ชำแหละไวรัสสายพันธุ์กลายไทย (ทิพย์)/ทะลุกรอบ ป๋วย อุ่นใจ

ดร. ป๋วย อุ่นใจ

ทะลุกรอบ

ป๋วย อุ่นใจ

 

ชำแหละไวรัสสายพันธุ์กลายไทย (ทิพย์)

 

เป็นที่ฮือฮาเมื่อสื่อต่างๆ หลายเจ้าในสหราชอาณาจักร ขนานนามไวรัสสายพันธุ์กลายระหว่างการศึกษา หรือ variant of investigation ประจำวันที่ 21 พฤษภาคม 2021 (VUI-21MAY-02) ว่าเป็นสายพันธุ์กลายไทยแลนด์

ซึ่งร้อนไปถึงหลายภาคส่วนต้องรีบออกมาแก้ข่าวกันพัลวันว่าสายพันธุ์นี้ ไม่ได้มาจากไทย และยังไม่มีการระบาดในประเทศไทย ไม่ควรตื่นตระหนกตกอกตกใจ และที่ตั้งชื่อว่าเป็นสายพันธุ์กลายไทยแลนด์นั้น ก็ดูจะไม่ค่อยงาม

เพราะที่จริงแล้ว สายพันธุ์โควิด-19 สายพันธุ์นี้ ไม่ได้มีต้นตอมาจากไทย แต่ทีมแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ไทยเป็นคนตรวจเจอเป็นครั้งเเรกและเป็นคนเอาข้อมูลไปใส่ไว้ในฐานข้อมูลเท่านั้น

ตอนเจอก็เจอในผู้ป่วยที่เข้าประเทศมาจากอียิปต์ ตั้งแต่ยังอยู่ใน state quarantine ยังไม่ได้เข้ามาเดินเฉิดฉายในห้างใดในประเทศเสียด้วยซ้ำ แล้วจะมาเรียกเป็นสายพันธุ์ไทยไปได้อย่างไร

และที่สำคัญ ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศแรกที่หงุดหงิดกับการถูกนำเอาชื่อประเทศไปเรียกชื่อสายพันธุ์ไวรัส

ก่อนหน้านี้ทางจีนก็เคยออกมาโวยเรื่องที่เรียกไวรัสนี้ว่าไวรัสอู่ฮั่น (Wuhan virus) หรือไวรัสจีน (China virus) ภายหลังองค์การอนามัยโลกได้ตั้งชื่ออย่างเป็นทางการให้ไวรัสนี้ว่า SARS-CoV-2 คำว่าไวรัสอู่ฮั่น หรือไวรัสจีนจึงค่อยๆ ซาหายไป

การเรียกชื่อสายพันธุ์กลายก็ไม่ต่าง ก่อนหน้านี้ก็มีจดหมายหลายฉบับจากนักวิทยาศาสตร์แอฟริกาใต้/สหรัฐอเมริกาไปยังวารสาร Science ขอทักท้วงและรณรงค์ให้เลิกเรียกชื่อไวรัสตามประเทศ เพราะส่งผลเสียหายต่อประเทศที่ถูกปักหมุด ถูกเพ่งเล็งจากชาวโลก และในบางประเทศ อาจจะทำให้ความโปร่งใสในการรายงานสถานการณ์การติดเชื้อถูกบิดเบือนไป

ซาลิม อับดุล คาริม (Salim Abdool Karim) นักระบาดวิทยาและอดีตประธานคณะที่ปรึกษาคณะทำงานโควิด-19 ของประเทศแอฟริกาใต้ ผู้ร่วมตั้งชื่อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่พวกเขาค้นพบในแอฟริกาใต้ว่าสายพันธุ์ 501Y.V2 ยังเปรยออกมาเองเลยว่า “ใครกันล่ะจะอยากพูด 501Y.V2 บ่อยๆ มันเป็นชื่อที่แย่มากๆ”

ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ที่จริงยังถูกเรียกในอีกหลายชื่อทั้ง B.1.351 และ 20H/501Y.V2 ทว่าแต่ละชื่อมันพาให้ฟังสับสน เรียกก็ยาก จึงไม่เป็นที่นิยม ท้ายที่สุด ไวรัสสายพันธุ์นี้ก็กลายเป็นที่รู้จักกันในสื่อว่า “สายพันธุ์กลายแอฟริกาใต้”

แน่นอนคงมีหลายภาคส่วนไม่พึงพอใจ แต่ต้องบอกว่าเราไปห้ามใครเขาไม่ให้เรียกคงไม่ได้

 

ในกรณีสายพันธุ์ไทย ถ้าเรียกกันตามระบบที่ใช้กันในวงการวิทยาศาสตร์ที่ตั้งตามวงวานว่านเครือทางวิวัฒนาการ (Phylogenetic Assignment of Named Global Outbreak Lineages; PANGOLIN) ไวรัสสายพันธุ์นี้จะมีชื่อว่า C.36.3

แต่ C.36.3 มันเรียกยาก สื่อฝั่งยูเคก็เลยเรียกกันเองว่าสายพันธุ์ไทย เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจ คิดซะว่าเป็นการให้เกียรติกับสถานที่ที่ค้นพบมันเป็นที่แรกก็แล้วกัน

สรุปก็คือ สายพันธุ์ C.36.3 ที่ระบาดใหม่นี้ อาจจะเรียกได้ว่าเป็นสายพันธุ์ไทย “ทิพย์” เพราะเจอที่อียิปต์ (ติดไปแล้วอีกหลายประเทศ) แต่ไม่เจอในไทย คอนเฟิร์มแล้วโดยแพทย์มากมายที่ร่วมกันออกมาแถลงข่าว แม้ว่าผมจะเชื่อที่คุณหมอแถลง แต่ก็ยังอดสงสัยเล็กๆ ไม่ได้ว่า ที่จริงแล้ว ได้มีการตรวจเช็ก ตรวจหาสายพันธุ์นี้ในประเทศหรือยังว่าไม่มีกระจายอยู่เลยในไทย ก่อนที่จะออกข่าวสวนกลับไปว่องไวเช่นนั้น

เพราะตอนนี้ สายพันธุ์ที่ไม่ควรมี เราก็มีกันแล้ว อย่างสายพันธุ์แอฟริกาใต้ (ที่ทีมวิจัยของซาลิมเป็นคนค้นพบ) ที่ตรวจเจอที่คลัสเตอร์ตากใบ หรือสายพันธุ์กลายสหราชอาณาจักร ที่พบจากคลัสเตอร์ทองหล่อในตอนนี้ก็ยังแพร่กระจายไปถ้วนทั่วอย่างเท่าเทียมในแทบทุกหัวระแหงของประเทศ

ว่าแต่ไวรัสสายพันธุ์กลายเกิดขึ้นได้อย่างไร?

 

จินตนาการว่า การที่ไวรัสจะอยู่รอดและสืบต่อเผ่าพันธุ์ได้นั้น ทุกครั้งที่พวกมันระบาดเชื้อเข้าไปในร่างกายมนุษย์ได้แล้ว ไวรัสจะจำลองสารพันธุกรรมสร้างลูกเพิ่มหลานทวีจำนวนประชากรไวรัส วงจรการระบาดเชื้อจะกระจายได้แพร่หลายต่อไป ยิ่งเชื้อกระจายวงกว้างมากขึ้น การสร้างไวรัสรุ่นใหม่ก็ยิ่งทวีมากขึ้นๆ

และในการจำลองแบบหรือก๊อบปี้สารพันธุกรรมในระหว่างการสร้างไวรัสรุ่นใหม่ โอกาสผิดพลาดก็ย่อมจะเกิดขึ้นได้

และเมื่อไหร่ก็ตามที่การก๊อบปี้นั้นผิดเพี้ยนไป สารพันธุกรรมเปลี่ยนไป ไวรัสรุ่นใหม่ก็จะกลายพันธุ์เปลี่ยนไปด้วย

การกลายพันธุ์อาจจะทำให้ไวรัสร้ายกาจขึ้น หรืออ่อนลง ไม่รุนแรง แต่ติดเชื้อไวกว่าเดิมก็ได้ หรือแม้แต่พิกลพิการ จนไม่สามารถติดเชื้อไปเลยก็ยังได้

