เมื่อวัคซีนยังมีชนชั้น/บทความพิเศษ สมชัย ศรีสุทธิยากร

สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

 

เมื่อวัคซีนยังมีชนชั้น

 

การจัดชนชั้น (Class) ในสังคมมักปรากฏในทฤษฎีการเมืองโดยเฉพาะในกลุ่มลัทธิฝ่ายซ้าย ที่ชอบแยกประชาชนออกเป็นกลุ่มตามสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม เป็นชนชั้นบน (Upper class) ที่เป็นผู้ปกครอง และชนชั้นล่าง (Lower class) ในฐานะผู้ถูกปกครอง กดขี่ ข่มเหง โดยอาจจะมีชนชั้นกลาง (Middle class) ที่เป็นชนชั้นที่โลเล บางครั้งก็เข้ากับชนชั้นสูงหรือบางครั้งก็มาร่วมต่อสู้กับชนชั้นล่าง

ในสังคมไทย แม้ว่าจะไม่มีการอธิบายหรือแบ่งชนชั้นที่ชัดเจนว่าใครคือชนชั้นสูง ชนชั้นกลาง หรือชนชั้นล่าง แต่ต้องยอมรับว่าความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมในประเทศเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง

เพราะแม้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีก็ยังมีประเด็นเกี่ยวกับยุทธศาสตร์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยมากมาย

เหลียวกลับมามองการบริหารจัดการวัคซีนเพื่อแก้ไขปัญหาโรคระบาดโควิด-19 ของไทย ไม่น่าเชื่อว่าปรากฏการณ์ที่เป็นผลจากบริหารจัดการของรัฐจะสามารถกลายเป็นกรณีศึกษาที่สะท้อนลักษณะความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นในสังคมได้เป็นอย่างดี

 

วัคซีนยังมีชนชั้น

มาตรการที่รัฐกำหนดให้มีวัคซีนหลัก และวัคซีนทางเลือก โดยนิยามความหมายว่า วัคซีนหลัก หมายถึงวัคซีนที่รัฐได้พิจารณาแล้วเห็นว่ามีประสิทธิภาพและเหมาะสมสำหรับการฉีดบริการประชาชน โดยกำหนดให้วัคซีน AstraZeneca เป็นวัคซีนหลักของคนไทย ที่มีกำหนดการส่งมอบในช่วงเดือนมิถุนายน ถึงธันวาคม พ.ศ.2564 รวมจำนวน 61 ล้านโดส

และมีวัคซีน Sinovac เป็นวัคซีนหลักที่ใช้ฉุกเฉินในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ถึงมิถุนายน พ.ศ.2564 รวมประมาณ 9 ล้านโดส

แต่เมื่อรัฐบาลได้เปลี่ยนแปลงนโยบายที่จะจัดฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน เพิ่มเป็น 100 ล้านโดส จึงมีแนวโน้มว่าอาจมีวัคซีนหลักที่อาจมาเพิ่มเติมในช่วงปลายปีเสริมอีก 30 ล้านโดส โดยอาจเป็น Pfizer หรือ Sputnik V หรือวัคซีนอื่นๆ ที่ยังไม่แน่ชัดว่าเป็นตัวใด

ส่วนนิยามความหมายวัคซีนทางเลือกนั้น คือวัคซีนที่ประชาชนที่มีความพร้อมจ่ายเงินค่าวัคซีนเอง โดยสามารถรับการฉีดจากสถานบริการหรือโรงพยาบาลเอกชน และเป็นวัคซีนที่ไม่ซ้ำกับวัคซีนที่อยู่ในรายการวัคซีนหลัก

ซึ่งขณะนี้มีวัคซีนที่นอกเหนือจากวัคซีนหลักเพียง 3 ตัวที่ผ่านการขึ้นทะเบียนยาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้ว คือ Johnson & Johnson (ขึ้นทะเบียนยาเมื่อ 25 มีนาคม 2564) Moderna (ขึ้นทะเบียนยาเมื่อ 13 พฤษภาคม 2564) และ Sinopharm (ขึ้นทะเบียนยาเมื่อ 28 พฤษภาคม 2564)

