ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 4 - 10 มิถุนายน 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | นิธิ เอียวศรีวงศ์ |
ผู้เขียน | นิธิ เอียวศรีวงศ์ |
เผยแพร่ |
ก่อนที่นิสิตจุฬาฯ จะถือป้าย “ผ.น.ง.ร.จ.ต.ก.ม.” ในสนามกีฬาวันฟุตบอลประเพณี ใครๆ ก็รู้มานานแล้วว่า ผ.น.ง. รู้มาตั้งแต่เขายึดอำนาจได้ไม่กี่วันด้วยซ้ำ
แต่ “โง่” แปลว่าอะไร ถ้าหมายความว่ามีเนื้อสมองที่ทำงานได้ไม่ดีนัก เราก็จะดิ้นรนใฝ่หาคนที่เนื้อสมองดีๆ มาเป็นผู้นำแทน ไม่ว่าจะเป็นนายกฯ คนนอกหรือนายกฯ พระราชทาน วนเวียนอยู่อย่างนี้โดยไม่มีทางรู้จักเนื้อสมองของใครได้จริง ที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือ ไม่มีวันที่ประชาชนจะปกครองตนเองได้เลย ได้แต่รอให้สวรรค์โปรดคนเนื้อสมองดีๆ มาปกครองเท่านั้น
ผมจึงคิดว่า การทำความเข้าใจเรื่อง “โง่” ให้ดี น่าจะมีประโยชน์ คือทำอย่างไรให้เราสามารถหลบหลีก ผ.น.ง.ได้ และยังได้มาซึ่งสิทธิเสรีภาพในการปกครองตนเองด้วย
แต่ผมก็ไม่ยืนยันว่าความคิดเกี่ยวกับความโง่ที่ผมจะเสนอต่อไปนี้ถูกต้อง และต้องคิดอย่างนี้เท่านั้น เพียงแต่เราควรทำความเข้าใจเรื่องความโง่ให้มากกว่าเนื้อสมอง เพราะจะทำให้เราเข้าใจอะไรอื่นๆ มากกว่าตัวผู้นำ และอาจทำให้เราแก้ปัญหาของสังคมได้ดีกว่าขยะแขยงต่อเนื้อสมองของผู้นำ
ใครที่เคยเลี้ยงหมาและแมว ก็คงพบเหมือนๆ กันว่า แมวนั้นฉลาดกว่าหมาอย่างเทียบกันไม่ได้ ในขณะที่หมาฉลาดคือตัวที่สามารถสื่อสารความต้องการของตนเองกับเจ้าของได้ แล้วก็รอการตอบสนองของเจ้าของเท่านั้น ในขณะที่แมว แม้แต่ไม่ใช่ตัวที่ฉลาดเป็นพิเศษ นอกจากสื่อสารได้แล้ว ยังสามารถตอบสนองความต้องการของตนเองโดยไม่ต้องพึ่งเจ้าของด้วย (และหลายครั้งทำให้เจ้าของโกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยง เพราะทำถ้วยโถโอชามแตกกระจาย)
เนื้อสมองของหมาและแมวต่างกันอย่างไรผมไม่ทราบหรอกครับ แต่แมวนั้นเป็นสัตว์เดี่ยว หากินตัวเดียว หลบหลีกภัยตัวเดียว หาคู่เพื่อสืบพันธุ์ตัวเดียว ในขณะที่หมาเป็นสัตว์ฝูง หากินเป็นฝูง ป้องกันตนเองจากภยันตรายต่างๆ เป็นฝูง ดังนั้น ปัญญาของแมวจึงอยู่ที่ตัวมัน ในขณะที่ปัญญาของหมาอยู่ที่ฝูง (มากกว่าที่ตัวมัน)
