โควิด อยู่…รัฐบาล ไป/หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว มุกดา สุวรรณชาติ

มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว

มุกดา สุวรรณชาติ

 

โควิด อยู่…รัฐบาล ไป

 

เมื่อวิเคราะห์จากตารางจะพบว่า

1. ที่ดูแล้วอันตรายมากคือมาเลเซีย 29 พฤษภาคม พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่อยู่ที่ 9,020 ราย และเสียชีวิต 98 ราย มากกว่ายอดผู้ติดเชื้อรายวันที่พบเมื่อวันศุกร์ (28 พฤษภาคม) ซึ่งอยู่ที่ 8,290 ราย และยอดผู้เสียชีวิตเมื่อวันพุธ (26 พฤษภาคม) ซึ่งมีจำนวน 63 ราย

นายมูห์ยิดดิน ยัสซิน นายกรัฐมนตรีมาเลเซียออกแถลงการณ์ประกาศล็อกดาวน์ทั่วประเทศเป็นเวลาสองสัปดาห์ได้เพียงหนึ่งวัน ซึ่งการล็อกดาวน์ในครั้งนี้จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1-14 มิถุนายน ขณะที่หอผู้ป่วยวิกฤตตามโรงพยาบาลในมาเลเซียเริ่มไม่สามารถรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ได้เพียงพอ

ด้านนายแพทย์นูร ฮิชาม อับดุลลอฮ์ อธิบดีกระทรวงสาธารณสุขมาเลเซียออกมาเตือนว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในมาเลเซียอาจเลวร้ายลงในช่วงไม่กี่วันข้างหน้า หากแนวโน้มของการระบาดยังคงอยู่ในระดับปัจจุบัน ซึ่งอาจส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นแตะที่ 13,000 รายต่อวันในช่วงกลางเดือนมิถุนายน

กระทรวงสาธารณสุขมาเลเซียระบุว่า “จำนวนเตียงสำหรับผู้ป่วยหนักที่โรงพยาบาลรักษาโรคโควิด-19, ศูนย์กักตัว และศูนย์การรักษาโรค กำลังลดลงและอาจไม่เพียงพอ” พร้อมเตือนว่า อาจเกิดสถานการณ์ที่แพทย์ต้องเลือกตัดสินใจให้เตียงแก่ผู้ป่วยที่มีโอกาสรอดมากกว่า

2. ต้นปี 2021 กัมพูชากลับมาเจอวิกฤตโควิด-19 ที่รุนแรงกว่าปีที่ 2020 หลายเท่าตัว 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กัมพูชาก็กลับมาพบผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากเกิดคลัสเตอร์การระบาดในกลุ่มชาวจีน 4 ราย

ซึ่งคลัสเตอร์ดังกล่าวยังนำมาสู่การแพร่ระบาดของไวรัสกลายพันธุ์จากสหราชอาณาจักร (B.1.1.7) อีกด้วย

เมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา กัมพูชาเคยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงที่สุดถึง 938 ราย ก่อนจะค่อยๆ ลดลงมา วันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมา กัมพูชาได้ประกาศล็อกดาวน์พื้นที่เสี่ยงสูง อย่างกรุงพนมเปญและเมืองตาเขมา นานเกือบสามสัปดาห์

ล่าสุดกัมพูชาฉีดวัคซีนโดสแรกให้ประชาชนแล้ว 2.1 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 13 ของประชากรราว 16 ล้านคน

และมีประชาชนราว 1.2 ล้านคน หรือร้อยละ 7.5 ของประชากรที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 โดสแล้ว

โดยเบื้องต้นกัมพูชาตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ประชาชน 10 ล้านคน

และคาดว่าภายในกลางปี กัมพูชาจะสามารถฉีดวัคซีนให้ร้อยละ 95 ของประชาชนทั้งประเทศ

3. ฟิลิปปินส์กลับมาพบผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง สาเหตุสำคัญก็คือการแพร่ระบาดของไวรัสกลายพันธุ์ชนิดใหม่ ซึ่งตอนนี้ฟิลิปปินส์พบไวรัสกลายพันธุ์อย่างน้อย 5 สายพันธุ์ ทั้งอังกฤษ แอฟริกาใต้ บราซิล อินเดีย และสายพันธุ์ที่พบในฟิลิปปินส์เอง

เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทางการฟิลิปปินส์เปิดเผยเกี่ยวกับความคืบหน้าการสั่งจองวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของบริษัทไฟเซอร์จำนวน 40 ล้านโดส ที่ทำให้ฟิลิปปินส์กลายเป็นประเทศที่สั่งจองวัคซีนของไฟเซอร์มากที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน

โดยตอนนี้ฟิลิปปินส์ได้อนุมัติใช้วัคซีนของผู้ผลิต 4 ราย ได้แก่ แอสตร้าเซนเนก้า ไฟเซอร์ ซิโนแวค และสปุตนิก วี

ฟิลิปปินส์มีประชากรราว 108 ล้านคน ล่าสุดฟิลิปปินส์แจกจ่ายวัคซีนให้ประชาชนแล้ว 2.9 ล้านโดส โดยมีพลเมืองราว 1.5 ล้านรายที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วอย่างน้อยหนึ่งโดส และมีราว 676,000 รายที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบสองโดสแล้ว

4. เวียดนาม ทางการเมืองโฮจิมินส์ เมืองหลวงประเทศเวียดนาม ยกระดับมาตรการป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 เป็นเวลาทั้งหมด 15 วัน โดยจะเริ่มตั้งแต่ 31 พฤษภาคม เป็นต้นไป ขณะที่ทางกระทรวงสาธารณสุขเวียดนามระบุว่า ประเทศได้ค้นพบการระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งมีคุณสมบัติที่เหมือนสายพันธุ์ซึ่งถูกค้นพบครั้งแรกที่อังกฤษ และอินเดีย

ทางการเวียดนามรายงานว่า ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วประเทศ 512 คน ภายในช่วง 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ประเทศมียอดผู้ติดเชื้อทะลุเกิน 500 คนต่อวัน

5. กระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซียเปิดเผยว่า ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 29 พฤษภาคมที่ผ่านมามีจำนวน 5,862 ราย ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 1,803,361 ราย ซึ่งเป็นจำนวนสูงที่สุดในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)

ขณะนี้ การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ลุกลามไปทั้ง 34 จังหวัดของอินโดนีเซีย

6. พม่า ที่น่ากลัวเพราะอยู่ในสถานการณ์กึ่งสงคราม การระวังเรื่องโรคระบาดจึงเป็นเรื่องรอง คนติดเชื้อมากขึ้น ไม่มีตัวเลข และมีคนแอบข้ามแดนเข้ามาทุกวัน โอกาสการระบาดข้ามแดนด้านนี้สูงสุด

 

ประเทศไทยจะแก้ปัญหาอย่างไร?

โควิดเป็นโรคระบาดที่จะสามารถขยายตัวไปทำลายวิถีชีวิตปกติในสังคม และทำให้คนเสียชีวิต โรคนี้ทำให้คนกลัว และความกลัวบวกกับมาตรการที่เราใช้สกัดมัน เช่น ล็อกดาวน์เมือง ก็ส่งผลต่อชีวิตของผู้คนในโลก เราต้องเสียทรัพยากรและบุคลากรเพื่อทำการป้องกัน รักษาชีวิตและโอกาสทำมาหากิน โอกาสในการใช้ชีวิตในด้านต่างๆ ความสุขความสบาย

1 ปีที่ผ่านมาถ้าไม่สกัดมันเราก็เสียหายหนัก และแม้ออกแรงสกัดมันเราก็ยังแย่อยู่ดี โควิดไม่ไปไหนแต่อยู่ในสังคมมนุษย์

ดูจากข่าวและตัวเลขตามตารางจะเห็นว่าหลายประเทศเงียบหายไปแล้วก็กลับมาอีก สภาพความเป็นจริงของการดำรงชีวิต ทำให้เราจะต้องทำทั้ง 2 อย่างคือ ทั้งสกัดโรคติดต่อนี้และแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและปรับวิถีชีวิตของผู้คนไปพร้อมกัน

รัฐบาลต้องทำอะไร?

