บนเส้นทางท่องเที่ยว เปิด ‘ภูเก็ต’ รับต่างชาติ 1 ก.ค.จะเห็นรอยยิ้มหรือหยาดน้ำตา/เศรษฐกิจ

เศรษฐกิจ

 

บนเส้นทางท่องเที่ยว

เปิด ‘ภูเก็ต’ รับต่างชาติ

1 ก.ค.จะเห็นรอยยิ้มหรือหยาดน้ำตา

 

ถึงวันนี้ภาครัฐทั้งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ยังยืนยันประสานเสียงแข็งขันว่า ประเทศไทยจะสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยนำร่องผ่านภูเก็ตโมเดล เริ่มได้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 นี้อย่างแน่นอน

โดยยึดแนวทางความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนให้คนในพื้นที่ภูเก็ตแล้วกว่า 3 แสนโดส และในเดือนมิถุนายนนี้จะมีวัคซีนเข้ามาเพิ่มอีก 2.5 แสนโดส ซึ่งเป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เพียงฉีดวัคซีน 1 เข็ม สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้มากกว่า 80% พอมั่นใจได้ว่าจะเพียงพอทำให้คนภูเก็ตที่ได้รับวัคซีนครบสัดส่วน 70% จากจำนวนคนในพื้นที่ทั้งหมด จะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้แล้ว

ก็ภาวนาเหลือเวลาอีก 1 เดือนจากนี้ก่อนกำหนดใช้เป็นพื้นที่เปิดประเทศไทยหลังเจอโควิด-19 มาปีเศษ ว่าจะได้รับวัคซีนมาฉีดครบตามจำนวนที่ขอไป เพื่อสามารถระดมฉีดวัคซีนในภาคเอกชนภูเก็ตได้ครบ ก่อนกดปุ่มเปิดประเทศ!!

 

ที่ผ่านมาต่างฝากความหวัง พื้นที่เกาะอย่างภูเก็ตเหมาะสมนำร่องเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวตามวิถีใหม่ เมื่อตัวแปรหลักสำคัญคือวัคซีนได้เริ่มฉีดแล้ว เมื่อมาอย่างราบรื่น ก็บับเบิลจับคู่จังหวัดต่อไปในพื้นที่แหล่งเที่ยวอื่นๆ เพียงไม่เกิน 3 เดือน หากทุกอย่างไปตามแผน เท่ากับแผนเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติถือว่าประสบความสำเร็จในระยะต้น

ความสำคัญของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าเป็นอุตสาหกรรมความหวังที่จะช่วยการฟื้นตัวและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้เร็วกว่าภาคการผลิตและการลงทุน กระทบต่อการฟื้นตัวของภาคบริการและภาคบริโภค อีกทั้งเป็นตัวขับเคลื่อนปลุกชีพธุรกิจเล็ก-ใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยวและบริการ

ซึ่งที่ผ่านมาเป็นที่ประจักษ์แล้ว การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกแรกปี 2563 ซ้ำระลอก 2 ข้ามปี จนถึงระบาดระลอก 3 ถึงวันนี้ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นหน้าด่านแรกที่เจอผลกระทบ กลัวติดเชื้อโควิด นักท่องเที่ยวต่างชาติหายไป 100% ทันที ขณะที่การระบาดซ้ำแล้วซ้ำอีก สุดท้ายตลาดท่องเที่ยวในประเทศก็ต้องชะงักตามไปด้วย แม้จะสามารถคุมการระบาดได้แล้ว แต่ความรู้สึกมั่นใจจะเดินทางต้องใช้เวลาสร้างความเชื่อมั่นระยะหนึ่ง

แต่ละรอบของการระบาดพบว่าใช้เวลาฟื้นความเชื่อมั่นก็ 2-3 เดือนเป็นอย่างน้อย

จึงไม่แปลกใจภาวะวิกฤตขณะนี้ที่หลายประเทศยังคุมไม่อยู่ การจะจูงใจนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาเที่ยวไทยก็ไม่ได้ง่าย

หรือแม้คนไทยเที่ยวไทย ก็อยู่ในภาวะลังเลเดินทางท่องเที่ยว เพราะกว่า 2 เดือนแล้วของการระบาดรอบ 3 จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดต่อวันอยู่ในระดับสูง และพบกลุ่มพื้นที่ผู้ติดเชื้อรายใหม่ (คลัสเตอร์) อย่างต่อเนื่อง

ความกังวลจึงฝังลึก!!

