บทวิเคราะห์ งานนิพนธ์ออนอเร่ เดอ บัลซัค ‘เรือนแรมสีแดง’ กับการแปล (จบ)/บทความพิเศษ วัลยา วิวัฒน์ศร

บทความพิเศษ

วัลยา วิวัฒน์ศร

 

บทวิเคราะห์

งานนิพนธ์ออนอเร่ เดอ บัลซัค

‘เรือนแรมสีแดง’ กับการแปล (จบ)

 

ประเด็นที่น่าสนใจในเรื่องของศิลปะการประพันธ์อีกประเด็นคือการสร้างตัวละครข้ามเรื่อง

เมื่อบัลซัคแต่งเรือนแรมสีแดง ใน ค.ศ.1831 นั้น เขาตั้งชื่อตัวละครฆาตกรตัยเยอแฟร์ว่า โมริเซย์ และวิคตอรีนบุตรสาวของเขาชื่อ โจเซฟีน

แต่ในปลายปี ค.ศ.1834 เมื่อบัลซัคคิดโครงเรื่องพ่อกอริโยต์ ซึ่งเป็นนวนิยายที่มีโครงสร้างซับซ้อน โวแทร็งตัวละครฝ่ายร้ายมีบทบาทสำคัญต่อการตัดสินใจของรัสตินยัคตัวละครเอก บัลซัคต้องการตัวละครฝ่ายร้ายอีกตัวมาร่วมบทบาทนี้ เขาจึงเปลี่ยนชื่อโมริเซย์และโจเซฟีนเป็นตัยเยอแฟร์และวิคตอรีนตามลำดับ

การเปลี่ยนนี้ปรากฏในฉบับสำนักพิมพ์ Werdet เมื่อ ค.ศ.1837 หลังเรื่องพ่อกอริโยต์ ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อต้นปี ค.ศ.1835

ชื่อตัยเยอแฟร์ ในภาษาฝรั่งเศสเขียนว่า Taillefer สองพยางค์แรกมาจากคำกริยา tailler แปลว่า ตัด ตัดแต่ง (กิ่งไม้) เกลา (ท่อนไม้) พยางค์หลังคือ fer เป็นคำนาม แปลว่า เหล็ก ซึ่งหมายรวมถึงเครื่องมือหรืออาวุธใดๆ ที่ทำด้วยโลหะ ในที่นี้คือมีดหมอหรือเครื่องมือแพทย์

เมื่อคิดจะนำเรื่องของตัวละครในเรือนแรมสีแดง มาสวมบทบาทในพ่อกอริโยต์ บัลซัคจึงย้อนกลับไปตั้งชื่อใหม่เพิ่มความหมายตามการกระทำของเขา

การตายของบุตรชายตัยเยอแฟร์ในการดวลตามคำบอกเล่าผ่านๆ ของเพื่อนหญิงของข้าพเจ้าผู้เล่าในเรือนแรมสีแดง มีรายละเอียดชัดเจนในพ่อกอริโยต์ ว่าเป็นฝีมือของผู้ใด และวิคตอรีนซึ่งพลาดรักในเรือนแรมสีแดง ก็จะพลาดซ้ำอีกครั้งในพ่อกอริโยต์

หากคิดแบบพุทธ บุตรชายและบุตรสาวของตัยเยอแฟร์รับกรรมเนื่องจากการกระทำของบิดาตน บัลซัคเองในเรือนแรมสีแดง ก็กล่าวถึงการตัดสินของพระเจ้าผู้ทรงความยุติธรรม

ขอเพิ่มเติมว่า ในเรือนแรมสีแดง ตัวละครที่ถูกฆาตกรรมชื่อ วัลเฮนเฟอร์/Walhenfer ชื่อนี้ถ้าออกเสียงเป็นฝรั่งเศสจะอ่านใกล้เคียงกับประโยคว่า Va ? l’enfer ซึ่งแปลว่า จงลงนรกไปเสีย เป็นชื่อที่บอกชะตากรรมของตัวละคร

ในแง่ของการแปล ผู้แปลไม่อาจแปลความหมายชื่อตัวละครได้ (นอกจากนักประพันธ์จะระบุไว้) ผู้อ่านที่รู้ภาษาฝรั่งเศสจะเข้าถึงความหมายของชื่อได้โดยง่าย

