หลังเลนส์ในดงลึก : ‘แสงเทียน’ / ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
ควายป่า - ควายป่า คือหนึ่งในเหยื่อของเสือโคร่ง ความกำยำ รวมทั้งไม่มีความหวั่นเกรงเสือ และพร้อมรับมือการเข้าโจมตีจากเสือ จึงทำให้งานของเสือไม่ง่ายเลย

 

‘แสงเทียน’

 

…อยู่ในแคมป์ยามค่ำคืน ส่วนใหญ่เราใช้แสงสว่างจากกองไฟ

ไฟฉายที่คาดหัวอยู่นั้น เราจะเปิดเฉพาะเวลาจะออกไปไกลจากกองไฟ การเปิดไฟคาดหัว คือการล่อแมลงอย่างดี

ต้นทางของแสงอีกอย่างที่เราจะใช้ คือแสงจากเทียนไข

ในค่ำคืนที่สายฝนโปรย เปลวเทียนไหววูบวาบ

ตัดขวดน้ำปลา ซึ่งปกติเราจะซื้อชนิดที่ไม่ได้บรรจุในขวดแก้ว เพราะเพิ่มน้ำหนักในเป้

ตัดครึ่งแล้วครอบเทียน ช่วยกันลมไม่ให้พัดเทียนดับได้ หลายครั้งหากมีเวลาอยู่แคมป์นั้นนาน มีเวลาว่างมาก เราตัดไม้ไผ่เป็นโคม

ฝนตกทางทิศที่เป็นบริเวณต้นน้ำตั้งแต่ตอนบ่ายถึงค่ำ มองเห็นฟ้าแลบแปลบๆ น้ำขุ่นแดงเริ่มไหลมาในลำห้วย

ผมนั่งบนเปล มองรอบๆ แคมป์ ซึ่งสว่างด้วยแสงเทียน

ดูเหมือนว่า แม้รอบข้างจะมืดมิด แสงจากเทียนเล่มเดียวก็ให้ความสว่างพอแล้ว…

 

หลายครั้งผมมีโอกาสติดตามผู้ช่วยนักวิจัยซึ่งทำงานร่วมกับภารกิจลาดตระเวนป่าทางอากาศ ในการติดตามหาสัญญาณจากปลอกคอที่ติดอยู่กับเสือโคร่ง

เฮลิคอปเตอร์ลำเล็กบังคับโดยนักบินผู้เชี่ยวชาญ พาลัดเลาะไปตามหมายและพิกัดอย่างคล่องแคล่ว บางครั้งขณะบินเหนือสันเขา ลมพัดแรง ฮ.โยนตัวไป-มา นักบินหันมองหน้ายิ้มๆ อย่างให้กำลังใจ

หลายครั้งเขาพาลงจอดที่หน่วยกลางป่าลึก หากเดินทางด้วยรถ ต้องใช้เวลาเป็นวันๆ และอาจหลายวันในฤดูฝน

การติดตามทางอากาศได้ผลดี เมื่อรับสัญญาณได้ นักวิจัยบันทึกพิกัดไว้ในจีพีเอส

วันต่อมา จะใช้พิกัดนี้ในการเดินเข้าไปตรวจสอบ

 

เดินเข้าไปหาจุดหมายในป่า มีพิกัด รู้ตำแหน่ง แต่ยังไม่เคยไป การเดินต้องอาศัยด่านที่สัตว์ป่าใช้ และมักจะพบกับเส้นทางวกวน ตัดขึ้น ลงหุบชันๆ เมื่อไปถึง เราจะพบซากเหยื่อ ร่องรอยการล่า รอยตีน รอยตะกุยดิน ขี้ รวมทั้งกลิ่นฉี่ที่เสือพ่นไว้

และหากเจ้าของเหยื่ออยู่แถวนั้น จะมีเสียงคำรามขู่ให้เรารักษาระยะห่างอย่างเคร่งครัด

เสือโคร่งตัวนี้เป็นตัวผู้ ร่างกำยำ น้ำหนัก 201 กิโลกรัม นับเป็นเสือฉกรรจ์ ท่าทางดุดัน มันลากซากวัวแดงตัวผู้โตเต็มวัย สีคล้ำ ไปไกลกว่า 200 เมตร หลังจากฆ่าได้

วันที่เราตามเข้าไปพบนั้น มันพลาดท่าติดกับดัก และถูกสวมปลอกคอติดเครื่องส่งสัญญาณมาแล้วร่วมปี