เมื่อคนเอาสัตว์ทั้งสองมาเลี้ยง แมวเดินเข้ามาอยู่ในบ้านเรือนไม่ต่างจากเมื่ออยู่ป่า แต่หมาต้องทิ้งฝูงหรือ “ปัญญา” ของตนเองไปเป็นส่วนใหญ่ กลายเป็นสัตว์เดี่ยวที่แทบจะช่วยตัวเองไม่ได้นอกจากยึดหัวหน้าฝูงคือคนที่เป็นเจ้าของไว้ให้แน่น
“ปัญญา” ของสัตว์ฝูงอยู่ที่ฝูง และในบรรดาสัตว์ฝูงทั้งหลาย สัตว์ที่มีจำนวนมากที่สุดคือคนครับ
ไม่ใช่แค่มีจำนวนมากเท่านั้น คนยังสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมที่สลับซับซ้อนเพื่อบรรลุจุดประสงค์อื่นๆ (นอกจากกินและสืบพันธุ์) อย่างที่จะหาสัตว์อื่นใดมาเทียบไม่ได้ เราแปรเปลี่ยน “ปัญญา” ของฝูงมาเป็น “ภูมิปัญญา” ที่ส่งทอดจากรุ่นสู่รุ่น กลายเป็นวัฒนธรรมประเพณีที่ช่วยแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันโดยแทบไม่ต้อง “คิด” จนหลายครั้งก็ลืมไปว่า “ภูมิปัญญา” ซึ่งเราใช้อยู่อย่างเคยชินนั้นเป็นผลผลิตของ “ฝูง” ในช่วงหนึ่ง ยุคหนึ่ง ภายใต้เงื่อนไขหนึ่ง แล้วก็ถูกถ่ายทอดมาถึงฝูงคนในสมัยของเรา
ฝูงสัตว์ก็ถ่ายทอดภูมิปัญญาแก่กันได้ จะเห็นได้จากวิธีเล่นของลูกสัตว์ แต่คนเท่านั้นที่สามารถถ่ายทอดภูมิปัญญาที่สลับซับซ้อนกว่ากิน, สืบพันธุ์ และพื้นฐานโครงสร้างสังคมได้ ผมคิดว่าที่คนทำได้ก็เพราะมี “ภาษา” ซึ่งทำให้เราสามารถสื่อสารอะไรที่ซับซ้อนได้มากมาย และอาจยังมีอีกหลายสาเหตุ เช่น ระยะเวลาเลี้ยงตัวอ่อนของคนยาวนานกว่าสัตว์อื่นทั่วไป กว่าจะปล่อยออกไปหาฝูงใหม่ของตนเอง หรือหาตำแหน่งแหล่งที่ใหม่ในฝูงของตนเอง
แต่จะเพราะอะไรก็ช่างเถิด คนถ่ายทอดภูมิปัญญาที่สลับซับซ้อนได้มากกว่าสัตว์อย่างเทียบกันไม่ได้
แม้กระนั้น คนทั่วไปมักจะยกความฉลาดให้แก่บุคคลมากกว่าฝูง โดยเฉพาะคนไทย ทั้งนี้เพราะคนไทยถูกสอนประวัติศาสตร์มาให้เชื่อว่าพัฒนาการทางประวัติศาสตร์เกิดขึ้นเพราะการกระทำหรือไม่กระทำของบุคคล ตัวละครในประวัติศาสตร์ไทยตัดสินใจในสุญญากาศทั้งนั้น คือไม่มีบริบทเงื่อนไขอะไรแวดล้อมเลย (พูดอีกอย่างหนึ่งคือไม่มีฝูงและไม่มีพฤติกรรมของฝูงกำกับอยู่ด้วย)
เหตุก็เพราะประวัติศาสตร์ไทยฉบับทางการเขียนขึ้น เพื่อให้ความชอบธรรมแก่อภิสิทธิ์ของบุคคลบางคน หรือตระกูลบางตระกูล มากกว่าเพื่อให้เข้าใจความเป็นมาของ “ฝูง” คนไทย
