2503 สงครามลับ สงครามลาว (31)/บทความพิเศษ พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

บทความพิเศษ

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

 

2503 สงครามลับ

สงครามลาว (31)

 

ค่ายฝึกอันลี้ลับ

กองพันพิเศษ ค่ายสฤษดิ์เสนา ตั้งอยู่บนถนนพิษณุโลก-หล่มสัก ระหว่าง ก.ม.33-34 อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก (ปัจจุบันคือ กรมรบพิเศษที่ 4) เปิดทำการเริ่มแรกเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2506 มีแม่น้ำเข็กหรือแม่น้ำวังทองไหลผ่าน พื้นที่ตั้งจึงแบ่งออกเป็น 2 ส่วน

ด้านเหนือ (เรียกว่า “ฝั่งพระนคร”) เป็นที่ตั้งสำนักงานและที่พัก เช่น กองบังคับการกองพัน สนามฝึกโดดร่ม คลังยุทโธปกรณ์ คลังอาวุธ โรงพับร่ม คลังกระสุน โรงอาหาร โรงรถ โรงไฟฟ้า เรือนนอนไม้ 2 ชั้น จำนวน 4 หลัง สัญญาบัตร 2 ชั้น จำนวน 1 หลัง และบ้านพักผู้บังคับกองพัน รองผู้บังคับกองพัน รวมทั้งที่ปรึกษาสหรัฐ

ด้านหลังมีสนามบินความยาวประมาณ 2,500 เมตร เครื่องบิน C-123 และเครื่องบินคาริบูขึ้น-ลงได้

ส่วนทางด้านใต้ (เรียกว่า “ฝั่งธน”) เป็นที่ตั้งกองร้อยฝึกโดยเฉพาะสำหรับทหารจากราชอาณาจักรลาว ประกอบด้วยกองบังคับการกองร้อย เรือนนอน โรงอาหาร ห้องเรียน สนามฝึก สนามโดดร่ม สนามยิงปืนทราบระยะ 200 เมตร เป็นต้น

ทั้งสองฝั่งเชื่อมโยงไปมาหาสู่กันด้วยสะพานแขวนความยาวประมาณ 180 เมตร

 

ภารกิจ

“กองพันพิเศษ” จัดตั้งเพื่อปฏิบัติ “ภารกิจพิเศษ” ตามโครงการความร่วมมือระหว่างสหรัฐกับไทย เป็นค่ายฝึกที่จัดตั้งขึ้นเพื่อฝึกทหารจากราชอาณาจักรลาว และเป็น “หน่วยปฏิบัติการพิเศษ” ในช่วงแรกเป็นหน่วยผสมกำลังพลระหว่าง “ทหารพลร่ม” กับ “ตำรวจพลร่ม” และ “ที่ปรึกษาสหรัฐ”

นอกเหนือจากการฝึกแล้ว ภารกิจของกองพันพิเศษคือ

1. แทรกซึมเข้าไปในพื้นที่ปฏิบัติการโดยทางอากาศ ทางบก หรือทางน้ำ เพื่อรวบรวมคนในพื้นที่จัดตั้งหน่วยรบแบบกองโจรขึ้นในพื้นที่ที่ได้รับการมอบหมายที่เป็นพื้นที่ของฝ่ายศัตรูหรือพื้นที่สีแดง

2. จัดตั้งฐานปฏิบัติการรบพิเศษ

3. ต่อสู้และทำลายหน่วยรบแบบกองโจร พวกก่อการร้าย และหน่วยบ่อนทำลายของข้าศึก ด้วยการรบแบบส่งทางอากาศ

4. ให้ความคุ้มครองป้องกันและรักษาสถานที่ บุคคลสำคัญของรัฐบาล จู่โจมเพื่อเข้ายึดจับและทำลายล้างสถานที่ ตลอดจนบุคคลสำคัญของฝ่ายข้าศึก

