ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 4 - 10 มิถุนายน 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | My Country Thailand |
ผู้เขียน | ณัฐพล ใจจริง |
เผยแพร่ |
My Country Thailand
ณัฐพล ใจจริง
ความหมายของโลโก้พรรคคณะราษฎร
: จากสมาคมนักสู้
สู่สโมสรในพระบรมราชูปถัมภ์
ความลับลมคมในในการยุบพรรคคณะราษฎรนั้น สมาชิกยุคบุกเบิกบันทึกไว้ว่า
“ในเวลานั้น พวกผมเด็กหนุ่มไม่มีความเข้าใจอะไรเลย (แต่ต่อมา-ต่อมา เมื่อรู้เห็นอะไร-อะไร มากๆ เข้า ประกอบกับทั้งอายุก็มากเข้า-มากเข้า จึงรู้และเข้าใจ-เข้าใจว่า อ้อ-อ้อ)”
(จรูญ เสตะรุฐิ, 2507)
กำเนิดพรรคปฏิวัติแนวเสรีนิยมแรกของไทย (2475-2476)
จากความคิดของคณะราษฎรมุ่งจัดตั้ง “สมาคมคณะราษฎร” เป็นพรรคการเมืองแสวงหาการเดินหน้าปฏิวัติจากพลเมือง ด้วยการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง พร้อมระดมสมาชิกพิทักษ์ระบอบใหม่ อันมีนโยบายหลักคือ หลัก 6 ประการ ขึ้นเมื่อสิงหาคม 2475 โดยพระยานิติศาสตร์ไพศาล หัวหน้าพรรคคณะราษฎรคนแรก เปรียบเปรยว่า พรรคนี้เป็นพรรคเสรีนิยมที่สู้กับสมาคมคณะชาติ-พรรคอนุรักษนิยม
สมาคมคณะราษฎรจัดตั้งสาขาทั่วประเทศ ระดมมวลสมาชิก ประกาศนโยบาย รณรงค์ทางการเมือง พร้อมแจกจ่ายโลโก้สู่สังคม ดังตัวอย่าง เหรียญแจกสมาชิกที่ชลบุรี เมื่อต้นปี 2476
หากหันมาดูความหมายของโลโก้สมาคมคณะราษฎร/พรรคคณะราษฎรที่ปรากฏบนเหรียญทองแดงรูปหยดน้ำ
หน้าเหรียญปรากฏตราอุณาโลม หมายถึง ทหารบก ตราสมอ หมายถึง ทหารเรือ ส่วนคันไถ หมายถึง พลเรือน
รวงข้าวที่อยู่ขนาบทั้งสองข้างหมายถึงความอุดมสมบูรณ์
ระหว่างช่อรวงข้าว เป็นรูปเล่มหนังสือ อันอาจหมายถึงรัฐธรรมนูญ
กล่าวโดยรวมอาจหมายถึงคณะราษฎรก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ
หลังเหรียญมีข้อความว่า “ที่ระลึกในงานเปิดสาขา สมาคมคณะราษฎร์ จังหวัดชลบุรี ๑๑/๑๑/ ๒๔๗๕” (นับอย่างใหม่คือ 11 กุมภาพันธ์ 2476) คาดว่าเป็นเหรียญที่แจกสมาชิกพรรคที่มาร่วมงานในวันนั้น
ด้วยเหตุที่การรณรงค์ของสมาคมคณะราษฎรมีการตอบรับเป็นอย่างดี ส่งผลให้รัฐบาลพระยามโนปกรณ์ฯ ตัดสินใจยุบสมาคมลงเมื่อเมษายน 2476 พร้อมไม่อนุญาตให้สมาคมคณะชาติจัดตั้งขึ้น สมาชิกสมาคมคณะราษฎรยุคแรก บันทึกว่า “ด้วยทางราชการในขณะนั้น ไม่พึงปรารถนาจะให้มีสมาคมการเมืองนั้น ต่อมา สมาคมคณะราษฎรจึงเปลี่ยนสภาพเป็นสโมสรคณะราษฎร”
สำหรับเบื้องหลังของการยุบสมาคมคณะราษฎร สมาชิกบันทึกว่า “เรื่องอย่างนี้ ในเวลานั้น พวกผมเด็กหนุ่มไม่มีความเข้าใจอะไรเลย (แต่ต่อมา-ต่อมา เมื่อรู้เห็นอะไร-อะไร มากๆ เข้า ประกอบกับทั้งอายุก็มากเข้า-มากเข้า จึงรู้และเข้าใจ-เข้าใจว่า อ้อ-อ้อ ” (จรูญ เสตะรุฐิ, 2507)
จาก “สมาคม” นักปฏิวัติ
สู่ “คลับ” พลเมือง
การสังสรรค์ของสามัญชน (2477-2488)