นอกจาก Sinopharm ที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ แถลงว่าจะนำเข้ามาเป็นวัคซีนทางเลือกให้แก่ประชาชนแล้ว ในส่วน Johnson & Johnson และ Moderna แทบจะไม่มีวี่แววใดว่าจะเป็นทางเลือกให้แก่ประชาชนในระยะเวลาอันใกล้ เนื่องจากยังไม่มีเจ้าภาพที่เป็นหน่วยงานของรัฐออกหน้าเป็นตัวตั้งตัวตีในการนำเข้า

มีข่าวเพียงแต่องค์การเภสัชกรรมที่ออกปากว่าจะดำเนินการให้โดยมีขั้นตอนและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอีก

 

วัคซีนฟรี

สำหรับคนจนและประชาชนทั่วไป

สําหรับประชาชนทั่วไปที่ปรารถนาวัคซีนฟรี แทบจะไม่มีทางเลือก เพราะทั้งช่องทางการลงทะเบียน ทั้งวัคซีนที่จะได้รับขึ้นอยู่กับการควบคุมจัดการของรัฐ วันหนึ่งบอกให้ลงข้อมูลจองในแอพพลิเคชั่น “หมอพร้อม” ก็ต้องไปลงในนั้น อีกวันยกเลิก “หมอพร้อม” ให้ไปลงทะเบียนกับจังหวัดหรือท้องถิ่น ก็ต้องตามไปลงตามที่รัฐกำหนด

ตัววัคซีนนั้นก็ไม่มีทางเลือก วันที่บอกว่า คนอายุต่ำกว่า 60 ปี ให้ฉีด Sinovac ส่วนคนป่วยหรือคนที่อายุมากกว่า 60 ปี ให้ฉีด AstraZeneca ก็เป็นไปตามนั้น

แต่พอวันที่ AstraZeneca ขาดแคลนเนื่องจากไม่สามารถจัดส่งได้ตามที่คาดการณ์ ก็มีคำตอบจากรัฐว่า ให้ฉีด Sinovac ไปแทน โดยหากใครยังประสงค์ฉีด AstraZeneca ให้เลื่อนออกไปก่อน

วัคซีนฟรี จึงเหมือนวัคซีนสำหรับคนจนและคนที่ไม่มีทางเลือกอื่น ต้องรอและไม่มีโอกาสเลือก หากเลือกคือแค่เลือกจะฉีดหรือไม่ฉีด หากอยากเลือกต้องรอ รอว่าเมื่อไรวัคซีนที่ตนเชื่อถือจะมา

ไม่อยากรอก็ฉีดตัวที่รัฐมีอยู่

 

วัคซีนเสียเงิน

สำหรับผู้ปรารถนาวัคซีนทางเลือก

ในขณะที่คนที่พร้อมจะเสียเงิน หรือพอมีฐานะและปรารถนาวัคซีนทางเลือกเนื่องจากเชื่อในประสิทธิภาพจากข้อมูลที่รับรู้ว่าสูงกว่าวัคซีนหลัก ต้องมีเงิน 3-4 พันบาทขึ้นไปที่พร้อมจะจ่ายเพื่อการฉีดวัคซีน แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนได้ว่าจะสามารถฉีดได้เมื่อไร เนื่องจากกลไกของรัฐเป็นปัญหาอุปสรรค

โรงพยาบาลเอกชนจะเปิดจองก็ทำไม่ได้ จะกำหนดวันที่แน่นอนยิ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่มีความชัดเจนจากหน่วยงานของรัฐ เช่น องค์การเภสัชกรรม ว่าจะอำนวยการจัดหาและส่งมอบให้ได้เมื่อใด