เป็นหน่วยปฏิบัติการตามแผนยุทธศาสตร์ปฏิบัติการพิเศษอื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมายเพื่อความมั่นคงของประเทศ

“กองพันพิเศษ” จึงเป็นทั้ง “หน่วยฝึก” และ “หน่วยปฏิบัติการ” ในภารกิจสำคัญระดับ “ลับสุดยอด” ทำให้เป็นหน่วยที่มีการรักษาความลับอย่างเข้มงวด ต่างจากหน่วยทหารหรือตำรวจทั่วไป

กลางเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2506 ร.ต.ท.สุรยุทธ์ ปัทมดิลก พร้อมด้วยกำลังพลตำรวจพลร่มประมาณ 30 นายเดินทางมาถึงกองพันพิเศษ ค่ายสฤษดิ์เสนา เป็นชุดแรก

ต่อมาปลายปีเดียวกัน กำลังตำรวจพลร่มประมาณ 250 คนได้เดินทางโดยเครื่องบิน C-123 เครื่องบินคาริบู และส่วนหนึ่งเดินทางโดยรถไฟจากหัวหินไปปฏิบัติหน้าที่ ณ กองพันพิเศษ ค่ายสฤษดิ์เสนาแห่งนี้

ผู้บังคับกองพันพิเศษในยุคแรกมีรายนามดังนี้

ร.ต.ท.สุรยุทธ์ ปัทมดิลก เป็นรองผู้บังคับกองพัน รักษาการผู้บังคับกองพัน จนกระทั่งกำลังพลของทหารพลร่มมาครบตามจำนวนที่กำหนดจึงได้เปลี่ยนแปลงให้ทหารพลร่มเป็นผู้บังคับกองพัน ส่วนตำรวจเป็นรองผู้บังคับกองพัน

รายนามผู้บังคับกองพัน ตามลำดับเป็นดังนี้ ร.อ.เศรษฐา ธนะรัชต์ พ.ท.รวมศักดิ์ ไชยโกมินทร์ พ.ท.วิเชียร อ่อนนุช พ.ท.วิมล วงศ์วานิช พ.ท.วรวิทย์ พิบูลศิลป์

เมื่อสงครามในลาวยุติลง หมดความจำเป็นในการฝึกกำลังพลจากราชอาณาจักรลาว 17 มีนาคม พ.ศ.2517 กำลังตำรวจชุดสุดท้ายสิ้นสุดภารกิจที่กองพันพิเศษได้เดินทางกลับค่ายนเรศวร หัวหิน

หลังจากนั้น มีผู้ดำรงตำแหน่ง ผบ.พัน อีก 2 ท่านคือ พ.ท.ปรีชา คชเสนี และ พ.ท.มนัส คล้ายมณี กองพันพิเศษได้ยุติบทบาท “ภารกิจพิเศษ” เมื่อ 24 มิถุนายน 2524

 

กองร้อยฝึกรบพิเศษ

ในด้านการฝึกซึ่งเป็นวัตถุประสงค์สำคัญสำหรับสถานการณ์ในราชอาณาจักรลาวเมื่อเริ่มก่อตั้งค่ายฝึกแห่งนี้นั้น เป็นหน้าที่ของ “กองร้อยฝึกรบพิเศษ”

“อาจองค์ธำรงศักดิ์ น้อมใจภักดิ์พระจักริน” จัดทำโดยกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน บันทึกในส่วนการฝึกซึ่งเป็น “หัวใจ” ของกองพันพิเศษไว้ดังนี้

“เป็นการจัดเพื่อภารกิจการฝึกให้กับทหารม้งและทหารลาวที่ส่งเข้ามารับการฝึกในหลักสูตรของหน่วยรบพิเศษต่างๆ เช่น หลักสูตรอบรมผู้นำหน่วย หลักสูตรระเบิดทำลาย หลักสูตรการรบแบบกองโจร แต่ละปีไม่น้อยกว่า 1,500 คน

