอเอย ล้วนแต่ลงเอยโดยถูกวิพากษ์วิจารณ์และสะกดจนหมดพิษสงเสมอค่ะ

ทว่าสมัยนั้น น้อยคนนักจะเข้าถึงเวทีวาทะสาธารณะ และทุกคนก็ล้วนแต่ร่วมใช้ประมวลภาษาเดียวกันทั้งนั้นนะคะ ฉะนั้น การโต้แย้งถกเถียงระหว่างพวกหัวรุนแรงขุดรากถอนโคนกับพวกปฏิกิริยาจึงเป็นไปได้ค่ะ กรณีไม่เป็นเช่นนั้นอีกแล้วในบรรดาสังคมพหุนิยมที่แตกเป็นเสี่ยงของเราทุกวันนี้ ทั้งนี้เพราะสิ่งที่เข้าประจันหน้ากันจะมีแต่ลำพังข้อถกเถียงเท่านั้นก็หาไม่ หากยังรวมถึงเอกลักษณ์ทั้งหลายแหล่ด้วยค่ะ ความเป็นกลางของภาษาในฐานะสื่อกลางซึ่งความเห็นที่ตรงกันข้ามสามารถประจันหน้ากันได้นั้นก็เลยกำลังถูกท้าประชันด้วยนะคะ

เอาเข้าจริง ไม่มีการโต้แย้งถกเถียงกันในโซเชียลมีเดียอีกต่อไปแล้วค่ะ ตัวแบบเศรษฐกิจของแพลตฟอร์มนั้นเชื่อมโยงกับการใช้ขั้นตอนวิธี (algorithm) ซึ่งจะแสดงข่าวสารข้อความที่ถูกแชร์กันมากที่สุดขึ้นมาก่อนเพื่อน บ่อยครั้งข่าวสารข้อความเหล่านี้เปี่ยมอารมณ์ร้อนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคืออารมณ์โกรธเกรี้ยว มันจึงส่งผลบิดเบือนเฉไฉซึ่งทำให้อภิปรายกันต่อไม่ได้ ถ้อยความที่อ้างอิงข้อเท็จจริงหรือเรียกร้องให้ใช้เหตุผลพาลถูกกลบกลืนหายไปในเวลาอันรวดเร็วค่ะ

ถาม : การมีเสรีภาพในการแสดงออกมิได้หมายความแค่เราจะพูดอะไรก็ได้ทั้งนั้น ทุกวันนี้เราจะนิยามขีดจำกัดของเสรีภาพที่ว่านี้อย่างไรดีคะ?

กันโต-สแปร์แบร์ : ในธรรมเนียมความคิดเสรีนิยม ความเห็นทั้งปวงล้วนอนุญาตให้แสดงออกได้ ยกเว้นความเห็นที่ “ทำร้ายคนอื่นจริงทางภววิสัย” ค่ะ ทว่าหลักการนี้เห็นทีจะไม่พอเพียงอีกต่อไปแล้วนะคะ ตัวอย่างเช่น ความเสียหายที่การหมิ่นประมาททางเชื้อชาติก่อให้เกิดขึ้นนั้นมิได้เป็นเพียงแค่การทำร้ายคนอื่นทางภววิสัยเท่านั้นนะคะ บางทีมันยังอาจเป็นการล่วงละเมิดปทัสถานรวมหมู่โดยตรง ความที่มันสมทบส่วนทำให้อคตินิยมเชื้อชาติกลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญและกระทั่งเปลี่ยนย้ายเส้นแบ่งว่าอะไรบ้างเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ของสังคมค่ะ

