สิ่งแวดล้อม : อังกฤษ ‘ฝ่าวิกฤต’ โควิด / ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน
(ซ้าย)นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร (ขวา) นายจอร์จ อูสทิซ รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมฯ สหราชอาณาจักร

สิ่งแวดล้อม

ทวีศักดิ์ บุตรตัน / [email protected]

 

อังกฤษ ‘ฝ่าวิกฤต’ โควิด

 

น่าเศร้ากับประเทศไทยที่ปล่อยให้เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ B.1.617.2 จากอินเดียหลุดเข้ามาอาละวาด

นี่เท่ากับเร่งให้การแพร่ระบาดเพิ่มความรุนแรง ตัวเลขผู้ป่วยพุ่งกระโดดมาเป็น 3 พันคนต่อวัน ผู้เสียชีวิตขยับขึ้นมาอยู่ที่หลักสิบ ไม่มีแนวโน้มลด มิหนำซ้ำคนไข้อาการหนักนอนในโรงพยาบาลกว่า 1,000 คน อีกราว 400 คนต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ทั้งยังทำให้เกิดผลกระทบตามมาอีกมากมาย

กระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่น กาชื่อ “ประเทศไทย” เป็น 1 ในประเทศต้องห้าม ถ้อยแถลงบอกชัดว่า ญี่ปุ่นเป็นกังวลกับเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ B.1.617.2

คนไทยไม่มีสิทธิเข้าไปสัมผัสแดนอาทิตย์อุทัยจนกว่าระดับความรุนแรงของการแพร่ระบาดลดลงและรัฐบาลญี่ปุ่นรู้สึกสบายใจ

 

ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้สถานการณ์ “โควิด” ในไทยเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้นั้น นั่นคือรัฐบาลต้องเพิ่มศักยภาพในการปราบ “โควิด” ให้ได้ หรือเอาให้อยู่ทั้งการป้องกัน การตรวจและรักษาผู้ติดเชื้อ

ต้องลดสถิติผู้ป่วยหนักให้ลดลงเหลือแค่หลักสิบ คนตายแต่ละวันจะต้องไม่มีเลยหรือมีตัวเลขต่ำๆ ต่ำกว่าเดือนเมษายนที่ผ่านมายิ่งดี

ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งคือการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ทำอย่างไรจึงให้ประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนมากที่สุดด้วยเวลาอันรวดเร็วที่สุด

รัฐบาลต้องยอมรับความผิดพลาดในการจัดการบริหารวัคซีนที่เลือกเอาเพียง 2 ยี่ห้อมายัดเยียดให้ประชาชน เพราะไม่เพียงรัฐบาลจำกัดสิทธิการเข้าถึงด้านการแพทย์และการรักษาพยาบาล หากรัฐบาลยังไม่สามารถจัดหาวัคซีนได้เพียงพอและทันกับความต้องการในสถานการณ์วิกฤต

วัคซีนที่อยู่ในมือรัฐบาลต้องเร่งปูพรมฉีดให้คนทั้งประเทศ มิฉะนั้นความเชื่อมั่นที่เตี้ยต่ำอยู่แล้วจะยิ่งดิ่งลงเหว

วิกฤตโควิดทำลายฐานรากเศรษฐกิจพังยับเยินไปแล้ว หากวิกฤตศรัทธา “การเมือง-สังคม” กระหน่ำซ้ำอีก ภาพของประเทศไทยอาจถึงขั้นขาดวิ่นแหว่งแบ่งเป็นส่วนๆ

 

คราวที่แล้วเพิ่งเขียนชมประสิทธิภาพในการบริหารวัคซีนของรัฐบาลนายบอริส จอห์นสัน ว่าสามารถพลิกวิกฤต “โควิด-19” ให้เป็นโอกาสในเวลาอันสั้น ด้วยการปูพรมฉีดวัคซีน 1 โดสให้ประชาชนจำนวน 37 ล้านคน อีก 21 ล้านคนฉีดครบ 2 โดส คิดอัตราเฉลี่ย 100 คน ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว 89 คน

รัฐบาลอังกฤษลบสถิติคนติดเชื้อโควิด-19 ถล่มระลอกแรก มียอดสะสมกว่า 4.4 ล้านคน เสียชีวิต 127,716 คนได้แล้ว เพราะตอนนี้มีคนป่วยนอนในโรงพยาบาลแค่ 900 กว่าคน

แต่ยังไม่ทันจะเปิดเมืองปลดล็อก ปรากฏว่าอังกฤษเจอโควิดสายพันธุ์อินเดียถล่มจนอ่วม มีคนติดเชื้อล่าสุดวันละกว่า 2,600 คน ผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 6 คน

รัฐบาลเยอรมนีเห็นปรากฏการณ์ในอังกฤษ เกิดอาการตกใจสั่งห้ามชาวอังกฤษเข้าเมืองทันที ประเทศอื่นๆ ในยุโรปเตรียมจะเอาอย่างเยอรมนีมั่ง

ทีมงานที่ปรึกษาของนายกฯ อังกฤษสะกิดให้รัฐบาลเลื่อนแผนเปิดเมือง ปลดล็อกดาวน์ออกไปก่อนเพราะสถานการณ์ไม่น่าไว้วางใจ

 

