คณะราษฎรศึกษา ในห้วงแห่งการเกิดใหม่อีกครั้ง ของคณะราษฎร/พื้นที่ระหว่างบรรทัด ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด

ชาตรี ประกิตนนทการ

 

คณะราษฎรศึกษา

ในห้วงแห่งการเกิดใหม่อีกครั้ง

ของคณะราษฎร

24 มิถุนายน ที่กำลังเดินทางมาถึงในอีกไม่กี่วันนี้ คือการครบรอบปีที่ 89 ที่คณะราษฎรทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตย

ซึ่งโดยส่วนตัวคิดว่าน่าจะมีการระลึกถึงเป็นจำนวนไม่น้อยเลยจากหลายส่วนของสังคม

ยิ่งหากไม่ติดสถานการณ์โควิด ผมเชื่อว่าจะมีการจัดกิจกรรมอย่างยิ่งใหญ่ในหลายๆ แห่งกระจายไปทั่วประเทศอย่างแน่นอน

แต่ความคึกคักของการระลึกและฉลอง 24 มิถุนายนนั้น หากใครสนใจประวัติศาสตร์ในประเด็นนี้มาโดยตลอดก็จะพบว่า ในช่วงก่อนการรัฐประหาร 2549 แทบไม่ปรากฏกิจกรรมที่ระลึกถึงเหตุการณ์นี้เลย

คณะราษฎรและเหตุการณ์ในเช้าวันนั้นคืออดีตที่พร่าเลือนและห่างไกล

ความคึกคักที่เราเห็นในปัจจุบันเกิดขึ้นภายหลังการรัฐประหาร 2549 (ที่ถูกตอกย้ำด้วยการรัฐประหารซ้ำอีกครั้งในปี 2557) ทั้งสิ้น

การรัฐประหารทั้งสองครั้งได้ทำให้เกิดจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในสนามการต่อสู้ทางการเมืองภาคประชาชน

เกิดปรากฏการณ์รื้อฟื้นประวัติศาสตร์และความทรงจำคณะราษฎรขึ้นมาอย่างขนานใหญ่ในฐานะเครื่องมือทางการเมืองในกลุ่มผู้ต่อต้านรัฐประหาร

และทำให้ “คณะราษฎร” และ “2475” ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ที่ไกลตัวอีกต่อไป

 

ผมพูดถึงประเด็นนี้หลายครั้ง (ดังนั้น จะไม่ขออธิบายในที่นี้) โดยเรียกปรากฏการณ์นี้ว่าเป็นดั่งการเกิดใหม่อีกครั้งของคณะราษฎร

ยิ่งหากเราติดตามการต่อสู้ทางการเมืองของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนในปี 2563 ที่ผ่านมา เรายิ่งมองเห็นกระแสของปรากฏการณ์นี้อย่างชัดเจน

ป้ายผ้าขนาดใหญ่ที่เขียนข้อความ “คณะราษฎรยังไม่ตาย” ปรากฏในที่ชุมนุมหลายครั้ง, การฝังหมุดคณะราษฎร 2563 กลางท้องสนามหลวง, พวงกุญแจ ผ้าเช็ดหน้า คุกกี้ ฟอนต์ สติ๊กเกอร์ โปสเตอร์ และวัตถุสิ่งของต่างๆ ที่ออกแบบขึ้นโดยอ้างอิงมาจากประวัติศาสตร์คณะราษฎรถูกผลิตขึ้นมากมายในฐานะสัญลักษณ์ทางการเมืองเพื่อต่อต้านเผด็จการ

ในทางกลับกันฝ่ายที่มีความคิดต่อต้านคณะราษฎรและการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็เริ่มปฏิบัติการโต้กลับเช่นกัน

ทั้งการเริ่มย้อนกลับไปรื้อฟื้นและยกย่องบุคคลที่เคยต่อต้านคณะราษฎร เช่น กลุ่มกบฏบวรเดช ไปจนถึงการรื้อถอนทำลายอนุสาวรีย์ที่เกี่ยวข้องกับคณะราษฎรหลายแห่ง เพื่อต้องการลบความทรงจำชุดนี้ให้สูญหายไป

ในโลกออนไลน์มีการผลิตคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องกับคณะราษฎรมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เกิดการย้อนกลับไปค้นข้อมูล นำหลักฐานมาตีแผ่ ไปจนถึงการตีความคณะราษฎรในแง่มุมต่างๆ ทั้งชื่นชมยกย่องและด่าทอมากมายอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

อาจกล่าวได้ว่า คณะราษฎรและเหตุการณ์ 2475 ในปัจจุบันได้กลับมาตกอยู่ในสภาวะฝุ่นตลบทางประวัติศาสตร์และความทรงจำอีกครั้ง

 