นอกจากนี้ ยังมีถ้อยคำสำนวนจำพวกที่เล่นกับแบบเหมารวม (stereotypes) อุปมาอุปไมย (allusions) และการอ้างอิง (references) ต่างๆ ซึ่งสื่อแสดงโทสาคติโดยไม่มีน้ำหนักแรงกล้าพอที่จะจัดเป็น “คำหมิ่นประมาท” ได้ เราต้องจำแนกมันออกจากถ้อยความที่ล่วงละเมิด (les propos transgressifs) ซึ่งอาจทำให้เจ็บร้อนขัดเคืองแต่ก็จำต้องทนอดกลั้นอดออมไว้ในฐานที่มันเป็นเชื้อมูลประกอบการโต้แย้งถกเถียงนะคะ ทั้งนี้เพราะเป้าหมายของมันหาใช่เพื่อปิดปากคนอื่นให้เงียบเสียงไม่ มันยุ่งยากลำบากก็ตรงการจำแนก “ถ้อยความที่ก่อความเสียหายและทำร้าย” อาทิ ขู่ฆ่าหรือขู่จะทำร้ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางเชื้อชาติ ออกจาก “ถ้อยความที่ทำให้เจ็บร้อนขัดเคือง” ซึ่งอาจทำให้ปั่นป่วนเสียกระบวนแต่มิได้ขัดขวางการกล่าวตอบโต้ค่ะ

ในบริบทนี้ กระบวนการยุติธรรมจึงเป็นเครื่องมืออันขาดเสียมิได้นะคะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการยุติธรรมที่พรั่งพร้อมด้วยช่องทางต่างๆ มากกว่านี้! ทว่าแค่นั้นยังไม่พอค่ะ ในกรณีดีที่สุดนั้น กระบวนการยุติธรรมชดเชยความเสียหายให้กับบรรดาบุคคลที่ถูกหมิ่นประมาท แต่มันไม่ได้ให้ปากเสียงวาทะคืนแก่ประดาคนที่ถูกจำกัดเหนี่ยวรั้งไว้ให้เงียบเสียงนี่คะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพที่บทลงโทษของฝ่ายตุลาการมาถึงก็เมื่อเวลาถ่วงช้าล่วงเลยไปตั้งนานแล้ว ขณะที่แรงกดดันซึ่งเกิดจากโซเชียลมีเดียนั้นกดปรามให้เงียบเสียงลงในทันทีทันใด ตัวชี้วัดจำนวนมากบ่งบอกว่าเราต้องรื้อคิดกฎเกณฑ์กำกับเสรีภาพในการแสดงออกกันใหม่แล้วค่ะ

ถาม : ทั้งที่เผชิญกับสิ่งท้าทายใหม่ๆ เหล่านี้ คุณกลับไม่เห็นชอบที่จะให้รัฐเข้ามาแทรกแซงจำกัด ทำไมล่ะคะ?

กันโต-สแปร์แบร์ : เราเผชิญกับภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกอยู่ค่ะ ถ้าหากรัฐออกกฎหมายเพิ่มเป็นทวีตรีคูณเพื่อพยายามป้องปรามการใช้วาทะที่เป็นอาชญากรรม เราก็เสี่ยงที่จะพบว่าตัวเองตกอยู่ในสังคมเซ็นเซอร์ในเวลาอันรวดเร็ว อาทิ การยัดเยียดให้แพลตฟอร์มดิจิตอลทั้งหลายมีพันธกรณีต้องแสดงผลการสืบสาวที่มาของข่าวสารข้อความที่ต้องสงสัยอาจผลักดันให้เกิดการ “เซ็นเซอร์เว่อร์” (surcensure หรือ overcensorship) อย่างรวดเร็วยิ่งก็เป็นได้นะคะ

ในแง่นี้ วลีของต๊อกเกอวิลล์ที่ว่า “หากข้าพเจ้าปล่อยให้ท่านจัดการกับการบิดเบือนฉวยใช้เสรีภาพไปในทางมิชอบแล้ว ข้าพเจ้าก็จะพบท่านอยู่ใต้ฝ่าตีนของจอมเผด็จอำนาจนั่นแล” ดูจะพยากรณ์ได้แม่นยำ ในทางกลับกัน หากรัฐงอมืองอเท้าไม่ทำอะไรเอาเสียเลย เจตจำนงแห่งอำนาจนำของกลุ่มกดดันต่างๆ นานาซึ่งขัดแย้งกันอยู่ก็สุ่มเสี่ยงที่จะนำไปสู่ความโกลาหลวุ่นวายก็เป็นได้ ดังนั้น พื้นที่ชายขอบที่พอจะเคลื่อนไหวทำอะไรได้มันจึงออกจะจำกัดอยู่ค่ะ

ถาม : งั้นเราจะออกจากภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกนี้ได้อย่างไรล่ะคะ?