ในที่นี้ผู้เขียน-ผู้แปลจึงอาศัยบทวิเคราะห์บทนี้มาอธิบาย

นอกจากชื่อตัวละครแล้ว ยังมีชื่อบุคคลจริงทั้งในประวัติศาสตร์และร่วมสมัยกับผู้ประพันธ์ที่ผู้แปลจะต้องพิจารณาว่าจะขยายที่มาและความสำคัญของบุคคลจริงเหล่านั้น อีกทั้งบทบาทที่มีต่อตัวบทอย่างไร

ชื่อบุคคลเหล่านี้ไม่เป็นปัญหาต่อความเข้าใจของผู้อ่านวัฒนธรรมเดียวกับผู้ประพันธ์และร่วมสมัยกัน (ผู้อ่านชาวฝรั่งเศสต่างสมัยกับผู้ประพันธ์หรือกับเนื้อเรื่องก็อาจไม่เข้าใจ)

ผู้เขียน-ผู้แปลเคยใช้วิธีทำเชิงอรรถบอกประวัติและอธิบายความ ใช้การทำบัญชีศัพท์และชื่อเฉพาะ อธิบายในคำนำผู้แปล สำหรับเรื่องเรือนแรมสีแดง ผู้เขียน-ผู้แปลเลือกเขียนบทวิเคราะห์พิมพ์ไว้ท้ายเรื่อง

เนื่องจากเนื้อเรื่องในช่วงที่สองดำเนินในช่วงสงครามซึ่งผู้ประพันธ์ระบุชัดเจนว่าเรื่องเกิดวันที่ 20 ตุลาคม ค.ศ.1799 ในขณะนั้นกองทัพสาธารณรัฐฝรั่งเศสบุกออสเตรียและเยอรมนี บัลซัคศึกษาเอกสารว่าด้วยกองทัพสาธารณรัฐ การเดินทัพและการตั้งทัพตามสมรภูมิต่างๆ ชื่อนายพลและบุคคลสำคัญที่ปรากฏในต้นฉบับตรงตามเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ เมื่อต้นฉบับระบุคำว่านายพลไว้หน้าชื่อ และผู้แปลคงไว้ตามนั้น ผู้อ่านก็เข้าใจทันที

อย่างไรก็ตาม มีชื่อสองชื่อที่ผู้ประพันธ์เขียนไว้เพียงกอสต์ และแบร์นาด็อตต์

ในประโยคที่ว่า “ทั้งคู่พกใบผ่านทางและใบแสดงภารกิจในฐานะศัลยแพทย์ผู้ช่วย ลงนามโดยกอสต์และแบร์นาด็อตต์”

ผู้แปลก็จำเป็นต้องค้นข้อมูลหาว่าบุคคลทั้งสองเป็นใคร

 

Jean-Fran?ois Coste (ค.ศ.1741-1819) เป็นหัวหน้าคณะแพทย์แห่งเหล่าทัพสาธารณรัฐ Jean-Baptiste Bernadotte (ค.ศ.1763-1844) เป็นรัฐมนตรีกระทรวงสงครามตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ.1799 ทั้งสองเท่านั้นที่เป็นผู้มีอำนาจเต็มที่จะลงนามได้ น่าชื่นชมที่ผู้ประพันธ์ใส่ใจรายละเอียดและความถูกต้อง

ในแง่ของการแปล ผู้แปลไม่อาจแปลขยายความได้ เพราะจะทำให้ยืดยาวเกินต้นฉบับไปมาก ผู้แปล-ผู้เขียนจึงอาศัยบทวิเคราะห์นี้มาอธิบายแทน

อย่างไรก็ตาม สำหรับชื่อตูแรนน์ ซึ่งเป็นจอมพลของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ผู้แปลได้เติมคำว่าจอมพลหน้าชื่อ เป็นการขยายความเพียงสั้นๆ เพื่อความเข้าใจอันดีของผู้อ่าน

บุคคลที่น่าสนใจอีกคนคือนายพลฟัว

Maximilien S?bastien Foy (ค.ศ.1775-1825) เป็นผู้จงรักภักดีต่อจักรพรรดินโปเลียน เนื่องจากเป็นคนซื่อสัตย์สุจริต รักเพื่อนฝูง และชอบช่วยเหลือผู้อื่น แม้จะเป็นถึงนายพล แต่เมื่อเขาถึงแก่กรรมในปี ค.ศ.1825 เขาไม่มีสมบัติใดๆ ตกทอดถึงภรรยาและลูกๆ ชาวฝรั่งเศสร่วมกันจัดตั้งกองทุนรับบริจาคเพื่อครอบครัวของเขา และได้รับเงินบริจาคถึงเกือบหนึ่งล้านฟรังก์ ซึ่งเป็นเงินจำนวนมหาศาลในสมัยนั้น

