วัชระ แวววุฒินันท์ : ธุดงควัตร

วัชระ แวววุฒินันท์

ช่วงนี้เป็นช่วง “เข้าพรรษา” กิจกรรมของพระสงฆ์ที่เป็นบทบัญญัติตามพระธรรมวินัย คือ การจำศีลภาวนาอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งตลอดระยะเวลาฤดูฝน ไม่ต้องออกไปบิณฑบาตตามบ้านชาวบ้านอย่างเคย เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ต้นข้าวพืชผลที่ผู้คนปลูกอยู่

เป็นการกำหนดวิถีปฏิบัติที่สอดคล้องกับธรรมชาติของวิถีชีวิตคน เป็นความฉลาดของคนในยุคโบราณ ที่เข้าใจความเป็นจริงของธรรมชาติ มนุษย์เราต่างหากที่ต้องเคารพและปรับตัวเข้าหา ซึ่งไม่ใช่วิถีของคนยุคหลังๆ นี่เสียเลย

พระภิกษุในสมัยก่อน มีหน้าที่ต้องออกไปจาริกโปรดสัตว์ และเผยแพร่พระธรรมคำสั่งสอนแก่ผู้คนในที่ต่างๆ จะว่าไปก็เหมือนการเดินสายขายตรงของธุรกิจในยุคนี้ ที่ต้องแบ่งสายกันออกไปหาสมาชิก หากแต่นี่ไม่ใช่ธุรกิจเงินทอง แต่เป็นปัญญาบุญ

เมื่อต้องเดินในช่วงหน้าฝน ชาวบ้านก็เดือดร้อนจากการที่เหล่าพระไปเหยียบต้นกล้าและพืชผลต่างๆ ที่ปลูกไว้จนเสียหาย พระพุทธเจ้าจึงทรงวางระเบียบให้พระภิกษุอยู่ประจำที่ตลอด 3 เดือนในช่วงฤดูฝน

เมื่อต้องพักแรมในที่ที่หนึ่ง ก็ต้องมีการสวดมนต์ภาวนา ทำพิธีกรรมต่างๆ จำเป็นต้องใช้เทียนไขในยามกลางคืน ชาวบ้านจึงจัดหาเทียนมาถวายพระสงฆ์เหล่านั้น จนเกิดเป็นพิธีหล่อเทียนพรรษาที่เป็นประเพณีทางบุญสืบต่อกันมาทุกวันนี้

ในยุคหลังๆ มานี่ ทันสมัยมากขึ้น นอกจากถวายเทียนแล้ว ยังมีการถวายหลอดไฟอีกด้วย เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยและเป็นประโยชน์กับพระสงฆ์ได้ นัยว่าแสงจากหลอดไฟก็เป็นเหมือนแสงสว่างในชีวิตเช่นกัน

ถ้าให้ทันสมัยจริง ต้องถวายเป็นหลอด LED ที่สามารถเปลี่ยนสีของแสงได้ บุญที่ได้รับจะได้มีความแพรวพราวมากขึ้น

 

ส่วนการ “ธุดงค์” ล่ะ มาจากไหน

เหมือนจะอยู่ฟากตรงข้ามกับการเข้าพรรษา ด้วยว่าพระภิกษุต้องออกเดินทางเข้าไปในป่า หาได้อยู่ประจำที่วัดไม่

ความเป็นมาตามกุศโลบายทางจิตวิทยาของพระพุทธเจ้าที่กำหนดให้มีการธุดงค์ก็เนื่องมาจากพระสงฆ์ที่บวชใหม่ๆ นั้น จิตใจยังไม่ตั้งมั่นเข้มแข็งพอต่อการกำหนดลด ละ เลิก จากกิเลสต่างๆ ได้ดีพอ

หากบวชแล้วยังอยู่อาศัยที่วัด ก็จะมีญาติโยมเดินเข้าออกกันเพ่นพ่าน ยิ่งพระบวชใหม่ เดี๋ยวโยมพ่อโยมแม่ แถมโยมแฟนก็แวะเวียนมาบ่อยๆ ก็ยิ่งวอกแวกได้ง่าย อาหารอร่อยๆ ก็มาประเคนกันจนอิ่มแปล้จีวรปลิ้น แล้วอย่างนี้กิเลสที่รอการระบายก็ไม่ได้รับการระบายเสียที

พระพุทธเจ้าจึงกำหนดให้พระบวชใหม่ ได้ออกเดินทางเข้าป่าเพื่อไปฝึกจิตใจให้เข้มแข็ง ให้ห่างไกลจากสิ่งยั่วยวนกิเลสต่างๆ ได้เห็นแค่สีเขียวของป่า เน็ตไอดอลหน้าแบ๊วๆ ก็ไม่เห็น เห็นแต่ลิงแต่เสือ บอลยูโรก็ไม่มีให้ดู กลิ่นน้ำหอมก็ไม่มีให้ดม ดมแต่กลิ่นดินกลิ่นหญ้า นอนก็ยิ่งลำบากต้องนอนบนพื้นแข็งๆ ยิ่งอาหารล่ะก็… จะโทร.สั่งฟาสต์ฟู้ดก็ไม่ได้

