เนโอมิ โอซากะ เป็นอะไรไปแล้ว?/คลุกวงใน พิศณุ นิลกลัด

พิศณุ นิลกลัด

คลุกวงใน

พิศณุ นิลกลัด

Facebook : @Pitsanuofficial

 

เนโอมิ โอซากะ เป็นอะไรไปแล้ว?

 

เนโอมิ โอซากะ (เธอเรียกตัวเองว่า เนโอมิ) ตัดสินใจถอนตัวจากการแข่งขันเฟรนช์ โอเพ่น หลังจากชนะการแข่งขันในรอบแรก

เธอเขียนลงอินสตาแกรม บอกถึงเหตุผลว่า เธอเป็นโรคซึมเศร้า โดยเริ่มเป็นหลังจากได้แชมป์ US Open 2018 แกรนด์สแลมรายการแรกในชีวิตของเธอ

สาเหตุที่เนโอมิต้องออกมาเปิดเผยว่าเป็นโรคซึมเศร้าก็เพราะหลังจากชนะการแข่งขันเฟรนช์ โอเพ่นรอบแรก เธอตัดสินใจไม่นั่งให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวในห้อง Press Room หลังจบการแข่งขัน ซึ่งเป็นหน้าที่ของนักเทนนิสทุกคนที่ต้องให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว

เธอยอมเสียค่าปรับครั้งละ 20,000 ดอลลาร์ หรือ 600,000 แสนบาททุกครั้งที่ไม่ให้สัมภาษณ์

ก่อนการแข่งขันเฟรนช์ โอเพ่น จะเริ่ม เนโอมิทวีตทางทวิตเตอร์ว่าเธอจะไม่ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวใน Press Room หลังแข่งขันเสร็จ เพราะนักข่าวไม่สนใจสุขภาพจิตของนักเทนนิสว่าอยู่ในอารมณ์แบบไหน

เธอเคยเห็นนักเทนนิสบางคนที่เพิ่งเล่นแพ้ ถึงกับปล่อยโฮขณะให้สัมภาษณ์เพราะเจอคำถามกดดันจากผู้สื่อข่าว ซึ่งเนโอมิเปรียบว่าเหมือนกับการรุมเตะซ้ำคนที่เพิ่งล้ม

การทวีตครั้งนี้ทำให้เนโอมิถูกวิจารณ์ในด้านลบอย่างหนัก ผู้จัดการแข่งขันเฟรนช์ โอเพ่น แถลงว่าจะมีบทลงโทษไม่ให้เนโอมิลงแข่งขัน หากยังไม่ยอมให้สัมภาษณ์

จนในที่สุดเนโอมิต้องออกมาเขียนให้โลกทราบทางอินสตาแกรมว่าเธอกำลังเป็นโรคซึมเศร้า และรู้สึกประหม่า วิตกกังวลเวลาที่จะต้องตอบคำถามนักข่าว เพราะโดยนิสัยแล้ว เธอเป็นคนเก็บตัว

ดังนั้น เธอจึงขอพักการแข่งขันจนกว่าสภาพจิตใจพร้อมที่จะกลับมาลงแข่งอีก

การออกมาประกาศว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า ทำให้เนโอมิได้รับกำลังใจ และคำชื่นชมในความกล้าจากยอดนักกีฬาอย่างบิลลี่ จีน คิง, สเตฟ เคอร์รีย์, ไครี่ เออร์วิง และลูอิส แฮมินตัน

 

ในวงการกีฬา มียอดนักกีฬาที่ได้เหรียญทองโอลิมปิกมากที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ออกมาเปิดเผยว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า เพื่อให้คนทั่วไปได้เข้าใจถึงโรคซึมเศร้า และหวังว่าการเล่าประสบการณ์โรคซึมเศร้าของเขาสามารถช่วยเหลือผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้บ้าง

ยอดนักกีฬาเหรียญทองโอลิมปิกคนนั้นคือ ไมเคิล เฟลป์ส (Michael Phelps) อดีตนักว่ายน้ำทีมชาติสหรัฐอเมริกา เจ้าของสถิตินักกีฬาที่ได้เหรียญทองโอลิมปิกมากที่สุดในประวัติศาสตร์ คือ 23 เหรียญทอง และเป็นเจ้าของสถิตินักกีฬาที่ได้เหรียญรางวัลรวมมากที่สุดในประวัติศาสตร์โอลิมปิก 28 เหรียญ แบ่งเป็น 23 เหรียญทอง 3 เหรียญเงิน และ 2 เหรียญทองแดง

เมื่อดูจากผลงานยอดเยี่ยมของเฟลป์สในโอลิมปิกนับตั้งแต่เขาได้เหรียญทองแรกในปี 2004 หลายคนคงคิดตรงกันว่าเฟลป์สต้องเป็นคนที่มีชีวิตที่มีความสุขมากที่สุดในโลกคนหนึ่ง

ไมเคิล เฟลป์ส ที่จะมีอายุครบ 36 ปี ในวันที่ 30 มิถุนายนที่จะถึงนี้ ออกมาเปิดใจในปี 2018 ว่าเขาเองก็เป็นคนหนึ่งที่ต้องเจอปัญหาโรคซึมเศร้าหนักมากจนเคยคิดว่า ไม่อยากจะมีชีวิตอยู่อีกต่อไป