ก่อนรัฐประหาร 2549 ประวัติศาสตร์และความทรงจำคณะราษฎรเป็นสภาวะของการถูกลืม ถูกฝังกลบ และถูกบดบังจากชั้นฝุ่นที่หนาแน่นทับถมมายาวนานกว่า 60 ปี แต่ในปัจจุบันชั้นฝุ่นที่พอกหนาจากการเล่าประวัติศาสตร์ด้านเดียวกำลังถูกตีกระจายฟุ้งขึ้นมาอีกครั้งจากคนรุ่นใหม่ที่ไม่สยบยอม

พวกเขาต่างต้องการรู้ความจริงอีกด้านที่ถูกซ่อนฝังเอาไว้ของคณะราษฎร

สิ่งนี้ทำให้ผมนึกถึง เอกสารชุดหนึ่งที่ผมได้รับมาเมื่อนานมาแล้ว ชื่อว่า “โครงงานหนังสือชุดประวัติศาสตร์ 60 ปีประชาธิปไตยไทย” ซึ่งมี อ.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ เป็นประธาน

โครงการดังกล่าวถูกที่เขียนขึ้นตั้งแต่เมื่อปี 2535 ในคราวครบรอบ 60 ปี 2475

ในความเป็นมาของโครงการ มีเนื้อหาบางส่วนที่น่าสนใจและผมอยากจะขอยกมาเผยแพร่อีกครั้ง ดังนี้

 

“…นับตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ที่คณะทหารบก ทหารเรือ และข้าราชการพลเรือนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเรียกตนเองว่า ‘คณะราษฎร’ ได้ก่อการปฏิวัติล้มล้างระเบียบทางการเมืองและสังคมแบบเก่า และพยายามสร้างระเบียบทางสังคมและการเมืองแบบใหม่บนรากฐานของแนวคิดประชาธิปไตยนั้น กาลเวลาผ่านมาจนถึงมิถุนายน พ.ศ.2535 ซึ่งเป็นเวลานานถึง 60 ปี แต่สังคมไทยก็ยังมิได้บรรลุผลสู่ประชาธิปไตย ตามเป้าหมาย ด้วยเหตุนี้ โครงการวิจัยเรื่อง ‘ประวัติศาสตร์ 60 ปีประชาธิปไตยไทย’ จึงได้มีขึ้น เพื่อทบทวนรากฐานทางประวัติศาสตร์ในระยะ 60 ปี ที่ทำให้สังคมไทยไม่อาจก้าวไปถึงความเป็นประชาธิปไตยเช่นอารยประเทศ แต่ยังมีลักษณะสังคมและการเมืองกึ่งสุกดิบ และยังคงเป็นเผด็จการแบบประเทศล้าหลังทั้งปวง ประชาชนไทยยังไม่เคยได้รับสิทธิเสรีภาพที่พึงได้ และอำนาจอธิปไตยก็มิได้เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง…เราจึงพบว่าในระยะ 60 ปีที่ผ่านมานี้ มีน้อยครั้งมาก ที่จะมีการประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างสมบูรณ์ แต่มีจำนวนมากครั้งที่สิทธิเสรีภาพของประชาชนถูกเหยียบย่ำ จิตสำนึกของประชาชนถูกดูแคลน และหลักการเรื่อง ‘อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน’ ถูกละเลย ดังนั้น โครงการหนังสือชุด ‘ประวัติศาสตร์ 60 ปีประชาธิปไตย’ นี้ จึงได้ถูกผลิตขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่จะฟื้นฟูหลักการแห่งอำนาจของประชาชน และสร้างประวัติศาสตร์นิพนธ์ยุคใหม่แห่ง ‘ประชาธิปไตย’…ดังนั้น โครงการหนังสือชุดประวัติศาสตร์ 60 ปี จะเริ่มต้นจากบทบาทของคณะราษฎรในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และนำมาสู่การแปรเปลี่ยนของการต่อสู้ประชาธิปไตยในสมัยต่อมา…”

ในทัศนะผม โครงการนี้คือหน่ออ่อนของความพยายามที่จะรื้อฟื้นปัดฝุ่นประวัติศาสตร์คณะราษฎรที่ถูกกลบฝังเอาไว้ ซึ่งผลที่ได้จากโครงการดังกล่าว (ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม) คือหนังสือวิชาการหลายเล่มที่ถูกผลิตขึ้นมาในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ 2530 ต่อมาจนถึงทศวรรษ 2540

แน่นอน โครงการดังกล่าวไม่อาจทำลายชั้นฝุ่นที่ทับถมคณะราษฎรมาอย่างยาวนานได้ ดังที่เราจะเห็นได้จากในทศวรรษ 2540 คณะราษฎรและเหตุการณ์ 2475 ก็ยังคงเป็นสิ่งที่ไกลตัวและถูกลืมเช่นเดิม