บัลซัคคงชื่นชมและมีศรัทธาในตัวนายพลฟัว จึงนำชื่อเขามากล่าวถึง เป็นการคงความอมตะให้แก่ ‘นรชาติวางวาย’

ในขณะเดียวกันก็เป็นวิธีของบัลซัคที่จะบอกว่านายทุนคนที่บริจาคเงินเพื่อเด็กๆ และหลุมฝังศพของนายพลฟัวก็เป็นคนที่ซื่อสัตย์และชอบช่วยเหลือผู้อื่นเช่นเดียวกัน

(ผู้เขียน-ผู้แปลขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นายพลฟัวเป็นเพื่อนกับดูมาส์ บิดาของอเล็กซ็องดร์ ดูมาส์ ผู้ประพันธ์ดาร์ตาญังกับสามทหารเสือ เมื่อนายพลดูมาส์ซึ่งรักความเป็นสาธารณรัฐตั้งตนเป็นปฏิปักษ์ต่อนายพลโบนาปาร์ตซึ่งความสามารถและความสำเร็จในการทหารปูทางสู่การปกครองแบบรวบอำนาจ ตั้งตนเป็นกงสุลสูงสุดและเป็นจักรพรรดินโปเลียนในที่สุด นายพลดูมาส์ก็ถูกลงโทษทั้งทางตรงและทางอ้อม เขาเสียชีวิตเมื่ออเล็กซ็องดร์อายุเพียง 4 ขวบ และทิ้งให้ครอบครัวตกอยู่ในความยากจน อเล็กซ็องดร์มาปารีสเมื่ออายุ 21 เพื่อขอความช่วยเหลือจากนายพลเพื่อนเก่าของบิดาหลายคน ไม่มีผู้ใดกล้าช่วยเพราะเกรงจักรพรรดิ ยกเว้นนายพลฟัวซึ่งสนับสนุนให้เขาเข้าทำงานในสำนักงานเลขานุการของดยุค ดอร์เลอ็องส์ ซึ่งต่อมาคือพระเจ้าหลุยส์-ฟิลิปป์ ที่สำนักงานแห่งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการอ่านเขียนเรียนวรรณคดีเอกของโลก และได้สร้างนักประพันธ์เอกของศตวรรษที่ 19 ขึ้นมาอีกคนหนึ่ง)

สำหรับสงครามในช่วงที่สองของเรื่อง บัลซัคระบุวันเดินทางมาถึงเมืองอันเดอร์นัคของศัลยแพทย์ผู้ช่วยทั้งสองว่าเป็นวันที่ 20 ตุลาคม ค.ศ.1799 สงครามช่วงนี้สิ้นสุดลงเมื่อมีการเซ็นสัญญาสันติภาพที่เมืองอาเมียงส์ (la paix d’Amiens) เมื่อวันที่ 27 มีนาคม ค.ศ.1802 เวลาผ่านไปประมาณสองปีครึ่ง เฮอร์มันน์จึงมีโอกาสทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับปรอสแปร์ แต่ภารกิจนั้นล่าช้าเกินไปอย่างน่าเศร้าใจ

สมรภูมิวากราม (la campagne de Wagram) ซึ่งตัยเยอแฟร์ยอมรับว่าไปในหน่วยเสบียง เป็นสมรภูมิที่นโปเลียนรบชนะพวกออสเตรียเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ.1809 เวลาล่วงเลยไปสิบปีหลังเหตุฆาตกรรมที่อันเดอร์นัค

 

ยังมีประเด็นการแปลบริบททางวัฒนธรรมที่ควรแก่การกล่าวถึงดังนี้

ในย่อหน้าที่สองของช่วงเปิดเรื่อง บัลซัคกล่าวว่าคนเยอรมันเจ้าของเรื่องเล่า ‘ดูเหมือนจะชอบเหล้าองุ่นของแคว้นช็องปาญเท่าๆ กับเหล้าองุ่นสีชมพูของเมืองโยฮันนิสแบร์ก’