โดยที่การจัดชุดครูฝึกจะใช้ทั้งทหารพลร่มและตำรวจพลร่มซึ่งในการเคลื่อนย้ายกำลังพลที่มาฝึกนี้กระทำโดยเครื่องบินของแอร์อเมริกา มาลงที่สนามบินในค่ายสฤษดิ์เสนาโดยตรง”

 

เชลยศึกทรหด

พ.อ.ชัยชาญ หาญนาวี ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในนาม “เชลยศึกทรหด” ก็เริ่มตำนานของท่านที่กองพันพิเศษแห่งนี้ โดยเมื่อพฤศจิกายน 2507 ขณะดำรงยศสิบเอก ได้รับคำสั่งให้มาปฏิบัติหน้าที่ในกองพันพิเศษ ก่อนจะข้ามโขงไปปฏิบัติภารกิจลับในลาว

ซึ่งท่านได้เริ่มบันทึกตำนานชีวิตเชลยศึกของท่านครั้งนั้นไว้ดังนี้…

“ผมเหวี่ยงตัวลงมาจากที่นั่งของตัวเครื่องที่ผมนั่งอยู่ พยายามทำตัวให้ต่ำ เพื่อมิให้เป็นเป้ากระสุนของข้าศึก และเหลือบตาขึ้นไปมองดูนักบิน เห็นเขานั่งตาเหลือกหน้าซีดในที่นั่งของเขาเพราะความตกใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝัน

ต่อจากนั้นเห็นเขาสตาร์ตเครื่องยนต์พยายามจะนำปอร์ตเตอร์ของเขาทะยานขึ้นสู่ฟากฟ้าอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้พ้นจากห่ากระสุนที่สาดมาจากรอบสนามนั้น

เขาพยายามเร่งเครื่องเพิ่มรอบการหมุนของใบพัดเพื่อหมุนตัวกลับตั้งตัวใหม่ที่รันเวย์เพื่อติดปีกหนี แต่ก็ไม่ไหวเสียแล้ว…หมดหนทาง…อินทรีตัวน้อยนั้นปีกหักเสียแล้ว กระสุนของข้าศึกหลายนัดเจาะเข้าที่ถังน้ำมัน ทำให้น้ำมันทะลักออกมาเป็นน้ำก๊อก กลิ่นนี้มันคละเคล้ากับคาวเลือดและเสียงปืน ไฟลุกท่วมตอนหัวเครื่องบินและกำลังจะลามเข้ามาในตัวเครื่อง ผมโดดลงมาจากตัวเครื่องบินทั้งๆ ที่เสียงปืนของข้าศึกยังยิงอยู่เป็นประปราย

เสียงปืนเงียบ…เมื่อนักบินดับเครื่องยนต์และถอนหายใจอย่างสิ้นหวัง เหลียวมองไปทางไหนเห็นมีแต่ศพทั้งบนเครื่องบินและที่พื้นสนามบิน เหลือเพียง 2 ชีวิตคือผมและนักบินชาวอเมริกัน ซึ่งไม่แน่ใจนักว่า ข้าศึกจะปล่อยให้เรามีชีวิตอยู่หรือจะตัดสินใจให้ตายตกไปด้วยกันทั้งหมด

ทหารเวียดนามเหนือและดาวแดงวิ่งออกมาจากสุมทุมพุ่มไม้ทั้งสองฟากของสนามบิน ส่วนหนึ่งวิ่งไปตรวจที่เครื่องบิน และอีกส่วนหนึ่งประมาณ 10 กว่าคนวิ่งเข้ามาหาผมและนักบิน ปากกระบอกปืนที่พุ่งเข้ามานั้น น่ากลัวเท่ากับสีหน้าและท่าทางของพวกเขา…บอกให้ยอมจำนนเสียโดยดีอย่าได้ขัดขืน

คำสั่งที่เปล่งออกมาเป็นภาษาลาวนั้นฟังรู้เรื่อง เฉียบขาดและเอาจริงเอาจัง”