1. การป้องกันและตั้งรับ Covid-19 ในขั้นระบาดทั่วประเทศ สกัดการแพร่เชื้อโดยใช้วัคซีนที่ WHO รับรอง ต้องหามาให้เร็วสุด ควรยกเว้นภาษีทุกชนิด คุมราคาให้เหมาะสมและรัฐช่วยอุดหนุนในอัตราเท่ากันทุกคน ส่วนเกินออกเงินเอง ใครฉีดฟรีก็ต้องอำนวยความสะดวก โดยฝึกเจ้าหน้าที่ขึ้นมาเพิ่มเติม เพื่อช่วยให้มีประสิทธิภาพ และฉีดได้จำนวนมากในแต่ละวัน ถ้าต้องการฉีด 500,000 โดสต่อวัน

สิ่งที่เราด้อยกว่าประเทศอื่นคือเราเข้าไม่ถึงวัคซีน และมีคนมองผลประโยชน์ในท่ามกลางการระบาดของโรคมากไปหน่อย ทำให้ทุกเรื่องติดขัดชักช้า

2. การรักษาผู้ป่วย เราจะวัดความมั่นคงทางสาธารณสุข ว่าเราเตรียมพร้อมแค่ไหน เมื่อมีคนติดเชื้อถึง 10,000 คน เรามีโรงพยาบาล เตียง และโรงพยาบาลชั่วคราว พอหรือไม่ เช่น เครื่องมือแพทย์ หน้ากากป้องกัน ชุดป้องกันของแพทย์ เครื่องช่วยหายใจ สถานการณ์แบบนี้อาจเกิดขึ้นได้อีกไม่นาน ตอนนี้มาเลเซียกังวลมาก

3. แก้ปัญหาเฉพาะหน้าของคนไม่มีจะกิน

มันเกิดขึ้นกับคนจำนวนมากหลังจากที่ตกงานหรือต้องหยุดงาน หยุดการทำมาค้าขาย บางคนอาจจะมีเงินเหลืออยู่บ้างแต่ใช้ไม่กี่วันก็หมด โดยเฉพาะครอบครัวที่อยู่กัน 5-6 คน จะมีคนจำนวนมากที่ไปเข้าโปรแกรมขอรับเงินเดือนละ 5,000 บาทไม่ได้

พวกเขาเป็นชนชั้น 2 G ถ้าเขาจะอยู่บ้านได้ จะต้องมีอาหาร อย่างน้อยต้องมีข้าว มีน้ำมัน คนเหล่านี้แม้มีจำนวนมากแต่ไม่ได้อยู่รวมกัน กระจายไปทุกหมู่บ้านชุมชน ยากจน ในหมู่คนจนยังมีคนที่จนที่สุด ที่ไม่มีอะไรจะกิน

ตอนนี้ความจนกระจายออกจากชนชั้นกลาง สู่ชนชั้นล่าง ลงไปสู่คนจนธรรมดา และจนมาก

4. จัดสรรการใช้งบประมาณให้ถูกต้องตามสถานการณ์

ไม่ควรนำไปซื้อของที่ยังไม่จำเป็นใช้ตอนนี้ พวกอาวุธ เครื่องบิน เรือ รออีก 2-3 ปีก็ได้ ตอนนี้ถึงเวลาที่จะต้องใช้งบประมาณกลางหรือจะตัดเงินจากงบประมาณอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นซึ่งขณะนี้มีผู้เสนอหลายรูปแบบ แต่ที่สำคัญต้องเร่งด่วนเพื่อนำเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน แต่ควรทำให้ตรงเป้า เป้าหมายอันดับแรกที่เดือดร้อนที่สุดจนที่สุดไม่มีอะไรกินนั่นแหละ ต้องทบทวนเรื่องงบประมาณให้ดี

ถ้าสถานการณ์หนัก แล้วยังอยากจะใช้เงินตามใจชอบ อาจมีเรื่องได้

ถ้ารัฐทำทั้ง 4 ข้อไม่ได้ ประชาชนคงต้องหาคนทำได้มาทำแทน