 

ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจึงเจอปัญหา 2 ด้าน คือ รายได้จากตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่เหลือ และขาดรายได้จากตลาดคนไทยเที่ยวไทย จึงมีเรื่องบ่นของธรุกิจสะท้อนถึงรัฐบาล จากนี้ธุรกิจจะยืนดำเนินการได้อย่างไร และไม่รู้ว่าจะรักษาการจ้างแรงงานได้นานแค่ไหน

ดังนั้น เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ วงเงินเป็นแสนล้านบาท โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจซื้อคืนได้ และ ธปท.ดึงสมาคมธนาคารไทย รับนโยบายรัฐบาลกำหนดแนวทางการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ให้รวดเร็ว เพียงพอ และถูกกลุ่มเป้าหมายอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี หนึ่งในนั้นคือกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว จะมีการพิจารณาความช่วยเหลือเป็นลำดับต้นๆ

จึงเป็นความหวังลึกๆ ต่อภาคธุรกิจที่จะมีเงินปัดฝุ่นทำความสะอาด มีเงินดึงแรงงานเข้าระบบอีกครั้งหลังเปิดประเทศแล้ว

แต่ในความเป็นจริง ภาคเอกชนออกมาโวยถึงทางปฏิบัติการพิจารณาปล่อยสินเชื่อ โดยถามตรงถึง ธปท.ว่าการที่ออกมานำหน้าในการขอให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น และผ่อนคลายเงื่อนไขให้เข้มข้นน้อยลง แต่การเข้าถึงสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะกรณีที่ต้องประเมินรายได้ของธุรกิจ ว่ามีความสามารถในการใช้คืนหรือไม่

ธุรกิจท่องเที่ยวจะฟื้นเมื่อไหร่แน่ ถือเป็นเงื่อนไขหลักที่นำมาประกอบการพิจารณามากที่สุดว่าจะปล่อยกู้ให้ดีไหม นั่นคือ หากมองประเด็นนี้ก็คงไม่ได้รับอนุมัติตั้งแต่ต้น เพราะรู้กันดีว่า ธุรกิจท่องเที่ยวได้รับผลกระทบมามากกว่า 1 ปีแล้ว บัญชีรายรับรายได้ลดลง ขณะที่ค่าใช้จ่ายคงที่ และความสามารถใช้คืนมีน้อยหากอนาคตโควิดระบาดและวัคซีนยังต้องใช้เวลา!!

แต่ก็ไม่เท่ากับตอนนี้เกิดตัวแปรใหม่ๆ ที่กำลังสร้างความกังวลแฝง และก่อเกิดความรู้สึกไม่อยากเดินทาง!!

 

“ศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร” นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) ระบุว่า ตราบใดก็ตามที่นักท่องเที่ยวต่างชาติยังเข้ามาเที่ยวไทยไม่ได้ และประเทศไทยยังไม่สามารถควบคุมการระบาดโควิดได้ โอกาสในการฟื้นตัวของธุรกิจท่องเที่ยวเป็นไปได้ยาก เพราะรายได้จากต่างชาติที่เข้ามา ถือเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าในประเทศ บวกกับขณะนี้รายได้จากในประเทศหายไป เพราะคนกลัวติดโควิด-19 จนหยุดการเดินทางลง

ความหวังจึงขึ้นอยู่กับการเปิดประเทศ เพื่อดึงรายได้จากต่างชาติเข้ามา และการคุมโควิดให้ได้ เพื่อให้การเดินทางในประเทศฟื้นตัวเร็วที่สุด ซึ่งจะดึงให้บรรยากาศการท่องเที่ยวในภาพรวมดีขึ้น เกิดการใช้จ่ายเพิ่ม ธุรกิจมีสภาพคล่อง ส่งผลต่อเนื่องกับภาพรวมเศรษฐกิจ