ผู้เขียน-ผู้แปล แปล ‘le vin de Champagne’ ตามตัวอักษรว่า ‘เหล้าองุ่นของแคว้นช็องปาญ’ อันที่จริงคำที่ผู้อ่านชาวไทยรู้จักดีคือ แชมเปญ แต่ที่เลือกแปลตามตัวอักษรนั้น ประการแรก เป็นเพราะประสงค์จะใช้คำล้อการเรียกเหล้าองุ่นอีกประเภทตามที่ผู้ประพันธ์เขียนไว้คู่กัน

ประการที่สอง เพราะผู้เขียน-ผู้แปลอยากบอกผู้อ่านว่าแชมเปญนั้นเป็นเหล้าองุ่นจากต้นพันธุ์ที่ปลูกในแคว้นช็องปาญทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศฝรั่งเศส

ในช่วงเปิดเรื่องเช่นกัน บัลซัคพูดถึงห้องแสดงภาพเขียนดิออราม่า Diorama เป็นภาพเขียนขนาดใหญ่ มีการฉายแสงประกอบขณะชม และหมายถึงห้องแสดงภาพเขียนดังกล่าว พื้นห้องที่ผู้ชมยืนดูภาพนั้นหมุนได้เพื่อให้การชมภาพเป็นไปอย่างต่อเนื่องโดยผู้ดูไม่ต้องขยับตัว ห้องแสดงภาพเขียนนี้มีผู้คิดประดิษฐ์ขึ้นในปี ค.ศ.1822 ตั้งชื่อล้อคำว่า พานอราม่า เป็นเรื่องใหม่ในสมัยของบัลซัค ห้องดิออราม่านี้จะโด่งดังเมื่อบัลซัคกล่าวถึงอีกครั้งในนวนิยายเรื่องเอกเรื่องหนึ่งของเขาคือ พ่อกอริโยต์

เมื่อบัลซัคบรรยายความอิ่มเอมเอื่อยเฉื่อยของแขกรับเชิญหลังอาหาร เขาพูดถึงชื่อบรียาต์-ซาวาแร็ง Jean Anthelme Brillat-Savarin (ค.ศ.1755-1826) เป็นผู้พิพากษาซึ่งมีชื่อเสียงด้านโภชนาการ เขาเขียนหนังสือชื่อ Physiologie du go?t หรือ โอชาแห่งรสชาติ หรือ The Pleasures of the table ตามฉบับแปลภาษาอังกฤษ

บัลซัคนั้นชื่นชอบเรื่องอาหารการกิน เป็นนักกิน จึงเอ่ยถึงผู้พิพากษา-โภชนากรผู้นี้

ผู้ที่เป็นแฟนตัวยงของบัลซัคคงจะทราบดีว่า เนื่องในวาระ 200 ปีชาตกาลบัลซัค (ค.ศ.1999) ร้านอาหารในหลายๆ เมืองที่เป็นฉากในนวนิยายของเขา ที่เขาเคยไปพำนัก รวมทั้งที่ปารีส จัดเมนูอาหารที่บัลซัคชื่นชอบร่วมฉลองในวาระดังกล่าว

ในแง่ของการแปล ผู้เขียน-ผู้แปลเติมคำว่า โภชนากร หน้าชื่อบรียาต์-ซาวาแร็ง เพื่อความเข้าใจอันดีของผู้อ่าน

 

ในช่วงที่สองของเรื่อง เมื่อปรอสแปร์ถูกครอบงำด้วยความคิดฝ่ายต่ำ เขาฝันหวานสร้างปราสาทในสเปน สำนวน faire des ch?teau en Espagne นี้มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 และนิยมพูดตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 ถึงปัจจุบัน หมายถึงการวางแผนงานที่ทำไม่ได้หรือทำได้ยากยิ่งเหมือนอัศวินฝรั่งเศสในครั้งกระโน้นที่ได้รับพระราชทานปราสาทและที่ดินในประเทศสเปน แต่ต้องเข้าโจมตียึดปราสาทเอาเอง