แม้กระนั้น คนบางคนฉลาดกว่าบางคนจะมีไหม ผมเชื่อว่ามี เหมือนกับหมาบางตัวก็ฉลาดกว่าบางตัว เราจะอธิบายเรื่องนี้อย่างไร นักวิทยาศาสตร์ส่วนหนึ่งอธิบายว่ามาจากเนื้อสมองหรือการทำงานของเนื้อสมองที่ต่างกัน มีงานวิจัยที่พยายามจะชี้ให้เห็นว่าสมองของอัจฉริยบุคคลแตกต่างหรือทำงานต่างจากคนธรรมดาเช่นเราอย่างไร
ผมไม่มีความรู้เรื่องนี้ แต่เชื่อว่าความฉลาดของบุคคล ถึงมาจากเนื้อสมอง ก็ไม่ใช่เนื้อสมองล้วนๆ มีปัจจัยอื่นๆ ช่วยเสริมให้เนื้อสมองทำงานได้ดีขึ้นด้วย และผมขอเรียกปัจจัยอื่นอย่างรวมๆ ว่าปัจจัยทางสังคม ซึ่งน่าจะสำคัญกว่าเนื้อสมอง เพราะคงมีเด็กยิวในเยอรมันอีกหลายคนที่มีเนื้อสมองอย่างเดียวกับไอน์สไตน์ แต่ยังต่อท่อประปาอยู่จนตาย เพราะไม่มีปัจจัยทางสังคมคลี่คลายมาลงตัวที่ตัวเขาให้ต้องคิดอะไรทางฟิสิกส์มากไปกว่าท่อประปารั่ว
ดังนั้น ผมจึงขอสรุปไว้เป็นเบื้องต้นว่า ความฉลาดของบุคคลนั้นเกิดขึ้นจากการจัดการภูมิปัญญาของฝูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ คนฉลาดจะมีเนื้อสมองดีหรือไม่ก็ตาม คือคนที่รู้จักดูดซับ, วิเคราะห์ และประสานภูมิปัญญาของฝูง จนสร้างแนวทางที่เหมาะสมขึ้นมาได้ ฉะนั้น สร้างฝูงยิ่งใหญ่ ก็ยิ่งฉลาด สร้างฝูงยิ่งเล็ก ก็ยิ่งโง่
และนั่นคือเหตุผลที่เรามักมี ผ.น.ง.มากกว่า ผ.น.ฉ. ผมไม่ได้หมายความเฉพาะคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ผู้นำของเราไม่ว่าจะมาจากกองทัพหรือการเลือกตั้ง มีแนวโน้มจะทำให้ฝูงเล็กลงทั้งนั้น หนักไปกว่านั้น บางคนยังไปเข้าใจผิดว่าความเป็นผู้นำคือคิดคนเดียว โดยปิดโอกาสการท้วงติงเสริมต่อของคนอื่น
อันที่จริงการท้วงติงเสริมต่อนั่นแหละคือภูมิปัญญาของฝูง ถ้ายิ่งถูกท้วงติงเสริมต่อมากเท่าไร ฝูงก็ยิ่งใหญ่ขึ้น ทำให้ภูมิปัญญาก็ยิ่งใหญ่ขึ้นตามไปด้วย
และตรงกันข้าม ท้วงติงเสริมต่อเมื่อไรก็โดนตะคอก หรือวางอำนาจใส่ ฝูงของเขาก็ยิ่งเล็กลง ภูมิปัญญาของฝูงก็ยิ่งลีบไปด้วย
ผมพยายามจะคิดว่า มีอะไรในระบบการเมืองไทยที่ทำให้เกิด ผ.น.ง.ขึ้นบ่อยๆ และจากตัวอย่างของผู้นำคนปัจจุบันนี่แหละครับ ที่ทำให้มองเห็นชัดขึ้นว่ามีเงื่อนไขปัจจัยอะไรทางการเมืองและปูมหลังของผู้นำ ที่ทำให้คนปรกติธรรมดากลายเป็น ผ.น.ง.
