ผู้นำนิสิตจุฬาฯ เปิดเบื้องหลัง ‘ขอโทษ’ พี่น้องสีชมพูหนุน ‘กปปส.’ ‘ไปอนาคตไม่ได้ ถ้าไม่รับผิดพลาดในอดีต’/เปลี่ยนผ่าน ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

เปลี่ยนผ่าน

ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

 

ผู้นำนิสิตจุฬาฯ

เปิดเบื้องหลัง ‘ขอโทษ’

พี่น้องสีชมพูหนุน ‘กปปส.’

‘ไปอนาคตไม่ได้ ถ้าไม่รับผิดพลาดในอดีต’

ปรากฏการณ์ที่องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) มีมติออกแถลงการณ์ขอโทษกรณี อบจ. (รุ่นก่อน) เคยเข้าร่วมการชุมนุมของกลุ่ม กปปส.ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2556 จนถึงการรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ได้สร้างแรงกระเพื่อมในหมู่ปัญญาชนคนรุ่นใหม่

กระทั่งมีแถลงการณ์ลักษณะเดียวกันถูกเผยแพร่ตามมาในอีกหลายมหาวิทยาลัย

ทีมข่าวการเมืองมติชนทีวีติดต่อขอสัมภาษณ์ “รัฐกร ใจเย็น” นิสิตคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ผู้ดำรงตำแหน่งนายก อบจ. ในระหว่างการออกแถลงการณ์ฉบับดังกล่าว ถึงเบื้องหลังและผลลัพธ์ของความเคลื่อนไหวครั้งนี้

: ที่มา-ที่ไปของการออกแถลงการณ์ เป็นอย่างไรบ้าง?

อันนี้ก็คือต้องยอมรับกันก่อนว่า สิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่เราสังเกตมาสักระยะหนึ่งแล้ว และมีความตั้งใจที่จะทำมาสักระยะหนึ่งแล้วเหมือนกัน คือตั้งแต่ช่วงต้นวาระ

ก็ต้องยอมรับก่อนว่า อบจ.ในยุคของผม มันค่อนข้างที่จะมีความหลากหลายในเรื่องของความคิดเห็นทางการเมือง ทีนี้เราเองก็ต้องจับตามองสถานการณ์อย่างใกล้ชิดก่อน ซึ่งในที่สุด เราก็เพิ่งมีโอกาสที่จะได้มาระดมความคิดเห็นกันในเรื่องของการสร้างความเคลื่อนไหวทางการเมือง

ถ้ามีคนติดตามเพจของ อบจ. ก็จะเห็นได้ว่าเราก็มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในเรื่องของการแสดงจุดยืนมาสักระยะหนึ่งแล้ว

ส่วนที่มานะครับ อันนี้ก็คือมาจากการที่หนึ่งในคณะกรรมการบริหารของ อบจ.ได้เสนอญัตตินี้เข้าในที่ประชุม และเราก็ได้มีการเปิดลงมติ ซึ่งการลงมติจะเป็นรูปแบบออนไลน์เพราะสถานการณ์โควิด

: เหตุผลที่เขาเสนอญัตตินี้คืออะไร?

อันนี้เราค่อนข้างเห็นตรงกัน คือมันเป็นวันครบรอบรัฐประหาร 7 ปีครับ ทีนี้ต้นตอที่มาของการรัฐประหารทั้งหมดมันก็เดาไม่ยากนะครับ ถ้าหากมีคนติดตามสถานการณ์การเมืองมาตั้งแต่หลายปีก่อน ก็มีที่มาจาก กปปส.ที่สนับสนุนในการทำรัฐประหารในยุคนั้น

ก็เลยเป็นที่มาของการที่เราจะต้องมารวบรวมความคิดเห็นในฝั่งของนิสิต แล้วก็ติดตามสถานการณ์ในยุคนั้นว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้าง อะไรที่ก่อให้เกิดปัญหาในยุคปัจจุบัน ซึ่งมันก็ออกมาจากปัญหาในอดีตนี่แหละครับ เราก็เลยได้มีการเปิดลงมติ แล้วถามความเห็นของนายกแต่ละคณะ

: ทำไมจึงมี 8 เสียง (9 เสียงเห็นด้วย) ที่ไม่เห็นด้วยกับการออกแถลงการณ์?

คือความคิดเห็นในเรื่องนี้มันค่อนข้างจะหลากหลาย แล้วมันมีหลายปัจจัยมากครับที่ส่งผลต่อการลงมติ แน่นอนว่าการที่เขาไม่เห็นด้วยในเรื่องการออกแถลงการณ์ ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่ได้มีจุดยืนเหมือนกับเราครับ มันมีหลายปัจจัยมากๆ

อย่างเช่น ฉันไม่เห็นด้วยกับประโยคนี้ ตัดออกดีไหม มันค่อนข้างจะกำกวม รวมไปถึงบางอย่างที่อาจจะเป็นเหตุผลส่วนตัว เหตุผลทางบ้าน ซึ่งในเรื่องนี้เราก็เข้าใจในจุดยืนของเขาดี มันค่อนข้างมีความเห็นที่หลากหลายมาก แต่ว่าค่อนข้างมั่นใจครับว่าจุดยืนของนายกแต่ละคณะในยุคนี้ก็ “เห็นไปทางเดียวกัน” ครับ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ถึงแม้จะมีผลมติที่ออกมาไม่เอกฉันท์ ก็เป็น 9 ต่อ 8 แล้วก็งดออกเสียงอีก 4 เสียง ในที่นี้ สำหรับพวกผม ก็คือทำตามกลไกประชาธิปไตยครับ ที่สุดท้ายแล้ว มันก็คือการที่มตินี้ผ่านอยู่ดี

: การออกแถลงการณ์นี้ จะทำให้องค์การนักศึกษาถูกมองว่าไปมุ่งโจมตีกลุ่ม กปปส.เดิมหรือไม่?