ยังมีคำที่แปลโดยอนุโลมเพราะลักษณะและวิธีการละเล่นเหมือนกัน คือการเล่นตี่จับ ปรอสแปร์บอกเฮอร์มันน์ว่าเขาไม่น่าจะเป็นฆาตกรเพราะเขาหลับอยู่และฝันว่ากำลัง jouer aux barres กับเพื่อนๆ เมื่อค้นหาความหมายได้ความว่าเป็นการละเล่นดั้งเดิมของฝรั่งเศส แบ่งผู้เล่นเป็นสองฝ่าย มีการขีดเส้นบนพื้นแบ่งเขต ผู้เล่นวิ่งข้ามเขตเพื่อแตะตัวฝ่ายตรงข้ามให้มาเป็นเชลย ฝ่ายที่ได้เชลยมากกว่าเป็นฝ่ายชนะ แต่การละเล่นของฝรั่งเศสไม่ได้ระบุว่าต้องร้องตี่ โดยเสียงไม่ขาดหรือไม่

ปรอสแปร์ยังคำนึงถึงมารดาด้วยความเป็นห่วง “บางทีตอนนี้แม่อาจกำลังเล่นไพ่อิมพีเรียลสนุกอยู่กับเพื่อนบ้าน” การเล่นไพ่ L’Imp?riale มีบันทึกไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ.1620 เล่นต่อเนื่องมาจนถึงศตวรรษที่ 19 แล้วพัฒนาเป็นการเล่นไพ่ 32 ใบ (jeu de piquet) ไพ่บอสตั้น (Boston) ก็มีที่มาจากไพ่อิมพีเรียล

ศิลปะแขนงต่างๆ ย่อมมีลักษณะความเป็นสากล ถ่ายทอดถึงกันโดยง่ายเมื่อต้องตา ต้องหู และต้องใจผู้รับ ในเรือนแรมสีแดง บัลซัครับมาทั้งวรรณคดีร่วมชาติและต่างชาติ

“เช่นเดียวกับคุณธรรม อาชญากรรมก็มีระดับ”

กลอนบาทนี้ท่องจากปากของนายทุนซึ่งบริจาคเงินเพื่อเด็กๆ และหลุมฝังศพของนายพลฟัว บัลซัคไม่ได้ระบุที่มาของกลอน แต่นักวรรณคดีฝรั่งเศสย่อมรู้ว่ามาจากโศกนาฏกรรมเรื่องเฟดร้า (Ph?dre) ของ Jean Racine หนึ่งในสองนักเขียนบทละครโศกนาฏกรรมเอกของศตวรรษที่ 17 ฝรั่งเศส กลอนบาทดังกล่าวอยู่ในองก์ที่ 4 ฉากที่ 2

สำหรับนักประพันธ์และกวีต่างชาติ บัลซัคกล่าวถึงฮอฟมันน์ (Wilhelm Hoffmann, ค.ศ.1776-1822) นักประพันธ์ชาวเยอรมัน ซึ่งร่วมสมัยกับวอลเตอร์ สก๊อตต์ (Sir Walter Scott, ค.ศ.1771-1832) นักประพันธ์ชาวอังกฤษ ผลงานบางส่วนของทั้งคู่กล่าวถึงเรื่องลึกลับน่าสะพรึง เจนนี่ ดีนส์ (Jenny Deans) ซึ่งบัลซัคกล่าวถึงท้ายเรื่องเป็นตัวละครโด่งดังจากเรื่อง The Heart of Midlothian ของวอลเตอร์ สก๊อตต์ เรื่องนี้แปลเป็นภาษาฝรั่งเศสใช้ชื่อว่า La Prison d’?dimbourg

บัลซัคยังกล่าวถึงลอร์ดไบรอน (George Gordon Byron, ค.ศ.1788-1824) กวีเอกชาวอังกฤษ และยังมีคีตกวีอิตาลีรอสซินี (Gioachino Rossini, ค.ศ.1792-1868) นักแต่งอุปรากรชั้นนำในยุคคลาสสิคกับยุคโรแมนติก

นอกจากนักประพันธ์และกวีแล้ว บัลซัคยังสนใจเรื่องการแพทย์ เขาตั้งชื่อตัวละครที่เป็นหมอจากชื่อนายแพทย์โด่งดังร่วมสมัยกับเขา นายแพทย์ Fran?ois-Joseph-Victor Broussais (ค.ศ.1772-1838) มีชื่อเสียงทางด้านศัลยกรรมและอายุรกรรมตั้งแต่สมัยปฏิวัติใหญ่ สมัยจักรวรรดิต่อเนื่องถึงสมัยระบอบกษัตริย์คืนสู่อำนาจ ซึ่งเขาได้รับฉายาว่า จักรพ