ด้วยเหตุนี้ สมาคมคณะราษฎรจึงเปลี่ยนสู่ “สโมสรคณะราษฎร” ในวันที่ 23 มิถุนายน 2477 พร้อมเปลี่ยนบทบาทเป็นสโมสรสังสรรค์ และบำรุงความรู้แก่ประชาชนแทน
ด้วยเหตุที่สมาคมถูกบังคับให้เปลี่ยนสภาพเป็นสโมสร สมาคมในต่างจังหวัดจึงขาดการความสัมพันธ์จากสมาคมที่กรุงเทพฯ จึงต้องไปจดทะเบียนเป็นสโมสรคณะราษฎรประจำจังหวัดต่อไป เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้า สาขาสโมสรตามต่างจังหวัดก็ยุบสลายตัวไปตามกาลเวลา
สโมสรคณะราษฎรมีวัตถุจัดตั้งเพื่อช่วยเหลือส่งเสริมการกุศล บำรุงการศึกษาและรักษาสามัคคีธรรม (ข้อบังคับสโมสรคณะราษฎร, 2477)
ดังนั้น กิจกรรมจึงเปลี่ยนเข้มมุ่งจากการเมืองโดยตรงมาสู่ส่งเสริมประชาธิปไตยและกิจกรรมชุมนุมสังสรรค์แทน
เช่น ในสโมสรมีบริการขายเครื่องดื่ม เหล้า เบียร์ บิลเลียด พูล แบดมินตัน ลอนเทนนิส เป็นกิจกรรมสังสรรค์บริการแก่เหล่าสามัญชนที่มาสังสรรค์กัน
ห้วงเวลานั้น คลับหรือสโมสรสังสรรค์สำหรับสามัญชนมีจำกัดและมีค่าสมาชิกแพง หากผู้ใดต้องการสังสรรค์ตามแบบตะวันตก เช่น การแข่งม้า กอล์ฟ เทนนิส แบดมินตัน บิลเลียด ฯลฯ คลับส่วนใหญ่เปิดรับเฉพาะชาวต่างชาติ ชนชั้นสูง กลุ่มข้าราชการและพ่อค้าเป็นสำคัญ เช่น สโมสรราชกรีฑา สโมสรกีฬาอังกฤษ สโมสรสีลม เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้ สมาชิกสโมสรคณะราษฎร ผู้เป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย บันทึกว่า เขาสมัครเป็นสมาชิกสโมสรเพราะต้องการเข้าสังคม และราคาค่าเช่าคอร์ดเทนนิส เกมบิลเลียด มีราคาถูกกว่าสโมสรอื่นมาก
จากสโมสรคณะราษฎร
เป็น “สโมสรราษฎร์สราญรมย์” (2488-2492)
ในช่วงปลายสงครามราว 22 มิถุนายน 2488 รัฐบาลควง อภัยวงศ์ (สิงหาคม 2487-สิงหาคม 2488) ต้องการใช้สวนสราญรมย์เป็นที่ทำการทหารสารวัตร จึงสั่งการให้ยุบสโมสรลง ว่า “สโมสรคณะราษฎรนี้ได้จัดตั้งผิดจากหลักการเดิม เมื่อพิจารณาโดยรอบคอบแล้ว เพื่อรักษาประโยชน์ทางการเมืองทั้งภายใน-ภายนอกไว้-จึงเป็นการสมควรที่จะดำเนินการยุบ-เลิกสโมสรคณะราษฎรเสีย…”
เป็นไปได้ว่า นายกสโมสรคณะราษฎรช่วงสงครามหลายคนเป็นฝ่ายนิยมจอมพล ป. เช่น พล.อ.หลวงพรมโยธี พล.ท.หลวงเกรียงศักดิพิชิต สโมสรจึงถูกรัฐบาลควงที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังจอมพล ป.ลาออก (สิงหาคม 2487) มองสโมสรว่า เป็นฐานอำนาจของจอมพล ป. จึงพยายามลดกลุ่มสนับสนุนลง
ต่อมา เมื่อหน่วยทหารสารวัตหมดความจำเป็นในการใช้สถานที่แล้ว สมาชิกเดิมจึงช่วยการกอบกู้และตั้งขึ้นเป็นสโมสรใหม่ เมื่อสิงหาคม 2488 ดังเหตุว่า “เนื่องด้วยสโมสรนี้ตั้งมานาน เป็นปึกแผ่น จะล้มเลิกก็เป็นที่น่าเสียดาย จึงให้เปลี่ยนชื่อเป็นสโมสรราษฎร์สราญรมย์ และเปลี่ยนวัตถุประสงค์บางประการเสีย และคงตั้งสโมสร ณ ที่เดิมในพระราชอุทยานสราญรมย์ต่อไป”
มีการเปลี่ยนชื่อจากสโมสรคณะราษฎรเป็น “สโมสรราษฎร์สราญรมย์” เนื่องจากต้องการขยายให้ครอบคลุมประชาชนทั้งชาติ เป็นความร่มเย็นเป็นสุขภายใต้การปกครองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยของประชาชน (พ.อ.ขุนทะยานราญรอน, 2507)
อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่า โลโก้ของสมาคมคณะราษฎร ยังคงสืบต่อมายังสโมสรคณะราษฎรและสโมสรราษฎร์สราญรมย์ที่ก่อตั้งขึ้นในช่วงปลายสงครามโลกด้วย
สโมสรราษฎร์สังสรรค์
สู่ “สโมสรราษฎร์สราญรมย์ ในพระบรมราชูปถัมภ์” (2493-2524)
ภายหลังการรัฐประหาร 2490 คณะรัฐประหาร ผู้เป็นทหารกลุ่มใหม่ ขึ้นมามีอำนาจแทนคณะราษฎร พร้อมๆ กับฟื้นตัวของกลุ่มอนุรักษนิยม มีผลทำให้โลโก้ในช่วงนี้เปลี่ยนแปลงไป
จากตราโลโก้เดิมที่แสดงความเป็นคณะราษฎร มาเป็นโลโก้ใหม่ ภายในรูปโล่ มีรูปจักรสมอปีก รูปเล่มหนังสือ รูปเรือใบและน้ำทะเล กับรูปพานไถ และรวงข้าว
ใต้รูปโล่มีตัวอักษรว่า สโมสรราษฎร์สราญรมย์ อันหมายถึง ชุมนุมทหาร 3 เหล่าทัพ พ่อค้าและพลเรือน กับสมุดรัฐธรรมนูญ
นับแต่ปี 2493 สโมสรราษฎร์สราญรมย์เปลี่ยนชื่อเป็น “สโมสรราษฎร์สราญรมย์ ในพระบรมราชชูปถัมภ์” ในข้อบังคับของสโมสรระบุเครื่องหมายเป็นรูปโล่อยู่ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎมีรัศมี ภายในพระมหาพิชัยมงกุฎมีเครื่องหมายอุณาโลม ใต้รูปโล่มีตัวอักษรว่า สโมสรราษฎร์สราญรมย์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
โดยวัตถุประสงค์สโมสร คือส่งเสริมการกุศล เช่น ฌาปนกิจสมาชิก ประกอบกุศลสาธารณะ ส่งเสริมการศึกษา ส่งเสริมกีฬาและการบันเทิง ส่งเสริมศีลธรรมจรรยา และส่งเสริมสามัคคีระหว่างสมาชิก
เห็นได้ว่า ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมีผลความรุ่งเรืองและร่วงโรยของสมาคมคณะราษฎรนำไปสู่การเปลี่ยนชื่อสโมสร โลโก้ วัตถุประสงค์ เสมือนหนึ่งการนำพาสมาชิกที่นิยมการปฏิวัติให้กลายสภาพเป็นชมรมการกุศล บันเทิงของคนนอบน้อมไปในท้ายที่สุด
อีกทั้งนับแต่ในช่วงปลายทศวรรษ 2490 บรรยากาศของตลาดนัดวันเสาร์-อาทิตย์ที่ถูกจัดในสวนสราญรมย์คึกคักมากขึ้น และเริ่มนำมาสู่ปัญหาความสกปรก แหล่งชุมนุมของปัญหาสังคมมากขึ้น
สโมสรพยายามขอให้เทศบาลกรุงเทพฯ จัดระเบียบนานกว่าทศวรรษ จวบกระทั่งตลาดนัดย้ายออกไปที่สนามหลวงได้ในช่วงหลัง 2500
การโดยสรุป การสิ้นอำนาจของคณะราษฎรตั้งแต่รัฐประหาร 2490 เมื่อกลุ่มผู้นำทหารกลุ่มใหม่ขึ้นเถลิงอำนาจแทน ติดตามด้วยรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ปิดฉากยุคสมัยของคณะราษฎรลงอย่างสิ้นเชิง ผนวกับการผลัดใบของรุ่นคน ตลอดจนรูปแบบการสังสรรค์ในสโมสรแบบเดิมเปลี่ยนไปเป็นไนต์คลับในช่วงสงครามเย็น และความพยายามลบความทรงจำที่มีต่อคณะราษฎรลง ล้วนมีส่วนทำให้สโมรสราษฎร์สราญรมย์ ในพระบรมราชชูปถัมภ์ เสื่อมความนิยมลงและลดความนิยมจนยุติบทบาทในช่วงกลางทศวรรษ 2520
อย่างไรก็ตาม การอสัญกรรมของนายปรีดี พนมยงค์ เมื่อ 2526 กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการกลับมาเกิดใหม่ของคณะราษฎรอีกครั้ง