ผู้นำไทยมักไม่มีพลังบันดาลใจ อันที่จริงผู้นำทั้งโลกก็มักไม่ค่อยมีพลังบันดาลใจทั้งนั้น นานๆ จึงจะมีสักคนที่ถือว่ามี แต่มีแล้วจะเก่งหรือไม่ก็ไม่แน่นะครับ อย่างประธานาธิบดีเคนเนดี้ เป็นคนที่สร้างแรงบันดาลใจได้สูงมาก พลังบันดาลใจทำให้ได้ผู้เข้าร่วมทางทั้งใกล้และไกลเป็นฝูงใหญ่ เกิดภูมิปัญญาอันไพศาล
พลังบันดาลใจมาจากไหน คงมีที่มาหลายทางหลายอย่าง แต่ที่สำคัญอย่างหนึ่งคือมีอุดมการณ์ที่สอดรับกับผู้คนในช่วงนั้น จำนวนมากของนายกฯ ไทยมาจากกองทัพ ซึ่งมีอุดมการณ์เก่าแก่ตั้งศตวรรษมาแล้ว พลังบันดาลใจของอุดมการณ์นั้นจึงอ่อนกำลังเต็มที แต่นั่นไม่ได้หมายความว่านายกฯ จากกองทัพไม่มีพลังบันดาลใจเสียเลย ผมคิดว่าจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในยุคแรก และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้มีพลังบันดาลใจไม่น้อย
แต่น่าสนใจนะครับว่า ทั้งสองคนต่างอาศัยอุดมการณ์ “ใหม่” ที่ไม่ได้ยกมาจากกองทัพทั้งกระบิ
จอมพล ป.เสนอชาตินิยมที่เป็นอิสระจากสถาบันพระมหากษัตริย์ จอมพล ส.เสนอการพัฒนาชาติทางเศรษฐกิจในแนวทางทุนนิยมเต็มที่ และเชื่อมโยงกับทุนนิยมโลก
แล้วลองคิดสิครับว่า คุณประยุทธ์เสนออุดมการณ์อะไรเพื่อเป็นพลังบันดาลใจ โอ้โฮ มันเก่ากรอบขนาดนั้นเชียวนะครับ แล้วจะให้เป็นพลังบันดาลใจใครได้สักกี่คน แม้แต่ที่นั่งใน สนช., สภาปฏิรูป และ ส.ว. อะไรกันแน่ที่ผลักคนเหล่านี้เข้าไปนั่งชูคอในที่เหล่านั้น อุดมการณ์ตามค่านิยม 12 ประการหรือผลประโยชน์?
ระบบการเมืองและระบบบริหารของไทย ทำให้ผู้นำไม่ได้ฟัง “เสียงอื่น” หรือที่ชอบใช้ศัพท์บาลีว่าปรโตโฆษะ ถึงฟังก็ไม่ได้ยิน ยิ่งมาเจอผู้นำที่ไม่มีความชอบธรรมทางการเมืองเอาเลย ยิ่งต้องปรามและปราบให้ “เสียงอื่น” สงบเงียบลงให้หมด เสียงตะคอกและข่มขู่ทุกคนที่อาจส่ง “เสียงอื่น” ได้ ไม่ได้เกิดเพราะความกล้า แต่เกิดขึ้นเพราะความกลัวหัวหด
ผลก็คือ ผู้นำต้องอาศัยปัญญาของตนคนเดียว ไม่มีภูมิปัญญาของฝูงช่วยหนุนให้ปัญญาของ ผ.น. เฉียบแหลมทะลุปรุโปร่งได้เลย สัตว์ฝูงที่ขาดภูมิปัญญาของฝูงก็ได้แค่นี้แหละครับ คือ ผ.น.ง. ไม่ว่าจะเป็นหมา, ช้าง, ควาย หรือคน
