ปืนอาก้ายังหาย แล้วจะแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้?/บทความพิเศษ อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์

บทความพิเศษ

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)

[email protected]

 

ปืนอาก้ายังหาย

แล้วจะแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้?

 

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ ขอความสันติและความจำเริญแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

หลังข่าวถูกเผยแผ่สื่ออย่างรวดเร็ว ว่า “ปืนอาก้ากองร้อย อส.เมืองนราธิวาสล่องหน 28 กระบอก” โดย ผกก.เมืองนราธิวาสวิทยุด่วนรายงาน ผบ.ตร. ปืนอาก้า 28 กระบอกหายไปจากกองร้อยอาสาสมัครรักษาดินแดนอำเภอเมืองนราธิวาสที่ 2 รายละเอียดอยู่ระหว่างการสอบสวน เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 (หมายเหตุอ่านรายละเอียดใน https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_6417196)

รอมฎอน ปันจอร์ นักวิชาการจาก Deepsouth Watch ให้ทัศนะผ่านเฟซบุ๊กตั้งคำถามไว้อย่างน่าสนใจว่า “อยู่ๆ ปืนอาก้าก็ #สูญหาย ไปจากกองร้อย อส.ที่นราธิวาส 28 กระบอกครับ หลายปีมานี้รัฐไทยทุ่มทรัพยากรในการเสริมสร้างสิ่งที่เรียกว่า #กองกำลังประจำถิ่น เพื่อรับมอบการถ่ายโอนภารกิจจาก #ทหารหลัก นัยว่าสถานการณ์ดีขึ้น ไม่จำเป็นต้องจัดวางกำลังจากหน่วยที่มีต้นทุนสูงเอาไว้

“แต่การเสริมสร้างที่ว่านี้ก็มีต้นทุน การจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ก็ดำเนินมาหลายปีต่อเนื่อง สูญงบประมาณที่มาจากภาษีเราๆ ไปไม่น้อยนะครับ เพื่อแลกกับกำลังพล อส.ที่มีการประมาณการว่าไม่ต่ำกว่า 8 พันนายที่กระจุกตัวในพื้นที่แห่งนี้

ตกลงมันหายไปได้ไง?”

ในขณะที่ถ้าหากเราดูระเบียบการเบิก การนำไปใช้ในกองทัพ ย่อมไม่ยากและสามารถตรวจสอบได้ไม่ยาก (โปรดดู http://j4.rtarf.mi.th/pdf/LAW_ORDER/Gun2560.pdf)

คำถามที่ตามมาจะตรวจสอบได้ไหม มีวงจรปิดไหม ประชาชนคนธรรมดาจะเดินเข้าเอาไปได้ ใครจะรับผิดชอบ รับผิดชอบอย่างไร

เหตุการณ์ทำนองนี้มีที่อื่นๆ อีกไหม แต่ไม่เป็นข่าว

คดีหลายคดีที่ชายแดนภาคใต้มีปืนเหล่านี้ (ที่หาย) ด้วยไหม ถ้ารั่วเร็วง่ายเช่นนี้ ที่ดินแดนชายแดนภาคใต้อันเป็นพื้นที่ความขัดแย้งอยู่แล้ว มีปืน อาวุธสงคราม ทั้งที่ถูกกฎหมาย ผิดกฎหมาย กี่กระบอก จะรับประกันได้อย่างไรว่าเอาไปใช้ตามวัตถุประสงค์

เหล่านี้คือโจทย์ใหญ่ จนชาวบ้านถามว่า “ปืนอาก้ายังหาย แล้วจะแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้?”

 

ย้อนรอยปล้นปืนค่ายปิเหล็ง

ปืนหาย 28 กระบอก ซึ่งก่อนหน้านี้ 17 ปีไฟใต้ ปืนในค่าย “ปิเหล็ง” เคยถูกปล้น ต้องยอมรับข่าวดังเกี่ยวกับปืนหายที่นราธิวาสเมื่อวันอังคารที่ 25 พฤษภาคม 2564 ในมือเจ้าหน้าที่นั้นทำให้ประชาชนชายแดนภาคใต้นึกถึงเหตุการณ์ปล้นปืนในค่ายปิเหล็ง ก่อนไฟใต้ปะทุเมื่อ 17 ปีที่ผ่านมา

เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 เกิดเหตุการณ์ปล้นปืนจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ค่ายปิเหล็ง” ในตำบลปิเหล็ง อำเภอเจาะไอร้อง ครั้งนั้นทหารเสียชีวิต 4 นาย กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ระบุว่า คนร้ายได้อาวุธปืนไป 413 กระบอก ซึ่งที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ยึดคืนมาได้ 94 กระบอก