ผู้ที่มีฐานะระดับมีอันจะกิน จึงมีทางเลือกอีกทางหนึ่งคือ การโดยสารเครื่องบินไปต่างประเทศ เพื่อไปฉีดวัคซีนในประเทศที่จัดฉีดให้แก่คนทั่วไป เช่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งต้องลงทุนใช้จ่ายเป็นหลักแสน แต่ไม่เป็นอุปสรรคของคนที่มีฐานะ

วัคซีนสำหรับชนชั้นสูงในสังคม จึงเป็นวัคซีนที่คุณเลือกได้ว่าต้องการฉีดตัวไหน หากมีเงินถึง

 

วัคซีนการเมือง

การที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ประกาศตัวเป็นอีกช่องทางในการจัดหาวัคซีน Sinopharm ที่ผ่านการรับรองจากองค์การอนามัยโลก และแจ้งว่าพร้อมให้หน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เอกชนหรือรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถจองวัคซีนโดยใช้งบประมาณของตนเพื่อนำไปจัดฉีดฟรีให้แก่บุคลากรในหน่วยงานหรือประชาชนในพื้นที่

วัคซีนที่จัดฉีดให้ประชาชนในจังหวัดต่างๆ จึงเป็นสถานะเป็นวัคซีนการเมืองโดยแท้ เพราะทันทีที่ประกาศ องค์การบริหารส่วนจังหวัดหลายแห่ง ขึ้นข้อความในหน้าเพจของเฟซบุ๊กทันทีว่า อบจ.ของเขาพร้อมจัดฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในจังหวัด โดยจะใช้งบประมาณของ อบจ.ในการจัดหาวัคซีนมาบริการฟรีแก่ประชาชน หากมหาดไทยไม่ขัดข้อง

กระแสของ อบจ.ที่ริเริ่มก่อน ทำให้ อบจ.อื่นๆ ต้องประกาศในแนวทางเดียวกัน เพราะหากจังหวัดหนึ่งทำได้ หากจังหวัดตนไม่ทำ ก็จะเสียคะแนนนิยมจากประชาชน

แทนที่วัคซีนจะถูกจัดสรรจากรัฐบาลกลางที่มีงบประมาณและกู้เงินหลักล้านล้านมาแก้ไขสถานการณ์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดกลับต้องมาใช้งบประมาณที่ตนมีอยู่ในการจัดซื้อวัคซีนทางเลือกให้แก่ประชาชนในพื้นที่

หากต้นทุนวัคซีน 2 โดสต่อคนเท่ากับ 2,000 บาท จัดฉีด 100,000 โดส เท่ากับ 200 ล้านบาทแล้ว บางแห่งประกาศจัดฉีดถึง 500,000 โดส ก็เป็นเงิน 1,000 ล้านบาท ถามว่าแล้ว อบจ.ที่มีงบประมาณจำกัดจะทำอย่างไร ไม่ทำก็เป็นที่ขัดแย้งกับประชาชนและเสียหายทางการเมือง

เผือกร้อนจึงอาจกลับไปอยู่ที่กระทรวงมหาดไทย ว่าจะยอมให้ท้องถิ่นใช้งบประมาณของตนเพื่อจัดซื้อวัคซีนทางเลือกไปฉีดให้กับประชาชนในพื้นที่หรือไม่

ดูเหมือนยิ่งแก้ ยิ่งยุ่ง ราวลิงแก้แห

หนึ่งปีเศษจากการเริ่มต้นระบาดของไวรัสโควิด-19 จากเพียงทำได้เพียงแค่จัดการในการป้องกันตนเอง สวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง วันนี้ มีวัคซีนป้องกัน ประเทศที่เตรียมการดีนั้นสามารถระดมจัดฉีดได้ทันทีที่วัคซีนสามารถผลิตได้ตั้งแต่ปลายปี 2563 ส่วนประเทศไทย นายกรัฐมนตรีประกาศเป็นวาระแห่งชาติ และจะเริ่มระดมฉีดอย่างจริงจังวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ.2564

ยังไม่ทันเริ่มฉีด วัคซีนกลายเป็นวัคซีนการเมือง และมีชนชั้นเป็นที่เรียบร้อย