น้ำลด “หอ” ผุด : หน้า 8

ทันทีที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติก่อสร้างหอชมเมืองกรุงเทพมหานครในพื้นที่ราชพัสดุ มูลค่า 4,621 ล้านบาท

และให้มีการคัดเลือกภาคเอกชนแบบ “ไม่มีการประมูล”

เป็นวิธีการเดียวกับที่ใช้ในการต่อสัญญาศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ให้กับกลุ่ม “เจริญ สิริวัฒนภักดี” เจ้าของเบียร์ช้าง

และการเลือกจีนมาลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง

…ไม่มีการประมูล

เหตุผลที่ให้กับประชาชนก็หนักแน่นปานขุนเขา

“เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ จึงต้องคำนึงถึงผลสัมฤทธิ์และเพื่อหลีกเลี่ยงความล่าช้าในขั้นตอนการประมูล”

ไม่แปลกที่คนจะตั้งคำถามขึ้นมาว่าโครงการก่อสร้าง “หอชมเมือง” มีความจำเป็นเร่งด่วนขนาดไหน

ทำไมดำเนินการตามขั้นตอนปกติไม่ได้

ขนาดไม้พะยูงล้มทับบ้านชาวบ้านที่ใครๆ ก็มองว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน

ยังต้องใช้เวลา 3 เดือนกว่าจะยกออกได้ เพราะเป็นไม้หวงห้าม

แล้วเรื่องนี้ทำไมจึงเร่งด่วนแบบปิดประตูตีแมวขนาดนี้

งงเด้..งงเด้

ที่ดินแปลงที่จะสร้าง “หอชมเมือง” เป็นที่ราชพัสดุ

พื้นที่ประมาณ 4 ไร่ครึ่ง ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

ติดกับพื้นที่ 50 ไร่ของโครงการไอคอนสยาม ซึ่งเป็นโครงการร่วมทุนระหว่าง “ซีพี” กับ “สยามพิวรรธน์” เจ้าของสยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ ฯลฯ

ลงทุนไป 50,000 ล้านบาท

ไม่แปลกที่จะมีคนตั้งข้อสังเกตว่าคนที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจาก “หอชมเมือง” แห่งนี้ ก็คือ “ไอคอนสยาม”

เพราะอยู่ดีๆ มี “จุดขาย” เพิ่มขึ้น

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ โครงการหอชมเมืองนี้ รัฐไม่ได้ลงทุน แต่รัฐเปิดให้ใช้พื้นที่แปลงงามริมแม่น้ำเจ้าพระยาโดยคิดค่าเช่า 198 ล้านบาท ระยะเวลา 30 ปี

เฉลี่ยปีละ 6.6 ล้านบาท

เดือนละ 5 แสนกว่าบาท

ที่ดินทั้งหมด 4 ไร่ครึ่ง

เท่ากับว่ารัฐคิดค่าเช่าที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาไร่ละ 1 แสนกว่าบาทต่อเดือน

ถูกหรือแพง คิดกันเอาเอง

ส่วน “มูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร” ที่เป็นเจ้าของโครงการ ประกาศว่าการลงทุนในโครงการนี้ 4,621 ล้านบาท

ภาคเอกชนจะบริจาค 2,100 ล้านบาท

กู้จากสถาบันการเงิน 2,500 ล้านบาท

ที่น่าสนใจก็คือ มูลนิธินี้ที่จดทะเบียนเมื่อปี 2557 หลังการรัฐประหาร

ประธานคนแรกชื่อ นายวิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์

แต่ประธานมูลนิธิคนปัจจุบันชื่อ นายพนัส สิมะเสถียร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ปัจจุบันเป็นรองประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร

บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด

เจ้าของโครงการไอคอนสยาม

…จบข่าว