เขาระบุต่อว่า ปัจจัยกังวลที่สร้างความหนักใจว่าจะทำให้การเปิดประเทศรับต่างชาติ เป็นไปได้หรือไม่ได้นั้น นอกจากจะเป็นการระบาดโควิดในประเทศ วัคซีนต้านไวรัส ล่าสุดยังเกิดการระบาดโควิดต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านชายแดนติดกัน อย่างประเทศมาเลเซีย ประกาศล็อกดาวน์ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1-14 มิถุนายน 2564 เพื่อควบคุมการระบาดโควิด หลังพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งขึ้นแตะ 9,000 รายต่อวัน ถือว่าสูงสุดตั้งแต่เกิดการระบาดโควิดขึ้น และยังพบมีเชื้อโควิดกลายพันธุ์จากสายพันธุ์แอฟริกาและอินเดียในประเทศมาเลเซียด้วย จึงมีคำสั่งห้ามประชาชนเดินทางระหว่างรัฐ รวมทั้งการเดินทางข้ามพื้นที่ภายในรัฐ ตลอดจนยังห้ามประชาชนมีกิจกรรมที่ต้องรวมกลุ่มกัน

ถือเป็นความกังวลต่อการแพร่ระบาดริมขอบชายแดนติดกัน แม้เข้มงวดตามด่านพรมแดนไทย-มาเลเซีย บริเวณด่านเปิงกาลันฮูลู รัฐเปรัก ของมาเลเซีย ได้เพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคง ทั้งทหาร ตำรวจ และตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเบตง ในการออกลาดตระเวนตามแนวกำแพงตลอดแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าเขาและช่องทางธรรมชาติ เพื่อป้องกันการลักลอบเข้าเมืองโดยไม่ผ่านขั้นตอนการตรวจคัดกรองโควิด-19 และกักตัว 14 วัน ของกลุ่มแรงงานไทยและต่างด้าวในมาเลเซีย ซึ่งอาจเป็นกลุ่มเสี่ยงที่นำพาโควิด-19 สายพันธุ์อินเดียและแอฟริกาใต้เข้ามาแพร่ระบาดในพื้นที่ชายแดนไทยได้

แต่ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าริมเขตประเทศเพื่อนบ้านที่เหลือจะเจอวิกฤตแบบเดียวกันอีกหรือไม่!!

และยังต้องกังวลเรื่องมุมมองต่างชาติที่จ่อจะเข้ามาเที่ยวไทย นำไปเพิ่มความกังวลว่าการแพร่ระบาดตามขอบชายแดนจะทะลักเข้าไทยหรือไม่ จนเกิดลังเลได้ที่จะเข้าในเดือนกรกฎาคมที่ล่าช้าออกไป

โดยคนในวงการท่องเที่ยวระบุชัด หากเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวครั้งนี้สะดุด จนเลยเวลาที่นักเที่ยวจากคนเมืองหนาวต้องการหลบหนาวเย็นมาเที่ยวเมืองร้อนหาความอบอุ่น จะเลื่อนออกไปเป็นอีกครั้งในกลางปี 2565 แทน

 

ภาพที่เกิดขึ้นจึงเหมือนจะเป็นปีที่ประเทศไทยเกิดเคราะห์ซ้ำกรรมซัดกระหน่ำ เพราะหากโควิดกลายพันธุ์ใหม่เข้ามาแพร่ระบาดในประเทศไทย การเปิดประเทศอาจเจอโรคเลื่อน

หรือแม้จะเปิดได้ ความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจลดลง ทำให้ต่างชาติที่คาดว่าจะเข้ามาทั้งไตรมาส 3 หลังจากเปิดประเทศ จำนวน 1.29 แสนคน ไปไม่ถึงฝันได้

คงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และลุ้นกันว่าเดิมพันที่แลกด้วยลมหายใจเฮือกสุดท้าย บวกกับความหวังของภาคการท่องเที่ยวไทยในครั้งนี้ สุดท้ายจะได้รอยยิ้มหรือหยาดน้ำตากลับมา