แต่การกลายพันธุ์ที่เป็นปัญหาส่วนใหญ่มักจะเป็นการกลายพันธุ์ที่ทำให้มันแสบยิ่งกว่าเดิม เช่น สามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้น หรือติดเชื้อแพร่กระจายได้ไวมากยิ่งขึ้น

การกลายพันธุ์ที่ไม่เอื้อต่อการดำรงอยู่ของไวรัสพวกนี้จะทำให้ลูกหลานไวรัสจะเพิ่มจำนวน และอยู่รอดสู้กันกับพวกลูกหลานไวรัสพันธุ์กลายที่มีพิษสงรุนแรงกว่าไม่ได้ และจะค่อยๆ ถูกแทนที่ด้วยพวกที่ติดเชื้อได้ดีกว่า หลบภูมิได้เก่งกว่า และท้ายที่สุดก็จะกลายเป็นไวรัสกลุ่มน้อยที่จะค่อยๆ ถูกคัดเลือกจนสิ้นไป

แต่พวกที่กลายพันธุ์ไปแล้วได้ความสามารถใหม่ หรือมีกลเม็ดเด็ดพรายในการอยู่รอด พวกนี้จะกลายเป็นปัญหาในทางการแพทย์

 

การกลายพันธุ์ที่ถูกกล่าวถึงในไวรัสสายพันธุ์กลายส่วนใหญ่ มักจะเป็นการกลายพันธุ์ที่โปรตีนหนามซึ่งเป็นโปรตีนของไวรัสที่จำเป็นในการเข้าติดเชื้อในร่างกายมนุษย์ ในระหว่างการติดเชื้อ ไวรัสจะใช้โปรตีนหนามนี้เข้ายึดจับกับโปรตีนตัวรับ ACE-2 ของมนุษย์ เพื่อเปิดทางและยึดครองเซลล์โฮสต์

การกลายพันธุ์ที่โปรตีนหนามจึงเป็นประเด็นสำคัญ เพราะถ้าโปรตีนหนามกลายพันธุ์ไปแล้วจับกับโปรตีนตัวรับ ACE2 ได้ดีขึ้นไวรัสก็จะสามารถแพร่กระจายติดเชื้อได้ง่ายขึ้นตามไปด้วย

นอกจากนี้ แอนติบอดี้ต้านไวรัสโควิด-19 ส่วนใหญ่ก็จะมีเป้าหมายเป็นโปรตีนหนาม เพราะเป็นโปรตีนขนาดใหญ่สุดที่อยู่บนผิวของไวรัส หากแอนติบอดี้สามารถจับกับโปรตีนหนามแล้วกีดกันไม่ให้โปรตีนหนามจับกับโปรตีนตัวรับ ACE-2 ได้ การติดเชื้อก็จะไม่เกิดขึ้น (แอนตีบอดี้ที่สามารถล็อกไวรัสได้เหล่านี้จะถูกเรียกว่าแอนติบอดี้ต้านเชื้อ หรือ neutralizing antibody)

นั่นหมายความว่า การกลายพันธุ์ใดที่ส่งผลต่อการจับของโปรตีนหนามกับแอนติบอดี้ การกลายพันธุ์นั้นก็อาจจะช่วยทำให้ไวรัสสามารถที่จะหลบหลีกภูมิต้านทานของคนที่สร้างขึ้นมาต้านไวรัสได้ไปด้วย

ตามที่คาดไว้ สายพันธุ์ไทย (จากอียิปต์) มีการกลายพันธุ์อยู่ 25 จุดถ้วน และ 8 จุดปรากฏอยู่บนโปรตีนหนาม (spike) และเลขที่ออกก็คือ S12F, del69-70, W152R, R346S, L452R, D614G, Q677H และ A899

ซึ่งการกลายพันธุ์แบบนี้ทำให้ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเริ่มกังวลอยู่เช่นกัน เพราะพบตำแหน่งกลายพันธุ์หลายจุดที่อาจจะทำให้ไวรัสสามารถติดเชื้อหรือหลีกเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้เก่งขึ้น