ในแวดวงวิชาการเฝ้าจับตาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์อินเดียในอังกฤษอย่างใกล้ชิด พร้อมๆ กับการตั้งคำถามว่าการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างความคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ที่รัฐบาลทั่วโลกฉีดให้ชาวเมืองเกือบ 1,700 ล้านโดส จะมีประสิทธิภาพเพียงพอกับการรับมือเชื้อไวรัสกลายพันธุ์หรือไม่

ปัจจุบันโคโรนาไวรัสกลายพันธุ์จาก “อู่ฮั่น” เป็นสายพันธุ์อังกฤษ บราซิล แอฟริกาใต้ และอินเดีย

หากสถิติผู้ป่วยในอังกฤษเพิ่มสูง อาการไข้รุนแรงและผู้เสียชีวิตทะลุเป็นหลักร้อยเหมือนปีที่แล้วนั่น แสดงว่าวัคซีนที่รัฐบาลนายบอริส จอห์นสัน จัดหาให้ชาวอังกฤษเลือกฉีดฟรีๆ 3 ยี่ห้อ ไม่ว่าจะเป็นไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค, ออกซ์ฟอร์ด-เอสตร้าเซนเนก้า และโมเดอร์นา มีประสิทธิภาพในการปราบสายพันธุ์อินเดียต่ำมาตรฐาน?

ไหนๆ ก็พูดถึงประเทศอังกฤษ ขอชักชวนไปดูวิสัยทัศน์ของนายจอร์จ อูสทิซ รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลนายบอริส จอห์นสัน ในการวางเป้าหมายฟื้นฟูธรรมชาติและสัตว์ป่า หวังจะพลิกโฉมประเทศท่ามกลางวิกฤตโควิด

 

“อูสทิซ” ต้องการให้สภาพแวดล้อมของเกาะอังกฤษกลับมาสวยงาม อากาศสะอาด มีความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้นและลดการปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศให้เป็นศูนย์ภายในปี 2593

แผนการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมุ่งเน้นปกป้องพื้นที่ที่เรียกว่าพีตแลนด์ (peatland) หรือป่าพรุ และปลูกป่าขึ้นมาใหม่ให้เขียวชอุ่ม พร้อมๆ กับปฏิบัติการลดการทำลายสภาพธรรมชาติพืชพันธุ์และสัตว์ป่า

“พีตแลนด์” เป็นพื้นที่ที่ซากพืชและสัตว์ทับถมกันจนเป็นก้อน ในสมัยก่อนใช้พีตเป็นเชื้อเพลิงเผาไหม้

แต่ปัจจุบันถือว่าพีตแลนด์เป็นอ่างกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีความสำคัญอย่างมาก ทั้งยังมีบทบาทในการกักเก็บน้ำป้องกันน้ำท่วม เป็นพื้นที่เพาะปลูกและที่อยู่ของสัตว์ป่า

ตามแผนของ “อูสทิซ” จะใช้งบประมาณกว่า 50 ล้านปอนด์ หรือตกราวๆ 2,200 ล้านบาทฟื้นฟู “พีตแลนด์” พื้นที่กว่า 2 แสนไร่ในช่วงระหว่างปี 2564-2568

รัฐบาลอังกฤษจะยื่นต่อรัฐสภาให้ออกกฎหมายห้ามการซื้อขายผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพีต ส่วนการปลูกต้นไม้จะทำให้ได้มากถึง 3 เท่าตัว ใช้เงินประมาณ 500 ล้านปอนด์ รวมถึงสนับสนุนเงินทุนแก่เจ้าของที่ดินและเกษตรกรเพื่อปลูกต้นไม้ดูแลให้เติบใหญ่

“อูสทิซ” ตั้งเป้าไว้ว่า ภายในกลางศตวรรษนี้อังกฤษจะมีพื้นที่ป่าปกคลุมประเทศอย่างน้อยๆ 12 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ

 

ป่าของอังกฤษมีต้นโอ๊กเป็นจุดเด่น เป็นต้นไม้ที่พึ่งพิงอาศัยของพืชพันธุ์สัตว์ป่ามากถึง 2,300 สายพันธุ์

ต้นไม้มีส่วนสำคัญในการดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ป่าไม้ในอังกฤษดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 4 เปอร์เซ็นต์จากปริมาณการปล่อยก๊าซพิษทั้งหมดบนเกาะแห่งนี้

โครงการป่าชุมชนแห่งใหม่ในอังกฤษวางเป้าไว้ว่าจะมีอยู่ 3 แห่งรวมพื้นที่ 37,500 ไร่ เป็นป่าเพื่ออากาศสะอาด ให้ประชาชนใช้เป็นที่สันทนาการสัมผัสธรรมชาติ

ส่วนการอนุรักษ์สัตว์ป่าที่สูญพันธุ์จากเกาะอังกฤษ เช่น แมวป่า นากหรือบีเวอร์ กระทรวงสิ่งแวดล้อมจะเปิดพื้นที่ใหม่ให้สัตว์เหล่านี้กลับเข้ามาอยู่อาศัย เพิ่มจำนวนประชากรสัตว์ให้มากขึ้น

ทีมปฏิบัติงานอนุรักษ์สัตว์ป่าและปลูกป่า ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญ เจ้าของที่ดินและเอ็นจีโอ ทุกฝ่ายร่วมแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันเพื่อให้โครงการมีคุณภาพเต็มเปี่ยม