โควิด-19 ยิ่งซ้ำเติม ความเหลื่อมล้ำรวย-จน/กาแฟดำ สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

 

โควิด-19 ยิ่งซ้ำเติม

ความเหลื่อมล้ำรวย-จน

 

ภาพมันย้อนแย้งกันเหลือเกิน

ในโลกร่ำรวย ผู้คนกลับมาใช้ชีวิตเกือบปกติ ร้านรวงเปิดทำธุรกิจแล้ว กิจกรรมสังคมกลับมาคึกคัก มีวัคซีนฉีดกันมากเกินพอ

ในโลกยากแค้น ผู้คนล้มตาย คนติดเชื้อพุ่ง วิ่งหาวัคซีนกันจ้าละหวั่น

หลายประเทศที่ตกอยู่ในสภาพย่ำแย่นั้น ไวรัสโควิดยังอาละวาดอย่างกว้างขวาง คนไข้ล้นโรงพยาบาล อุปกรณ์ขาดแคลน

แม้แต่คนเปราะบางที่สุดก็ไม่อาจจะร้องขอความช่วยเหลือ

นี่คือภาพความเหลื่อมล้ำของสถานการณ์โควิด-19 ในระดับโลกที่เห็นอยู่ขณะนี้

 

แรกเริ่มนั้น องค์การอนามัยโลกรับปากว่าจะเป็นกลไกกลางที่จะสร้างความเป็นธรรมในการแสวงหามาตรการต่อสู้กับโควิดในระดับโลก

อย่างน้อย 192 ประเทศลงนามร่วมกันในการแบ่งปันวัคซีน เรียกมันว่า Covax

มูลนิธิของบิล เกตส์ ประกาศบริจาคเงิน 300 ล้านเหรียญ (เกือบหนึ่งหมื่นล้านบาท) ช่วยโรงงานผลิตวัคซีนในอินเดียเพื่อแจกจ่ายไปให้กับประเทศยากจนของโลก

ตัวแทนของสหภาพยุโรปประกาศในที่ประชุมสุดยอดระดับโลกเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้วว่า

“การได้รับวัคซีนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานสากลของมนุษย์”

นั่นแปลว่ามนุษย์ทุกคนในโลกจะต้องมีสิทธิเข้าถึงวัคซีนอย่างทันท่วงที

แต่ความเป็นจริงของโลกหาเป็นเช่นนั้นไม่

ทุกวันนี้ โคโรนาไวรัสตัวนี้แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและหนักหน่วงกว่าเดิมในหลายๆ ประเทศ เช่น ที่อินเดียและอเมริกาใต้

สิ่งที่เข้าใจว่าเป็นการรณรงค์ระดับโลกเพื่อให้คนป่วยในประเทศที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุดนั้นเข้าสู่ภาวะไร้ทิศทาง

ปกติ อินเดียเป็นประเทศที่ผลิตวัคซีนเพื่อใช้เองและแจกจ่ายทั่วโลก

แต่วันนี้ อินเดียกลายเป็นแหล่งแพร่ระบาดที่ร้ายแรงที่สุด และจำเป็นต้องระงับการส่งออกวัคซีนเพื่อปักหลักสู้กับไวรัสอย่างหนักหน่วง

ทำให้การผลิตและขนส่งวัคซีนจากอินเดียที่เดิมวางตัวเป็นแหล่งผลิตเพื่อประเทศยากจนต้องหยุดชะงัก

ที่บราซิล วัคซีน AstraZeneca ถูกส่งมาถึงอย่างกะปริบกะปรอย

ถึงวันนี้ประเทศนั้นได้รับวัคซีนตัวนี้เท่ากับ 10% ที่อยู่ในข้อตกลงเมื่อกลางปีก่อน

ขณะที่ผู้คนบราซิลล้มป่วยและตายเป็นจำนวนสูงอันดับต้นๆ ของโลก

โควิด-19 จึงไม่ใช่เพียงประเด็นสาธารณสุขและวิทยาศาสตร์การแพทย์เท่านั้น

หากแต่กำลังเป็นประเด็น “ความรับผิดชอบทางด้านศีลธรรม” ของประเทศที่ร่ำรวยทั้งหลายกำลังมองข้าม

