คุยกับทูต เอกตอร์ กอนเด อัลเมย์ดา (ตอน 2) การปฏิวัติคิวบา : วิทยาศาสตร์และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในยุคโควิด-19

 

คุยกับทูต เอกตอร์ กอนเด อัลเมย์ดา

การปฏิวัติคิวบา

: วิทยาศาสตร์และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในยุคโควิด-19 (ตอน 2)

 

“การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและคิวบา ได้เวียนมาบรรจบครบรอบ 63 ปีเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา การที่ได้มีโอกาสเฉลิมฉลองกับประเทศไทยซึ่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ตลอดจนความสวยงาม และความเป็นมิตรของประชาชน ช่วยเพิ่มความยินดี และภาคภูมิใจอย่างสุดซึ้งแก่พวกเรา”

นายเอกตอร์ กอนเด อัลเมย์ดา (His Excellency Héctor Conde Almeida) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐคิวบาประจำประเทศไทย

นายเอกตอร์ กอนเด อัลเมย์ดา (His Excellency Héctor Conde Almeida) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐคิวบาประจำประเทศไทย เล่าถึงความเชื่อมโยงระหว่างไทยและคิวบา

“ประเทศของเราทั้งสองมีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน ในความสัมพันธ์ฉันมิตรและความร่วมมือทวิภาคีที่ประสบผลสำเร็จ ทั้งในด้านสาธารณสุข การศึกษา วิทยาศาสตร์ การท่องเที่ยว วัฒนธรรมและการกีฬา”

“มิตรภาพและความร่วมมือระหว่างไทย-คิวบาโดดเด่นด้วยความเคารพและความเข้าใจซึ่งกันและกัน ตลอดจนการมีวิสัยทัศน์ร่วมกันทั้งในการสร้างสันติสุข ความเจริญรุ่งเรือง การเป็นหุ้นส่วน และการติดต่อกันระหว่างบุคคล”

 

ในความสัมพันธ์ด้านรัฐสภา

รัฐสภาไทยและรัฐสภาคิวบามีความสัมพันธ์กันในระดับดีทั้งสองประเทศมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกันอย่างสม่ำเสมอ โดยรัฐสภาไทยได้จัดตั้งกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย-คิวบา เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ค.ศ.2005-ปัจจุบัน (ปี 2021) ฝ่ายคิวบาก็ได้มีการจัดตั้งกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาคิวบา-ไทย (Cuba-Thailand Parliamentarian Friendship Group) เช่นกัน

“ทั้งไทยและคิวบาเป็นผู้สนับสนุนความร่วมมือพหุภาคีและความร่วมมือระหว่างภูมิภาคเป็นอย่างมาก ประเทศของเราส่งเสริมความร่วมมือใต้-ใต้ (South-South Cooperation) และการดำเนินการเพื่อการพัฒนาระหว่างภูมิภาคอย่างแข็งขันในกรอบเวทีความร่วมมือระหว่างเอเชียตะวันออกกับละตินอเมริกา (FEALAC)”

“เรายังมีความคล้ายคลึงกันทั้งในมุมมองและผลประโยชน์ร่วมกัน อันนำไปสู่การสนับสนุนซึ่งกันและกันในเวทีพหุภาคีต่างๆ ดังที่องค์การสหประชาชาติได้กำหนดแผนการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2030 และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ประการ (SDGs) การเคลื่อนไหวของประเทศที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (NAM) และความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

ส่วนในด้านการเสริมสร้างศักยภาพและขับเคลื่อนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศในระดับทวิภาคี ท่านทูตตอบว่า

“คิวบาเป็นประเทศแรกในโลกในปี ค.ศ.2015 ตามด้วยประเทศไทยในปี ค.ศ.2016 ที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อกำจัดการแพร่เชื้อไวรัสภูมิคุ้มกันบกพร่อง (HIV-AIDS) และซิฟิลิสจากแม่สู่ลูก”

ประเทศไทยได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ค.ศ.2016 ว่าสามารถยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีและซิฟิลิสจากแม่สู่ลูกได้สำเร็จ โดยไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และเป็นประเทศที่ 2 ของโลก ที่สามารถลดอัตราการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าร้อยละ 2 โดยมั่นใจว่าจะเป็น AIDS free generation หรือไม่มีโรคเอดส์ในเด็กยุคต่อไป

นายเอกตอร์ กอนเด อัลเมย์ดา (His Excellency Héctor Conde Almeida) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐคิวบาประจำประเทศไทย

“ความพยายามร่วมกันของเราในด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพ การผลิตยา-เวชภัณฑ์สำหรับการรักษาโรคมะเร็ง เบาหวาน และโรคแพ้ภูมิตัวเอง ถือเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนทั้งสองชาติ โดยมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG) รวมทั้งโมเดลเศรษฐกิจประเทศไทย 4.0 (Thailand 4.0) วาระแห่งชาติ”