กันโต-สแปร์แบร์ : ทางสายที่สามคือให้ความสำคัญกับการโต้แย้งถกเถียงกันก่อนอื่นค่ะ เพราะในการโต้แย้งถกเถียงกันนี่แหละค่ะที่เราจะอภิปรายและคัดค้านได้อย่างเท่าเทียมกัน เสรีภาพในการแสดงออกมิได้หมายความแค่ข้อเท็จจริงที่ว่าเราสามารถพูดได้เท่านั้น มันยังหมายถึงการที่ผู้ที่เราพูดด้วยนั้นปกป้องรักษาสมรรถนะที่จะตอบโต้เอาไว้ได้ด้วย เพื่อที่ว่าการใช้วาทะทั้งหลายจะได้ไม่ไปลิดรอนความเป็นไปได้ที่จะตอบโต้ของคนอื่นเสียจนหมดสิ้นนะคะ

การฟื้นฟูมิติของการโต้แย้งถกเถียงนี้กลับคืนมาอาจเป็นทางออกได้ทางหนึ่งค่ะ กล่าวคือ กลุ่มฝ่ายต่างๆ ต้องเพียรพยายามสถาปนามิตินี้ขึ้นมาบนเครือข่ายเว็บไซต์ทั้งหลาย บรรดาผู้กระทำการเอกชนอันได้แก่ผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียหรือผู้โพสต์ข่าวสารข้อความออนไลน์ก็มีบทบาทให้แสดงได้พอควรด้วยนะคะ พวกเขาต้องช่วยกันประท้วงค่ะถ้าหากข่าวสารข้อความที่ถูกโพสต์เชื่อมโยงกับข้อความจำพวกทฤษฎีสมคบคิดเลื่อนลอยหรือข่าวปลอมทั้งหลาย พวกเขาสามารถมีน้ำหนักสำคัญขั้นชี้ขาดได้นะคะ

ถาม : มาตรการริเริ่มต่างๆ เหล่านี้จะพอเพียงจริงๆ หรือคะ?

กันโต-สแปร์แบร์ : เงื่อนไขหนึ่งที่ขาดเสียมิได้คงจะเป็นการจัดวางการประชันขันแข่งรูปแบบหนึ่งขึ้นมาในหมู่ถ้อยความทั้งหลาย ซึ่งทุกวันนี้ยังไม่มีค่ะ เราไม่อาจมีเสรีภาพในการแสดงออกหรอกนะคะในสภาพที่มีวาทะหนึ่งเข้าครอบงำ พลเมืองเน็ตผู้ไม่พึงพอใจกับการแข่งกันแพร่กระจายข่าวสารข้อความเหมือนไวรัสและกับความรุนแรงซึ่งมันเปิดช่องให้เกิดขึ้นได้พึงต้องสามารถเข้าถึงโซเชียลมีเดียประเภทอื่นๆ ได้ด้วย เสรีภาพในการแสดงออกเป็นปัญหาแต่มันก็เป็นทางออกด้วยนะคะภายใต้เงื่อนไขที่ว่าการโต้แย้งถกเถียงกันนั้นไม่ถูกบิดเบือนไป

เสรีภาพอาจยั่วยุให้เกิดการแสดงออกเกินเลยไปบ้างค่ะในถ้อยความต่างๆ แต่มันก็เป็นวิถีทางเดียวที่จะต่อกรกับความเกินเลยเดียวกันเหล่านั้นนะคะ