เพราะสัญชาตญาณ “ตัวใครตัวมัน” อยู่เหนือ “ความสำนึกแห่งมโนธรรม” ที่ต้องช่วยเหลือเกื้อกูลประเทศที่มีฐานะอ่อนแอย่ำแย่กว่า

อุปสรรคสำคัญไม่ได้อยู่ที่งบประมาณสำหรับการผลิตวัคซีนเท่านั้น หากแต่ยังอยู่ที่การขนส่งให้ไปถึงจุดหมายปลายทางตรงเวลาและในสภาพที่ยังรักษาคุณภาพทางด้านตัวยาอีกด้วย

มีการประเมินกันว่าทุก 1 เหรียญที่ใช้ในการผลิตวัคซีนนั้น ต้องใช้อีก 5 เหรียญเพื่อให้แน่ใจว่าวัคซีนชุดนั้นๆ จะถูกขนถ่ายจากสนามบินไปถึงคนที่รอคอยการฉีดอยู่

เพราะโควิด-19 ได้ก่อให้เกิดวิกฤตด้าน logistics หรือการขนส่งจากมุมต่างๆ ของโลกไปสู่อีกจุดหนึ่งที่ห่างไกลและชะงักเพราะการระบาดของโรคร้าย

การไร้งบประมาณเพื่อว่าจ้างและฝึกฝนเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขเพื่อร่วมปฏิบัติการด้านการฉีดวัคซีนทำให้ในหลายกรณีนั้นวัคซีนที่ส่งไปถึงประเทศนั้นๆ ติดอยู่ในโกดังเพราะขาดแคลนเจ้าหน้าที่และงบประมาณ

วัคซีนเป็นจำนวนไม่น้อยหมดอายุก่อนที่จะถูกแจกจ่ายและฉีดให้กับผู้ที่รอคอยอย่างใจจดใจจ่อในหลายประเทศ

ยิ่งการกระจายและฉีดวัคซีนที่เรียกว่า roll-out ถูกทำให้ล่าช้าเท่าใดก็ยิ่งทำให้การระบาดของไวรัสร้ายตัวนี้หนักหน่วงและกว้างขวางเพียงนั้น

แม้โลกตะวันตกบางประเทศจะเริ่มรับปากจะส่งมอบวัคซีนให้กับประเทศด้อยพัฒนา เช่น อเมริกาจะส่ง 60 ล้านโดส และ 1 ล้านโดสจากสวีเดน

แต่ “วัคซีนบริจาค” ส่วนนี้เป็นเพียงส่วนน้อยนิดของความต้องการของประเทศที่กำลังรอคอยความช่วยเหลืออย่างเร่งร้อน

และหลายประเทศร่ำรวยก็ยัง “กั๊ก” วัคซีนอีกจำนวนหนึ่งไว้เผื่อจะต้องให้ประชาชนของตนฉีดเพิ่มในกรณีที่ไวรัสเกิดกลายพันธุ์ขึ้นมา

 

การระบาดของโควิด-19 จึงตอกย้ำอีกครั้งหนึ่งว่าความเหลื่อมล้ำหลังโควิดจะยิ่งหนักหน่วงขึ้น

เพราะหลังโควิดแล้ว เศรษฐกิจของประเทศร่ำรวยก็จะฟื้นอย่างแรง และประเทศยากจนก็จะยิ่งจมดิ่งสู่ก้นเหวของความยากไร้หนักขึ้น

ร้ายยิ่งกว่านั้นเมื่อเผชิญกับความเสียหายอันเกิดจากโควิดแล้วรัฐบาลและบริษัท (ที่รอดตาย) จะมีความลังเลในการลงทุนระยะยาวเพื่อความยั่งยืน