“ความพยายามของเรามุ่งเน้นในการเสริมสร้างความร่วมมือผ่านการปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชนทั้งสองชาติให้มากขึ้น นอกจากนี้ เรายังได้ติดต่อกับคนไทยเพื่อแนะนำและแจ้งให้พวกเขาทราบเกี่ยวกับโอกาสและสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเทศคิวบาในบริบทของกระบวนการปรับปรุงรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของกลุ่มประเทศในหมู่เกาะแคริบเบียน”

“เราเฝ้ารอในปีต่อๆ ไปในการสืบสานมิตรภาพ ขยายการค้า การลงทุน และการพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทย-คิวบา ด้วยความปรารถนาอย่างยิ่งให้เกิดความมั่งคั่งและความสุขสมบูรณ์อย่างต่อเนื่องสำหรับประเทศทั้งสองของเรา”

เช เกวารา (Che Guevara)

“วันที่ 1 มกราคมปีนี้ เป็นวันครบรอบ 62 ปีของการปฏิวัติคิวบา ซึ่งนำโดยฟิเดล คาสโตร (Fidel Castro), ราอูล คาสโตร (Raúl Castro) และเช กูวารา (Che Guevara) ที่ได้ล้มล้างระบอบการปกครองที่กดขี่โหดร้ายของรัฐบาลเผด็จการนำโดยฟุลเจนซิโอ บาติสตา (Fulgencio Batista) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐเมื่อปี ค.ศ.1959 การปฏิวัติดังกล่าวได้ยุติการกดขี่มาหลายศตวรรษทั้งทางเศรษฐกิจ การทหาร และการเมืองในยุคอาณานิคมและยุคจักรวรรดินิยมแบบใหม่”

“ก่อนปี ค.ศ.1959 ประชากรคิวบาครึ่งหนึ่งเป็นผู้ไม่รู้หนังสือหรือรู้น้อย และอัตราการตายของทารกมากกว่า 40 ต่อ 1,000 ทารกแรกเกิด ปัจจุบัน ต้องขอบคุณการศึกษาและการดูแลสุขภาพระดับสากลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทำให้คิวบามีการอ่านออกเขียนได้เกือบ 100% และอัตราการเสียชีวิตของทารกลดลงเหลือ 4.3 ต่อ 1,000 ทารกแรกเกิด”

ฟิเดล คาสโตร (ซ้าย) และ เช เกวารา (ขวา)

“ส่วนในปี ค.ศ.2020 จำนวน 52% ของงบประมาณของรัฐในคิวบา ได้ทุ่มเทให้กับการศึกษา ความช่วยเหลือทางสังคม และบริการด้านการดูแลสุขภาพ คิวบามีโรงเรียนแพทย์ที่ดีที่สุดในโลกซึ่งได้รับการยอมรับจากองค์การสหประชาชาติ (UN)”

“ความไม่เท่าเทียมทางเพศถูกกำจัดจากการปฏิวัติคิวบา ทำให้สิทธิสตรีเฟื่องฟูในคิวบา ส่วนในรัฐสภาแห่งชาติของคิวบา มี ส.ส. 53.22% เป็นผู้หญิง ซึ่งสูงมากเป็นอันดับสองของโลก และ 48.4% ของสมาชิกสภาแห่งรัฐเป็นผู้หญิง และผู้หญิง 60.5% เป็นตัวแทนของผู้สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาทั้งหมดในคิวบา”

“ความสมัครสมานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและความร่วมมือระหว่างประเทศ นับเป็นสองหลักการสำคัญของการปฏิวัติคิวบา”

 อดีตประธานาธิบดีราอูล คาสโตรเเห่งคิวบา

“ภายใน 58 ปี เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของคิวบามากกว่า 400,000 คนได้บรรลุภารกิจความร่วมมือทางการแพทย์ใน 164 ประเทศ พวกเขามีส่วนร่วมอย่างโดดเด่นในการต่อสู้กับอีโบลาในแอฟริกา โรคที่ทำให้ตาบอดในละตินอเมริกาและแคริบเบียน และอหิวาตกโรคในเฮติ ใน 26 กลุ่มจากหน่วย Henry Reeve International Contingent of Doctors Specialized in Disasters and Major Epidemics ในปากีสถาน อินโดนีเซีย เม็กซิโก เอกวาดอร์ เปรู ชิลี และเวเนซุเอลา เป็นต้น”

“ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพทั้งหมด 35,613 คนจาก 138 ประเทศได้รับการฝึกอบรมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในคิวบา”

“รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประเทศคิวบา ได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2019 ให้สัตยาบันลักษณะสังคมนิยมของการปฏิวัติคิวบา อันเป็นการรับประกันการปกป้องสิทธิมนุษยชนของชาวคิวบา”

ท่านทูตเอกตอร์ กอนเด อัลเมย์ดา สรุปว่า

“การปฏิวัติคิวบา จึงเป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ ไม่เพียงแต่ในด้านการเมืองและเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังรวมถึงด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมด้วย”