ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 28 พฤษภาคม - 3 มิถุนายน 2564 |
---|---|
เผยแพร่ |
ไทม์เอาต์/SearchSri
นับถอยหลัง ‘ยูโร 2020’
หลังจากเลื่อนการแข่งขันมา 1 ปี เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ในที่สุดศึกฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป ยูโร 2020 ก็จะได้ฤกษ์เปิดฉากเสียที ระหว่างวันที่ 11 มิถุนายน-11 กรกฎาคมนี้
อย่างไรก็ตาม แม้จะกลับมาแข่งขันได้แล้ว และในบางประเทศเริ่มมาตรการคลี่คลายการล็อกดาวน์ ทุกอย่างยังคงต้องดำเนินไปอย่างระมัดระวัง และยึดหลักการ “เว้นระยะทางสังคม” อย่างเข้มงวด
กระนั้นสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) ก็ต้องการให้บรรยากาศโดยรวมดีขึ้น ไม่ตึงเครียดเหมือนกับปีที่แล้วที่ลีกแทบทุกประเทศปิดสนามเตะแบบเบ็ดเสร็จ ซ้ำยังจำกัดจำนวนเจ้าหน้าที่หรือบุคลากรที่อนุญาตให้เข้าสนามได้เพื่อควบคุมโรคระบาด
ศึกยูโร 2020 ยูฟ่าจึงตั้งโจทย์ว่า เมืองเจ้าภาพจะต้องสามารถเปิดให้แฟนบอลเข้าไปชมการแข่งขันในสนามได้อย่างน้อย 25 เปอร์เซ็นต์ของความจุ
ซึ่งผลจากเงื่อนไขดังกล่าว ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเรื่องเมืองเจ้าภาพอย่างค่อนข้างกะทันหันก่อนแข่งไม่ถึง 2 เดือน
เนื่องจากกรุงดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ และเมืองบิลเบา ประเทศสเปน ไม่สามารถเปิดให้แฟนบอลเข้าสนามได้ตามโควต้าขั้นต่ำดังกล่าว จึงถูกตัดสิทธิการเป็นเจ้าภาพ
โดยย้ายแมตช์เตะจากกรุงดับลินไปยังนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย 3 แมตช์ และที่สนามเวมบลีย์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ 1 แมตช์
ขณะที่เกมเตะเมืองบิลเบาทั้ง 4 แมตช์ ย้ายไปเมืองเซบียา ประเทศสเปนแทน
เท่ากับว่ายูโร 2020 ลดจำนวนเมืองเจ้าภาพจาก 12 เมือง เหลือ 11 เมือง ได้แก่ บูดาเปสต์, บากู, อัมสเตอร์ดัม, บูคาเรสต์, กลาสโกว์, โคเปนเฮเกน, โรม, มิวนิก, เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก, เซบียา และลอนดอน โดยเวมบลีย์ถือว่าคุ้มค่าสุด
เพราะนอกจากชนะการประมูลได้สิทธิจัดเกมเตะทั้งรอบรองชนะเลิศ 2 นัด และรอบชิงชนะเลิศ 1 นัด รวมถึงรอบแบ่งกลุ่ม กลุ่มดี ของ “สิงโตคำราม” อังกฤษแล้ว ยังได้จัดรอบ 16 ทีมสุดท้าย กรณีอังกฤษเข้ารอบอีกด้วย
เนื่องด้วยเวลาค่อนข้างกระชั้นชิดจากโปรแกรมเตะฟุตบอลสโมสรที่เพิ่งทยอยปิดฤดูกาลกันเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา แถมนักเตะยังอ่วมกันมาต่อเนื่องจากฤดูกาลก่อน ทำให้ยูฟ่าตัดสินใจเพิ่มโควต้าการส่งรายชื่อนักเตะของ 24 ทีมที่ได้สิทธิแข่งขันรอบสุดท้าย จากปกติที่ส่งได้ 23 คน เพิ่มเป็น 26 คน
นอกจากนี้ ยังอนุมัติใช้กฎการเปลี่ยนตัวสำรอง 5 คนใน 3 ครั้ง ซึ่งเป็นกฎที่ใช้ต่อเนื่องในหลายๆ ลีกของยุโรปตั้งแต่ฤดูกาลที่แล้ว เพื่อป้องกันปัญหาบาดเจ็บจากโปรแกรมแข่งขันที่ถี่เกินไป
และเพราะโปรแกรมเตะที่โหดหินจากผลกระทบของโควิดนี่เองที่ทำให้ศึกยูโรรอบนี้ไม่มีชื่อนักเตะระดับบิ๊กเนมหลายรายร่วมแข่งขัน
รายใหญ่สุดคือ เวอร์จิล ฟาน ไดก์ กองหลังชาวดัตช์ของสโมสรลิเวอร์พูล ซึ่งได้รับบาดเจ็บหนักที่เอ็นหัวเข่าจนต้องผ่าตัดและพักยาวกว่าครึ่งฤดูกาล แม้ช่วงท้ายก่อนปิดซีซั่น เขาจะกลับมาซ้อมได้ แต่สุดท้ายไม่สามารถเรียกความฟิตได้ทัน จำใจต้องถอนตัวกะทันหันอย่างน่าเสียดาย
อีกรายที่หลุดโผคือ เซร์คิโอ รามอส กองหลังกัปตันทีมรีล มาดริด ซึ่งเจ็บเรื้อรังในฤดูกาลที่ผ่านมา มีเวลาลงเล่นไม่มากนัก โดยเฉพาะในปี 2021 สุดท้าย *หลุยส์ เอ็นริเก้* กุนซือแดนกระทิงดุจึงต้องตัดชื่อเขาออกจากทีม
ยังมีนักเตะดังอีกหลายรายที่ก้ำกึ่งจะหลุดโผทีมชาติ หรืออาจจะไปได้ แต่ไม่สมบูรณ์พร้อมที่จะลงสนามทุกนัด
เรียกว่าเป็นบรรยากาศกร่อยๆ เล็กๆ ที่ยังเป็นผลกระทบต่อเนื่องจากสถานการณ์โควิดซึ่งยังไม่คลี่คลายในขณะนี้