ภายใต้ ผ.น.ง.ที่ขาดความกล้าหาญที่จะเผชิญกับ “เสียงอื่น” ระบบราชการทั้งระบบย่อมพร้อมจะไม่เปล่งเสียงที่อาจทำความตระหนกตกใจให้แก่ ผ.น.ง. เพื่ออนาคตด้านการงานของตนเอง อย่าลืมว่าเราเคยมีนายกฯ จากการเลือกตั้งที่สั่งให้ปั๊มเหรียญออกมามากๆ เพื่อบรรเทาอัตราเงินเฟ้อ โดยไม่มีนักเศรษฐศาสตร์ในระบบราชการสักคนจะชี้แจงให้เขาเข้าใจเรื่องเงินเฟ้อที่ถูกต้อง ทุกคนพร้อมจะพกเหรียญกันให้กระเป๋าตุงกันไป โดยเงินเฟ้อก็ยังเหมือนเดิม และประเทศก็ไม่ได้ฉวยใช้ประโยชน์จากเงินเฟ้อในทางเศรษฐกิจเลย
แม้จะรู้กันดีว่า ระบบราชการไทยนั้นเละตุ้มเป๊ะขนาดไหน แม้กระนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ระบบราชการมีประสบการณ์ความรู้ความชำนาญบางอย่าง ซึ่งอาจใช้ประโยชน์ได้มากทีเดียว ถ้ารู้จักใช้ ดังนั้น เพียงแค่มีระบบราชการร่วมอยู่ใน “ฝูง” ของผู้นำ ไม่ใช่ในฐานะบริวารที่คอยเชียร์หรือพินอบพิเทานะครับ แต่ในฐานะสมาชิกของฝูง ผู้นำจะสามารถดูดซับภูมิปัญญาของฝูงเพิ่มขึ้นได้สักเพียงไร
แต่วัฒนธรรมไทยสอนให้คนไทยหิว “บารมี” อย่างไม่รู้จักอิ่ม ยิ่งได้อำนาจมาก ก็ยิ่งอยากสั่งสม “หน้าตา” อันเป็นทุนทางสังคมที่สำคัญในการเมืองไทยอย่างมาก ถึงมีฝูงของตน ก็อยากให้ฝูงทั้งฝูงเพิ่มพูน “หน้าตา” ของผู้นำ มากกว่าจะดึงเอาปัญญารวมของฝูงมาใช้ประโยชน์เพื่อส่วนรวม
วัฒนธรรมไทยนั่นแหละครับ คือวัฒนธรรมที่ผลิต ผ.น.ง.ได้เก่ง
สรุปก็คือ ผ.น.ง.คือคนที่ทำให้ฝูงของตนซึ่งควรจะใหญ่กลับเล็กลง และแม้แต่ในฝูงที่เล็กลงนั้น ก็ยังทำให้ฝูงไม่อาจทำงานอย่างฝูงได้ ต่างกลายตนเองเป็นอวัยวะส่วนล่างๆ ของผู้นำ เหตุดังนั้น ผ.น.ง.จึงกลายเป็นสัตว์เดี่ยวที่ไม่มีความรู้ความชำนาญใดๆ แม้แต่เพื่อเอาชีวิตรอดด้วยซ้ำ ที่รอดมาได้ก็เพราะกลไกพิกลพิการของการเมือง, กฎหมาย, เศรษฐกิจ, วัฒนธรรม ฯลฯ ของสังคมพยุงเอาไว้
แต่ ผ.น.ง.ก็มีประโยชน์แก่คนบางกลุ่มที่สามารถฉวยโอกาสนั้นให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองนะครับ คิดหรือว่าหากไม่มี ผ.น.ง. ธุรกิจค้าปลีกบางรายจะสามารถผูกขาดตลาดได้ถึง 70-80% โรงงานน้ำตาลจะสามารถขยายพื้นที่ปลูกอ้อยไปอย่างกว้างขวางได้เท่าทุกวันนี้ พรรค ปชป.จะลอยเท้งเต้งอยู่ไหน ส.ว.อีกมากจะทำอะไรกิน อดีตอธิการบดีอีกมากคงได้แต่เลี้ยงหลานอยู่เงียบๆ และใครจะซื้อวัคซีนเต้าฮวยซึ่งมีสมรรถนะป้องกันการติดเชื้อเท่ากับปั่นแปะในราคานี้