ส่วนผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับคดี ป.วิอาญา ร่วมกันบุกปล้นปืน มีจำนวน 11 คน ถูกจับได้ 2 คน คือ นายมะซูกี เซ้ง และนายซาอีซูน อับดุลรอฮะ พร้อมอาวุธปืนของกองพันพัฒนาที่ 4 ถูกนำไปใช้ก่อเหตุในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 ถึงปี พ.ศ.2555

วันที่ 19 มกราคม 2554 กลุ่มคนร้ายประมาณ 40 คน ได้เข้าโจมตีฐานกองร้อยทหารราบที่ 15121 หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 38 หรือที่เรียกกันติดปากว่า “ฐานพระองค์ดำ” ซึ่งตั้งอยู่เขตอำเภอระแงะ มีทหารเสียชีวิต 4 นาย บาดเจ็บ 13 นาย ปืนกว่า 60 กระบอกและกระสุนกว่า 5,000 นัดถูกปล้นไป

วันที่ 9 มีนาคม 2555 กลุ่มคนร้ายเข้าบุกโจมตีฐานปฏิบัติการ 2 จุด คือ ฐานปฏิบัติการหมวดปืนเล็กที่ 2 กองร้อยปืนเล็กที่ 1 ชุดเฉพาะกิจนราธิวาส 32 ซึ่งตั้งอยู่บ้านส้มป่อย และจุดที่ 2 ที่กองบังคับการชุดเฉพาะกิจนราธิวาส 32 ซึ่งตั้งอยู่ภายในสำนักงานการประปาส่วนภูมิภาค เขตเทศบาลตำบลบาเจาะ ทำให้ทหารบาดเจ็บ 12 นาย

วันที่ 9 พฤษภาคม 2555 กลุ่มคนร้ายได้เตรียมเข้าโจมตีฐานปฏิบัติการร้อย ร.15124 ฉก.นราธิวาส 30 ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนสายเปาะลามะ-รือเสาะ บริเวณบ้านกาโดะ แต่ปฏิบัติการครั้งนั้นล้มเหลว เนื่องจากทหารทราบข่าว ก่อนที่กลุ่มคนร้ายจะเข้าโจมตี ทำให้ทหารบาดเจ็บ 1 นาย คนร้ายเสียชีวิต 2 คน

วันที่ 17 กรกฎาคม 2555 คนร้ายบุกโจมตีฐานปฏิบัติการกองร้อยทหารราบที่ 15123 (ร้อย ร.15123) หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 30 ที่อำเภอรือเสาะ มีทหารเสียชีวิต 1 นาย ประชาชนเสียชีวิต 2 ราย

 

เรื่องปืนหาย วงในรู้มานานแล้ว

ผู้เขียนลงพื้นที่พูดคุยกับ อส.คนสนิทและประธานสื่อชายแดนใต้ยืนยันตรงกันว่า เรื่องปืนหาย วงในรู้มานานแล้ว และการจะเป็น อส. (หลายคน) ปัจจุบันนี้มีข่าวลือต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะไม่ต่ำกว่าหนึ่งแสนบาท เป็นแรงจูงใจที่นำปืนไปขายหรือจำนำหรือไม่

มีกระแสข่าวว่า อส.ที่ไปจำนำปืนจะมี 2 ส่วน คือ อส.ที่ติดยา กับ อส.ที่ติดการพนัน หรือไม่ก็จำนำเพื่อแลกบางอย่างมาในทางผลประโยชน์

เรื่องจำนำปืน ไม่ได้มีเฉพาะ อส.หน่วยเดียว แต่ทหาร ตำรวจ ก็มีเหมือนกัน ลองเช็กดูได้ แต่มันจะไม่เป็นเรื่องถ้าไม่ได้มีการนำไปใช้ก่อเหตุรุนแรง

เมื่อไหร่มีการนำปืนไปใช้ก่อเหตุ ก็จะรู้เลยว่าเป็นปืนของใคร เพราะเลขรหัสมันมีทุกกระบอกว่าของใคร ใครเบิกไป ใครต้องรับผิดชอบ

ก็เหมือนตอนที่โจรยิง อส.แล้วเอาปืนไปด้วย ก็สามารถรู้ได้ว่าเป็นปืนที่ถูกปล้นไป เป็นของ อส.คนไหน ถ้าหากมีการใช้ที่ไหน ก็สามารถรู้ได้เลย…