จึงเหมาะอย่างยิ่งด้วยประการทั้งปวงที่จะฝึกการตัดกิเลส

 

ผมได้มีโอกาสไปดูหนังที่มีชื่อเกี่ยวกับกิจของสงฆ์เรื่องหนึ่ง นั่นคือเรื่อง “Wandering ธุดงควัตร” เป็นภาพยนตร์เชิงสารคดีจากการกำกับฯ ของ บุญส่ง นาคภู่ อดีตนิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ

ในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับก่อนก็ได้มีการเขียนถึงหนังเรื่องนี้ในคอลัมน์ “ยิ้มเยาะเล่นหวัว เต้นยั่วเหมือนฝัน” โดยคนมองหนัง ซึ่งก็ได้เขียนวิเคราะห์ถึงตัวหนังไว้อย่างละเอียด หากสนใจไปย้อนอ่านดูได้

บุญส่ง เคยทำหนังแนวสะท้อนความเป็นจริงของสังคมไทยมาแล้วก่อนหน้านี้ 3 เรื่อง คือ “คนจนผู้ยิ่งใหญ่” “สถานี 4 ภาค” และ “วังพิกุล”

สำหรับเรื่องนี้ บุญส่งใช้ประสบการณ์จากที่เคยบวชเรียนเป็นสามเณรมาก่อน สร้างเรื่องให้ชวนติดตามแบบง่ายๆ ไม่ซับซ้อน โดยบอกผ่านตัวละครเอกคือ ชายขี้เมาวัยกลางคน ครอบครัวแตกแยก เมียมาทิ้งไป ลูกชายก็ตายจาก ตัวเองก็เหมือนคนนอกสังคม เพราะไม่มีใครเอา วันๆ มีแต่เหล้าขาวปลอบใจ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมไม่มีอะไรดีขึ้น

จนมีพระหนุ่มที่บวชมาได้ 8 พรรษามาพบเข้า และเอ่ยชวนให้ไปพักที่วัดซึ่งเป็นวัดป่าอยู่ในถ้ำเชิงเขาด้วยกัน เขาตัดสินใจไปอยู่กับพระตามคำชวน อย่างน้อยก็มีคนเห็นเขา ยังมีความเป็นตัวตนเหลืออยู่

จากอยู่เฉยๆ โดยมีกฎเกณฑ์จากพระว่า ต้องเลิกเหล้า เขาก็คิดอยากบวช นั่นคือการก้าวจากคนมีตัวตน สู่ คนใกล้ธรรมะมากขึ้น

เมื่อบวชแล้ว ก็ได้รับการสอนจากพระหนุ่มให้ออกธุดงค์เพื่อฝึกฝนจิตใจตนเอง นั่นแหละคือการต่อสู้กับจิตใจของตนอย่างแท้จริง ซึ่งบุญส่งนำเสนอออกมาได้อย่างเรียบง่าย แต่น่าสนใจ ผสมกับการตั้งคำถามกับตัวผู้ชมเอง

ผมสังเกตว่าตลอดทั้งเรื่อง แทบจะไม่มีเสียงดนตรีเป็นแบ็กกราวด์ประกอบหรือเพิ่มรสของอารมณ์เลย ทุกอย่างเป็นเสียงตามธรรมชาติจริงๆ เข้ากับชื่อเรื่องคือ “ธุดงควัตร” จึงปราศจากการปรุงแต่งใดๆ ที่ชอบมากคือเสียงธรรมชาติของลมที่พัดอู้อึงอลในช่องเขาสูงที่พระบวชใหม่ป่ายปีนหนีจิตใจตัวเองขึ้นไปหาความสงบทางใจ

ภาพที่พระนั่งทำสมาธิให้ใจสงบท่ามกลางเสียงอึงอลของลมที่กระโชกดังว่านั้น เหมือนสภาพของสังคมทุกวันนี้จริงๆ ที่เราต้องผจญสู้รบกับมวลกิเลสเกรียนๆ ก้อนใหญ่ที่ถาโถมเข้ามาทุกลมหายใจ

 

กิเลสที่ทำให้เราหลงติด หลงยึด จนเกิดเป็นมวลความทุกข์ที่ขังอยู่ในใจ ระบายไม่ทัน ไม่ว่าจะเป็นการติดไลน์ การติดแชต การติดแบรนด์ การติดอำนาจ หรือการติดอัตตาตนเอง

ว่างๆ ลองออกธุดงค์เอง โดยไม่ต้องออกบวชจริงก็ได้

วางมือถือ เดินเท้าเปล่า ท่องไปในป่า และดู ฟัง ดม สิ่งที่เป็นธรรมชาติรอบตัวเรา

แต่ไว้ทำหลังวันที่ 7 สิงหาคม ก็แล้วกัน เดี๋ยวจะอดลงประชามติให้เสียประวัติเปล่าๆ

เอ…อย่างนี้เขาเรียกอาการ “ติดรัฐธรรมนูญ” รึเปล่าครับท่าน