ในจุดนี้ เราก็เข้าใจว่ามันจะมีกลุ่มคนที่มองว่าองค์การนักศึกษาควรจะวางตัว “เป็นกลางทางการเมือง” ถูกไหมครับ? แต่พวกเรามองเห็นต่างออกไปครับ เรามองว่าองค์การนักศึกษา บทบาทและหน้าที่ของเราก็คือเป็นกระบอกเสียงให้แก่นักศึกษา รวมถึงประชาชนคนไทยด้วยครับ

ครั้งนี้เราแค่ทำตามบทบาทและหน้าที่ครับ เราไม่ได้ทำตามความถูกใจ แต่ว่าเราทำตามความถูกต้อง ซึ่งครั้งนี้เราก็มีการลงมติอย่างถูกต้อง มีการบันทึก มีการทำเป็นวาระการประชุม ที่ถูกต้องตามหลักการของเราครับ แล้วก็มีการเปิดเผยว่าผลการลงมติเป็นอย่างไร

ก็มีการส่งแบบฟอร์มต่างๆ ให้นายกแต่ละคณะได้ตรวจสอบก่อน ที่เราสามารถกล่าวอ้างได้ว่ามันถูกต้อง เพราะว่านายกแต่ละคณะเขามาจากการเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์และถูกต้องครับ ดังนั้น เขาก็ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของนิสิตแต่ละคณะได้อย่างดีแล้วครับ

: หากย้อนกลับไปเมื่อ 7 ปีก่อน อบจ.รุ่นนี้ไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่ กปปส.กำลังเคลื่อนไหวทางการเมือง คำถามคือน้องๆ เข้าใจคนรุ่นนั้นได้อย่างไร?

เราก็อยู่ในประเทศเดียวกัน เราอาจจะอยู่กันคนละเจเนอเรชั่น แต่แน่นอนครับว่าสถานการณ์การเมือง ข่าวสารบ้านเมือง ในยุคนี้เราสามารถติดตามได้ตลอด

เราเองอาจจะไม่ทันในเรื่องของการที่เราจะออกไปร่วมชุมนุมกับเขา หรืออยู่ในสถานการณ์ที่เรามีบทบาทหรือหน้าที่ที่มีอำนาจต่างๆ ในการมีส่วนสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองในตอนนั้น แต่แน่นอนครับว่าเราก็เป็นหนึ่งในผู้มีส่วนได้เสีย ถือว่าเป็นประชาชนที่มีชีวิตอยู่ในยุคนั้นเช่นกันครับ

7 ปีก่อน ถ้าเทียบกับผม ผมก็อายุประมาณ 16 ปี อยู่ ม.ปลาย แน่นอนครับว่านายกทุกคณะก็อยู่ประมาณ ม.ปลายกันหมด ตอนนั้น เราก็มีวิธีการคิดแบบมีวิจารณญาณพอสมควรแล้ว เราเองก็เข้าใจสถานการณ์เหมือนกันครับ และยิ่งเรามาทำในจุดนี้ เรายิ่งเข้าใจภาพรวมมากขึ้นครับ

: แถลงการณ์นี้จะสร้างความแตกแยกในประชาคมจุฬาฯ หรือไม่? เช่น ล่าสุดที่มีวิวาทะระหว่างคณะจุฬาฯ กับผู้ใหญ่ที่เป็นศิษย์เก่า เรื่อง “ไดโนเสาร์กินเนื้อ-ไดโนเสาร์กินขี้”

เราไม่ได้มองว่าเราจะสร้างความแตกแยกนะครับ แต่เรามองว่าเรากำลังอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่าน เราต้องการจะก้าวข้ามไปข้างหน้า เราต้องการที่จะมองไปยังอนาคต

แต่ว่าเราจะไปอนาคตไม่ได้เลยครับ ถ้าเรายังไม่ยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในอดีต ก่อนที่เราจะก้าวข้ามอะไรบางอย่าง เราต้องยอมรับความผิดพลาดที่เราเคยก่อไว้ก่อนครับ เราถึงจะก้าวข้ามได้อย่างมีประสิทธิภาพครับ

ส่วนในเรื่องของวิวาทะไดโนเสาร์ แน่นอนว่าในการดีเบตทุกครั้ง มันต้องมีวาทกรรมต่างๆ ออกมาอยู่แล้ว ในยุคก่อนๆ ก็จะแบ่งเป็นขั้วระบอบทักษิณ แบ่งเป็นสลิ่ม มันก็มีวิวาทะแบบนี้ออกมาอยู่แล้ว

แต่ว่าจะเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน ผมมองว่าให้กาลเวลาเป็นตัวตัดสินจะดีกว่าครับ