แต่จะเน้นเฉพาะการแก้ปัญหาระยะสั้น

ดังนั้น นักการเมืองและผู้บริหารเอกชนบางส่วนเท่านั้นที่จะฉวยจังหวะของวิกฤตเพื่อสร้างโอกาสในการสร้างนวัตกรรมและปฏิรูประบบและรูปแบบการบริหารอย่างจริงจัง

แต่ส่วนใหญ่จะคิดเพียงการเอาตัวรอดระยะสั้น

ยิ่งทำให้ช่องว่างระหว่างคนที่ได้ประโยชน์จากวิกฤตกับคนด้อยโอกาสห่างกันมากขึ้น

 

กรณีที่แบงก์ชาติตั้งกลไก “Asset Warehousing” หรือ “โกดังทรัพย์สิน” ซึ่งต่อมาเปลี่ยนให้เข้าใจง่ายขึ้นด้วยการใช้คำว่า “พักทรัพย์, พักหนี้” ก็เป็นตัวอย่างที่พยายามป้องกันการที่ “ปลาใหญ่กลืนปลาเล็ก” ที่หวั่นเกรงกัน

ในภาวะวิกฤตที่คนตัวเล็กตัวน้อยขาดสภาพคล่อง และมองไม่เห็นทางรอดในอนาคตอันใกล้ ก็เป็นโอกาสสำหรับ “ปลาใหญ่” ที่จะกว้านซื้อทรัพย์สินของเจ้าของธุรกิจที่ตกอยู่ในภาวะต้องดิ้นหนีตาย

ประวัติศาสตร์บอกเราว่าคนมีอำนาจต่อรองจะกดราคาทรัพย์สินเหล่านั้นขณะที่เจ้าของธุรกิจที่ทำท่าจะไปไม่รอดในระยะสั้นจำใจต้องขายออกเพื่อแลกกับสภาพคล่องระยะสั้น

สิ่งที่ตามมาก็คือการที่ “ปลาใหญ่กลืนกินปลาเล็ก” หมดสิ้น

ทำให้ธุรกิจน้อยใหญ่ตกไปอยู่ในมือของ “ปลาใหญ่”

ยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมเพิ่มพูนขึ้นอย่างมาก

สวนทางกับแนวทางที่กล่าวอ้างกันเสมอว่าจะลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน

ดังนั้น หากมีวิธีใดที่เจ้าของธุรกิจที่ขาดสภาพคล่องจะไม่ถูกบังคับและกดดันโดยสถานการณ์ที่จะต้องขายทรัพย์สินของตน สามารถที่จะ “ฝาก” ข้าวของของตนเอาไว้กับกลไกที่พร้อมจะรับซื้อเอาไว้ด้วยเงื่อนไขว่าจะขายคืนให้กับเจ้าของเดิมเมื่อสถานการณ์พลิกฟื้นกลับมา

นั่นก็จะเป็นวิธีการที่จะปกป้องผู้เปราะบางไม่ได้หมดเนื้อหมดตัวและหมดโอกาสในวันข้างหน้า

เพราะหากสังคมใดเผชิญกับการล่มสลายของ “ชนชั้นกลาง” เหลือแต่ชนชั้นบนสุดกับชั้นล่างสุดก็จะเกิดปัญหาความขัดแย้งในสังคมหนักขึ้น

 

จากปัญหาสาธารณสุขสู่วิกฤตเศรษฐกิจก็จะนำไปสู่ความตึงเครียดและวิกฤตทางสังคม

ท้ายสุด โครงสร้างสังคมอาจแตกสลายเพราะความเหลื่อมล้ำที่ย่ำแย่อยู่แล้ว

เมื่อโดนการโหมถล่มของเทคโนโลยี ทำให้เกิดช่องว่างกว้างขึ้นระหว่างผู้เข้าถึงทรัพยากรเทคโนโลยีกับผู้เข้าไม่ถึง ก็ยิ่งทำให้ช่องว่างนั้นถ่างออกไปอีก

พอโควิด-19 มาซ้ำเติมอีกชั้น ความปริแยกเดิมก็อาจจะเบ่งออกกลายเป็นหุบเหวแห่งหายนะได้ทีเดียว