เฟลป์สเปิดใจว่าเขารู้สึกกระหายชัยชนะอยู่ตลอดเวลา ต้องการผลักดันความสามารถตัวเองขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อจะดูว่าขีดสูงสุดของเขาอยู่ตรงไหน

แต่ความมุ่งมั่นเอาจริงเอาจังของเขาต้องแลกมาด้วยราคา

 

เฟลป์สเล่าว่า ทุกครั้งหลังจบการแข่งขันโอลิมปิก เขากลายเป็นคนที่มีอาการซึมเศร้าอย่างรุนแรง เริ่มรู้สึกว่าตัวเองไม่เหมือนเดิมตั้งแต่ราวๆ เดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน เป็นต้นไปของทุกๆ ปีที่มีโอลิมปิก

เขาเริ่มมีอาการซึมเศร้าเป็นครั้งแรกตอนสิ้นสุดโอลิมปิกปี 2004 ที่กรุงเอเธนส์ และปีนั้นเองเขาถูกจับข้อหาเมาแล้วขับในเดือนพฤศจิกายน

ปี 2008 หลังจากเฟลป์สกวาด 8 เหรียญทองโอลิมปิกที่ปักกิ่ง ก็มีภาพหลุดของเฟลป์สกำลังดูดกัญชาจากบ้อง กลายเป็นข่าวใหญ่บนหลายหน้าหนังสือพิมพ์ ซึ่งภายหลังเขาก็ออกมาขอโทษและบอกว่าเป็นพฤติกรรมที่น่าสลดใจ

ปี 2012 เป็นช่วงที่โรคซึมเศร้าเล่นงานเขาหนักที่สุด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผลงาน เขาไม่ได้ยอดเยี่ยมเท่าตอนที่ได้ 8 เหรียญทองรวดในปี 2008 และชีวิตหลังโอลิมปิกที่ลอนดอนจบลงได้กัดกร่อนความรู้สึกเขาให้แย่ลงไปอีก เฟลป์สไม่อยากเล่นกีฬาอีกต่อไป

ที่แย่กว่านั้นคือเขาไม่อยากมีชีวิตต่อไป

 

เฟลป์สเล่าว่า เขานั่งเก็บตัวอยู่คนเดียวในห้องนอนติดต่อกันประมาณ 3-5 วันโดยไม่กินอะไรเลย และแทบไม่ได้นอน ในหัวเขามีแต่ความรู้สึกว่าไม่อยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไป

จนวันหนึ่งเขาก็คิดได้ว่า เขาต้องการความช่วยเหลือ

เฟลป์สจำวันแรกที่ไปหาหมอเพื่อเข้ารับการบำบัดได้ว่าตัวเขาสั่นไปหมด สั่นเพราะเขารู้สึกกลัวการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น แต่เฟลป์สก็ต้องการทราบให้ได้ว่าสิ่งที่เขาเป็นอยู่คืออะไร

อาการเจ็บป่วยทางจิตใจถึงแม้จะได้รับการรักษาแล้ว แต่ก็จะยังมีบาดแผลหลงเหลืออยู่ และเป็นสิ่งที่เรายังต้องรับมือในทุกๆ วัน

ตอนนี้หลายๆ คนก็เริ่มเข้าใจแล้วว่าโรคซึมเศร้ามีอยู่จริง และการจะเยียวยาจิตใจคือการที่คนคนนั้นได้พูดเปิดใจถึงความรู้สึกตัวเองออกมา

เฟลป์สบอกว่า เหตุผลที่อัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นสูงก็เพราะคนไม่กล้าที่จะพูดบรรยายถึงความรู้สึกในใจตัวเองออกมา เพราะกลัวว่าคนจะตัดสิน

 

ทุกวันนี้การที่เฟลป์สได้แบ่งปันประสบการณ์เรื่องโรคซึมเศร้าของตัวเองให้คนอื่นฟัง ทำให้เขาได้เข้าถึงคนและช่วยชีวิตคนอีกมากมาย

เขารู้สึกขอบคุณตัวเองมากๆ ที่ไม่ได้ตัดสินใจฆ่าตัวตาย

เฟลป์สบอกว่า เดิมทีเขาไม่ต้องการไปพบนักบำบัด แต่หลังจากได้พบนักบำบัด เขารู้สึกดีขึ้น และได้เรียนรู้เกี่ยวกับตัวเองในสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อน

ปัจจุบัน เฟลป์สเป็นโฆษกของทอล์กสเปซ TalkSpace ซึ่งเป็นเว็บไซต์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตออนไลน์จากนักบำบัด (Therapists) กว่า 1,000 คน ซึ่งให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตกับคนกว่า 500,000 คน

ไมเคิล เฟลป์ส บอกว่า ความรู้สึกที่ได้ช่วยคนที่เป็นโรคซึมเศร้า จากการเล่าถึงประสบการณ์โรคซึมเศร้าของเขามีความหมายต่อเขายิ่งกว่าการคว้าเหรียญทองโอลิมปิกหลายล้านเท่า

ไมเคิล เฟลป์ส