แต่งานวิชาการเหล่านั้นก็ได้กลายมาเป็นฐานข้อมูลอันสำคัญให้กับการเกิดใหม่อีกครั้งของคณะราษฎรในยุคปัจจุบัน

 

จากโครงการดังกล่าว ทำให้ผมคิดว่า ในสภาวะฝุ่นตลบที่พูดถึงข้างต้น อาจจะถึงเวลาที่ควรจะมีโครงการในลักษณะนี้อีกครั้งในชื่อประมาณว่า “คณะราษฎรศึกษา” เพื่อทำให้ประวัติศาสตร์และความทรงจำคณะราษฎรที่รอบด้านบนหลักฐานข้อมูลที่หลากหลายได้เผยตัวออกมา

และทำหน้าที่เป็น “…ส่วนหนึ่งของโครงการที่จะฟื้นฟูหลักการแห่งอำนาจของประชาชน และสร้างประวัติศาสตร์นิพนธ์ยุคใหม่แห่ง ‘ประชาธิปไตย’…” สมดังที่ อ.สุธาชัยได้เคยเขียนไว้เมื่อเกือบ 30 ปีผ่านมา

ผมเองแม้จะศึกษาประเด็นเกี่ยวกับคณะราษฎรมาบ้าง แต่ภายใต้ปรากฎการณ์ทางการเมืองในปี 2563 ก็ได้ทำให้ผมเห็นในสิ่งที่ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะได้เห็น อันเป็นผลพวงจากการต่อสู้ในสนามการเมืองทางประวัติศาสตร์และความทรงจำคณะราษฎรที่เข้มข้นอย่างน่าประหลาดใจ

ใครบ้างจะคิดว่า หมุดคณะราษฎรจะสูญหาย, อนุสาวรีย์ปราบกบฏจะถูกรื้อทั้งที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ, อนุสาวรีย์จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในค่ายทหารจะถูกรื้อ ทั้งที่ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา เขาคือวีรบุรุษของเหล่าทหารมาโดยตลอด และอยู่ดีๆ ก็มีห้องประชุมที่ตั้งชื่อชื่อว่า “ห้องบวรเดช” เกิดขึ้นเพื่อยกย่องในคุณงามความดีของพระองค์เจ้าบวรเดชฯ ทั้งที่พระองค์คือแกนนำในเหตุการณ์สำคัญที่เรียกว่า “กบฏบวรเดช” พ.ศ.2476

ขณะเดียวกัน ใครบ้างจะคิดว่า คณะราษฎรจะฟื้นกลับมามีชีวิตและความหมายอีกครั้งในกลุ่มคนรุ่นใหม่, มีการจัดงานวันเกิดให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม และเกิดการผลิตวัตถุสิ่งของสมัยใหม่มากมายที่สร้างขึ้นโดยอ้างอิงจากคณะราษฎร

ทั้งหมดนี้ทำให้ผมเห็นว่าเรื่องราวเกี่ยวกับคณะราษฎรและ 2475 ในบริบทสังคมไทยปัจจุบันยังมีสิ่งที่รอการศึกษาอีกมาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในวันที่ 24 มิถุนายน 2565 (ปีหน้า) จะเป็นวันที่ครบรอบ 90 ปีการปฏิวัติ 2475 ซึ่งส่วนตัวเชื่อแน่ว่า หาก อ.สุธาชัยยังมีชีวิตอยู่ คงจะสนใจในปรากฏการณ์เหล่านี้อย่างมาก และคงจะผลักดันให้นักศึกษาของอาจารย์ได้ทำการศึกษาในเรื่องเหล่านี้อย่างแน่นอนเพื่อเป็นการฉลอง 90 ปีประชาธิปไตยไทย

ผมเองก็ถือว่าเป็นหนึ่งในลูกศิษย์ของ อ.สุธาชัย (ได้เคยมีโอกาสลงเรียนวิชาประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่กับอาจารย์ตั้งแต่เมื่อครั้งยังเรียนปริญญาโท)

ดังนั้น ในบทความตลอดเดือนมิถุนายนนี้ ผมจะพยายามทดลองนำเสนอประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับ “คณะราษฎรศึกษา” ในสภาวะฝุ่นตลบนี้บางประเด็นที่คิดว่าสำคัญและควรค่าแก่การศึกษาในความเห็นผมเพื่อเป็นการนำร่องแนวคิดดังกล่าว

โดยหัวข้อแรกที่อยากจะพูดถึงในสัปดาห์หน้า คือ เราควรศึกษาและมองจอมพล ป. พิบูลสงคราม อย่างไร และในฐานะอะไร ในฐานะผู้นำเผด็จการฟาสซิสต์ นักประชาธิปไตย นักชาตินิยม หรือทุกสิ่งอย่างมัดรวมกันหมดในคนคนเดียว