บางคนก็เอาปืนไปจำนำในวงไพ่เลยก็มี เล่นๆ อยู่…เสีย ก็เอาปืนวาง เคยมีตัวอย่างเคสป้อม ชรบ.ที่เคยโดนถล่ม ตั้งวงพนัน ก็มีคนเอาปืนไปจำนำ…

ถ้าเรียกตรวจทุกอำเภอ ก็จะเจอหายทุกอำเภอแน่ ลองเรียกเช็กตามความเป็นจริงดู

ยิ่งฟังโฆษก กอ.รมน.4 แจงแล้ว เหนื่อยแทน

“ปืนทั้ง 28 กระบอกไม่ใช่เพิ่งหายและไม่ได้หายไปในล็อตเดียวกัน แต่เป็นการทยอยหาย หรืออาวุธปืนหายสะสมในภาพรวมในห้วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งนายอำเภอ จ.นราธิวาส ได้สำรวจสถานภาพของอาวุธปืนใหม่ว่า มีอยู่จำนวนเท่าไร หายไปอีกกี่กระบอก” (https://www.facebook.com/1245604111/posts/10226015017662429/?d=n)

 

ใครต้องรับผิดชอบ

รอมฎอน ปันจอร์ นักวิชาการจากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch)เขียนเฟซบุ๊กส่วนตัวจี้ “ผู้ว่าราชการจังหวัดและแม่ทัพภาคที่ 4” แจงปืนหาย 28 กระบอกโดยกล่าวว่า ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ต้องตอบคำถามเกี่ยวกับ #ปืนหาย ที่นราธิวาสมีอย่างน้อยๆ 2 คนครับ คือผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส และแม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า คนแรกถือว่าเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของอาสาสมัครรักษาดินแดน คนหลังคือคนที่คุมสายบังคับบัญชาพิเศษในพื้นที่พิเศษอย่าง จชต. กำลัง อส. ถือเป็นกำลังประจำถิ่นที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของเขา

หากไม่สื่อสารต่อสาธารณะ อย่างน้อยๆ พวกเขาก็ต้องบันทึกส่ง #นาย เพื่อแจกแจงรายละเอียดในเรื่องนี้โดยเร็ว แต่ก็นั่นแหละ เราๆ ก็ต้องการให้มีการบอกกล่าวชี้แจงด้วยเช่นกัน

ปืนอาก้า 102 จำนวน 28 กระบอก ซึ่งมีข้อมูลเผยแพร่ต่อสาธารณะบ้างแล้วว่าเริ่มหายไปตั้งแต่ปี 2555 แต่ก็เป็นเพียงกระบอกสองกระบอก ล็อตใหญ่ล่าสุดจำนวน 19 กระบอก ทางการตรวจสอบว่าหายไปเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม หรือวันอาทิตย์ที่แล้ว สำรวจราคาเบื้องต้นน่าจะตกอยู่ที่อย่างต่ำราคากระบอกละ 8 หมื่นบาท ก็ตกอยู่ในราว 2.24 ล้านบาท

แต่งบประมาณที่สูญไปนี้จะถือว่าไม่สลักสำคัญเลย เมื่อเทียบกับความปลอดภัยของสาธารณะที่มีราคาของชีวิตผู้คนสูงเทียบค่าไม่ได้ ไม่มีใครรู้ว่าอาวุธปืนสงครามถูกเอาไปใช้อย่างไรบ้าง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ไม่เฉพาะคนถือปืนหนาแน่นใน จชต.แห่งนี้เท่านั้น หากแต่จำนวนปืนก็แออัดไม่แพ้กัน

อยากรู้เหมือนกันว่าในปีงบประมาณล่าสุดนี้ จะมีการจัดซื้ออาวุธประจำกายแบบนี้ให้กับกองกำลังประจำถิ่นอื่นใดอีกบ้าง คงต้องแคะแกะดูในเอกสารงบประมาณครับ

 

อย่างไรก็แล้วแต่ งบประมาณอื่นๆ ลด แต่งบฯ หน่วยความมั่นคงไม่ลดแม้ช่วงโควิด โดยเฉพาะชายแดนใต้ ซึ่ง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง จากพรรคประชาชาติ ตั้งข้อสังเกต รัฐบาลตั้งงบฯ ผูกพัน 3 ปี 640,513,300 ล้านบาท กอ.รมน.สร้างรั้วตาข่ายเหล็ก ชายแดนไทย-มาเลเซีย ที่ อ.ตากใบ โดยเริ่มสร้างปี 2565 จำนวน 128,102,700 บาท

รัฐบาลทหารกำลังทำอะไร และชะตากรรมชาว จชต.จะเป็นอย่างไร?