 

ตําแหน่งแรกก็คือ L452R หรือการเปลี่ยนแปลงกรดอะมิโนที่ตำแหน่ง 452 บนโปรตีนหนามจากลิวซีนไปเป็นอาร์จีนีน การกลายพันธุ์ที่ตำแหน่งนี้ นอกจากจะทำให้ไวรัสกระจายได้เร็วขึ้นแล้ว ยังทำให้แอนติบอดี้จับกับโปรตีนหนามได้แย่ลงอีกด้วย การกลายพันธุ์จุดนี้จะพบในสายพันธุ์ฝั่งอเมริกา เช่น สายพันธุ์นิวยอร์ก (B.1.526.1) สายพันธุ์แคลิฟอร์เนีย (B.1.427 & B.1.429) และพบเจอได้เช่นกันในสายพันธุ์อินเดีย ตระกูล B.1.617 เจอทั้งซีรีส์ มีทุกตัว

และการกลายพันธุ์ที่น่าจับตามองสำหรับสายพันธุ์ C.36.3 ก็คือ R346S หรือการเปลี่ยนแปลงกรดอะมิโนที่ตำแหน่ง 346 จากอาร์จีนีนไปเป็นเซอรีน มีรายงานมาก่อนหน้านี้ว่ากรดอะมิโนอาร์จีนีนที่ตำแหน่งนี้มีความสำคัญในการเข้าจับของแอนติบอดีบางกลุ่ม การกลายพันธุ์จึงอาจทำให้ไวรัสสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้อีกเช่นกัน

โชคยังดี คือไม่พบการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่ง N501Y ที่ขึ้นชื่อลือชาในเรื่องของการกระจายไวรัส และ E484K ที่เป็นการกลายพันธุ์ที่ร่ำลือว่า จะทำให้ไวรัสสามารถหลบหลีกภูมิจากวัคซีนได้อย่างชะงัด ที่พบเจอได้ในสายพันธุ์กลายที่น่ากังวลในซีรีส์ N501Y ทุกตัว ทั้งสายพันธุ์สหราชอาณาจักร (B.1.1.7) สายพันธุ์แอฟริกาใต้ (B.1.351) และสายพันธุ์บราซิล (P.1 หรือ B.1.1.28)

แต่แม้จะมีการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่งสำคัญหลายจุด แต่ข้อมูลเท่าที่มียังไม่สามารถบอกได้ว่า ไวรัสสายพันธุ์ C.36.3 นั้นจะมีความสามารถเหนือโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิมจริงหรือไม่ เนื่องจากมีการติดเชื้อแพร่กระจายในหลายประเทศ อีกทั้งยังพบการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่งน่าจับตามองหลายจุด มันจึงถูกเอามาลิสต์ขึ้นทำเนียบสายพันธุ์กลายระหว่างการศึกษา (variants under investigation)

และถ้าหากพบว่า สายพันธุ์นี้มีพิษสงร้ายกาจและระบาดได้ว่องไวจริงๆ สถานะของมันก็จะถูกเปลี่ยนไปเป็นสายพันธุ์กลายที่ต้องเฝ้าระวัง (variants of concern) ต่อไป

 

วิวัฒนาการเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ไวรัสสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นได้ตลอด ตราบใดที่ยังมีการระบาดในสังคม

ดังนั้น ไม่สำคัญหรอกว่า ไวรัสจะถูกเรียกว่าอะไร หรือโดนแปะป้ายว่ามาจากประเทศไหน ตราบใดที่เชื้อมันยังติดและคร่าชีวิตผู้คนได้มากมาย นั่นก็คือปัญหาของมวลมนุษยชาติ

ที่เราต้องคิดจริงๆ ก็คือเราจะตัดวงจรไวรัสเพื่อรับมือกับวิถีแห่งวิวัฒนาการได้อย่างไรต่างหาก เพราะถ้าอยากชนะ ทุกชาติต้องร่วมมือกัน

แอบกระซิบว่า “วัคซีนประสิทธิภาพดี” น่าจะพอช่วยได้!