วันที่มันพลาดนั้น ขณะหลับเพราะฤทธิ์ยาสลบ เรามีเวลาร่วมชั่วโมงอยู่กับมันอย่างใกล้ชิด เป็นช่วงเวลาที่ผมจำได้ดี พูดถึงช่วงเวลานี้บ่อยๆ

มีโอกาสได้สัมผัสขนอ่อนนุ่ม โอบกอด ดมกลิ่นหอมอ่อนๆ นักวิจัยตรวจสอบร่างกายมัน เก็บตัวอย่างขน, เลือด และเห็บที่เกาะบนตัว

เมื่อมันเริ่มฟื้น วินาทีแรกที่สบสายตา เสียงขู่คำรามก็เริ่มต้น

โลกแห่งความเป็นจริงระหว่างเสือกับคนกลับคืนมา

เป็นนาทีอันทำให้ผมรู้ถึงความจริงอย่างหนึ่ง

มีหลายเรื่องราวจะเกิดขึ้นได้เพียงในความฝัน…

 

ความเป็นเสือร่างกำยำ นักวิจัยพบว่า มันมีอาณาเขตกว้างใหญ่เกือบ 200 ตารางกิโลเมตร

สัญญาณที่ปลอกคอ ส่งผ่านระบบดาวเทียม ตำแหน่งการเคลื่อนที่ไปไหนของมัน ส่งมาอย่างแม่นยำ

เมื่อสัญญาณหยุดอยู่กับที่หลายวัน แสดงว่ามันล่าเหยื่อได้ นักวิจัยจะเข้าไปตรวจสอบ

ถึงวันนี้ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีช่วยในการศึกษาเรื่องราวความเป็นไปของสัตว์ป่า ข้อมูลในภาคสนาม ถูกนำมาวิเคราะห์ด้วยโปรแกรม สะดวกรวดเร็ว แม่นยำ

และหากสัญญาณหายไป การค้นหาจากทางอากาศช่วยได้มาก

เมื่อพบตำแหน่งที่ใช้เวลาไม่นาน ก็ถึง เรารู้ว่าการเดินเข้ามาทางพื้นดินจะต้องใช้เวลาเป็นวันๆ

เทคโนโลยีช่วยให้รู้จักเสือมากขึ้น

ภาพอันรางเลือนของเสือเริ่มชัดเจน

 

ลําห้วยคดเคี้ยว ทอดตัวยาวเบื้องล่าง สายน้ำขุ่นแดง ดงหญ้าริมฝั่งเอนราบ ระดับน้ำเพิ่งเริ่มลด หาดทรายมีรอยตีนสัตว์ย่ำไว้เป็นเทือก แม้ฝนจะตกทุกค่ำ แต่ช่วงบ่ายสภาพอากาศร้อนอบอ้าว สัตว์ป่าส่วนใหญ่จะมุ่งหน้ามาที่ลำห้วย

บนหาดทรายที่ยาวขนานไปกับลำห้วย ฝูงควายป่ากว่าสิบตัวแหงนหน้ามองเบื้องบน ไม่ตื่นหนีเสียงเฮลิคอปเตอร์ ในฝูงมีลูกควายตัวเล็ก คงเกิดไม่นานยืนเบียดแม่ไม่ห่าง ควายร่างกำยำสองตัวยืนคุมเชิงใกล้ๆ

ข้างลำห้วยมีเส้นทางลำลองคู่ขนานไป จากข้างบนมองเห็นเป็นช่วงๆ ส่วนใหญ่ถูกบดบังจากความรกทึบ

นั่นเป็นเส้นทางที่เราต้องใช้ในอีกวันสองวันข้างหน้า

ระยะทางราว 30 กิโลเมตร แต่คาดการณ์ไม่ได้ว่าจะใช้เวลากี่วัน เรารู้ดีว่า นี่เป็นช่วงเวลาที่เส้นทางจะรกทึบ มีไม้ล้มขวางต้องเคลียร์เส้นทางเยอะ

การเคลื่อนที่มาทางอากาศเช่นนี้ ดูง่ายดาย สะดวกสบาย

เบื้องล่างนั่นต่างหาก คือโลกแห่งความเป็นจริง…

 

จากความสะดวกสบาย ผมลงสู่โลกแห่งความเป็นจริง

ในความมืดมิด ฝนตกปรอยๆ กระทบผ้ายางเปาะแปะ

“แสงเทียน” หนึ่งเล่ม สว่างไปทั่วแคมป์

ถึงแม้ว่ารอบๆ คือสายฝน และความมืดมิด…